เรารู้จักลอยกระทงกันครั้งแรกเมื่อไร?
ค่ำคืนพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันสำคัญของชาววัยรุ่นและเด็กๆ กันแล้วนะครับ
ใช่ครับ พรุ่งนี้เป็นวันลอยกระทง หัวโบราณจึงมาขอเล่าเรื่องลอยกระทง เพราะว่าประเพณีลอยกระทงยังถูกบิดเบือน หรือเข้าใจผิดกันอยู่(อีกแล้ว)
ปุจฉา เรารู้จักลอยกระทงกันครั้งแรกเมื่อไร? วิสัชนา... ประเพณีลอยกระทงปรากฏขึ้นครั้งแรกในวรรณคดีเรื่องนางนพมาศ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 1 พ.ค. 2457 ผู้แต่งคือ นางนพมาศ ทำงานในสมัยสุโขทัย จนได้เลื่อนขึ้นเป็น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ผลงานอันเอกอุคือ การประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท อันเป็นที่มาของการลอยกระทงนั่นเอง
ประวัติศาสตร์วรรณคดีไทย, แบบเรียนของเด็ก, แม้กระทั่งวรรณกรรมสุโขทัยของกรมศิลปากร ก็กล่าวว่า ประเพณีลอยกระทง เริ่มแรกขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย ???? !!!!
นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างในการสร้างข้อเท็จ(จริงหรือ?) ให้กับเราๆ ท่านๆ อย่างมาก เพราะแนวคิดปัจจุบันก้าวล้ำคู่ขนานกับโลกาวิวัฒน์ไปนานแล้วว่า “ลอยกระทงไม่ได้เริ่มต้นขึ้นที่สุโขทัย และเรื่องนางนพมาศก็ไม่ได้แต่งในสมัยนี้เช่นกัน”
บรมครูแห่งด้านประวัติศาสตร์ไทยอย่าง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ว่า ไม่ได้แต่งในสมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน และน่าจะแต่งขึ้นในสมัย ร.3 รวมไปถึงนักวิชาการแนวหน้าของไทย นิธิ เอียวศรีวงศ์ พระยาอนุมานราชธน ฯลฯ ก็เห็นพ้องต้องกันกับเรื่องนี้
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่วิเคราะห์ยืนยันได้ ชัดๆ จะๆ อีกครับ
สุโขทัยเป็นเมืองที่แห้งแล้งมาก(ไม่เหมือนสมัยนี้ ฝนตกทีหนีน้ำแทบไม่ทัน) เนื่องจากภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควรตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา กว่าจะมีทางน้ำไหลผ่านก็ร่วม 10 กว่ากิโล จึงต้องมีการสร้าง “สรีดภงส” และ “ตระพัง” สำหรับกั้นน้ำขึ้นมา เพื่อเก็บน้ำไว้ในด้านชลประทานและตอนแห้งแล้ง ดั่งจารึกที่กล่าวไว้ว่า
“เมืองสุโขทัยนี้มีน้ำตระพังโพยสีใสกินดี ดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง”
เมื่อกล่าวถึงเรื่องจารึก จารึกสมัยสุโขทัยทุกชิ้น ไม่มีกล่าวถึงประเพณีอะไรเยวกับการบูชาน้ำเลย และแน่นอนไม่มีกล่าวถึงการลอยกระทง
ทั้งแล้ง ทั้งแห้ง จะใช้น้ำทีคิดแล้วคิดอีก แล้วจะเอาตระพังสระน้ำไปใช้ให้กระทงลอยน้ำเนี่ยนะ เป็นไปบ่ได้ดอก
เรื่องนางนพมาศและการลอยกระทงจึงเป็นแค่ “นิยาย” ที่สมมติขึ้นจากความชื่นชอบในสมัย ร.3
แต่ความจริงลอยกระทงก็อาจไม่ได้เริ่มทำกันตั้งแต่สมัย ร.3 เสมอไป
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการลอยกระทงที่เก่าแก่ที่สุด เห็นจะเป็น พระราชพงศาวดารฉบับขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงในสมัยพระเจ้าเอกทัศว่า “... พระองค์เสด็จทรงประทีปอยู่บนเรือขนาน แล้วถวายธูปเทียนดอกไม้และกระทงกระดาษตามเทียนและเรือต่างๆ เป็นจำนานมาก...”
การลอยกระทงอย่างน้อยจึงน่าจะมีขึ้นในสมัยอยุธยาแล้ว ซึ่งก็เข้ากันได้ดีกับสภาพวิถีชีวิตของชาวอยุธยาที่อยู่กับ “น้ำ” มายาวนาน
แต่แม้จะมีหลักฐานในช่วงสมัยอยุธยา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเริ่มทำครั้งในในสมัยอยุธยา เพราะความจริงแล้ว ประเพณีลอยกระทงเป็นวัฒนธรรมร่วมในอุษาคเนย์ ในฐานะ "ประเพณีขอขมาดินและน้ำ" ตามลัทธิการบูชาผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติตั้งแต่สมัยโบราณนานมากๆ แล้ว ซึ่งเดิมทีก็คงใช้ของตามธรรมชาติในอาเซียนทั่วไปเช่น ไม้ไผ่
ประเพณีลอยกระทงจึงเป็นประเพณีในอาเซียนที่ทำทุกประเทศ “ไม่ใช่ของไทย” อย่างเดียว
และที่สำคัญ “ประวัติศาสตร์ปลอมเริ่มต้นที่สุโขทัย นั้นไม่จริง” แต่เริ่มมานานแล้ว เพิ่งจะมา “บูม” เอาช่วง ร.3 นี่เอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น