เหยื่อ 112 บนเส้นทางรถไฟความไวสูง
ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 มักจะได้ไม่รับการประกันตัวโดยสิ้นเชิง เว้นเสียแต่ว่า เขาเป็นผู้มีอภิสิทธิ์บางประการ หากแม้นว่าเขาประหนึ่งเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ดังเช่น คุณ สมยศ หรือนายยุทธภูมิ แม้รัฐธรรมนูญ ที่ได้บัญญัติคุ้มครองให้ ผู้ต้องหา หรือจำเลย จะต้องได้สิทธิประกันตัว และจะปฏิบัติกับ ผู้ต้องหา หรือจำเลย เสมือนว่าเป็นผู้กระทำผิดก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดมิได้ก็มิอาจคุ้มครองพวก เขาได้ สิ่งที่อาจจะช่วยพวกเขา อาจมีเพียงประกอบกรรมดีไปเกิดในชาติใหม่เผื่อว่าจะมีบุญวาสนาเพียงพอให้ใน ชาติใหม่ได้เกิดเป็นอภิสิทธิ์ชน จะได้มีความยุติธรรมในชีวิตกับเขาบ้าง
พวกเหยื่อมาตรา 112 มักถูกคุมขังยาวนาน ซึ่งถือเป็นการทรมานอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อจำเลยถูกทรมาน จึงเลือกที่จะยอมรับสารภาพไปเสีย เพื่อให้ตนได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่ง อันเป็นกระบวนการที่มีลักษณะบีบบังคับ เพราะต้องถูกจองจำเพราะมิได้รับสิทธิประกันตัว ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีอันยืดเยื้อยาวนาน
หากใครต้องการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมก็จะต้องพบกับชะตากรรมที่เลวร้าย ดั่งนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นต้นว่า ต้องไปนำสืบพยานต่างจังหวัดหลายจังหวัด โดยตลอดทางได้รับความลำบากต่างๆ เช่น ต้องยืนอยู่ในรถตลอดทางเป็นเวลาหลายชั่วโมง ไม่ได้รับอนุญาตให้พักเข้าห้องน้ำ และนำตัวไปคุมขังในคุกต่างจังหวัดที่มีสภาพไม่ต่างจากคอกสัตว์ การเป็นอยู่แออัดเป็นอย่างมาก รวมทั้งการพิจารณาคดีนำสืบพยานที่นายสมยศต้องไปให้การ นายสมยศจะถูกตีตรวนที่ข้อมือและข้อเท้าตลอดเวลา ประหนึ่งว่า เป็นคนขี้คุก เป็นอาชญากรร้ายแรง เจ้าหน้าที่อาจลืมไปว่า ห้ามปฏิบัติกับบุคคลเสมือนเป็นคนผิดหากยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ นั้นผิดจริง หรือนายยุทธภูมิ ที่ถูกคุมขังตั้งแต่ 19 กันยายน 2555 จนปัจจุบันไม่เคยได้รับสิทธิประกันตัวเลย ทั้งๆที่ได้ยื่นขอประกันตัวไปกว่า 6 ครั้งด้วยกัน
แต่อย่างๆไรก็ตาม ยังคงมีคนได้รับสิทธิประกันตัวอยู่บ้าง เช่น นายยศวริศ ชูกล่อม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2ปีครึ่ง ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ได้รับสิทธิประกันตัว ในวงเงินเพียง 500,000 บาท ทำให้กระบวนการยุติธรรมดูเสมือนว่าไร้มาตรฐาน
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคดีฆ่าคนตายที่มีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต กลับมีหลายกรณีที่ศาลให้ประกันตัวอย่างง่ายดาย ในขณะที่โทษของคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพอยู่ระหว่าง 3-15 ปี การประกันตัวกลับทำได้ยากยิ่ง หรือขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน
กระทรวงการยุติธรรมสร้างคุกนักโทษการเมืองขึ้นมาใหม่ แม้แง่หนึ่งจะรับรองสิทธิเสรีภาพของผู้คนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นการตอกย้ำว่า ในประเทศที่อ้างประชาธิปไตยที่พลเมืองควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการ เมือง การยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ กลับมิใช่ประชาธิปไตยในความหมายอย่างสากล ยังคงจมปรักอยู่กับคำอ้างเดิมๆว่า นี่แหละประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยอย่างไทยๆ ที่ยังบังคับให้พลเมืองต้องมีความคิดทางการเมืองอยู่ในกรอบอยู่เกณฑ์
ถึงกระนั้นก็ดีนักโทษคดีมาตรา 112 ก็ยังไม่ถือว่าเป็นนักโทษการเมืองอยู่ดีในสายตาของกระทรวงยุติธรรม โดยไม่ถูกนับรวมเป็นนักโทษที่จะอยู่ในข่ายย้ายไปยังคุกนักโทษการเมือง และไม่นับรวมในการอนุมัติวงเงินประกันสำหรับนักโทษการเมืองของกระทรวง ยุติธรรม เช่นกัน ทำให้เกิดการตั้งคำถามในเหตุผลของฝ่ายบริหาร หรือพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลอยู่ขณะนี้ ว่า ที่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรนักโทษมาตรา 112 ได้เพราะเหตุว่าอำนาจมิได้อยู่ในมือรัฐบาล เป็นเพียงคำโกหกแบบขอไปทีหรือไม่
แม้ว่าคนในขบวนการเคลื่อนไหวได้ร่วมต่อสู้เสียเลือดเนื้อกว่า 100 ศพ และติดคุกติดตะรางสูญเสียทรัพย์สิน เงินทองไปมากเพื่อให้พวกเราชาวไทยสามารถมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูก ต้องตามครรลองคลองธรรมสมเจตนารมณ์ประชาธิปไตย กาลเวลาผ่านไปกว่า 3 ปีแล้ว รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มาจากการร่วมสร้างคำมั่นสัญญาระหว่างพี่น้องประชาชนว่าจะนำประชาธิปไตยมา สู่ประเทศไว้เมื่อ 3 ปีก่อน แต่สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือรักษาเสถียรภาพของตนเองไปวันต่อวัน ส่วนเรื่องใดที่หวาดกลัวจะเป็นเป้าของฝ่ายตรงข้าม กลับซุกไว้ใต้พรมเสีย เช่น เรื่องการสร้างประชาธิปไตย เรื่องการปฏิรูปกฎหมาย และเรื่องที่สำคัญยิ่งคือ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ผู้คนที่ร่วมสู้กันมาเพื่อประชาธิปไตย ให้ได้รับอิสรภาพ ให้ได้รับความเป็นธรรม ให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ควรจะได้ตั้งแต่แรกแต่กลับไม่ได้ เช่น การพิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรม กลับถูกบอกปัดราวกับเป็นเรื่องยาก แน่ล่ะ มันคงยากเสียกว่าการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมาสร้างรถไฟ ความเร็วสูง เป็นแน่
ทางด้าน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้ายังจำการเคลื่อนไหวของ นปช.ในช่วงที่แกนนำติดคุกได้ ยกพลมาเป็นหมื่นเป็นแสน หวังจะช่วยให้แกนนำทั้งหลายพ้นจากคุก แต่ปัจจุบันมีแต่การเคลื่อนไหวกะปริดกะปรอยแกนนำทั้งหลายต่างก็มุ่งเข้ามา ตำแหน่งทางการเมืองเป็นหลัก การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่ร่วมสู้กันมาตกอยู่ในสภาวะ “หางเครื่อง”นับวันเข้ายิ่งถูกลืมเป็นดาวดับ ปล่อยให้กลุ่มอิสระที่เห็นความสำคัญของการเรียกร้องต่อสู้ไปส่วนตัวตาม ยถากรรม
เราจะมีประชาธิปไตยได้อย่างไร ในเมื่อ ประชาชนยังถูกคุกคามสิทธิ เสรีภาพด้วยมาตรา 112 อยู่อย่างต่อเนื่อง คดีมาตรา 112 มิได้ลดลงเป็นนัยสำคัญเลยนับแต่เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ล่าสุดไม่นานกระบวนการยุติธรรมบ้านเราเพิ่งจะพิพากษาคนขาย CD สารคดี BBC ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองไทย ที่อาจหมิ่นเหม่ต่อสถาบัน แม้จะเป็นสารคดีที่ได้รับการยอมรับคุณภาพจากประชาคมโลกจาก ช่องข่าว BBC ก็ตาม ยิ่งทำให้ข้อโต้แย้งของพวกนักวิชาการว่า มาตรา112 ไม่ผิดเพราะมุ่งจะลงโทษผู้ที่แสดงความเห็นอาฆาตมาดร้ายเท่านั้น ไม่ประสงค์ลงโทษคนที่วิพากษ์วิจารณ์เสียน้ำหนักลงสิ้น
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุครถไฟความเร็วสูง ด้วยก้าวย่างอย่างรวดเร็วทะนงองอาจ แต่ความทันสมัยและก้าวเดินครั้งนี้ก็มิอาจจะตั้งได้บนฐานสังคมที่อ่อนแอ ที่ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่เป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกระบวนการยุติธรรมที่ป่าเถื่อนล้าหลัง ทำให้หลงลืมไปว่าว่าตนใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ควรจะน้อมลงมารับใช้ประชาชนมิใช้กดขี่ประชาชน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ก้าวเดินดังกล่าวถูกสะดุดลงได้ เป็นอันควรอย่างยิ่งที่จะต้องเตือนให้ผู้อ่านทุกท่านต้องหวนกลับไปคำนึงว่า รากฐานสังคมของเราแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับความเติบโต การก้าวกระโดดนี้ได้หรือยัง และเตือนพวกเราทั้งหลาย ให้กลับมาทบทวนอีกครั้งมันควรจะเป็นเวลาเสียทีที่จะต้องมีการปฏิรูป หรือยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เพื่อหยุดยั้งการคุกคามเสรีภาพของประชาชนเสียที
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/04/46285
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น