หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จักรภพ เพ็ญแข "ผมเคยถามคำถามนี้กับเสื้อแดงแล้วเช่นกัน"

จักรภพ เพ็ญแข "ผมเคยถามคำถามนี้กับเสื้อแดงแล้วเช่นกัน"



Photo: June 19, 2013

มีตัวอย่างของประชาธิปไตยข้ามชาติมาฝากกันอีกแล้วครับ คราวนี้เป็นกรณีระหว่างอาร์เจนติน่ากับชิลี ซึ่งต่างก็อยู่ในทวีปอเมริกาใต้และเคยผ่านประสบการณ์ของรัฐเผด็จการทหารอย่างเลวร้ายมาแล้วทั้งคู่ ธรรมดาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในทางการเมือง เขาจะทำเฉพาะกรณีตัวผู้นำหรืออดีตผู้นำ หรือข่าวมักจะออกเฉพาะเรื่องของคนในระดับนั้น แต่คราวนี้เป็นการส่งตัวผู้พิพากษาที่ร่วมมือกับระบอบเผด็จการ ใช้ศาลเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการอ้างกฎหมายมาละเมิดสิทธิของคนในประเทศ ซึ่งในขณะเกิดเหตุคนก็ต้องทำตาปริบๆ เพราะกลัวกฎหมายและกลัวศาลเต็มที จนไม่กล้าวิจารณ์หรือแสดงความเห็นอะไรเลย เผลอๆ เขาจะจับไปติดคุกในกรณีหมิ่นศาลเข้าให้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ต่างอะไรจากบ้านเราในขณะนี้ การดำเนินการล่าสุดกับผู้พิพากษาชาวอาร์เจนติน่ารายนี้จึงกำลังสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญและมีผลกระทบต่อเนื่องมาก และคนไทยก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ด้วย

อาชญากรรมทางการเมืองรายนี้เกิดขึ้นในปีพุทธศักราชเดียวกับเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ของเรา ขณะนั้นอาร์เจนติน่าอยู่ใต้การปกครองแบบรัฐทหารเต็มรูป ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและชนชั้นศักดินาอำมาตย์ของประเทศอย่างเต็มที่เพราะกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ขนาดฆ่าคนชาติเดียวกันทีละมากๆ อย่างโหดร้ายก็เชียร์ให้ทำ อาการเดียวกันกับเอาเก้าอี้ฟาดศพนักศึกษาที่แขวนอยู่บนต้นไม้นั่นล่ะครับ (ซึ่งต้องขอบคุณฟิล์มเก่าจากสำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นและสำนักข่าวอื่นๆ จนเรารุ่นหลังได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่แสนสะเทือนใจในคราวนั้น ทั้งที่เราเด็กเกินไปหรือบางคนก็เกิดไม่ทัน คนที่เกิดทันส่วนมากก็ไม่ได้เห็นในตอนนั้น เพราะการปิดข่าวอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์) 

พูดง่ายๆ ว่าเป็นสังคมช่วงขาดสติและไร้ความยั้งคิด ขัดแย้งกันในทางการเมืองจนเสียศูนย์ รู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์และหาเรื่องกันได้ทุกเรื่องไป สิ่งที่กำลังเกิดในเมืองไทยตั้งแต่ราวๆ พ.ศ.๒๕๔๘ มาจนถึงบัดนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ ระบอบเผด็จการอาร์เจนติน่าในขณะนั้นอยู่ในภายใต้นายพลท็อปบู๊ตที่มีชื่อว่า ฮอร์เก้ ราฟาเอล วิเดล่า หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ และควบคุมอาร์เจนติน่าด้วยกฎเหล็กและนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ เงื่อนเวลาก็เทียบได้กับการยึดอำนาจของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ (ความจริงเป็นของนายทหารจากกองทัพบกที่กำลังกุมอำนาจกองทัพในขณะนั้นอย่าง พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกยศ เทพหัสดินฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลงมาถึงระดับล่างหน่อยอย่าง พลตรีเปรม ติณสูลานนท์ มากกว่า) และรัฐบาลที่นำโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” หลังจากนั้น (เรื่องนี้ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ บันทึกไว้เองว่า คณะปฏิรูปฯ หรือคณะรัฐประหารได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อคนที่เขาประสงค์จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีไปหลายคน แต่ไม่มีพระราชประสงค์ใดๆ เพียงรับสั่งในตอนท้ายของการเข้าเฝ้าฯ ในทำนองว่ามีอะไรให้ไปถามอาจารย์ธานินทร์ ตนจึงกลับมาหารือกันแล้วจึงตั้งศาสตราจารย์ธานินทร์ฯ ผู้มีจุดยืนต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนและรุนแรง เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของคณะรัฐประหาร เพราะเชื่อว่าเป็นพระราชประสงค์) ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลา มาแล้วคงเข้าใจลึกซึ้งกว่าคนรุ่นผมว่า ชาวอาร์เจนติน่ายุคนั้นเขารู้สึกขมขื่นและเจ็บปวดขนาดไหน ถึงเขามียอดผู้เสียชีวิตและสูญหายเป็นหลักหมื่น ซึ่งสูงกว่าของเรามากก็ตาม

การทำสงครามกับพลเมืองภายในประเทศที่เป็น “ฝ่ายซ้าย” จนมีคนตาย บาดเจ็บ พิการ และสูญหายไปมากมายในอาร์เจนติน่า ทำให้ประวัติศาสตร์บันทึกความทมิฬในช่วงนั้นว่า “สงครามโสโครก” หรือ “The Dirty War” เมื่อประชาธิปไตยคืบคลานมาสู่ทวีปอเมริกาใต้ในอีกหลายสิบปีต่อไป ความชั่วร้ายเหล่านี้ถูกขุดขึ้นมาตีแผ่อย่างเปิดเผยและเป็นสาธารณะ คำพูดชุ่ยๆ ว่า ให้มันแล้วแล้วไป ไม่มีใครกล้านำมาพูดอีกเลย สื่อมวลชนทั้งหลายที่เคยรับสัมปทานของรัฐและย้ำความคิดทางสังคมว่า อย่าขุดคุ้ยหาอดีตกันอีกเลย จงหาความสำราญด้วยละครและการพนันผ่านจอทีวีกันดีกว่า คนพวกนี้เมื่อขาดพ่อแม่ที่เป็นเผด็จการคุ้มหัวแล้ว ก็ลุกขึ้นมาแสดงจรรยาบรรณให้ดูได้เหมือนกัน น่าสนุกแท้ๆ ผลจากการพลิกกลับทางสังคมนี่เองที่ทำให้คนแก่จวนจะเข้าโลงอย่างอดีตประธานาธิบดีวิเดล่าถูกลากออกมาขึ้นมาสอบสวนใหม่และถูกตัดสินจำคุก จนเมื่อเดือนที่แล้วแกก็ตายไปในคุกนั่นเอง ระหว่างการสอบสวนนายพลวิเดล่านั้น อัยการได้สาวเรื่องไปจนถึงกลไกการใช้อำนาจของระบอบวิเดล่า เพื่อให้ถึงตัวละครอื่นๆ ที่ร่วมกันใช้อำนาจเข่นฆ่าประชาชนในครั้งนั้น ในที่สุดอัยการก็ประกาศออกมาดังๆ ว่า ผู้พิพากษาอาวุโสที่มีชื่อว่า อ็อตติลิโอ้ โรมาโน่ นี่ล่ะคือนักกฎหมายที่ทำหน้าที่พลีตนเป็น “เนติบริกร” ให้กับระบอบเผด็จการในครั้งนั้น เขาคือผู้คิดหาวิธีใช้กฎหมายเล่นงานฝ่ายตรงข้ามจนประหารชีวิตและจับคนเข้าคุกไปมากมายเหลือคณานับ และจงใจบิดเบือนทั้งหลักกฎหมายและประวัติศาสตร์ด้วยความคิดเห็นของผู้พิพากษาที่เขียนตีความกฎหมายในทางสนับสนุนอำนาจเผด็จการมาตลอด สิ่งที่น่าสนใจคือ อัยการพูดไว้ชัดเจนเป็นข้อคิดสำหรับเราเสียด้วยว่า ความผิดของผู้พิพากษาในระบอบเผด็จการพิสูจน์ได้ง่ายกว่าความผิดของตัวผู้เผด็จการเองด้วยซ้ำ เพราะผู้ที่สั่งเขาซ่อนมือของเขาได้แนบเนียนเสมอ ในขณะที่ผู้รับคำสั่งมักจะต้องออกตัวแทนเขาด้วยชื่อจริงนามสกุลจริงเสร็จสรรพ จึงปรากฏอยู่ในหลักฐานชัดเจนกว่า ผู้พิพากษาโรมาโน่ เมื่อรู้ว่าตัวเองจะโดนกรรมเก่าเล่นงานแน่แล้ว ก็หนีออกจากอาร์เจนติน่าไปพำนักที่ประเทศชิลี โดยอาจลืมไปว่า ชิลีก็ผ่านประสบการณ์ความเลวร้ายของระบอบเผด็จการทหารมาจนเต็มประวัติศาสตร์ ไม่น่าที่เขาจะคิดช่วยเหลือซากเดนเผด็จการอย่างโรมาโน่ 

สุดท้ายก็จริงอย่างว่า เมื่อวานนี้ศาลฎีกาของชิลีก็วินิจฉัยเปรี้ยงออกมาแล้วว่าให้รัฐบาลจัดการส่งตัว นายอ็อตติลิโอ้ โรมาโน่ กลับไปขึ้นศาลที่ประเทศอาร์เจนติน่าในทันที ไม่อนุญาตให้ใช้ชิลีเป็นที่หลบความยุติธรรมได้อีกต่อไป

มาเล่ามาถึงตรงนี้ ก็จะมีคนที่เอาแต่อารมณ์ในเมืองไทยออกมาพูดว่า แล้วอดีตนายกทักษิณล่ะ ตัวผมเองล่ะ ทำไมไม่นำมาเทียบกับตัวเองบ้าง ต้องขอตอบซ้ำซากกันอีกว่า เหตุที่ประเทศต่างๆ เขาต้อนรับเราโดยไม่สนใจ “คดี” ต่างๆ ในเมืองไทยเลยนั้น เพราะสิ่งที่เรียกกันเสียไพเราะว่า คดี เหล่านั้นเป็นผลมาจากการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคำสั่งลับเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ ทั้งสิ้น ไม่ใช่คดีความตามหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศเขายอมรับนับถือเลย ถ้ารัฐบาลของประเทศทั้งหลายเหล่านั้นเห็นว่าคดีพวกนี้ถูกต้องตามหลักกฎหมายสากลแล้ว เขาไม่อนุญาตให้อยู่ในประเทศของเขาหรอกครับ ป่านนี้ต้องกลับบ้านไปขึ้นศาลกันแล้ว นี่เขาเห็นว่าเราเป็นฝ่ายถูกกดขี่และได้รับความอยุติธรรม และกำลังมองระบอบเผด็จการซ่อนรูปของไทยอย่างเข้าใจมากขึ้นทุกวัน

บทเรียนจากกรณีอาร์เจนตินาและชิลีครั้งนี้ จึงส่งตรงไปยังเครือข่ายของเผด็จการซ่อนรูปของไทย ใครที่ซ่อนตัวอยู่ในระบบศาลและกระบวนการยุติธรรม อย่าลืมว่าปากมีหูประตูมีช่อง หลักฐานต่างๆ ก็ระบุไว้ชัดว่าใครมีบทบาทอย่างไร ช่วยเหลือเผด็จการกันดีนัก ก็ต้องรู้ชะตากรรมตัวเองด้วยว่าอะไรรอคอยอยู่ในภายภาคหน้า เมืองไทยเรามี “เนติบริกร” ไม่น้อยหรอกครับ ความจริงคำๆ นี้ สื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลเขานำมาขนานนาม ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม ในบทบาทตั้งแต่เป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จนเป็นตัวเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ให้กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรสมัย ๑ และ ๒ แต่ผมรู้สึกว่าเป็นวลีที่ไพเราะ ชัดเจน และนำมาปรับใช้กับเครือข่ายนักกฎหมายทุกๆ ระดับของระบอบเผด็จการซ่อนรูปของไทยได้ดีกว่ามาก เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งว่า “เนติบริกร” ที่เราใช้งานกันในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยนั้น ช่างเป็นการใช้งานที่ตื้นเขินในระดับหญ้าปากคอกเสียเหลือเกิน เทียบไม่ได้เลยกับเนติบริกรของอำมาตย์ศักดินาที่เขาใช้เป็นกลไกสำคัญในการละเมิดสิทธิพลเมืองของผู้ที่เขาชิงชังและต้องการทำลายล้าง และเป็นเครื่องมือหลักในการควบคุมอำนาจรัฐอันล้นพ้นของตน.
 

ประชาธิปไตย เป็นระบอบของการเสียสละ
เมื่อเสียงข้างน้อย ต้องยอมรับในเสียงข้างมาก
นั่นก็ถือได้ว่าเสียงข้างน้อย ได้ทำการเสียสละแล้ว

ในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเชิงการเมือง หรือเชิงความคิด
มันก็มีปลายทางอยู่แค่ว่า เราจะสู้เพื่อเอาตัวเองเป็นใหญ่
หรือสู่เพื่อเส้นทางที่เราจะสามารถยอมรับกันและกัน ได้ตลอดไป


อยากฝากคำถามนี้ ไปถึงกลุ่มหน้ากากขาว
ว่าคุณจะสู้ไปเพื่อ"จุดหมาย"ใด ถ้ามันไม่ได้ขับเคลื่อน
บนเส้นทาง ที่เราจะสามารถยอมรับกันได้ตลอดไป 



ผมเคยถามคำถามนี้กับเสื้อแดงแล้วเช่นกัน
http://prachatai.com/journal/2012/04/39944

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น