หน้าเว็บ

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การปฏิวัติโปรตุเกสและขบวนการทหารในปี 1974

การปฏิวัติโปรตุเกสและขบวนการทหารในปี 1974 


 
มกราคม 1975 มีการลุกฮือของคนระดับล่างมากขึ้น มีการยึดโรงงาน เกษตรกรยึดที่ดินทางใต้ นักเรียนนัดหยุดงานในโรงเรียน และทหารระดับล่างออกชนบทเพื่อให้การศึกษากับประชาชน ดังนั้นในเดือนมีนาคมฝ่ายขวาและนายทุนพยายามก่อรัฐประหารอีกครั้ง แต่ถูก COPCON และคนงานจัดการจนล้มเหลว

โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์

นักวิชาการเสื้อเหลืองชื่อ สุรพงษ์ ชัยนาม เคยโกหกว่ารัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ คล้ายๆ กับการปฏิวัติโปรตุเกสและขบวนการทหารในปี 1974 การที่เขาสามารถพูดแบบนี้ได้ก็เพราะคนไทยจำนวนมากในตอนนั้นไม่ทราบประวัติ ศาสตร์การปฏิวัติโปรตุเกส

ในปี 1974 โปรตุเกสเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดในยุโรปตะวันออก รัฐบาลเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ และโปรตุเกสยังมีเมืองขึ้นในอัฟริกาและเอเชีย เช่น แองโกลา โมแซมบี๊ก และทีมอร์ตะวันออกเป็นต้น ในขณะเดียวกันบริษัทข้ามชาติเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อฉวยโอกาสใช้แรงงานราคาถูก มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมต่อเรือ และการสื่อสาร ซึ่งทำให้ชนชั้นกรรมาชีพขยายตัวในลักษณะคู่ขนาน แต่มีการกระจุกอยู่ในส่วนกลางของประเทศในขณะที่ทางเหนือมีเกษตรกรยากจนจำนวน มาก
   
การพยายามปกป้องอาณานิคมในอัฟริกาจากขบวนการกู้ชาติที่จับอาวุธ กลายเป็นการทุ่มเททรัพยากรซึ่งขัดแย้งกับทิศทางการพัฒนาทุนนิยมและ อุตสาหกรรมภายในโปรตุเกส และแม้แต่นายพลระดับสูงซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองปฏิกิริยาฝ่ายขวา ก็มองว่าประเทศต้องเปลี่ยน คนหนึ่งคือนายพล สปินโนลา ซึ่งเขียนหนังสือที่เสนอให้มีการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตย การพัฒนาเศรษฐกิจ และการถอนตัวออกจากอาณานิคม ที่สำคัญคือกองทัพทั้งหมด และโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับล่าง ไม่พอใจกับสงครามในอัฟริกาและสภาพความเป็นอยู่ของสังคมโปรตุเกส จึงมีการสร้าง “ขบวนการทหาร” (MFA) และวางแผนทำรัฐประหารในเดือนเมษายน 1974 โดยหัวหอกหลักในรัฐประหารครั้งนั้นคือกองพลวิศวกรภายใต้ ออร์เทโล คาวาลโย
   
ในระยะแรก ออร์เทโล คาวาลโย ไม่ได้มีจุดยืนก้าวหน้าเพราะเคยหลงไหลในเผด็จการฟาสซิสต์ แต่สถานการณ์เริ่มกดดันให้เขาเปลี่ยนความคิด
   

ไม่กี่ชั่วโมงหลังรัฐประหาร ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนก็ออกมาสนับสนุน กำลังสำคัญมาจากขบวนการแรงงาน เช่นในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงต่อเรือ นอกจากนี้มีการยึดบ้านว่างโดยคนไร้บ้าน แต่กลุ่มทหาร MFA พยายามตลอดเวลาที่จะยับยั้งการลุกฮือของนักสหภาพแรงงาน และมีการตั้งคณะทหารขึ้นมาเพื่อหนุนรัฐบาลใหม่ภายใต้นายพล สปินโนลา นอกจากนี้มีการปฏิรูปกองทัพให้หลุดพ้นจากภาพฟาสซิสต์เก่า โดยมีการสร้างกองกำลัง COPCON ภายใต้ ออร์เทโล คาวาลโย
   
ในเดือนพฤษภาคมคาดว่าสถานที่ทำงาน 158 แห่งมีการนัดหยุดงาน และใน 35 แห่งมีการยึดโรงงาน ยิ่งกว่านั้นมีการสร้าง “คณะกรรมการและสภาคนงาน”4000 แห่งในสถานที่ทำงานเกือบทุกแห่งในเมืองหลวงลิสบอน มีการผสมผสานข้อเรียกร้องการเมืองและเศรษฐกิจ คือมีข้อเรียกร้องแบบ “ทำความสะอาดกวาดล้าง” ที่ขับไล่พวกสมุนฟาสซิสต์ออกจากที่ทำงาน และมีการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงพร้อมๆ กัน
   
พรรคคอมมิวนิสต์ (สายสตาลิน) ของโปรตุเกส มีสมาชิกประมาณ 5000 คน และหลังรัฐประหารพรรคพยายามสร้างสหภาพแรงงานอิสระใหม่ใน “เครือข่ายสหภาพ” โดยหันหลังให้กับการจัดตั้งของคนงานในคณะกรรมการและสภาคนงาน ในระยะหลังมีการโจมตี คณะกรรมการและสภาคนงานโดยพรรคคอมมิวนิสต์เพราะพรรคควบคุมองค์กรเหล่านี้ไม่ ได้ อย่างไรก็ตามนักเคลื่อนไหวหลายคนใน คณะกรรมการและสภาคนงาน เป็นสมาชิกพรรค พวกนี้ลาออกหรือโดนไล่ออกจากพรรค ซึ่งนำไปสู่การสร้างองค์กรฝ่ายซ้ายอื่นๆ ภายใต้ความคิดหลวมๆ ของลัทธิเหมา เช่นองค์กร MRPP, PRP/BR และ MES
   
การปะทะกันระหว่างแรงงานกับรัฐบาลครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน เมื่อคนงานไปรษณีย์ หนึ่งพันคนนัดหยุดงาน รัฐบาลสั่งให้ทหารไปปราบ และทั้งๆ ที่ผู้นำสหภาพแรงงานยกเลิกการนัดหยุดงาน และพรรคคอมมิวนิสต์เห็นด้วยกับการยกเลิกครั้งนี้ เหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นพัฒนาการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเดือนต่อๆ ไป เช่นการที่ทหารธรรมดาบางคนไม่ยอมไปร่วมในการปราบปรามคนงาน การที่พรรคสังคมนิยมฉวยโอกาสด่าพรรคคอมมิวนิสต์ที่สนับสนุนให้รัฐบาลออก กฏหมายควบคุมการนัดหยุดงาน และการที่องค์กรฝ่ายซ้ายใหม่และขบวนการแรงงานเริ่มจับมือกับทหารระดับล่าง
   
ในเดือนกันยายนมีการนัดหยุดงานใหญ่ในโรงต่อเรือและมีการเดินขบวนของคนงาน รัฐบาลสั่งให้ทหารติดอาวุธออกไปปราบ แต่ท่ามกลางการตะโกนของคนงานว่า “ทหารคือลูกหลานของคนงาน” และ “อาวุธของทหารต้องไม่ใช้กับคนงาน” มีการกบฏของทหารโดยที่ผู้บังคับบัญชาทำอะไรไม่ได้
   
ในเดือนเดียวกันพวกนายทุนและฝ่ายขวารวมถึงนายพล สปินโนลา พยายามทำรัฐประหารกระแส “เสียงเงียบ” เพื่อยับยั้งฝ่ายซ้าย แต่ถูกสกัดโดยขบวนการทหาร MFA กับขบวนการประชาชน

ในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อไป คณะกรรมการและสภาคนงานจากโรงงาน 38 แห่งจัดให้มีการเดินขบวนต่อต้านการปิดโรงงาน และต่อต้านสหรัฐกับนาโต้เนื่องในโอกาสที่กองทัพเรือสหรัฐเข้ามาฝึกซ้อม สงคราม พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคการเมืองอื่นๆ ทุกพรรคไม่เห็นด้วยกับการเดินขบวนครั้งนี้ และรัฐบาลสั่งให้กองกำลัง COPCON ไปยับยั้ง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการและสภาคน ส่งตัวแทนไปเจรจากดดันขบวนการทหาร MFA
 
ในวันประท้วงมีคนเข้าร่วม 80,000 คน และCOPCON ทำท่าจะปิดถนนที่นำไปสู่สถานทูตสหรัฐ แต่พอขบวนคนงานถึงด่านทหาร พวกทหารคอมมานโดก็ให้ผ่านและหันหลังกับคนงานพร้อมกับหันปืนเข้าสู่สถานทูต สหรัฐ เพื่อเป็นสัญญลักษณ์แห่งความสมานฉันท์ระหว่างทหารกับคณะกรรมการและสภาคนงาน
   
ตั้งแต่เดือนมกราคม 1975 มีการลุกฮือของคนระดับล่างมากขึ้น มีการยึดโรงงาน เกษตรกรยึดที่ดินทางใต้ นักเรียนนัดหยุดงานในโรงเรียน และทหารระดับล่างออกชนบทเพื่อให้การศึกษากับประชาชน ดังนั้นในเดือนมีนาคมฝ่ายขวาและนายทุนพยายามก่อรัฐประหารอีกครั้ง แต่ถูก COPCON และคนงานจัดการจนล้มเหลว ตามถนนหนทางคนงานปิดถนนโดยใช้รถบรรทุกและรถขนดิน และทหารธรรมดาก็จับมือคุยกับคนงานอย่างเปิดเผย นายพล สปินโนลา และพวกนายทุนจึงต้องหนีออกนอกประเทศไปสเปน
   
เหตุการณ์นี้เป็นจุดสุดยอดของการปฏิวัติโปรตุเกส หนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนินกลายเป็นหนังสือยอดขายอันดับหนึ่ง และมีการแข่งแนวทางการเมืองในหมู่ฝ่ายซ้ายอย่างดุเดือด เพราะทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคซ้ายอื่นๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยอดขายหนังสือโป้ก็พุงสูง เพราะเคยเป็นหนังสือต้องห้ามภายใต้เผด็จการ ส่วน ออร์เทโล คาวาลโย หัวหน้า COPCON ก็เริ่มใกล้ชิดกับฝ่ายซ้ายกลุ่ม PRP/BR มากขึ้น ที่สำคัญคือเกือบทุกฝ่ายยังไม่มีความชัดเจนว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม โปรตุเกสไปสู่อะไรอย่างไร ข้อยกเว้นคือพรรคสังคมนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ในเยอรมันและเงินรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พรรคสังคมนิยมโปรตุเกสต้องการสร้างรัฐสภาประชาธิปไตยในระบบทุนนิยมตลาดเสรี และต้องการยั้บยั้งการปฏิวัติ
 
ในเดือนเมษายนมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ เพื่อเลือก “สภาที่ปรึกษา” ให้กับคณะทหาร MFA ในเวทีการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสังคมนิยมได้ 38% และพรรคคอมมิวนิสต์ ได้แค่ 13% ส่วนกลุ่มฝ่ายซ้ายอื่นๆ มีเสียงสนับสนุนน้อย ประเด็นสำคัญตรงนี้ที่เราต้องเข้าใจคือ เวทีการเลือกตั้งในประชาธิปไตยทุนนิยม มักให้ประโยชน์กับพรรคการเมืองที่มีภาพ “กระแสหลัก” เพราะประชาชนไปลงคะแนนเสียงแบบปัจเจกในบริบทของการรักษาระบบที่มีอยู่ แต่ในเวทีการต่อสู้ เช่นการประท้วง นัดหยุดงาน หรือยึดสถานที่ทำงาน พรรคหรือกลุ่มการเมืองซ้ายที่ต้านกระแสหลักจะได้ประโยชน์ เพราะมวลชนรู้สึกว่าตนเองมีพลังจากการต่อสู่รวมหมู่ คนจำนวนมากจึงมองว่าสังคมใหม่สร้างได้ นอกจากนี้ในเวทีสู้แบบนี้มีการถกเถียงการเมืองต่อหน้ามวลชนอย่างเปิดเผย โดยที่ใครๆ ก็แสดงความเห็นได้

หลังจากการเลือกตั้งมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องระหว่างพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยม กับแนวร่วมขบวนการทหารกับขบวนการประชาชน แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศก็แย่ลง เพราะกลุ่มทุนข้ามชาติถอนทุนออกจากประเทศ และเมื่อโปรตุเกสยกอิสรภาพให้กับอาณานิคม ทหารผ่านศึกและข้าราชการในอาณานิคมจำนวนมากกำลังจะกลับบ้านท่ามกลางวิกฤตการ ตกงาน เกษตรกรรายย่อยทางเหนือที่ไม่ได้อะไรจากการล้มเผด็จการเพราะเป็นเจ้าของ ที่ดินอยู่แล้ว ก็เริ่มเบื่อหน่ายกับความวุ่นวาย และคนชั้นกลางเริ่มเบื่อหน่ายกับความวุ่นวายเช่นกันนอกจากนั้นประเทศรอบข้าง ในยุโรปกำลังกดดันให้โปรตุเกสสร้าง “เสถียรภาพ” ในสภาพเช่นนี้ถ้าไม่มีการเดินหน้าไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยม ก็จะมีการถอยหลังกลับสู่ทุนนิยมกระแสหลัก
   
ปัญหาใหญ่สำหรับ แนวร่วมขบวนการทหารกับขบวนการประชาชน คือมีการปฏิเสธพรรคการเมือง และพึ่งพาอำนาจและอิทธิพลของทหารมากเกินไปทั้งๆ ที่เป็นนายทหารระดับล่าง

ดังนั้นเมื่อพวกพรรคการเมืองกระแสหลักและนายทหารบางคนในขบวนการทหาร ทำรัฐประหารอีกครั้งแนวร่วมขบวนการทหารกับขบวนการประชาชน ไม่สามารถยับยั้งได้ เพราะไม่มีการจัดตั้งเพียงพอ และไม่มีการวางแผนสร้างสังคมใหม่ด้วย ยิ่งกว่านั้นฝ่ายขบวนการแรงงานและกลุ่มฝ่ายซ้ายเล็กๆ มองว่าขบวนการทหารจะเป็นหัวหอกและอำนาจหลักในการต้านรัฐประหาร โดยไม่มีการเตรียมพร้อมจะนัดหยุดงานหรือยึดโรงงานแต่อย่างใด ส่วนทหารก็แตกแยกไม่เป็นปึกแผ่น
   
เราชาวมาร์คซิสต์ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเรียนรู้และนำข้อสรุปไปใช้ในการ ต่อสู้ปัจจุบัน เราไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ในแง่ของนิทานที่น่าสนใจ ดังนั้นเราควรมีข้อสรุปอะไรบ้าง?
   
ในประการแรก การปฏิเสธพรรคการเมือง การปฏิเสธที่จะสร้างพรรคฝ่ายซ้ายที่มีฐานสมาชิกในขบวนการกรรมาชีพ การหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยถึงการปฏิวัติสังคมนิยมและการสร้างสังคมใหม่ รวมถึงการไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทฤษฏีและประวัติศาสตร์สากล เป็นจุดอ่อนที่ทำให้เราวางแผนการต่อสู้และประเมินสถานการณ์ไม่ได้ นี่คือจุดอ่อนของพวกแนวอนาธิปไตย พวก Occupy และคนเสื้อแดงหรือกรรมกรที่ปฏิเสธการสร้างพรรคในยุคปัจจุบัน
   
ในประการที่สอง การหวังพึ่งนายทหารระดับกลางหรือระดับล่าง ในการเปลี่ยนสังคม นำไปสู่การลดความสำคัญของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเสมอ ตัวอย่างที่ดีคือองค์กร “ละบังอังมาซา” ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเพ้อฝันว่านายทหารระดับล่างจะทำรัฐประหารและจุดประกายการปฏิวัติในยุค ปัจจุบัน ในเวนเนสเวลา ชาเวส ก็พึ่งพาเพื่อนฝูงในกองทัพมากเกินไป แต่ผู้ที่ยับยั้งการทำรัฐประหารในประเทศนั้นคือมวลชนคนจนที่ ชาเวส ไม่ได้จัดตั้งโดยตรง นอกจากนี้การพูดถึง “ทหารแตงโม” โดยแกนนำ นปช. จากเวทีเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เป็นแค่การสร้างภาพลวงตาว่าจะห้ามการเข่นฆ่าเสื้อแดงได้
   
ในประการที่สาม การเน้นเวทีเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม ย่อมให้ประโยชน์กับแนวการเมืองกระแสหลักเสมอ และสร้างความขัดแย้งภายในองค์กรหรือพรรคฝ่ายซ้าย ระหว่างแนวการทำงานมวลชน เช่นการจัดการนัดหยุดงาน ยึดที่ทำงาน หรือการเดินขบวน กับแนวหาเสียงในระบบเลือกตั้งทุนนิยม องค์กรไหนไม่ระมัดระวังอย่างถึงที่สุดในเรื่องนี้ จะถูกลากไปทางขวาโดยเริ่มประณีประนอมกับความคิดกระแสหลัก เพื่อเอาใจคนชั้นกลางและสื่อ และเพื่อไม่สร้างความกลัวมากเกินไปในหมู่นายธนาคารและนายทุน ยิ่งกว่านั้นการลงสมัครรับเลือกตั้งและการหาเสียงในระบบที่มีอยู่ เมื่อแข่งกับพรรคนายทุน ย่อมใช้ทรัพยากรและบุคลากรมากมาย จนไม่สามารถทำงานประเภทเคลื่อนไหวมวลชนได้ อันนี้เริ่มเห็นในกรณีพรรคสังคมนิยมมาเลเซียที่เน้นการหาเสียงเหนือการขยาย งานในสหภาพแรงงาน และพรรคไซรีซา ในประเทศกรีส เพราะไซรีซากำลังปลอบใจนายธนาคารและนายทุนยุโรป เพื่อหวังชัยชนะในการเลือกตั้งคราวต่อไป นอกจากนี้มีการไปจับมือกับพรรคชาตินิยมขวาจัดในไซปรัส เพื่อสร้างแนวร่วมต้านการตัดงบของอียูในกรีสกับไซปรัส
   
แต่ไม่ว่าเราในหมู่ฝ่ายซ้ายจะถกเถียงกันอย่างไรในเรื่องเหล่านี้ สิ่งที่แน่นอนและไม่ต้องเถียงกันคือ การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยาในไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธ์มิตรเสื้อเหลือง ต่างจากการปฏิวัติโปรตุเกสและบทบาทขบวนการทหารในประเทศนั้นโดยสิ้นเชิง  


(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/06/1974.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น