ความแปลกแยกของมนุษย์ในสังคมทุนนิยม 1
Bertell Ollman
คาร์ล มาร์คซ์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง อธิบายความแปลกแยกเหินห่างของมนุษย์ในสังคมทุนนิยมว่าเป็น “ความผิดพลาด/จุดอ่อน” ของระบบการผลิตแบบทุนนิยมที่ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งตัวของนายทุนและผู้ใช้แรงงาน
โดย พจนา วลัย
ตอนที่ 1 สรุปทฤษฎีความแปลกแยกของคาร์ล มาร์คซ์
บทความนี้ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านน่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามผู้เขียนเขียนเพื่อสนองความอยากรู้ของตัวเองมากกว่าว่า ความสัมพันธ์ของคนในระบบทุนนิยมดำเนินไปอย่างไร มีความขัดแย้งในตัวเองหรือไม่ ก่อให้เกิดความแปลกแยก (Alienation) ออกจากความเป็นมนุษย์ของคนในชนชั้นหลัก 2 ชนชั้นคือชนชั้นกรรมาชีพและนายทุนหรือไม่ อย่างไร หรือระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมทุนนิยมกำลังบ่อนทำลายความเป็นมนุษย์ใน ตัวเราหรือไม่ เพียงใด โดยในตอนที่ 1 จะเป็นการสรุปความคิดของมาร์คซ์จากหนังสือเรื่อง Alienation: Marx’s Conception of Man in Capitalist Society ของ Bertell Ollman นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (ความแปลกแยก : แนวความคิดของมาร์คซ์ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ในสังคมทุนนิยม ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2519 สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ : ลอนดอน นิวยอร์ก และเมลเบิร์น)
และตอนที่ 2 จะเป็นการนำทฤษฎีความแปลกแยกของมาร์คซ์นี้ไปถกเถียงและประยุกต์ใช้ในการ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานในปัจจุบันที่สำนึกของคนเปลี่ยน แปลงไปมาก หลายคนยอมรับทุน แต่อีกหลายคนต้องการปฏิรูป และปฏิวัติระบบให้เป็นสังคมนิยม
ระบบทุนนิยมที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ ก่อให้เกิดการยอมรับในปรัชญาของระบบนี้ไปอย่างสิ้นเชิงและไม่คิดสงสัย หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงระบบนี้อย่างถอนรากถอนโคน ในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งในแถบยุโรปกำลังตั้งข้อสงสัยและไม่พอใจกับระบบทุน นิยมอย่างมากเพราะก่อให้เกิดวิกฤตสังคมซ้ำซากและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะนายทุนบรรษัทข้ามชาติกับรัฐมีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตของคนทำงานมากเกินไป จนชีวิตของคนนั้นขาดความมั่นคง สังคมขาดการคุ้มครอง คนตกงาน ฆ่าตัวตาย และถูกทำให้ไร้ค่า
คาร์ล มาร์คซ์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง อธิบายความแปลกแยกเหินห่างของมนุษย์ในสังคมทุนนิยมว่าเป็น “ความผิดพลาด/จุดอ่อน” ของระบบการผลิตแบบทุนนิยมที่ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งตัวของนายทุนและผู้ใช้แรงงาน แต่ผู้ใช้แรงงานจะได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดของระบบนี้รุนแรงกว่านายทุน (หน้า 132) แล้วแต่ว่าอยู่ในตำแหน่งใดและมีรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไร การที่ผู้ใช้แรงงานทุกข์ทรมานกับความแปลกแยกนั้นมาจากกิจกรรมการผลิตที่ผู้ ผลิต (ผู้ใช้ความสามารถในการทำงาน-labor power) ไม่ได้เป็นเจ้าของผลผลิต (labor) นั้น แต่กลับไปเป็นของนายทุนแทบทั้งหมด โดยได้รับเพียงค่าจ้าง/เงินเดือนตอบแทนความสามารถในการทำงานของตัวเอง
ดังนั้น สิ่งที่เราจะเข้าไปดูคือ ความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบทุนนิยม ระบบที่เน้นการผลิตสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยน สะสมทุน ความมั่งคั่ง แต่มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์และการเคารพซึ่งกันและกัน และสุดท้ายเป็นระบบที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แตกหักกันระหว่างแรงงานกับทุน โดยมีรัฐทุนนิยมเป็นตัวสร้างความแตกแยกของคนในสังคมทุนนิยมให้แหลมคมมากขึ้น
ในระบบการผลิต คนมักถูกตัดขาดแบ่งแยกออกจากงานที่ตัวเองทำ กล่าวคือ คนไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะทำอะไร ผลิตอะไรและผลิตอย่างไร ปัจเจกบุคคลจึงถูกแบ่งแยกกีดกันออกไปจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คนถูกแบ่งแยกออกจากผลผลิตของตัวเอง คือ ไม่มีอำนาจเหนือสิ่งที่ตัวเองผลิต ซึ่งเป็นความแตกแยกระหว่างปัจเจกบุคคลกับโลกแห่งวัตถุทั้งหลาย คนถูกแบ่งแยกออกจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะมีการแข่งขันและการเป็นศัตรูทางชนชั้น ไม่สามารถร่วมมือกันทำงานได้จริง และการแตกแยกระหว่างชนชั้นในระบบทุนนิยม คนที่แปลกแยกมากๆ จะกลายเป็นคนว่างเปล่า อยู่ในสภาวะสูญสิ้นอำนาจในตัวเองในที่สุด
ความแปลกแยกมาจากความสัมพันธ์ของมนุษย์ 4 ด้านกว้างๆ ที่ครอบคลุมความมีอยู่ของมนุษย์แทบทั้งหมด ระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ 4 ด้าน คือความสัมพันธ์ของมนุษย์กับกิจกรรมการผลิต กับสินค้า กับมนุษย์คนอื่นๆและกับเผ่าพันธุ์ของตัวเอง
1.ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับกิจกรรมการผลิต (productive activity) มาร์คซ์อธิบายความแปลกแยกระหว่างมนุษย์กับกิจกรรมการผลิตว่า เมื่อผลผลิตถูกทำให้แยกออกจากสารัตถะของความเป็นมนุษย์ คือ คนงานไม่ได้เป็นเจ้าของงานที่ตัวเองทำ จึงพยายามปฏิเสธตัวเอง ไม่ยืนยันความเป็นตัวของตัวเอง และไม่มีความสุขกับงาน ไม่พัฒนาพลังกายและใจแต่กลับทรมานตัวเอง ทำลายจิตวิญญาณ มีความรู้สึกในลักษณะแบบ อยู่บ้านเพราะไม่ได้ทำงาน และเมื่อทำงานก็ไม่ได้อยู่บ้าน ผลผลิตที่ได้จึงไม่ใช่มาจากความเต็มใจ แต่มาจากการถูกใช้ถูกบังคับ (น.136) และนี่มักเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงาน
กิจกรรมการผลิตในระบบทุนนิยมมีลักษณะแบบแบ่งงานกันทำ การทำงานซ้ำซากในแต่ละแผนก ภาระงานแต่ละอย่าง ทำให้งานไปลดทอนศักยภาพการใช้อำนาจของมนุษย์ในการผลิต ผลงานที่มาจากกระบวนการใช้แรงงานในระบบทุนนิยมที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นเจ้าของ เลยนั้น ทำให้อำนาจของมนุษย์ถูกลดทอน อำนาจของมนุษย์ที่ระบบทุนนิยมกลับหัวกลับหางไปหมด คือแทนที่จะพัฒนาศักยภาพที่อยู่ในพลังของมนุษย์ แต่ทุนคอยแต่บริโภคและบั่นทอนโดยไม่ไปเติมเต็มพลังของมนุษย์เลย ราวกับว่าพวกเขาเป็นเชื้อเพลิงให้เผาไหม้และทิ้งพวกเขาให้ยากจนลง นี่คือการถอยหลังสู่ภาวะไร้อำนาจของมนุษย์ผู้ใช้แรงงาน มาร์คซ์จึงมองว่าแรงงานคือมนุษย์ที่สูญเสียความเป็นตัวเอง
ยกตัวอย่างให้เห็นคือ ความถดถอยของร่างกาย ร่างกายแคระแกร็น หลังงอ กล้ามเนื้อล้า ไม่แข็งแรง หรือโตเกินไป นิ้วตะปุ่มตะป่ำ ปอดใหญ่ หน้าซีดเผือด ทั้งนี้มนุษย์ถูกใช้แรงงานจนเป็นโรคจากการทำงานในระบบอุตสาหกรรม เพราะเขากลายเป็นติ่งหนึ่งของเครื่องจักรไปแล้ว
นอกจากทางกายภาพข้างต้น ทางจิตวิญญาณก็ถูกบั่นทอนเช่นกัน คือ นำมาซึ่งความอ่อนแอทางสติปัญญา (Cretinism or idiocy) ความไม่พอใจกับงาน กิจกรรมการผลิตกลายเป็นความทุกข์ทรมาน เป็นสิ่งที่น่าหลีกเลี่ยงราวกับว่าเป็นโรคระบาด ทำงานเพื่อกินเพื่ออยู่รอดเท่านั้นหรืออย่างมากสุดเพื่อหาบ้านอยู่อาศัย และสนุกกับแต่งตัวบ้าง แต่เป็นแค่สัญชาตญาณทั่วๆไป ทั้งนี้เพราะในระบบทุนนิยม ผลงานกลายเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของคนที่ไม่ทำงาน ที่ก่อให้เกิดการกลับหัวกลับหางของลักษณะความเป็นมนุษย์ เพราะกิจกรรมการทำงานอยู่ภายใต้การบังคับใช้แรงงาน การควบคุมการทำงานและการครอบงำของนายทุนนั่นเอง
2.ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสินค้า (product) ผลงานที่มาจากกระบวนการใช้แรงงานกลายเป็นวัตถุแปลกแยกที่มีอำนาจเหนือผู้ ผลิต เมื่อคนไม่ได้ตัดสินใจเองว่าจะผลิตอะไร อย่างไร ฉะนั้นสินค้าที่ผลิตมาจึงถูกแปลกแยกไปด้วย ซึ่งก็เท่ากับว่าเขากำลังสร้างรอยร้าวระหว่างตัวเองกับตัวเองมากขึ้นทุกที เหมือนกับที่ร่างกายและจิตใจนั้นแยกออกจากกัน (น.141) สินค้ากลายเป็นวัตถุที่ดำรงอยู่ภายนอกตัวของผู้ผลิตอย่างอิสระ จนเป็นวัตถุที่ทรงอำนาจวางอยู่ต่อหน้าของคนทำงาน
เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือการมีอำนาจในสิ่งที่ตัวเองผลิตและแสดงออก ต่อวัตถุนั้นอย่างเต็มที่ ไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง กล่าวคือ มนุษย์คือพลังการผลิต การดัดแปลงโลกแห่งวัตถุให้เป็นสินค้าเพื่อสนองต่อความต้องการของตัวเอง กิจกรรมการผลิตที่ควรจะเป็นนั้นคือ การทำงานอย่างมีชีวิตจิตใจ และพัฒนาลักษณะเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เช่นนี้ต่อไป แต่การผลิตในระบบทุนนิยมนั้น ได้ตัดขาดสินค้าออกไปจากผู้ผลิตอย่างอิสระ สินค้านั้นอยู่เหนือการควบคุมของผู้ผลิต ไม่สามารถนำไปใช้ดำรงชีวิตหรือเอาไปใช้ในการทำการผลิตต่อเนื่องได้ เข้าทำนอง “ยิ่งผลิตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งบริโภคน้อยลง” หากธรรมชาติของมนุษย์ข้างต้นถูกบั่นทอนจะทำให้คนยิ่งรู้สึกขาดแคลนสิ่งดำรง ชีวิต เพราะสิ่งที่ผลิตขึ้นมา (objects) ถูกขโมยไปเป็นของคนอื่นนั่นเอง
ในสังคมทุนนิยม สินค้าถูกทำให้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อหาในตลาด การผลิตสินค้าจึงเป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยน ที่ผู้คนต่างติดตามความก้าวหน้าของสินค้าในตลาดราวกับว่ากำลังจองมองการแสดง ที่มีชีวิตเลือดเนื้อจริง และในการแสดงนี้เล่นโดยปัจเจกที่เป็นเจ้าของสินค้าเท่านั้น ดังนั้นความสัมพันธ์ของมนุษย์ในตลาดจึงเป็นความสัมพันธ์ของสินค้าของพวกเขา และความสัมพันธ์ทางสังคมของคนจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของ ซึ่งทำให้การแลกเปลี่ยนสินค้า เช่นรองเท้าแลกกับเสื้อผ้าหรือสิ่งที่มีค่าเท่ากัน เป็นเพียงฉากหน้าที่บดบังความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เกี่ยวข้องกันในกระบวนการ ผลิต
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมการผลิตระหว่างพลังของมนุษย์และผลงานที่ทำ ในระบบทุนนิยมเน้นผลงานเพียงด้านเดียว และสร้างให้มันมีตำแหน่งมีอำนาจเหนือผู้ผลิต และผู้ผลิตหรือแรงงานจึงกลายเป็นผู้ไร้อำนาจในการตัดสินใจในการผลิต ไร้ความสามารถที่จะหาปัจจัยการผลิตมาทำการผลิต และสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาผลผลิตของตัวเองไปจนถึงการขาดแคลนปัจจัยการดำรง ชีพ ลักษณะการผลิตแบบทุนนิยมจึงนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ผกผันกันสิ้นเชิง ระหว่างแรงงานที่มีชีวิตกับแรงงานที่ตายแล้ว (เช่นเครื่องจักรที่มาจากการผลิตของแรงงานมาก่อนหน้านี้ ตั้งอยู่และคอยดูดเอาพลังของแรงงานที่กำลังทำงานอยู่ ปัจจัยทุนจึงมีอำนาจเหนือแรงงานผู้ผลิต)
สำหรับสินค้าที่ทำให้ดูมีชีวิต มีอำนาจ มีอิสระตัดขาดจากผู้ผลิตนั้น มาจากการโหมประโคมเรื่องการบริโภค ที่นายทุนกำหนด กระตุ้นให้ผู้คนต้องการบริโภคสินค้าอย่างไม่จำกัด ทำให้คนหลงใหลตัวสินค้า สร้างความบันเทิง ความพึงพอใจ ความงาม ศิลปะให้แก่สินค้าเพื่อให้ดูน่าบริโภค และทำให้คนตัดสินใจซื้อ และแทบควบคุมตัวเองไม่อยู่ ความอยากได้ไปไกลกว่าที่ตัวเองต้องการจริงๆ (น.146)
นอกจากนี้การครอบงำความต้องการของมนุษย์ได้ไปกำหนดรูปแบบการบริโภคต่างๆนานา สินค้าแต่ละชิ้นที่เซ็ทมาพร้อมกับการใช้สอยของมัน และกำหนดวิถีชีวิตของผู้คน และวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงานในระบบทุนนิยมตกต่ำลงไปเป็นวิถีชีวิตที่ตอบ สนองความต้องการสินค้าเท่านั้น เพราะสินค้ามีความสำคัญเหนือกว่าคนผลิตนั่นเอง คนผลิตถูกละเลย ถูกทำให้ไร้ค่า
3.ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ จากการที่สินค้าของคนงานที่ผลิตกลายเป็นปฏิปักษ์กับตัวเองเพราะตกไปเป็นของ นายทุน ที่ผลประโยชน์ของเขานั้นสวนทางกับของคนงาน สินค้าที่มาร์คซ์มองเป็นทั้งหน้ากากและเครื่องมือทางอำนาจของนายทุน นี่คือข้อได้เปรียบของทุนที่จะสามารถแสดงวิธีการต่างๆที่บอกว่าเขามีอำนาจ ควบคุมสินค้าได้
ในฝ่ายของผู้ใช้แรงงาน ยกตัวอย่างเรื่องความสัมพันธ์ของเขากับสินค้าและกับมนุษย์คนอื่น บ้านที่เขาอยู่นั้นอาจอยู่ได้เพียงชั่วคราว ซึ่งเป็นการอยู่อาศัยแบบแปลกแยก เพราะถ้าวันใดไม่จ่ายค่าเช่า หรือผ่อนตามกำหนด ก็จะถูกไล่ออกไป
อยู่ในบ้านที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของ อยู่อย่างไม่สนิทใจเช่นปลาอยู่ในน้ำ ทำให้ขาดความไว้วางใจ กลัวคนที่มีอำนาจมากกว่าคือเจ้าของบ้าน/ที่ดิน เพราะในธรรมชาติของมนุษย์ควรเป็นเจ้าของในเรื่องพื้นฐานเช่นที่อยู่อาศัย เมื่อแรงงานแปลกแยกจากคนที่เป็นเจ้าของสินค้าที่เขาผลิต จากกิจกรรมการผลิต ตำแหน่งแห่งที่ จุดยืน มุมมองของคนสองชนชั้นจึงอยู่กันคนละฝั่งและแข่งขันกันเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ และอำนาจในการผลิต
4.ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเผ่าพันธุ์ของตัวเอง เผ่าพันธุ์มนุษย์คือ เผ่าพันธุ์ที่มีพลังในสิ่งที่ตัวเองทำ การพัฒนาความคิด การสร้างสรรค์ที่สอดรับความต้องการของตัวเอง การเข้าถึงโลกแห่งวัตถุ ปัจจัยทุนสำหรับใช้ผลิต การไม่มีใครมาบังคับ แย่งชิง แข่งขัน พลัดพรากผลผลิตไปจากตัวเอง แต่จากการที่นายทุนมีเสรีภาพ ควบคุมสินค้าได้นั้นเป็นเสรีภาพที่เป็นปฏิปักษ์กับคนงาน ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์จึงแปลกแยกห่างเหิน แรงงานถูกทำให้ไร้อำนาจในระบบทุนนิยม ขาดการผลิตซ้ำเผ่าพันธุ์ดังว่า ชีวิตจึงมีอยู่เพื่อกิน นอน สืบพันธุ์ ในเชิงกายภาพและจิตใจให้อยู่รอด
ผู้เขียนมองว่า มาร์คซ์มีเจตนาให้เราคำนึงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่เพลิดเพลินไปกับสินค้า รสนิยม การบริโภคจนไปทำลายศักดิ์ศรีของคนทำงาน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนงาน ปล่อยให้คนงานอยู่ในสภาพที่ดิ้นรน อยู่ไปวันๆ ขาดแรงจูงใจ ขาดพลังการคิดการใฝ่ฝันแสวงหาโลกใหม่ที่ดีกว่า และการนำทฤษฎีความแปลกแยกมาใช้นั้นมีประโยชน์ในการตรวจสอบความสัมพันธ์เชิง อำนาจระหว่างทุนกับแรงงาน และเป็นเครื่องมือทำการศึกษาระบบทุนนิยมให้ลึกซึ้งขึ้น
ในตอนที่ 2 จะสรุปถึงความแปลกแยกของนายทุน ข้อเสนอของมาร์คซ์เรื่องสังคมคอมมิวนิสต์เพื่อเอาชนะความแปลกแยก สังคมใหม่ที่คนเท่าเทียมกันนั้นมีจริงหรือไม่ ข้อถกเถียงเรื่องความแปลกแยก ธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องตีความกันไปตามยุคสมัย เนื่องจากทฤษฎีความแปลกแยกของมาร์คซ์นี้เกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้ว (ค.ศ.1844-1846 ปรากฏในงาน “อุดมการณ์ของชาวเยอรมัน เป็นต้น) ในขณะที่สังคมทุนนิยมซับซ้อนมากขึ้น ก็มีการปรับปรุงแนวความคิดของมาร์คซ์ ซึ่งมีนักวิชาการรุ่นต่อมานำไปพัฒนา เช่น หลุยส์ อัลธูแซร์ อันโตนิโอ กรัมชี่ ที่พูดถึงเรื่องอุดมการณ์ของรัฐทุนนิยมที่ครอบงำแรงงานให้มีรูปการจิตสำนึก แบบทุน ผลิตซ้ำระบบทุนนิยม แม้จะมีการต่อสู้กันระหว่างชนชั้น แต่ก็ประนีประนอมกันได้ ทว่าวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้จะประนีประนอมกันได้หรือไม่ จะลงเอยอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป
(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/02/1.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น