หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

รายงานฮิวแมนไรท์ วอทช์ เผยรายละเอียด "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ต่อชาวโรฮิงญา

รายงานฮิวแมนไรท์ วอทช์ เผยรายละเอียด "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ต่อชาวโรฮิงญา

 


 
"สิ่งที่คุณทำได้ คือการภาวนาให้รอดชีวิต" รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เปิดเผยการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ต่อชาวโรฮิงญา ในขณะที่ปธน. เต็งเส่งได้รับรางวัล 'สันติภาพดีเด่น' จากองค์กร ICG


ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของประเทศพม่าในเดือนมิถุนายนและตุลาคมเมื่อปีที่แล้ว นำมาซึ่งการเสียชีวิตของประชาชนชาวชาติพันธุ์ยะไข่และโรฮิงญาอย่างน้อย 180 คน นอกจากนี้ยังทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 125,000 พลัดถิ่น บ้านเรือนเกิดความเสียหายและถูกเผาไหม้เป็นพื้นที่ราว 348 เอเคอร์ หรือราว 1.4 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นอาคารและบ้านเรือนจำนวนราว 4,862 แห่ง


หลังจากเกิดเหตุจลาจลทางชาติพันธุ์และศาสนาดังกล่าว รัฐบาลพม่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ จำนวน 27 คน รวมถึงผู้นำฝ่ายค้าน อาทิ มิน โก นาย และซากานาร์ นักเคลื่อนไหวสมัยการลุกฮือของนักศึกษาปี 1988 เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงและผลิตรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้กล่าวว่าความรุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้นจากพรรคการเมือง พระสงฆ์บางกลุ่ม และคนบางกลุ่มที่กระพือสร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการลงโทษผู้กระทำผิด หรือการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่นๆ 


หลังจากเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์คนในพื้นที่ราว 100 คนจากกลุ่มชาวโรฮิงญาและชาวอาระกัน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อ "'All You Can Do is Pray': Crimes Against Humanity and Ethnic Cleansing of Rohingya Muslims in Burma’s Arakan State" ซึ่งชี้ว่าการกระทำหลายด้านของรัฐบาลต่อเหตุการณ์จลาจลนับเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นความช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือการที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐร่วมกับชาวอาระกันทำร้ายและทำลายที่ อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญา เป็นต้น 


"รัฐบาลพม่ามีส่วนในการดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญาที่ยัง คงเกิดอยู่จนถึงวันนี้ ผ่านการปิดกั้นการให้ความช่วยเหลือและการจำกัดการเคลื่อนย้าย" ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าว "รัฐบาลจำเป็นต้องยุติการละเมิดดังกล่าว และให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบ มิเช่นนั้น รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และ ศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศ" 


ข้อมูลจากฮิวแมนไรท์ วอทช์เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างกลุ่มศาสนาระลอกแรกในเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าทำลายมัสยิด บุกเข้าจับกุมชาวโรฮิงญาด้วยความรุนแรง และปิดกั้นความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาที่พลัดถิ่นในประเทศ ต่อมาในเดือนตุลาคม ชาวอาระกันก็ได้กระพือความเกลียดชังด้วยการเผยแพร่เอกสารที่ส่งเสริมการฆ่า ล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา และเข้าทำลายชุมชนของชาวมุสลิม ใน 9 เขตของรัฐอาระกัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐได้ยืนมองด้วยความเพิกเฉย และบางส่วนยังให้ความช่วยเหลือผู้เข้าทำร้ายอีกด้วย 


พบเจ้าหน้าที่รัฐสนับสนุนการฆ่าล้างชาวโรฮิงญา


รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ประจำการอยู่ในรัฐอาระกัน ทั้งตำรวจท้องถิ่น ตำรวจปราบจลาจล กองกำลังควบคุมชายแดน รวมถึงทหารและนาวิกโยธิน ต่างล้มเหลวในการป้องกันความรุนแรงดังกล่าว หรือมีส่วนร่วมในการสร้างความรุนแรง นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า มีการทำลายศพด้วยวิธีการฝังในหลุมฝังศพขนาดใหญ่รวมกัน ทำให้ไม่สารถนำหลักฐานมาตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสได้ 


ฮิวแมนไรท์ วอทช์ รายงานด้วยว่า พบหลุมศพขนาดใหญ่จำนวน 4 แห่งในรัฐอาระกัน โดยสามแห่งเกิดขึ้นในระหว่างเหตุความรุนแรงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และทำลายหลักฐานการก่ออาชญากรรมดังกล่าว ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 55 รถกระบะของรัฐได้ทิ้งศพชาวโรฮิงญา 18 คน บริเวณค่ายผู้พลัดถิ่นของขาวโรฮิงญานอกเมืองซิตเหว่ การกระทำเช่นนี้ นับเป็นการส่งข้อความออกไปว่า ชาวโรฮิงญาควรออกจากรัฐอาระกันอย่างถาวร 


เหตุการณ์รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งการจลาจลในหมู่บ้านยานเท เขตมรวกอู ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาราว 70 คนต้องเสียชีวิต โดยถึงแม้ว่ามีการประกาศล่วงหน้าแล้วว่าจะมีความรุนแรง แต่ตำรวจควบคุมการจลาจลและทหาร ก็มิได้ป้องกันความรุนแรง แต่กลับสนับสนุนการฆ่าโดยการปลดอาวุธและอุปกรณ์ป้องกันตนเองของชาวโรฮิงญา รายงานระบุว่า มีเด็กโรฮิงญา 28 คนถูกทุบตีจนเสียชีวิต


ที่มาของชื่อรายงานฮิวแมนไรท์ วอทช์ มาจากคำพูดของทหารคนหนึ่งที่บอกกับชาวมุสลิมในหมู่บ้าน ซึ่งกำลังขอความช่วยเหลือในขณะที่หมู่บ้านตนเองกำลังถูกเผาไหม้ว่า "สิ่งเดียวที่คุณทำได้คือการสวดมนต์เพื่อให้รอดชีวิต"


นักข่าวสเปนระบุเป็น "หายนะทางมนุษยธรรมจากฝีมือมนุษย์"


สอดคล้องกับนักข่าวสเปนคาร์ลอส ซาร์ดิน่า กาลาเช่ ที่ลงพื้นที่ดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อรายงานข่าว เขากล่าวว่า จากการได้สัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่พลัดถิ่นในอาระกัน ชาวโรฮิงญาหลายคนให้สัมภาษณ์ตรงกันว่า กลุ่มคนที่เข้าทำร้ายและโจมตีพวกเขานั้นเป็นคนที่เขาไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนใน หมู่บ้านหรือชุมชน จึงทำให้เกิดข่าวลือสะพัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐและทหารเป็นผู้สร้างความรุนแรง คาร์ลอสยังกล่าวด้วยว่า เขารู้ว่ามีกรณีหนึ่งที่ตำรวจฆ่าประชาชนอย่างน้อย 4 คน ในขณะที่พวกเขาพยายามดับไฟที่กำลังเผาไหม้มัสยิด


นักข่าวสเปนยังเล่าวว่า จากการพูดคุยกับทั้งชาวอาระกัน ต่างพูดเหมือนกันว่า ก่อนหน้านี้ชาวพุทธไม่เคยมีปัญหากับชาวมุสลิมในพื้นที่ และไม่เคยเกิดความรุนแรงเช่นนี้มาก่อน จนกระทั่งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จึงเริ่มเกิดความตึงเครียดขึ้น เขากล่าวว่า ในช่วงที่เขาไปลงพื้นที่นั้น เขตจักเพียวซึ่งอยู่ทาง ของรัฐยะไข่ แทบจะไม่เหลือชาวมุสลิมอยู่เลย เพราะเหมือนดังว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ขับไล่พวกเขาออกไปอย่างหมดสิ้น


นอกจากนี้ ในแง่การให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล อาหาร และที่พักอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย คาร์ลอส กล่าวถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสภาพของค่ายผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงญา และของชาวอาระกัน โดยในค่ายชาวอาระกันค่ายหนึ่ง มีคนราว 150 คน และมีหมอ 2 คน กับพยาบาลอีก 2 คน คอยอยู่ให้ความดูแล ในขณะที่ค่ายผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงญา มีคนราว 1,400 คน และมีหมอราว 7 คน เป็นอาสาสมัครที่ถูกส่งมาจากองค์กรมุสลิม


"สภาพเช่นนี้มันไม่เพียงพอและแย่มากๆ ผมเห็นเด็กคนหนึ่งอายุ 4 เดือน ซึ่งในตอนนี้อาจจะไม่รอดแล้วก็ได้ และก็เห็นเด็กอายุ 7 ขวบที่ผอมแห้งไม่ได้กินอาหาร เห็นแบบนี้เยอะมากในค่ายของชาวโรฮิงญา" คาร์ลอสกล่าว "พวกเขาบอกว่ามีหมอไปเยี่ยมพวกเขาเพียงอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น" โดยเฉพาะในมาดรัสสา (โรงเรียนสอนศาสนา) เขาเล่าว่า มีคนอยู่กันอย่างแออัดมาก หลายคนอยู่ไปโดยไม่ได้กินอะไรเลยถึง 5 วัน และพวกเขาก็ต้องต่อคิวรอเพื่อรับยาหรือการรักษาที่ยาวมาก 


เขาเล่าต่อว่า เนื่องจากชาวโรฮิงญาถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในเต้นท์ขนาดเล็กราว 10*15 ตารางเมตร และไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอก หรือทำงาน พวกเขาจึงไม่มีรายได้จากทางใดเพื่อจะมาพัฒนาสภาพทางเศรษฐกิจได้เลย "เท่าที่เห็นก็คือ พวกเขาอยู่ในค่ายกักกันมากกว่าเป็นค่ายผู้ลี้ภัย" คาร์ลอสกล่าว 


ต่อคำถามที่ว่า มองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐอาระกันเป็นเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือ ไม่ นักข่าวต่างประเทศผู้นี้ตอบว่า รัฐบาลพม่ากำลังปิดตาและไม่รับรู้ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว  สภาพในค่ายผู้ลี้ภัยขณะนี้ก็แย่และเลวร้ายมาก มีเด็กๆ เสียชีวิตมากมายโดยที่ไม่มีใครรับรู้หรือสามารถช่วยเหลือได้ 


"สภาพที่อาหารขาดแคลนสำหรับคนจำนวนมากเช่นนี้ เป็นเพราะการจัดการของรัฐบาล และผมก็จะเรียกมันว่าเป็นหายนะทางมนุษยธรรมที่เกิดจากฝีมือมนุษย์" เขากล่าว


ความขัดแย้งที่รัฐบาลได้ประโยชน์


คาร์ลอสมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือรัฐบาล เขาย้ำว่า ประเด็นนี้สำคัญและเป็นเรื่องที่สื่อต่างประเทศมักมองข้าม ว่าประชาชนในรัฐอาระกันเป็นกลุ่มที่ต้องการมีรัฐเป็นของตัวเอง ในขณะที่ขบวนการชาตินิยมในอาระกันนั้นถือว่าเข้มแข็งมาก และถึงแม้จะไม่ได้รุนแรงขนาดในรัฐคะฉิ่นหรือกะเหรี่ยง แต่การที่รัฐพยายามสร้างโครงการทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่นการสร้างท่อก๊าซที่เชื่อมอาระกันไปยูนนานในจีน ก็ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านในหมู่ชาวอาระกันค่อนข้างมาก 



อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวอาระกันกับชาวโรฮิงญาเกิดขึ้น ก็ทำให้การต่อต้านรัฐบาลลดลง และหันไปมุ่งกับการต่อต้านชาวโรฮิงญาแทนเนื่องจากเกิดความกลัวว่าโรฮิงญาจะ เข้ามาสร้างรัฐอิสลามในรัฐอาระกัน รัฐบาลจึงได้ประโยชน์จากการหยุดประท้วงโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ คาร์ลอสให้ความคิดเห็น


ในประเด็นเรื่องจุดยืนของฝ่ายค้านสนับสนุนประชาธิปไตยของพม่า เขากล่าวว่า นางออง ซาน ซูจี และผู้นำจากพรรคเอ็นแอลดี ยังมิได้ออกมาพิทักษ์สิทธิของชาวโรฮิงญามากเท่าที่ควร เพราะการพูดเช่นนั้น เสมือนกับ "เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง" ในพม่า เขามองว่า นางออง ซาน ซูจี ควรมีบทบาทที่กล้าพูดเพื่อปกป้องชาวโรฮิงญามากกว่านี้


"ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นความรุนแรงในเขตอาศัย หรือการปะทะกันทางชาติพันธ์ุ แต่ชาวโรฮิงญาก็ถูกกดขี่แบบทับซ้อน พวกเขาถูกกระทำโดยรัฐบาลและถูกมองว่าไม่ใช่พลเมือง ฉะนั้นพวกเขามีสิทธิน้อยกว่าประชาชนในพม่าทั่วไป" เขากล่าว "ชาวโรฮิงญายังถูกกระทำจากชาวอาระกันด้วย ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เกี่ยวกับการเลือกข้าง แต่เป็นการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" 


ในวันเดียวกันกับการเผยแพร่รายงานของฮิวแมนไรท์ วอทช์ (22 เม.ย. 56) องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ได้จัดงานกาลาดินเนอร์ในนิวยอร์ก เพื่อมอบรางวัลสันติภาพ "In Pursuit of Peace" แก่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า และประธานาธิบดีลูอิส อีนาซีอู ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ นอกจากนี้ สหภาพยุโรป ยังได้ยกเลิกการคว่ำบาตรที่มีมายาวนานกว่าศตวรรษ นำมาซึ่งข้อวิจารณ์ว่า อียูยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่าเร็วเกินไป ทั้งๆ ที่ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากในประเทศ เช่น เรื่องนักโทษการเมือง และความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น 


ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าแก้ไขกฎหมายปี 1982 ว่าด้วยเรื่องสัญชาติ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา และเพื่อรับรองสิทธิพลเมืองของเด็กโรฮิงญาที่เกิดมาใหม่ในพม่า และไม่ต้องกลายเป็นบุคคลไร้รัฐ และให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิด ขึ้นอย่างเป็นธรรม 

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น