หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

เจ๊มาแล้ว

เจ๊มาแล้ว



โดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
 
ครับ เจ๊มาแล้ว แต่มาทำไม

บางกระแส ก็ว่า จะเอาเจ๊มาสำรองไว้ก่อน หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เจ๊ก็จะมารับตำแหน่งแทนน้องสาว แม้กระนั้น ก็รู้กันว่าเจ๊ไม่ได้รับความนิยมในหมู่นักการเมืองมากพอที่จะดำรงตำแหน่งได้ จริง จึงเป็นการดำรงตำแหน่งแบบขัดตาทัพ จนกว่าอานึ้งจะพ้นโทษเว้นวรรคทางการเมืองในปลายปีนี้ และอานึ้งจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน อานึ้งเป็นคนนุ่มนวลคล้ายคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ถนัดในการเพาะศัตรู จึงน่าจะดำรงตำแหน่งได้มั่นคง

(แต่ปัญหาทางการเมืองที่อานึ้งอาจแก้ไม่ได้ก็คือ อานึ้งแกเป็นผัวเจ๊นี่แหละครับ)

อีกกระแส หนึ่งมาจากตั้วเฮียของเจ๊เอง ที่ส่งข้อความมาอธิบายว่า เจ๊เคยเป็น ส.ส.มาก่อน หมดอุปสรรคขัดขวาง ครั้นได้ยินเสียงปี่กลองแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะขึ้นมาก๋าอย่างออกหน้าบนสังเวียน

ที่จริงนอกจากเจ๊ แล้ว ยังมีนักการเมืองอีก 110 คนที่พ้นโทษเว้นวรรคทางการเมืองพร้อมกัน และบางคนก็คงอยากจะลงมาเต้นตามเสียงปี่กลอง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีเจ๊และเฮียที่ไหนพร้อมจะกระโดดลงมาเหมือนเจ๊คนนี้ ข่าวเล่าลือเรื่องการ "สืบราชวงศ์" จึงฟังดูเป็นจริงกว่ามาก

ทั้งๆ ที่ก็รู้กันอยู่ว่า นอกจากเจ๊คนนี้แล้ว ยังมีทั้งเฮียและเจ๊อีกมาก ซึ่งต้องโทษทางการเมือง แต่ที่จริงแล้วก็เป็นแกนหลักทางการเมืองอยู่นั่นเอง โดยมี ส.ส.เป็นลูกสมุนอยู่จำนวนหนึ่ง ส.ส.เหล่านี้มีหน้าที่ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อให้เจ๊ๆ และเฮียๆ ได้คุมกระทรวงที่หมายตาไว้ ผ่านคนของตนเอง บางเจ๊และบางเฮียก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรครัฐบาลด้วยซ้ำ

อิทธิพล ของเจ๊ๆ และเฮียๆ เหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่เงินสนับสนุนทางการเมืองที่ให้แก่ ส.ส.อย่างเดียว ที่สำคัญกว่าก็คือเครือข่ายทางการเมืองแบบเลือกตั้ง (electoralism) ที่เจ๊ๆ และเฮียๆ มีอยู่ อันพอจะช่วยแปลงเสาไฟฟ้าให้เป็น ส.ส.ได้ ดังนั้นการที่จะบันดาลให้ ส.ส.ในสังกัดเกิดดวงตาเห็นธรรม ลาออกจากสมาชิกภาพของรัฐสภา แล้วเปิดให้เจ๊ๆ และเฮียๆ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แทน ย่อมเป็นสิ่งที่เจ๊ๆ เฮียๆ หลายคนทำได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะเจ๊คนนี้คนเดียว

แต่เจ๊ๆ เฮียๆ ทั้งหลายขาดคุณสมบัติสำคัญไปอย่างหนึ่งคือ ไม่มีหลักประกันว่าพวกเขาจะอยู่ในโอวาทของตั้วเฮีย อันที่จริงความหวังว่าให้อยู่ในโอวาทนั้น ไม่ใช่เป็นความหวังที่จะสัมฤทธิผลโดยง่าย แม้แต่คุณยิ่งลักษณ์เองก็ใช่ว่าจะอยู่ในโอวาทของตั้วเฮียไปหมดทุกเรื่องจริง อย่างที่ปฏิปักษ์รัฐบาลพยายามร่ำลือ ฉะนั้นหลักประกันที่ดีที่สุดก็คือความสัมพันธ์ส่วนตัว ขึ้นชื่อว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้ว จะหาจากที่ใดได้ดีไปกว่าการ "สืบสันตติวงศ์" เล่าครับ

ในบรรดานักการเมืองที่ถูกพิพากษาให้เว้น วรรคทางการเมืองนั้น นอกจากเฮียๆ เจ๊ๆ ทั้งหลายแล้ว ยังมีนักการเมืองซึ่งมีศักยภาพสูงพอจะรับตำแหน่งแทนคุณยิ่งลักษณ์ได้อีกหลาย คน อันเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนกว้างขวางกว่าเจ๊เป็นอันมาก เช่นคุณจาตุรนต์ ฉายแสง หรือคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทำไมตั้วเฮียจึงไม่จัดให้คนเหล่านี้เข้าไปเป็น ส.ส.เพื่อเตรียมรับอุบัติเหตุทางการเมือง

คำตอบก็คือการอยู่ในโอวาทอย่างที่พูดถึงนั่นไงครับ ไม่มีหลักประกันอะไรว่าคนเหล่านี้จะอยู่ในโอวาทตลอดไป

ทั้ง หมดนี้เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะพรรคการเมืองที่มีฐานมวลชนอาจกำลังถือกำเนิดขึ้นในเมืองไทยได้ แต่นับวันก็ยิ่งหวังได้ยากขึ้น ทั้งหมดเกิดจากการกระทำของตั้วเฮียเอง ซึ่งไม่เคยคิดถึงฐานมวลชนมากไปกว่าคะแนนเสียงในหีบบัตรเลือกตั้ง

ผม ก็ยอมรับนะครับว่า ชื่อของตั้วเฮียมีความสำคัญในการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้นการเสกเป่าของตั้วเฮียต่อคนที่จะเป็นผู้นำพรรคจึงมีความสำคัญด้วย แต่ตั้วเฮียไม่ได้ต้องการแค่ "เสกเป่า" หากต้องการจะกำกับรัฐบาลเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่า ตั้วเฮียหรือลูกน้องใกล้ชิด จะคอยโฆษณาเสมอว่านโยบายของรัฐบาลเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตั้วเฮียเป็นคนคิดหรือถึงกรุยทางไว้ให้ เช่นการเจรจากับผู้นำมาเลเซียเพื่อนำไปสู่การเจรจาปรองดองระหว่างรัฐกับผู้ ก่อการในภาคใต้ ถึงตั้วเฮียอาจทำจริง ก็ปิดเฉยไว้ได้นี่ครับ ปล่อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานไปตามกำกับของรัฐบาล ไม่เห็นจำเป็นต้องออกมาโฆษณาเลย

ดูหนังมากไปหรือเปล่า พระเอกถึงต้องออกมาในทุกซีน

ดังนั้น เมื่อพระเอกไม่พยายามเฟดออกไป พระเอกตัวจริงคือมวลชนจะโผล่เข้ามาได้อย่างไร

ใน การเมืองเรื่องเลือกตั้ง (electoralism) พรรค ทรท.ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีพรรรคการเมืองไทยใดๆ ทำได้มาก่อน นั่นคือสร้างฐานมวลชนที่แข็งแกร่งให้แก่หีบบัตรเลือกตั้งของตน พรรค ทรท. "ซื้อ" เสียงเหล่านี้มาได้ด้วยนโยบาย นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดพรรคการเมืองที่มีฐานมวลชนทีเดียว มี

นโยบาย ที่เป็น "ของ" มวลชนจำนวนมาก   แต่ตั้วเฮียพยายามตลอดมาที่จะรักษานโยบายเหล่านี้ไว้เป็น "ของ" ตั้วเฮียเอง มากกว่าผลักให้กลายเป็นสมบัติของมวลชน

แม้กระนั้นก็มีบาง นโยบายที่มวลชนรับเอาไปเป็นสมบัติของตน ที่สำคัญคือนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่คณะนี้ตั้งขึ้นทั้งสองคณะ (สุรยุทธ์ จุลานนท์ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ก็ยังต้องรักษานโยบายนี้ไว้ในรูปใดรูปหนึ่ง แต่นโยบายอีกมากที่ถูกทำลายลงหลังจากนั้น โดยมวลชนที่สนับสนุนพรรค ทรท.ไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้อง

การลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องของมวลชน ที่เป็นฐานคะแนนเสียงของพรรค ทรท.หลังการรัฐประหาร กลายเป็นการเรียกร้องเป้าหมายทางการเมืองมากกว่านโยบาย และตั้วเฮียก็สามารถขี่คลื่นของกระแสประท้วงมาได้อย่างเทพเจ้านาจา และเบนให้คลื่นมวลชนที่ถั่งโถมซัดสาดกลายเป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมือง ที่เป็นลูกหลานของ ทรท. แต่ไม่ใช่ฐานมวลชนซึ่งต้องมีส่วนในการกำกับนโยบายของพรรคด้วย

อย่าง ไรก็ตาม โชคดีที่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี คลื่นมวลชนนั้นเริ่มแตกสลาย มีคนจำนวนไม่น้อยรู้ว่าเขาต้องการอะไรในทางการเมือง (เช่นรัฐธรรมนูญใหม่, ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ฯลฯ เป็นต้น) เขาเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการจากพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล อย่างที่ฐานมวลชนของพรรคการเมืองควรเรียกร้องและกำกับ แม้ว่าคลื่นที่ตีฟองให้ตั้วเฮียขี่ก็ยังมีอยู่ แต่ตั้วเฮียอย่างเดียวเป็นกำลังที่ลดถอยลงในการกำกับมวลชนเสียแล้ว

ใน สภาวะเช่นนี้แหละ ที่ตั้วเฮียทำให้การ "สืบราชวงศ์" ในพรรคการเมืองเด่นชัดขึ้น เด่นชัดขึ้นแก่ใคร? ก็แก่มวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยสิครับ ชัดเจนแจ่มแจ๋วว่า พรรคเพื่อไทยเป็นสมบัติของใครกันแน่

การเกิด พรรคการเมืองที่มีฐานมวลชนในประเทศไทย คงต้องเลื่อนต่อไป จนกว่ามวลชนจะร่วมกันสร้างกลไกการกำกับควบคุมพรรคการเมืองของตนเอง ที่ได้ผลจริงแทนความศรัทธาต่อบุคคล


(ที่มา) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น