ประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจจากกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ( 3) : ศาลปกครองควบคุมองค์กรอิสระทางปกครองได้มากน้อยเพียงใด?
โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ปกครองที่เรียกร้องให้องค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องผูกพันตนเองต่อ กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้นและต่อกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่องค์กร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตราขึ้นเอง หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองจะบังเกิดผลขึ้นได้จริงก็ต่อ เมื่อมีระบบการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและประกันสิทธิและ เสรีภาพของประชาชนได้ดี คือ องค์กรตุลาการ ดังนั้น ในนิติรัฐ ที่เรียกร้องให้การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองโดย องค์กรตุลาการ
สำหรับระบบกฎหมายไทย โดยหลักแล้วศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการ กระทำทางปกครอง หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งนั้นชอบด้วย กฎหมาย ศาลปกครองก็จะยกฟ้อง แต่ถ้าศาลปกครองเห็นว่าการกระทำทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหลักแล้ว ศาลปกครองก็จะเพิกถอนการกระทำทางปกครองนั้น
ในการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองนี้ มีขอบเขตหรือระดับความเข้มข้นของการควบคุมที่กำกับศาลปกครองไว้อยู่ ทั้งนี้เพื่อมิให้ศาลปกครองสามารถลงไปควบคุมลึกมากจนเกินไปถึงขนาดลงไปควบ คุมความเหมาะสมของการกระทำทางปกครอง สาเหตุก็เนื่องมาจากเหตุผลสามประการ
ประการแรก หลักการแบ่งแยกอำนาจเรียกร้องให้องค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชนต้องตรวจสอบถ่วงดุล การใช้อำนาจของแต่ละองค์กร หากกล่าวให้เป็นรูปธรรมเฉพาะในแดนของวิชากฎหมายปกครอง ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจตรากฎหมาย ฝ่ายปกครองมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้นให้เป็น รูปธรรม โดยต้องผูกมัดตนเองเข้ากับกฎหมาย กล่าวคือ ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ และใช้อำนาจโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ในขณะที่ศาลมีอำนาจในตรวจสอบว่าการกระทำของฝ่ายปกครองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือ ไม่ หากปราศจากซึ่งการตรวจสอบฝ่ายปกครองโดยศาล หลักความชอบด้วยกฎหมายก็ไร้ซึ่งการบังคับ ในขณะเดียวกัน หากศาลตรวจสอบฝ่ายปกครองมากจนลงไปแทรกแซงการทำงานของฝ่ายปกครอง ก็จะกลายเป็นว่าศาลลงไปทำหน้าที่เสมือนเป็นฝ่ายปกครองเสียเอง อันนำมาซึ่ง “การปกครองโดยผู้พิพากษา” ซึ่งเป็นสภาพการณ์อันไม่พึงประสงค์ในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การควบคุมฝ่ายปกครองโดยศาลจึงต้องมีขอบเขต
ประการที่สอง กิจกรรมทางปกครองทั้งหลายที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองกระทำการก็เพราะฝ่าย ปกครองมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ในขณะที่โดยธรรมชาติของความเป็นองค์กรตุลาการที่มีบทบาทในการวินิจฉัยคดี ศาลจึงไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเท่ากับฝ่ายปกครอง ปัจจุบัน มีภารกิจใหม่ๆของฝ่ายปกครองที่ต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคเฉพาะทางมากขึ้น ดังนั้น การควบคุมการกระทำทางปกครองในบางประเด็น ศาลต้องเคารพความเชี่ยวชาญของฝ่ายปกครองด้วย เช่น การปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับถ้อยคำทางกฎหมายที่ไม่เฉพาะเจาะจงอย่าง “ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ หรือ “การก่อสร้างอาคารที่เป็นอันตราย” ก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรม เป็นต้น
ประการที่สาม องค์กรตุลาการทำได้เพียงควบคุมความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถควบคุมความเหมาะสมได้ ดังนั้น ศาลทำได้เพียงตรวจสอบว่าการกระทำทางปกครองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนการกระทำทางปกครองนั้นจะเหมาะสมหรือถูกใจหรือไม่นั้น ศาลไม่มีอำนาจพิจารณา
ในทางตำรา มีการจัดระดับความเข้มข้นของการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทาง ปกครองโดยศาลไว้ เพื่อใช้พิจารณาว่าในแต่ละเรื่อง ศาลจะลงไปควบคุมฝ่ายปกครองได้มากน้อยเพียงใด โดยแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ ดังนี้
(อ่านต่อ)
http://blogazine.in.th/blogs/piyabutr-saengkanokkul/post/3784
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น