หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

เสียงก้องจากนิติราษฎร์ "วรเจตน์" ทวงถาม นิรโทษกรรม "รัฐบาลคิดทำ ศก.ให้ดี ผมว่าแค่นั้นไม่พอ"

เสียงก้องจากนิติราษฎร์ "วรเจตน์" ทวงถาม นิรโทษกรรม "รัฐบาลคิดทำ ศก.ให้ดี ผมว่าแค่นั้นไม่พอ"

 

 


ประเด็นการนิรโทษกรรมถูกกลืนหายไปในทันที เมื่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยสั่งกดปุ่มเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก วางเป้าหมายประคองรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่บนอำนาจครบ 4 ปี

แม้การนิรโทษกรรมจุดประเด็นขึ้นโดย "คณะนิติราษฎร์" นำโดย "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แต่ข้อเสนอของเขาและคณะกลับเป็นสายลมที่พัดผ่าน

เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมของคนเสื้อแดงยังถูกแช่แข็งคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ 42 ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ยังค้างรอการบรรจุเข้าพิจารณาในสภา

"ประชาชาติธุรกิจ" จับเข่าคุยกับ "วรเจตน์" ในวันที่การนิรโทษกรรมถูกแทรกด้วยวาระเศรษฐกิจ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งเขาเห็นว่ารัฐบาลเดินหน้าแค่นั้นไม่พอ
 

ประเมินการนิรโทษกรรมที่ดูเหมือนรัฐบาลไม่มีการตอบสนองอย่างไร

 ไม่ อยู่นอกเหนือความคาดหมายคิดว่ารัฐบาลคงพยายามเน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักคง ไม่แตะประเด็นการเมืองที่ส่งผลกระทบกลับมายังเสถียรภาพของรัฐบาล หรือชวนให้เกิดความวุ่นวาย ดังนั้น เขาพยายามให้ช้าที่สุด หรือจริง ๆ เขาอาจทำช่วงปลายรัฐบาลใกล้ ๆ เลือกตั้งก็ได้ ซึ่งในทางหลักการผมคิดว่าไม่ถูกต้อง

ไม่ได้รังเกียจ แต่สนับสนุนรัฐบาลด้วยซ้ำ ถ้าทำเศรษฐกิจให้ดี แต่เรื่องปัญหาการเมืองที่ยังดำรงอยู่ ถ้ารัฐบาลไม่พยายามไปแก้เลยเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะต้องไม่ลืมว่าคนจำนวนหนึ่งต่อสู้ในทางหลักการประชาธิปไตย รัฐบาลนี้ก็มาจากการต่อสู้บนหลักการอันนั้น แต่เขาได้รับผลร้าย อันนี้ต้องแก้ปัญหา จะไม่แก้ไม่ได้ ต้องตัดสินใจ
 

ควรเดินหน้าเศรษฐกิจคู่กับการนิรโทษกรรม


เรื่องเศรษฐกิจต้องทำอยู่แล้ว แต่เรื่องการเมืองปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องทำ เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรต้องเปิดพื้นที่ให้มีการคุยกัน ตอนนี้ก็น่าจะมากพอที่จะเห็นจุดยืนของแต่ละฝ่ายว่าคิดเรื่องนี้กันอย่างไร เพราะเรื่องนี้ต้องถูกตัดสินใจโดยรัฐสภา เสนอโดยรัฐบาลเพื่อให้รับฟังความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ ใครเห็นด้วย ใครไม่เห็นด้วย แล้วต้องตัดสินใจ คือประชาธิปไตยถึงอย่างไรก็ต้องตัดสินใจอยู่ดี

แต่ถ้ารัฐบาลกลัวว่าขยับเรื่องนี้ปุ๊บแล้วมีคนมาขวาง เหมือนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ กลัวการประท้วง กลัวยุบพรรค มันก็ไม่ต้องทำอะไร แล้วกลายเป็นว่าประเทศไทยเป็นการปกครองแบบอันธพาลธิปไตย พอไม่ได้ดั่งใจปุ๊บใช้เงื่อนไขอันนี้เป็นตัวขวางการตัดสินใจสำคัญ ๆ ทางการเมือง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรกันใช่ไหม
 

การนิรโทษกรรมเป็นของร้อนที่รัฐบาลแตะต้องไม่ได้

อะไรที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองเวลานี้มันเป็นของร้อนหมดแหละ ไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วน พ.ร.บ.ปรองดองฯ เสนอเข้ามาในจังหวะไม่ดีในช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาของรัฐบาลแง่การตัดสินใจ ถ้าจะผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญก็ผลักดันไปให้สุด อย่าเพิ่งเอาเรื่องอื่นเข้ามาแทรก พอเสร็จปุ๊บค่อยเอาเรื่องอื่นเข้ามา พร้อมทั้งอธิบายอย่างชัดเจนต่อสาธารณชนในแต่ละเรื่องว่ามีหลักการอย่างไร เช่น นิรโทษกรรม ถ้าคนคิดว่าเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ ชินวัตร ก็เขียนกฎหมาย อธิบายให้ชัดว่าไม่เกี่ยวยังไง ผมยังรู้สึกว่ารัฐบาลอิงอยู่กับหลักการน้อยเกินไป


ถึงเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลควรเดินหน้านิรโทษกรรมหรือยัง
 
ถ้าประเมินว่าต้องการให้รัฐบาลอยู่ได้ยาวที่สุดครบวาระ4ปี เอาเรื่องนี้เป็นคุณค่าสูงสุด มันจะไม่มีอะไรเหมาะสมเลย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรมเปิดให้เกิดความขัดแย้งทั้งสิ้น แต่ถ้าถามผม ผมว่าคุณมีโอกาสบริหารประเทศ ก็ต้องตัดสินใจ

ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าในยามที่ประเทศมีปัญหาแบบนี้ รัฐบาลจะบริหารประเทศในแบบที่บ้านเมืองปกติธรรมดาไม่ได้ เพราะเวลานี้บ้านเมืองไม่เป็นแบบนั้น รัฐบาลรู้ดีที่สุด คุณเจอยุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ประชาชนยังสนับสนุนให้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล สิ่งที่ประชาชนส่วนหนึ่งต้องการ ไม่ใช่ต้องการแค่ให้เป็นรัฐบาล แต่ต้องการมากไปกว่าการเป็นรัฐบาลเฉย ๆ นั่นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้น ไม่มีเวลาไหมที่เหมาะเท่าเวลานี้อีกแล้ว มันช้าเกินไปด้วยซ้ำ

ผมแน่ใจว่าข้อเรียกร้องแบบนี้มันมากเกินไปไหม เพราะเหมือนคิดกันคนละระดับ รัฐบาลคิดระดับบริหารประเทศทำเศรษฐกิจให้ดี ผมคิดในระดับรัฐบาลทำเท่านั้นไม่พอ เพราะในที่สุดจะทำให้รัฐบาลไม่มั่นคง ในที่สุดจะทำให้เราไม่พ้นจากปัญหาแบบนี้ มันต้องกล้ายกระดับขึ้นไปพูดถึงปัญหาโครงสร้าง มันคิดกันคนละระดับ
 

ถ้ารัฐบาลมัวแต่เดินหน้าเศรษฐกิจ ไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐบาลก็จะไม่มีเสถียรภาพเช่นกัน

(สวนทันที) ใช่...ถูกต้องมันไม่มีเสถียรภาพเสมอไป แน่นอนมันเป็นเรื่องการประเมิน ผมไม่มีข้อมูล แต่รัฐบาลมีข้อมูลเขาอาจคิดอีกแบบ ประคองอำนาจให้ยาวนานที่สุด แต่ผมมองว่าวันนี้ภารกิจของนักการเมืองไม่ใช่ภารกิจบริหารประเทศธรรมดา อันนี้สำคัญต้องขีดเส้นใต้ แต่มันต้องเป็นภารกิจในการผ่าตัดประเทศ ปรับโครงสร้างประเทศ มันใหญ่กว่าบริหารประเทศธรรมดา
 

ถ้ารัฐบาลไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้าง อะไรจะเกิดขึ้น
 
สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน โครงสร้างที่เป็นอยู่มันก็ทำลายรัฐบาล ทำลายในแง่ไหนไม่รู้ แต่องค์กรอิสระพวกนี้ยังมีอยู่ มันก็ทำลายเหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้ว คุณเจอเรื่องยุบพรรคพลังประชาชน ไม่กี่วันมานี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญออกมาบอกว่าที่ยุบพรรคพลังประชาชน เพราะมันจะเกิดความวุ่นวาย คุณก็จะเจอวิธีการให้เหตุผลแบบนี้ คุณเจอกลไกขององค์กรที่ทรงพลานุภาพแบบนี้เข้าจัดการ ผมจึงคิดไม่เหมือนกับรัฐบาลเลย ความเห็นผมคิดว่าอะไรที่ทำตามหลักการมากที่สุดให้ผลักทันที
 

สิ่งที่ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากที่สุดคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควบการนิรโทษกรรม

2 อันนี้ต้องทำ แก้ไขรัฐธรรมนูญมันต้องเดินหน้าไป คุณจะเอาอะไรต้องเอาสักอย่าง รวมทั้งการนิรโทษกรรม แต่ถ้าไปไม่ไหวจริง ๆ คุณก็มีอีกเครื่องมือหนึ่งคือการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ประกาศไปเลยว่า คุณไปต่อไม่ได้เพราะอะไร แล้วประกาศว่าถ้าเป็นรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญ แล้วไปสู้กันในการเลือกตั้ง

ผมเข้าใจว่าคนที่เป็นนักการเมืองก็อยากมีตำแหน่ง แต่มันต้องมีสายตาไปไกลกว่าการมีตำแหน่ง เลยไปกว่านั้น ตอนนี้สภาพการณ์ของประเทศมันไม่ได้ต้องการไอ้นักการเมืองที่ต้องการมีตำแหน่งแล้ว อาจเป็นคนดี หรือคนไม่ดีแล้วบริหารประเทศเฉย ๆ แต่มันต้องการมากไปกว่านั้น
 

มีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการนิรโทษกรรมคนเสื้อแดง
 
ผมไม่คิดนะ...ว่าเขาไม่จริงใจ ผมไม่คิดถึงขนาดนั้น แต่รัฐบาลให้คุณค่าอันอื่นสูงกว่า เรื่องนิรโทษกรรมอาจพยายามอยู่บ้าง แต่รัฐบาลมองว่ายังทำไม่ได้ ทำแล้วมันกระทบอันนี้ คงไม่ถึงไม่จริงใจ แต่ไม่กล้าที่จะตัดสินใจมากกว่า
 

ถ้ารัฐบาลไม่จริงจังแก้รัฐธรรมนูญ เลื่อนการนิรโทษกรรมไปเรื่อย ๆ รัฐบาลจะพังก่อนหรือเปล่า 

ผมไม่รู้...ประเมินยาก มันอาจเป็นไปได้ทั้งสองทาง เพราะกลไกองค์กรอิสระยังดำรงอยู่อย่างครบถ้วน เพราะระบบการเมืองไทยมีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่าง มันมีโอกาสที่ทำให้รัฐบาลไป เพราะระบบการเช็ก เรื่องหุ้น เรื่องอะไรมันเยอะไปหมด แต่สมมติรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปี แต่ปัญหานี้ก็ยังอยู่ เว้นแต่คนพวกนี้ออกจากคุกหมดแล้ว แต่รัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ อีก 4 ปีข้างหน้าก็ต้องจัดการเรื่องนี้อยู่

สังคมไทยในภาพรวมในเวลานี้พยายามผลักปัญหาออกไปเรื่อย ๆ ไม่พยายามจะแก้ แล้วยังสะสมพลังงานความขัดแย้งไปในปัญหานั้น เมื่อคุณเลื่อนปัญหาออกไปมันก็ยิ่งเข้าใกล้ปัญหามากขึ้นทุกที ๆ แก้ยากขึ้นทุกที ในขณะเดียวกัน ปัญหาก็สะสมพลังงานความขัดแย้งเอาไว้ ถ้าเราไปถึงวันนั้นที่มันไม่สามารถเลื่อนปัญหาออกไปได้แล้วมันก็ระเบิด

นี่คือปัญหาของสังคมไทยตอนนี้ แทนที่จะพูดกันเลยเพื่อปลดล็อกปัญหาแบบนี้คุณกลับเลื่อนมันออกไปเรื่อย รอวันที่มันระเบิด เพราะฉะนั้นที่รัฐบาลทำอยู่มันเป็นทรรศนะอันหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ชะลอออกไปก่อน พอไปถึงวันนั้นแล้วมันจะเบาลง แต่ผมว่าไม่ใช่ แต่ถ้าเกิดดึงออกมาแก้ทีละเปลาะ ทีละเปลาะ มันจะขัดแย้งในทางความคิดบ้างช่างมัน หลุดกันไปทีละปมมันจะช่วยได้ดีกว่า

  
เกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการจุดประกายการนิรโทษกรรมแต่ฝ่ายค้าน ฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อหลากสีถึงไม่ยอมร่วม ทั้งที่ได้ประโยชน์เหมือนกัน
 
มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เขาไม่สนใจประโยชน์ เพราะลองไปดูคดีที่ผ่าน ๆ มาสิ ของทางเหลืองฟ้องคดีก็ไม่ฟ้องคดีกันเลยใช่ไหมล่ะ แล้วมีการปล่อยตัวชั่วคราวไหม แต่ทางฝั่งแดงล่ะ เขาเป็นฝ่ายถูกกระทำเข้าใจไหม แต่อีกข้างหนึ่งเขาไม่สนหรอก ผมดูจาก fact (ข้อเท็จจริง) แบบนี้ ประเมินจากมุมเขาที่ไม่ได้ยี่หระ เขาจึงยืนยันว่ากันไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ไม่เคยถามเลยว่ากฎหมายอันนั้นมันถูกต้องเป็นธรรมไหม
 

ขณะนี้การนิรโทษกรรมเหมือนอยู่บนพื้นฐานของความเกลียดกัน ทั้งสองฝ่ายจะนิรโทษกรรม หรือปรองดองได้ไหม 

ปรองดองไม่ได้มันก็ช่วยบรรเทาความขัดแย้ง บรรเทาความขัดแย้งไม่ได้ก็บรรเทาความทุกข์ยากของคน เป็นเรื่องมนุษยธรรม คุณต้องเอาคุณค่านี้มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เราก็หวังว่าจะปรองดองกันได้ ลดความขัดแย้งได้ ซึ่งบางทีอาจจะไม่ได้หรอก เพราะมันมีเงื่อนไขอื่นเยอะ แต่มันจะบรรเทาได้ ถ้าไม่ได้หมด แต่คุณได้อันหนึ่งคือมนุษยธรรม...ใช่ไหม

ในประวัติศาสตร์มีการนิรโทษกรรมหลายครั้งแต่ไม่มีปัญหา ทำไมไม่ถูกต่อต้านมากเท่าครั้งนี้
 
เพราะว่ารัฐประหาร 19 กันยา 2549 มันได้เปิดเผยโฉมหน้า และโครงสร้างอันแท้จริงของระบบการเมืองไทยออกมา เพราะรัฐประหาร 19 กันยา มันไม่ได้ทำโดยกำลังอำนาจทหารอย่างเดียว แต่มันได้ดึงเอากลไกต่าง ๆ เข้าไปพัวพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรม เพราะ 19 กันยา มันไม่ได้จบลง ณ วันที่ 19 กันยา แต่มันมีผลต่อเนื่องมาอีก เพราะรัฐประหาร 19 กันยา ทำให้คนรู้แล้วว่าการรัฐประหารที่ผ่าน ๆ มาในเมืองไทยมันไม่ถูกต้องอย่างแท้จริง


แต่การจุดประเด็นนิรโทษกรรมของคณะนิติราษฎร์ที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญที่บอกว่าเหมาะสมที่สุด แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
 
ไม่เป็นไรเลย โอเค...ความฝันถ้า Move (ขับเคลื่อน) ไปเป็นกฎหมายได้ก็จะดีมาก แต่ผมไม่ได้หวังไกลแบบนั้น แต่สิ่งที่หวังคือให้ประเด็นนิรโทษกรรมขึ้นสู่ที่สาธารณะแล้วพูด ในแง่นี้ประสบความสำเร็จ เพราะมันมีร่างของ นปช.เป็น พ.ร.ก. มีการพูดถึงนิรโทษกรรม นี่คือเบื้องต้นที่จะได้ เราเอาตัวเองยอมทุ่มตัวเองลงไป ยอมถูกด่า ยอมถูกว่า เพื่อให้สังคมไทยได้พูดกัน มันต้องลงทุนเยอะเลย เราแค่อยากเห็นสังคมไทยไปข้างหน้าได้อย่างสันติ ถูกต้อง แต่อีกด้านรัฐบาลต้องตัดสินใจด้วย 


(ที่มา)
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1364027334&grpid=09&catid=16 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น