หน้าเว็บ

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ไฟไหม้โรงงานนรก ใครได้ประโยชน์?

ไฟไหม้โรงงานนรก ใครได้ประโยชน์? 

 

 
โรงงานนรกที่บังกลาเทศที่พึ่งไฟไหม้และคนงานเสีย ชีวิตไป 110 คน ผลิตเสื้อผ้าสำหรับห่างวอล์มาร์ทในสหรัฐ โรงงานอื่นๆ จะส่งสินค้าให้ร้านค้าในประเทศพัฒนาทั่วโลก และกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้ในตะวันตก ได้กำไรมหาศาล

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ 

ข่าวไฟไหม้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า หรือโรงงานทำของเล่นในประเทศต่างๆ ของเอเชีย เช่นไทย ปากีสถาน และล่าสุดบังกลาเทศ ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่าใครได้ประโยชน์ เพราะถ้าเราไม่วิเคราะห์จากมุมมองชนชั้นเราจะไม่ค้นพบอาชญากรที่แท้จริง

ไฟไหม้โรงงานนรกไม่ใช่
“อุบัติเหตุ” แต่เป็นการจงใจบังคับให้คนงานต้องเสี่ยงภัย เพราะโรงงานดังกล่าวมักจะไม่มีทางหนีไฟตามมาตรฐานความปลอดภัย ไม่มีวิธีการป้องกันไฟไหม้จากปัญหาไฟช๊อต ไม่มีกระบวนการลดภัยจากไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาด การจัดสินค้าให้เป็นระบบ และการอบรมพนักงานในความปลอดภัย และทั้งหมดนี้เป็นเพราะนายทุนที่เป็นเจ้าของโรงงานไม่ต้องการลดกำไรของตนเอง ในกระบวนการผลิต และมองว่าคนงานเป็นแค่ผักปลา

แต่อาชญากรที่ฆ่าคนงานในโรงงานนรกไม่ใช่แค่นายทุนพื้นเมือง กลุ่มทุนใหญ่ในตะวันตกที่สั่งสินค้านำเข้าจากโรงงานนรก พยายามกดราคาตลอดเวลาเพื่อเพิ่มกำไรให้ตนเองด้วย


โรงงานนรกที่บังกลาเทศที่พึ่งไฟไหม้และคนงานเสียชีวิตไป 110 คน ผลิตเสื้อผ้าสำหรับห่างวอล์มาร์ทในสหรัฐ โรงงานอื่นๆ จะส่งสินค้าให้ร้านค้าในประเทศพัฒนาทั่วโลก และกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้ในตะวันตก ได้กำไรมหาศาล


แต่ เอ็นจีโอตะวันตก และสื่อมวลชนบางกลุ่ม มักมองว่าประชาชนผู้บริโภคในตะวันตกมีส่วนในการขูดรีดคนงานในโรงงานนรก มีการพูดว่า “ต้องให้การศึกษากับผู้บริโภคให้เลิกซื้อเสื้อผ้าราคาถูก” อันนี้เป็นมุมมอง “ตะวันตก-ตะวันออก” หรือมุมมองแนว “พึ่งพา” ที่ปฏิเสธชนชั้น 

และมองว่าการแบ่งแยกหลักในโลกคือระหว่างประเทศรวยทางเหนือ และประเทศยากจนทางใต้ นอกจากนี้มันเป็นมุมมองที่เน้นพลังผู้บริโภค มันนำไปสู่การเข้าใจผิด


เมื่อไม่กี่วันก่อนไฟไหม้ที่โรงงานในประเทศบังกลาเทศ พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในห่างวอล์มาร์ท ออกมานัดหยุดงานประท้วงปัญหาค่าจ้างต่ำและสวัสดิการแย่ๆ ของบริษัท ห่างขายเสื้อผ้าราคาถูกในยุโรปที่นำเข้าสินค้าจากโรงงานนรก ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นนายจ้างคุณภาพแย่ เราเริ่มเห็นภาพของการกดขี่ขูดรีดทั้งในประเทศพัฒนาของตะวันตก และประเทศยากจนในตะวันออก เราเริ่มเห็นการแบ่งแยกแท้ตามชนชั้นทั่วโลก
 

พวกที่เรียกร้องให้ผู้บริโภคในตะวันตกเลิกซื้อเสื้อผ้าราคาถูก จะปิดหูปิดตาถึงการที่ชนชั้นปกครองในยุโรปและสหรัฐ กดค่าแรง เลิกจ้าง และตัดสวัสดิการประชาชน เพื่อโยนภาระในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจให้กรรมาชีพหรือคนทำงานธรรมดา มันไม่ใช่ว่าผู้บริโภคเป็นคนรวยที่แค่อยากได้สินค้าถูก ความจริงคือผู้บริโภคจำนวนมากเป็นคนจน ถ้าไม่ซื้อเสื้อผ้าราคาถูกก็ไม่มีเพื่อใส่ ยิ่งกว่านั้นกลุ่มทุนใหญ่ที่ขายเสื้อผ้าราคาถูก มักหาทางโกงและหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ซึ่งกลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่รัฐขาดรายได้ แล้วไปตัดค่าจ้าง ปลดคนงาน และลดสวัสดิการคนงานในภาครัฐ ซึ่งมีผลพวงต่อไปในการกดเศรษฐกิจ
 

ทางออกไม่ใช่การฝันว่าผู้บริโภคมีอำนาจที่สามารถเลิกซื้อสินค้าจากโรงงานนรก ได้ ทางออกคือการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งในห่างใหญ่ๆ ของตะวันตก และการสร้างพลังขบวนการแรงงานเพื่อล้มรัฐบาลตะวันตกที่ทำลายชีวิตประชาชน ด้วยนโยบายเสรีนิยมจัด และในประเทศต่างๆ ของเอเชีย ทางออกก็ไม่ต่าง คือต้องพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง เพื่อบังคับให้นายจ้างใช้มาตรการความปลอดภัยที่ถูกต้อง และการรณรงค์ทางการเมือง เพื่อไม่ให้อิทธิพลของกลุ่มทุนครอบงำรัฐบาลและพรรคการเมืองทุกพรรค พูดง่ายๆ ต้องสมานฉันท์แรงงานข้ามพรมแดน
 
(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/11/blog-post_27.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น