หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

เปิดใจกลุ่ม Femen สาวนักประท้วงเปลื้องท่อนบน

เปิดใจกลุ่ม Femen สาวนักประท้วงเปลื้องท่อนบน

 


 
Femen คือใคร มาจากไหน ทำไมพวกเธอต้องเปลือยท่อนบนประท้วง ทำไมต้องมีท่าทีก่อกวน พวกเธอต้องการต่อต้านอะไร ผู้สื่อข่าว The Guardian ได้เปิดอกเปิดใจพูดคุยกับพวกเธอ และพาไปรู้จักกับเฟมินิสต์เน้นปฏิบัติการที่พยายามหาวิธีเล่นกับสื่อและ สัญลักษณ์


คิรา โคชเรน ผู้สื่อข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานเรื่องของนักประท้วงกลุ่ม Femen ที่นำเสนอตนเองออกมาในรูปแบบของสตรีที่เปลื้องท่อนบน โดย Femen เป็นกลุ่มที่เริ่มก่อตั้งในประเทศยูเครนตั้งแต่ปี 2006 โดยมีเป้าหมายต่อต้านการครอบงำทางเพศ การเหยียดเพศและลัทธิชายเป็นใหญ่ โดยพวกเธอมักจะมีเป้าหมายต่อต้านเป็นนักท่องเที่ยวเซ็กส์ทัวร์ (การท่องเที่ยวเน้นการซื้อขายบริการทางเพศ), สถาบันศาสนา และองค์กรจัดหาคู่ข้ามประเทศ

รายงานจาก The Guardian เริ่มเล่าว่าเมื่อช่วงฤดูร้อนของปีที่แล้ว สมาชิกรายหนึ่งของ Femen คือ อินนา เชฟเชงโก้ ซึ่งปัจจุบันอายุ 24 ปี ได้ไปขอเรียนวิธีการใช้เลื่อยไฟฟ้าจากพรานตัดไม้ที่นอกเมืองเคียฟ และในวันถัดมาเธอก็ออกไปที่ยอดเขาแห่งหนึ่งในเมืองเคียฟสวมแค่กางเกงเดนิมขา สั้น รองเท้าบู๊ต ถุงมือหนัง และหน้ากากป้องกันดวงตา ก่อนลงมือใช้เลื่อยไฟฟ้าโค่นไม้กางเขนขนาด 13 ฟุต ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2005 อินนา กระทำการเช่นนี้เพื่อเป็นการประท้วงต่อต้านศาสนาและแสดงความชื่นชมต่อวง Pussy Riot ซึ่งถูกตัดสินดำเนินคดีในวันนั้น โดยยังได้ระบายคำว่า 'Free Riot' ไว้บนตัวเธอด้วย

หลังจากนั้นอินนาก็ถูกขู่ฆ่า ทางการประกาศจับ โทรทัศน์ของรัสเซียและสื่อของยูเครนกล่าวว่าไม้กางเขนดังกล่าวเป็นอนุสรณ์ ของเหยื่อจากการปกครองระบอบของสตาลิน แต่อินนาปฏิเสธว่าไม่จริง หลังจากนั้นก็มีชายที่น่าจะเป็นตำรวจลับเดินไปมาหน้าอพาร์ทเมนต์ของเธอ จนกระทั่ง 6 โมงเช้าวันหนึ่งเธอตื่นขึ้นมาด้วยเสียงประตูห้องถูกถีบให้เปิดออก เธอหนีโดยกระโดดลงจากหน้าต่างหลังห้องออกทางระเบียงชั้นหนึ่ง และเดินทางไปยังวอร์ซอว์โดยไม่กล้ากลับไปยังเคียฟเพราะกลัวถูกจับ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอก็เดินทางไปฝรั่งเศสและเข้าร่วมกลุ่ม Femen กับเพื่อนของเธอ

"เป้าหมายของ Femen เป็นไปอย่างกว้างๆ สุดโต่ง และตรงไปตรงมา คือการประกาศสงครามกับแนวคิดชายเป็นใหญ่ซึ่งมีด่านหลักๆ สามประการคือ การทำให้ศาสนา, เผด็จการ และอุตสาหกรรมทางเพศหมดสิ้นไป" The Guardian กล่าวในรายงาน


Femen มีพื้นที่รวมกลุ่มเป็นโรงละครร้างแห่งหนึ่งในกรุงปารีส อินนากล่าวว่านักรบ Femen จะไม่เคยยิ้ม พวกเธอไม่ได้ต้องการสร้างความพึงพอใจให้แก่ใคร โดยมีการฝึกสมาชิกให้ประท้วงอยู่ในท่าทีต่างๆ คือ ทำให้รู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น, ดูยึดมั่นจริงจัง และดูดุดัน พวกเขาประท้วงด้วยการเปลือยท่อนบนมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่ง The Guardian บอกว่าเป็นการใช้ร่างกายดึงดูดความสนใจ, ล่อนักข่าว แต่ขณะเดียวกันก็ถูกวิจารณ์โดยบางคนว่าพวกเธอยังตกอยู่ในแนวคิดเรื่องการ แบ่งแยกทางเพศในเชิงเหมารวม

"ในห้องที่เต็มไปด้วยโปสเตอร์และภาพบนผนัง มีคนพูดขึ้นมาว่าศาสนาเฮงซวย อีกคนบอกว่า ออกไปข้างนอก! แก้ผ้า! ชนะเลิศ! นักกิจกรรมยืนเรียงแถวหน้ากระดานตะโกนคำขวัญใส่กัน พวกเขาสวมเสื้อยืดและกางเกงกีฬา บางครั้งก็หยุดเพื่อดึ่มน้ำ นี่คือยิมฝึกซ้อมเพื่อการปฏิวัติ" ผู้สื่อข่าว The Guardian กล่าว
นอกจากการฝึกตะโกนสโลแกนแล้ว พวกเธอยังมีการฝึกซ้อมรับการตะลุมบอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการประท้วง จนบางครั้งมีการซ้อมกันถึงขั้นเลือดตกยางออก แต่ก็มีการสั่งหยุดและให้กำลังใจกันและกัน
อีกทั้งยังมีการฝึกลุกนั่ง วิดพื้น และวิ่งไปพร้อมๆ กับหวีดร้อง โดยพวกเธอแสดงให้เห็นตรงไปตรงมาว่าการฝึกเช่นนี้เป็นการฝึกเรียกร้องความ สนใจจากสื่อ


The Guardian กล่าวว่าการเรียกร้องความสนใจากสื่อของพวกเขาได้ผลในระดับหนึ่ง ทุกครั้งที่ Femen ทำการประท้วงจะมีวีดิโอโผล่ขึ้นมาบนเว็บไซต์ทั่วโลก แต่ก็ตั้งคำถามว่าการเปลือยท่อนบนของพวกเขากลายเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ สิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อออกมาจริงๆ หรือไม่

ซึ่งคิราผู้สื่อข่าว The Guardian กล่าวว่าเป็นไปได้ที่นักกิจกรรมสตรีนิยมที่อยู่มานานจะรู้สึกเหนื่อยใจกับ การใช้เรือนร่างของผู้หญิงในศิลปะ, การโฆษณา, การค้า จะไม่ยอมหยุดฟังว่าพวกเขาต้องการพูดอะไร

คิรากล่าวอีกว่า การประท้วงของ Femen ที่มีอยู่ทั่วและเล่นกับประเด็นหลายอย่างมากเกินไป อาจทำให้พวกเขาสูญเสียสิ่งที่พวกเขาต้องการจะวื่ออย่างแท้จริง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้จะพบ Femen ปรากฏตัวอยู่ตามการประท้วงสิทธิเกย์ที่จัตุรัสเซนส์ปีเตอร์ช่วงที่พระสันตปา ปากำลังสวดมนต์ ประท้วงต่อต้านการใช้โมเดลหุ่นผอมบางในสัปดาห์แฟชั่นของมิลาน และพวกเธอก็เข้าไปคว้าถ้วยรางวัลในยูเครนช่วงฟุตบอลยูโร 2012 เพื่อประท้วงอุตสาหกรรมทางเพศ ในโอลิมปิด 2012 ของลอนดอน พวกเธอก็ทาตัวเองด้วยเลือดปลอมเพื่อประท้วงคณะกรรมการโอลิมปิกสากลโดยกล่าว หาว่าคณะกรรมการฯ สนับสนุน 'รัฐบาลเคร่งอิสลามที่เหี้ยมโหด' เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมาพวกเธอก็ไปประท้วงต่อต้านการที่ผู้ชายมีบทบาทครอบงำเศรษฐกิจโลก และในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาพวกเธอก็เปลือยท่อนบนวิ่งงเข้าหาซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาเลียนขณะที่เขากำลังไปเลือกตั้งซึ่งชวนให้บางคนรู้สึก ขำ

"หนึ่งในเป้าหมายหลังของพวกเรา ... คือการกระชากหน้ากากของผู้ที่สวมใส่มัน เพื่อให้รู้ว่าตัวจริงเขาเป็นอย่างไร รวมถึงระดับของแนวคิดชายเป็นใหญ่บ้าๆ ในโลกนี้" อินนากล่าว เธอบอกอีกว่าเธอต้องการเรียกร้องให้ร่างกายของผู้หญิงกลับมาเป็นของผู้หญิง อีกครั้ง

"ร่างกายของผู้หญิงถูกใช้เป็นเครื่องมือของแนวคิดชายเป้นใหญ่มาตลอด" อินนากล่าว "พวกเขาใช้มันในอุตสาหกรรมทางเพศ ในอุตสาหกรรมแฟชั่น มันอยู่ในมือผู้ชายมาตลอด พวกเขารู้ดีว่ากุญแจสำคัญคือการมอบร่างเปลือยเปล่ากลับสู่เจ้าของที่แท้จริง คือผู้หญิง และทำให้เกิดการตีความใหม่เกี่ยวกับการเปลือย... ฉันภูมิใจว่าในทุกวันนี้ผุ้หญิงเปลื้องผ้าไม่ได้แสดงตัวอยู่แค่บนหน้าปก นิตยสาร Playboy แต่มันยังกลายเป็นปฏิบัติการ, เป็นความโกรธ และทำให้คนรู้สึกขุ่นเคืองใจได้"

ผู้ที่เริ่มก่อตั้ง Femen คือ แอนนา ฮัทโซล, โอคซานา ชาโก และอเล็กซานดรา เชฟเชงโก ในยูเครน ไม่นานนักหลังจาก 'การปฏิวัติส้ม' (Orange Revolution) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ชาวยูเครนประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย อเล็กซานดรา หนึ่งในผู้ก่อตั้งเปิดเผยว่าพงกเขาต้องการทำให้ความรู้สึกของการปฏิวัติยัง คงอยู่ จึงได้เริ่มตั้งกลุ่มเกี่ยวกับสตรี และต่อต้านประเด็นเรื่องอุตสาหกรรมทางเพศ เนื่องจากเซ็กส์ทัวร์เป็น 'ปัญหาใหญ่' สำหรับยูเครน

ก่อนหน้านี้แนวคิดสตรีนิยมยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในยูเครน อินนาบอกว่าหากเมื่อก่อนคุณบอกว่าตัวเองเป็นนักสตรีนิยม มันเหมือนกับคุณบอกว่าตัวเองเป็นคนโง่ เป็นคนบ้า ทางด้านอเล็กซานดราบอกว่าเมื่อก่อนเธอก็เคยเชื่อภาพลักษณ์ที่แนวคิดชายเป็น ใหญ่สร้างขึ้นว่านักสตรีนิยมเป็น "ผู้หญิงน่าเกลียดมีหนวดที่ต้องการตัดเครื่องเพศของผู้ชาย"

ในการแลกเปลี่ยนกันเรื่องสิทธิสตรีในวงของ Femen อินนาบอกว่า พวกเธอก็ไม่ได้ใช้หลักวิธี 700 หน้า แต่เป็นการเล่าประสบการณ์ที่ดูดิบตรงไปตรงมา และมีการแสดงความโกรธ พวกเธอถึงได้มีการแสดงออกบนท้องถนน

The Guardian เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ Femen เคยประท้วงโดยยังใส่เสื้อมาก่อน โดยมีการกระท้วงอุตสาหกรรมทางเพศด้วยการติดป้ายราคาให้ตัวเอง ซึ่ง Femen เรียกร้องมานานแล้วว่าอยากให้มีการใช้กฏหมายแบบสวีเดนว่าด้วยการค้าบริการ ทางเพศคือการเอาผิดผู้ซื้อแทนการเอาผิดผู้ให้บริการทางเพศ ช่วงหนึ่งพวกเธอประท้วงด้วยการใช้ชุดสีชมพูทั้งชุดทำให้นักข่าวเรียกพวกเขา ว่าเป็นการปฏิวัติสีชมพู ในปี 2010 ในการประท้วงต่อต้านการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นชายทั้งหมด พวกเธอแต่งตัวเป็นชายแล้วต่อมาก็แก้สูทแสดงให้เห็นเสื้อผ้าผู้หญิงข้างใน

Femen แสดงการประท้วงด้วยการแก้ท่อนบนเป็นครั้งแรกในการประท้วงวิคเตอร์ ยานูโควิช ผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีขณะที่เขากำลังลงคะแนนเสียงที่คูหาเลือกตั้ง ทำให้ในวันถัดจากนั้นภาพของพวกเธอก็แพร่ไปทั่วโลก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ Femen ตัดสินใจประท้วงด้วยการแก้ท่อนบนไปตลอด พวกเธอทำสลับกันคือบางครั้งก็แก้ท่อนบางครั้งก็ประท้วงโดยยังใส่เสื้อ แต่ก็พบว่าบางครั้งพวกเขาใส่เสื้อประท้วงในประเด็นที่สำคัญมากกว่าแต่ก็ถูก เมินเฉย

อินนาเปิดใจว่าในตอนแรกเธอไม่เห็นด้วยกับเรื่องแก้เสื้อประท้วงเพราะเธอ อายและรู้สึกไม่สบายใจ แต่จากการที่พวกเธอเรียนรู้กลยุทธการเรียกความสนใจก็เริ่มเขียนคำขวัญลงไปบน หน้าอกเธอโดยตรง อินนาบอกว่าตอนนี้ร่าวเปลือยเปล่าของพวกเธอเปรียบเสมือนเครื่องแบบ ขณะที่อเล็กซานดราบอกว่ามันคืออาวุธของเธอ

อย่างไรก็ตามกลุ่ม Femen ก็ถูกกล่าวหาว่าใช้แต่ผู้หญิงอายุน้อย ร่างผอมบาง และดูสวย แต่ในหนังสือเล่มล่าสุดเกี่ยวกับ Femen ที่ตีพิมพ์ในฝรั่งเศสแสดงให้เห็นผู้หญิงที่มีรูปร่างแตกต่างกันในการประท้วง เป็นรูปที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ซึ่งน่าจะเป็นสื่อเองที่เลือกรูปเฉพาะที่ดูดี อินนา บอกว่าพวกเธอไม่เคยเลือกคัดหน้าตาหรือน้ำหนักของผู้หญิง ขอแค่มีการเตรียมความพร้อมอย่างดี

แม้ภาพจะดูแรงแต่ Femen ก็เป็นการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งอินนาเรียกว่ามันเป็น "การก่อการร้ายอย่างสันติ" แต่ตัวอินนาเองก็เคยได้รับบาดเจ็บมามากกว่าหนึ่งครั้ง และถูกทุบตีอย่างรุนแรงในช่วงการออกปฏิบัติการครั้งก่อนหน้านี้

ลักษณะการประท้วงของสมาชิกกลุ่ม Femen ต้องทำให้พวกเธอต้องเผชิญกับอันตราย เช่น ในปี 2011 อินนาและนักกิจกรรมอีก 2 คน เดินทางไปยังกรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เพื่อประท้วงอเล็กซานเดอร์ ลุกาเชงโก ชายผู้มีฉายาว่าเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป ที่หน้าอาคารสำนักงานของคณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเคจีบี ทำให้อินนาบอกว่าพวกเธอถูกลักพาตัวโดยตำรวจลับของเบลารุส ซึ่งทางการเบลารุสออกมาปฏิเสธ

อินนาเล่าว่า มีกลุ่มผู้ชายมาจับตัวพวกเธอที่สถานีรถประจำทางและพาตัวพวกเธอเข้าไปในป่า เป็นเวลา 5 ชั่วโมง ราดน้ำมันบนตัวพวกเธอและข่มขู่ด้วยมีดกับไฟแช็ก สั่งให้พวกเธอเปลื้องผ้าให้หมด ตอนแรกนึกว่าเธอจะโดนข่มขืนแล้ว แต่พวกเขาก็ใส่กุญแจมือนั่งโน้มตัวไปข้างหน้าโดยเอามือไขว้หลังเป็นเวลา 6-7 ชั่วโมง โดยไม่อนุญาตให้ขยับเขยื้อนหรือพูดกัน

"พวกนั้นบอกว่า หายใจลึกๆ สูดอากาศให้เต็มที่ เพราะพวกเธอมีเวลาในชีวิตเหลือีกชั่วโมงเดียว นึกถึงภาพรอยยิ้มของแม่พวกเธอไว้ และนึกถึงภาพหน้าตาของแม่เธอตอนมาเจอศพของเธอ" อินนาเล่า และเมื่อเธอรู้สึกว่าเธอกำลังจะถูกสังหาร เธอก็เริ่มพิจารณาช่วงเวลาที่เธออยู่กับ Femen "ฉันรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตฉัน และเป็นสิ่งที่ฉันไม่รู้สึกเสียใจ แม้ในสถานการณ์ที่ฉันอาจจะถูกสังหารได้ แล้วมันก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับฉัน มันเป็นวันที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต แต่ก็เป็นวันที่ดีที่สุดด้วย เพราะมันทำให้ฉันได้เข้าใจตัวเอง"

หลังจากนั้นผู้หญิงที่งสามคนก็ถูกฝังกับหิมะ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้พวกเธอมีจิตใจแน่วแน่มากกว่าเดิม

ทางด้านอเล็กซานดราเล่าว่า เธอถูกตั้งข้อหาคดีอาขญากรรมในยูเครน ซึ่งมีอยู่สองถึงสามครั้งที่เธอถูกจับเข้าคุก แต่ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ในเบอร์ลินและจัดตั้งนักกิจกรรม Femen สาขาเยอรมนี

Femen ต้องการให้การเคลื่อนไหวลามไปทั่วโลก และพยายามสนับสนุนผู้หญิงให้เริ่มตั้งสาขาใหม่ในประเทศของตน ปัจจุบันพวกเธอมีสมาชิก 200 คนทั่วโลก ซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็สร้างแรงสะเทือนได้ พวกเธอมีสาขาในสวิตเซอร์แลนด์, โปแลนด์, สวีเดน, บราซิล, สหรัฐฯ, แคนาดา และอิตาลี โดยเมื่อไม่นานมานี้นักกิจกรรมในตูนีเซียก็โพสท์ภาพเปลือยท่อนบนทางอินเตอร์ เน็ต ทำให้สองวันถัดมาพวกเธอถูกประกาศฟัตวา เรียกร้องให้มีการขว้างก้อนหินใส่พวกเธอจนตาย

อเล็กซานดรา บอกว่าตอนที่พวกเธอเริ่มตั้งกลุ่ม Femen พวกเธอต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารเรื่องแนวคิดสตรีนิยมต่อผู้หญิงที่ ยังสาว อเล็กซานดราบอกว่าพวกเด็กสาวคงไม่อยากอ่านตัวหนังสือยาวๆ พวกเธอจึงทำให้มันเป็นการสื่อด้วยภาพ "พวกเรารู้ว่าคนเรารับข้อมูลข่าวสารมากมายผ่านทางสื่อ และพวกเราก็ต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อให้พวกเขาประหลาดใจ ให้พวกเขาตื่น และเรียกความสนใจ"

อย่างไรก็ตาม The Guardian กล่าวว่าการที่พวกเธอไม่มีการอภิปรายกันก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต เช่นในเยอรมนี พวกเธอถูกวิจารณ์จากการที่เอาอุตสาหกรรมทางเพศไปเปรียบกับลัทธิฟาสซิสม์และ ขับเน้นการเปรียบเทียมนี้ด้วยภาพของนาซี แน่นอนว่า Femen เกลียดชังฟาสซิสม์และประท้วงต่อต้านกลุ่มขวาจัดอยู่เสมอ แต่อเล็กซานดราก็ยังยืนยันจะใช้การเปรียบเทียบนี้ต่อไปแม้ว่านักกิจกรรม Femen สาขาเยอรมนีจะทักท้วงก็ตาม เนื่องจากพวกเธอต้องการให้รู้สึกว่า การค้าบริการทางเพศและศาสนาก็เป็นเรื่องเลวร้ายและควรถูกห้ามเช่นเดียวกับ ลัทธิฟาสซิสม์

อินนา ยอมรับว่า Femen เป็นนักยุยงก่อกวน และก็มีการโต้ตอบกลับโดยขึ้นอยู่กับว่าเธอไปก่อกวนใครมา สมาชิกหลายคนต้องสูญเสียการใช้ชีวิตแบบเดิม เสี่ยงต่อการถูกลักพาตัว ถูกจับ ถูกขังคุก ถูกขู่เอาชีวิต และโดนหัวเราะเยาะ "แต่คำขวัญหนึ่งของเราคือ 'สู้จนเลือดหยดสุดท้าย' " อเล็กซานดรากล่าว

เรียบเรียงจาก
Rise of the naked female warriors, Kira Cochrane, 20-03-2013
http://en.wikipedia.org/wiki/Femen
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ FEMEN

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/03/45914

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น