หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เมื่อศาลทะเลาะกับประชาชน
 

โดย ชำนาญ จันทร์เรือง


ผมไม่เชื่อว่าทึมงานโฆษกศาลรัฐธรรมนูญจะกินเหล็กกิน ไหลหรือกินดีหมีดีมังกรมาจากไหน ผมไม่เชื่อว่าทีมงานโฆษกหรือผู้บริหารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเดือดเป็น แค้นเจ็บร้อนแทนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจนกระทั่งลงทุนไปแจ้งความดำเนินคดี ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลและกลุ่มบุคคลด้วยตนเอง แต่ผมเชื่อว่าทีมงานโฆษกหรือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับอาณัติจากคณะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ไปดำเนินการดังกล่าว

“การร้องทุกข์ เป็นหนทางเดียวที่สำนักงานจะปกป้องสถาบันได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติ อื่นใดที่จะปกป้องตัวเราเองได้นอกจากการใช้กระบวนการขอความยุติธรรมจากศาล และชี้แจงต่อสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะตุลาการ เพราะสำนักงานเป็นนิติบุคคล เมื่อ มีอะไรมากระทบก็สามารถที่จะดำเนินการเองได้ โดยทางสำนักงานจะมีคณะทำงานพิจารณาว่าจะมีหนทางใดที่จะปกป้องสถาบันเอาไว้ และในข้อเท็จจริงเราไม่มีเจตนาที่จะมุ่งร้ายกับใคร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนว่ามีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ผรุสวาทอาฆาตมาดร้ายตุลาการ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมการกระทำหรือคำกล่าวไหนจะผิดจะถูกศาลจะ เป็นผู้พิสูจน์ แต่ในส่วนที่เป็นการหมิ่นประมาทตุลาการเป็นการเฉพาะ ตัวนั้นทางตุลาการก็จะวิเคราะห์ด้วยตนเอง ถ้าเห็นว่าทำให้ตนเองเกิดความเสียหาย ท่านก็จะดำเนินการด้วยตนเอง แต่ในชั้นนี้ยังไม่พบว่ามีตุลาการไปดำเนินการแจ้งความเป็นการส่วนตัว ซึ่ง สำหรับบุคคลอื่นๆ ที่ได้กระทำการทำนองเดียวกันกับบุคคลที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นนั้น ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาดำเนินการต่อไป” หนึ่งในทีมงานโฆษกฯกล่าว (http://www.naewna.com/politic/16284)

ที่ผมไม่เชื่อว่าทีมงานโฆษกหรือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวข้องหรือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย เพราะสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นคนละส่วนกัน ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นคือ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยเลขาธิการขึ้นตรงกับประธานศาลรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง

ฉะนั้น การที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะกระทำการเช่นนี้ได้ก็หมายความว่าได้รับไฟ เขียวจากคณะตุลาการศาลรัฐรัฐธรรมนูญ (ซึ่งมิได้เป็นนิติบุคคล) แล้วว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเอาเรื่องบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถูกแจ้ง ความดำเนินคดีแล้วล่ะ ประเด็นที่ต้องพิจารณาจึงมีอยู่ว่าการที่ตุลาการไปทะเลาะกับประชาชนนั้นจะ ถูกต้องหรือจะเหมาะจะควรประการใด

ประเด็นแรก การแจ้งความดำเนินคดีโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนั้นทำได้แค่ไหนเพียงใด


คำตอบ เห็นว่าไม่สามารถกระทำได้เพราะสำนักงานศาลรัฐ ธรรมนูญไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่อาจทำได้โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งหรือหลายคนมอบอำนาจให้เจ้า หน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เลขาธิการลงไปไปแจ้งความดำเนินคดี แทน

ประเด็นที่สอง ข้อกล่าวหาที่แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 6 คดี คือ

1.นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยปราศรัยหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 โดยปราศรัยเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตุลาการ ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณาคดี ตามมาตรา 198 และ ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวและความตกใจโดยการขู่เข็ญ มาตรา 392 ตามประมวลกฎหมายอาญา

2. นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในข้อหาข่มขืนใจให้เจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตามมาตรา 139 และ 140 ของประมวลกฎหมายอาญาและดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณา คดีตามมาตรา 198 และทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวและความตกใจโดย  การขู่เข็ญ มาตรา 392 จากกรณีที่นายก่อแก้วปราศรัยกับแนวร่วม นปช. ที่เขตมีนบุรี เมื่อวันที่ 16มิถุนายน 2555 และ การแถลงข่าวที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555

3. จ.ส.ต. ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เอเชียอัพเดต โดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคายและไม่เหมาะสม ตามมาตรา 136 และ มาตรา 198 ของประมวลกฎหมายอาญา
4.นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่เจ้าพนักงานสอบสวนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 มาตรา 173 และ มาตรา 174 จากการที่นายอนุรักษ์ได้แจ้งความต่อกองปราบปราม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 

5.นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ นายมาลัยรักษ์ ทองชัย กับพวกอีก 24 คน ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรคูคต อ.ลำลูกกาจ.ปทุมธานี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,173 และ174 

6. นายวุฒิพงศ์ กับพวกที่ไม่ทราบชื่ออีกประมาณ 50 คน เผาโลงประท้วงคณะตุลาการทั้ง 9 คนหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา136 และมาตรา 198

คำตอบ ผมจะไม่แปลกใจอันใดเลย หากกลุ่มบุคคลดังกล่าวจะถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นศาลหากไปกล่าวหา ว่าคณะตุลาการกระทำการอันเป็นการทุจริต กินสินบาทคาดสินบนหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นการสมควรแล้วหากคณะตุลาการจะต้องดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้น แต่ข้อหาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีนั้นพยานหลักฐาน อ่อนเหลือเกิน จึงจะไม่เป็นข้อสงสัยอะไรเลยหากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะสั่งไม่ ฟ้อง หรือแม้กระทั่งการยกฟ้องในชั้นการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นประเด็นปัญหากฎหมาย แต่ประเด็นความเหมาะสมนั้น มองอย่างไรก็ไม่เห็นผลดีต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิ หนำซ้ำก็อาจจะให้เกิดความเสียหายต่อวงการตุลาการทั้งปวงได้ เนื่องเพราะหากยกฟ้องก็หน้าแตก แต่หากลงโทษก็จะถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างพวกเดียวกันเอง

การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายจะอาสาหรือถูกผลัก ไสให้มารับตำแหน่งนั้น ย่อมรู้อยู่แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นศาลที่ตัดสินคดีการเมือง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหนักและเบา จึงจะเห็นได้ว่าไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลในการพิจารณาคดี ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด

ทางที่ดีที่สุดที่จะให้ผู้คนยอมรับนับถือ คือการสงบนิ่งและหนักแน่นดั่งขุนเขา เช่น บรรพตุลาการทั้งหลายได้กระทำไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างยาวนาน ที่เหนืออื่นใดก็คือการทำคำวินิจฉัยที่มีมาตรฐานและชัดเจน สามารถอธิบายได้ตามหลักของเหตุและผล นั่นแหละจึงจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนยอมรับ มิใช่การเที่ยวไปฟ้องคดีเอากับชาวบ้านชาวช่อง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะชนะเสมอไป ดังเช่นกรณีนี้เป็นต้น

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/08/41958

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น