หน้าเว็บ

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เทศกาลกินเจในฐานะการอุปโลกน์ความดีของมนุษย์

เทศกาลกินเจในฐานะการอุปโลกน์ความดีของมนุษย์

 



















โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์
@PravitR



ผู้เขียนไม่อยากขัดจังหวะขบวนการเทศกาลกินเจ แบบ 10 วันทำได้ แต่อยากถามว่า คุณได้ยินเสียงพืชผักกรีดร้องขอชีวิตดังมากขึ้นในช่วงนี้หรือเปล่า? และก็สงสัยว่าคนจำนวนมากที่ต้องการอิ่มบุญ ชำระใจหรือทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์โดยการกินเจ ตระหนักหรือไม่ว่าเทศกาลกินเจก็คือเทศกาลสังหารหมู่พืชผัก?

การกินเจในฐานะการ ‘ละบาป’ นั้น แท้จริงแล้วเป็นการละบาปจากมุมมองที่มีมนุษย์เป็นที่ตั้งในฐานะศูนย์กลางจักรวาล (homo-centric view)

การให้ค่าสัตว์สูงกว่าสิ่งมีชีวิตอย่างพืชผักหรือแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิต แบบเซลล์เดี่ยว เป็นการจัดลำดับให้คุณค่าจากมุมมองมนุษย์ และสะท้อนความรู้สึกเอื้ออาทรห่วงใยต่อสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะใกล้เคียง มนุษย์ ซึ่งในแง่นี้ สัตว์ย่อมใกล้เคียงและละม้ายคล้ายมนุษย์มากกว่าพืชอย่างปฏิเสธมิได้ และหากพืชผักกรีดร้องอย่างโหยหวนได้ เทศกาลกินเจคงไม่สามารถถือเป็นเทศกาลบุญได้อย่างแน่แท้

หากมองให้กว้างไปกว่าเรื่องการกินเจ ก็จะเห็นได้ว่ามนุษย์มักห่วงใยผูกพันธ์กับผู้คนที่มีลักษณะทางชนชั้น ความคิดอุดมการณ์  เพศภาพ เชื้อชาติ ภูมิภาค ภาษา ฯลฯ ที่เหมือนตนมากกว่าคนที่แตกต่างจากตน

คนหรือสิ่งมีชีวิตยิ่งต่างจากเราเท่าไหร่ เราก็มักยอมรับได้หากจะเกิดการเอารัดเอาเปรียบหรือแม้กระทั่งฆ่าแกงสิ่งมี ชีวิตเหล่านั้น อย่างที่ทำกับสัตว์และพืชผักเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งอย่างที่คนสะใจกับความบาดเจ็บล้มตายของคนต่างอุดมการณ์ต่างสี เสื้อในยุคปัจจุบัน หรือพอใจกับการบาดเจ็บและล้มตายของ ‘ศัตรูคู่อริของชาติ’ อย่าง ‘โจรใต้’ หรือเห็นด้วยกับการใช้โทษประหารชีวิต เพราะเชื่อว่าคนที่ถูกประหารนั้นเลว และต่างจากเรา


หลายคนที่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่มีการศึกษา ก็มักมองมองชนชั้นล่างแบบมีไว้รับใช้ชนชั้นกลางและชั้นสูง ไม่จำเป็นต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจกับชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก การเอารัดเอาเปรียบ หรือรายได้อันน้อยนิดของพวกเขา แถมคนชั้นล่างมักถูกดูถูกว่าขี้เกียจ โง่ และเป็นตัวถ่วงความเจริญของสังคม

อนึ่ง คำอธิบายว่าพืชผักไม่สามารถรับรู้ความเจ็บปวดเหมือนสัตว์ซึ่งคล้ายมนุษย์ได้ นั้น ก็เป็นคำอธิบายจากมุมมองที่เอามนุษย์เป็นที่ตั้ง (และจริงๆ แล้วก็มีกลุ่มคนที่เรียกว่า fruitarian ซึ่งจะกินพืชผลที่หล่นจากต้นไม้และพืชเท่านั้น เพราะมองว่าการตัดหรือถอนพืชผักก็คือความรุนแรงชนิดหนึ่ง –อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็อาจอ้างได้ว่าการเป็น fruitarian ก็อาจทำให้ต้นไม้และพืชผักบางอย่างมิได้มีโอกาสสืบพันธุ์ต่ออย่างที่มันควร มีโอกาสหากมนุษย์ไม่เก็บผลไม้ไปกินและเอาเมล็ดไปทิ้ง)

ในเมื่อเทศกาลกินเจเป็นสิ่งที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาเองโดยใช้ มาตรฐานของความเป็นคนและความเชื่อทางศาสนาและค่านิยมของสังคมเป็นตัวตั้ง พวกเขาจึงมักไม่ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว เทศกาลกินเจคือเทศกาลสังหารหมู่พืชผักหรือไม่ และอาจไม่ได้ถามตนเองว่า หนึ่งชีวิตของพืช ควรมีค่าเทียบเท่ากับหนึ่งชีวิตของสัตว์และมนุษย์หรือไม่? (หากนับจำนวนพืชผักที่ต้องตาย เพื่อให้มนุษย์กินเป็นอาหารจนอิ่มต่อหนึ่งคน อาจมีจำนวนชีวิตมากกว่าสัตว์ที่ต้องสูญเสียก็เป็นได้ เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงชาวลาดัคในอินเดียทางตอนเหนือที่เชื่อว่าการ กินเนื้อวัวดีกว่ากินปลาตัวเล็กๆ เพราะหนึ่งชีวิตของวัว เลี้ยงปากท้องผู้คนได้มากกว่าหนึ่งชีวิตของปลา ซึ่งปลาจำนวนหลายชีวิตต้องถูกฆ่าเพื่อให้คนอิ่มเท่ากับการเชือดวัวหนึ่งตัว) ทั้งนี้เป็นเพราะพืชผักร้องโหยหวนหรือหลั่งน้ำตาเหมือนสัตว์เหมือนมนุษย์มิ ได้ แถมคลอโรฟิลล์ก็ไม่สาดกระจายแดงฉ่านน่าสลดเหมือนเลือดสัตว์และมนุษย์

แต่ใครจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดและสูญเสียของพืชผักได้?
หากพืชผักพูดได้ จัดลำดับความสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้ กำหนดบาปบุญดีชั่วได้ เทศกาลกินเจก็คงมิใช่เทศกาลบุญอย่างที่เป็นอยู่เป็นแน่แท้

 
ป.ล.1 แต่ทำไมคนธรรมดาจำนวนมากจึงหลงใหลดารา คนรวย หรือกษัตริย์ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากชีวิตพวกเขามาก หรืออาจเป็นห่วงต้นไม้และสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ – แต่ก็อีกนั่นแหละ มันเป็นมุมมองที่เอามนุษย์เป็นที่ตั้ง และเพื่อตอบสนองความพึงพอใจหรือความซาบซึ้งของมนุษย์ธรรมดาเหล่านั้น
ป.ล.2 ความคิดเรื่องความดีความชั่ว บาปบุญ สิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่ผิด มักถูกผูกขาดทางวาทกรรมโดยผู้มีอำนาจ และเผยแผ่ควบคุมโดยคนทั่วไปในสังคม แต่อาจแตกต่างตามยุคสมัยและในแต่ละสังคม


(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/10/43201    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น