หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ขุนนาง ‘สหภาพแรงงาน’ และ ขุนนาง 'NGO' จงช่วยอำมาตย์ ‘แช่แข็งประเทศไทย' กันเถิด?

ขุนนาง ‘สหภาพแรงงาน’ และ ขุนนาง 'NGO' จงช่วยอำมาตย์ ‘แช่แข็งประเทศไทย' กันเถิด?

 

 
ทนง  โพธิ์อ่าน
รำลึก 21 ปี ทนง โพธิ์อ่าน.wmv

โดย สุรีย์ มิ่งวรรณลักษณ์


กระแสข่าวที่ออกมาว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และ NGO บางส่วนเตรียมเข้าร่วมการชุมนุมกับองค์กรพิทักษ์สยาม ที่นำโดย เสธ.อ้าย พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มิอาจปฏิเสธได้ว่า ‘สหภาพแรงงาน’ ภายใต้ปีกการนำของ สมศักดิ์ โกศัยสุข และสาวิทย์ แก้วหวาน เข้าร่วมพันธมิตรฯ เพื่อสร้างเงื่อนไขสู่การรัฐประหาร

ในวงการแรงงาน สมศักดิ์ โกศัยสุข นับว่าเป็นผู้มีจิตใจสนับสนุนร่วมการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานเพื่อความเป็น ธรรมในสังคม เขาเป็นผู้มากบารมีที่ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยมีความศรัทธา เอาเขาเป็นแบบอย่าง เขาเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งที่ต่อสู้กับเผด็จการทหารยุค รสช. สุจินดา คราประยูร ยุคพฤษภา 35

แต่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการอำมาตยาธิปไตย เขากลับอยู่ฝั่งเผด็จการอำมาตยาธิปไตย เช่นเดียวกับ สุริยะใส กตะสิลา อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

แม้ว่าปัจจุบัน สมศักดิ์ โกสัยสุข เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ขัดแย้งจนถึงแยกทางเดินกับพันธมิตร แต่เขากลับประกาศจะเข้าร่วมชุมนุมกับ เสธ.อ้าย ‘ร่วมแช่แข็งประเทศไทย’ โดยนำพา ‘สหภาพแรงงาน’ ใต้ร่มเงาของเขาเข้าร่วม

ผู้เขียนก็มิอาจรู้ทราบได้ว่า ‘สหภาพแรงงาน’ ที่เขาเคยครอบงำนำพามาร่วมเหมือนช่วงพันธมิตรฯ นั้น ยังจะมีจุดยืนแบบเดิมหรือไม่ ? ยังจะมี ‘สหภาพแรงงาน’ สักกี่แห่งที่ยังนิยมอำมาตยาธิปไตยกันอยู่ เมื่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นจริงได้ทางปฏิบัติ
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบอกให้รู้ว่า ตราบที่มีระบบประชาธิปไตย ผู้ใช้แรงงานย่อมมีเสรีภาพในการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานเพื่อความเป็นธรรม

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตย เบ่งบาน ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รวมกลุ่ม จัดตั้งองค์กร ตั้งสหภาพแรงงานจำนวนมาก และมีกฎหมายแรงงานขึ้น

สมัยรัฐบาลชาติชาย นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ผู้ใช้แรงงานผลักดันจนมีกฎหมายประกันสังคม

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย บอกให้ตระหนักว่า ยุคที่ไม่มีประชาธิปไตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อำนาจเผด็จการครองเมือง ประชาชนไม่มีเสรีภาพ

การปราบปรามอย่างอำมหิต 6 ตุลา 2519 เป็นผลให้ผู้ใช้แรงงานกลายเป็นเพียงจักรกลของกระบวนการผลิต ไม่มีความเป็นมนุษย์ ไม่มีสิทธิเสียง และไม่มีอำนาจต่อรองแต่อย่างใด

ภายหลังการรัฐประหาร 24 กุมพาพันธ์ 2534 โดย รสช. ทำให้นายทนง โพธ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่ประกาศกล้าต้านอำนาจนอกระบบ หายไปกลับกลีบเมฆ ปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่า ‘ใครฆ่าทนง โพธิ์อ่าน’


อย่างไรก็ตาม องค์กรแรงงานหาได้มีเพียงการนำของสมศักดิ์ โกสัยสุข เพียงผู้เดียว ไม่กี่วันมานี้ สหภาพแรงงานผู้รักประชาธิปไตย เช่น สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ได้แถลงจุดยืน คัดค้านการแช่แข็งประเทศไทย ต่อต้านการรัฐประหาร

สำหรับ สมศักดิ์ โกศัยสุข จึงเป็นเพียง ‘ขุนนาง’ ของสหภาพแรงงานเท่านั้นเอง

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประวัติศาสตร์ประชาชน เล่ากันว่า NGO จำนวนไม่น้อย หรือส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะได้เป็น NGO ที่รับงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ( สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สถาบันพัฒนาการเมือง เครือข่ายของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปอพช.) ฯลฯ ได้แสดงบทบาทต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างแข็งขัน ทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้นปิดลับ สนับสนุนพันธมิตรฯ ร่วมกันออก ’ใบอนุญาตรัฐประหาร’ แม้ปากจะบอกว่าไม่ใช่ก็ตาม

พวกเขาล้วนจิตใจดี เป็น ‘คนดี’ ต้องการสังคมที่เป็นธรรม สิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ ฝันใฝ่ให้ทุกคนมีความเสมอภาคกัน

แต่พวกเขาจำนวนมาก ชอบความคิดแบบอนุรักษ์นิยม พึ่งตนเองพอเพียง ชอบอะไรแบบไทยๆ พวกเขามักบอกความจริงไม่หมด เมื่อเขาไม่ยอมเปิดโปงว่า ใครครอบครองยึดเจ้าของทรัพยากร พวกเขาชอบแฉโครงการ แต่ไม่พูดเมื่อกระทบถึงทุนอำมาตย์ เขามักยกเว้นไว้แม้แต่กับมวลชนที่ใกล้ชิดพวกเขาเอง
พวกเขาจ่อมจมกับปัญหาเฉพาะประเด็นแบบกัดไม่ปล่อย แต่ไม่เชื่อมโยง ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์และเงื่อนไขสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่

บางทีดูเหมือนพวกเขาบูชาชาวบ้านโดยเฉพาะชนบท แต่กลับมองชาวบ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการต่างๆของพวกเขาว่า โง่ ถูกซื้อ โดนนักการเมืองหลอก ไม่ทันเลห์ย์ทันเหลี่ยมของนักเลือกตั้ง บางครารัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาที่พวกเขาเสนอ เขาก็พร้อมที่จะขับไล่รัฐบาล แม้ว่าชาวบ้านที่พวกเขาทำงานด้วยอาจจะได้ประโยชน์จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร

จึงอาจไม่แปลกใจแต่อย่างใด ที่พวกเขาไม่น้อยร่วมการเคลื่อนไหวกับพันธมิตรขับไล่รัฐบาลทักษิณในครั้งที่ผ่านมา

แต่ขอโทษเถิด มวลชนจำนวนมากที่แม้พวกเขาทำงานด้วยนับสิบปี ก็หาได้ร่วมมือกับพวกเขาไม่ ยกเว้นพวกแกนนำชาวบ้านที่ถูกอุปถัมป์โดยพวกเขา มิพักพูดถึงการจัดตั้งของพวกเขาที่ไม่เปิดให้เจ้าของปัญหา ยืนได้ด้วยตนเอง เจรจากับรัฐมนตรีได้ แถลงข่าวได้เอง ทั้งๆ ที่เขาจัดตั้งกันมานับสิบๆ ปี แต่ไม่ยอมให้มวลชนมีอำนาจเอง

การจัดตั้งองค์กรของพวกเขามักใช้ระบบอาวุโส ควบคุมความคิดต่างของคนรุ่นใหม่ ไม่ต่างระบบราชการที่พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์

บางทีดูเหมือน พวกเขาจำนวนไม่น้อยเกลียดทุนนิยมมากๆ ยกเว้นทุนที่ไม่สามานต์ตามความคิดของพวกเขา บางครั้งพวกเขาคัดค้านทุนต่างชาติที่จะแย่งชิงทรัพยากรจากเมืองไทยเหมือนพวก ชาตินิยมสุดโต่ง แต่ใยพวกเขากลับสนับสนุนเสริมเติมอำนาจให้กับทุนผูกขาดล้าหลังอภิสิทธิ์ชนใน เมืองไทยนี้กันละ?

การเข้าร่วมกับองค์กรพิทักษ์สยามของพวกเขาบางส่วนในครั้งนี้ ย่อมตอกย้ำว่า อุดมการณ์ความคิดของพวกเขานั้น ไม่เชื่อว่า ‘คนเท่ากัน’ ไม่ยอมรับระบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ชิงชังนักการเมือง ชมชอบระบอบอำมาตยาธิปไตย

พวกเขา NGO เป็นดั่ง ‘ขุนนาง’ รับใช้ชนชั้นปกครองในยุคสังคมศักดินาเท่านั้นเอง

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/11/43761

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น