พลเรือน ไม่ควรต้องไป "ศาลทหาร"
หลายคนอาจคิดว่า "ศาลทหาร" เป็นเรื่องไกลตัว และ
คิดว่าชาตินี้ยังไงก็ไม่ต้องไปศาลทหารแน่ๆ เพราะแค่ชื่อศาล
ก็ฟังดูไม่เกี่ยวกับเราเท่าไหร่ แต่จริงๆแล้ว
ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในกรณีที่ ผู้กระทำความผิดเป็น ทหาร
นักเรียนทหาร หรือ พลเรือนที่อยู่ในสังกัดทหาร (ในกฎหมายเรียกว่า
บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร) ดังนั้น ถ้าวันใดวันหนึ่ง
เราเกิดเป็นผู้เสียหาย และผู้กระทำความผิด เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
ข้อพิพาทของเรา ต้องไปว่ากล่าวกันที่ศาลทหาร เว้นแต่ว่า
จะเป็นการทำผิดร่วมกับพลเรือน เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับศาลพลเรือน เด็ก
หรือเยาวชน
การที่พลเรือนต้องไปที่ศาลทหาร ถือว่าไม่เป็นธรรมมากๆ เนื่องจาก:
1.พลเรือนไม่มีสิทธิแต่งตั้งทนาย หรือ ฟ้องคดีเองได้ที่ศาลทหาร ต้องมอบคดีให้แก่อัยการทหารเป็นโจทก์
2. องค์คณะของตุลาการ ประกอบไปด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ และตุลาการทหาร
จำนวนองค์คณะพิจารณาพิพากษา ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในชั้นศาลใด
(ศาลทหารมีสามชั้นเหมือนศาลพลเรือน คือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง
และศาลทหารสูงสุด) สำหรับตุลาการพระธรรมนูญ ต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมาย คือ
จบปริญญาตรีด้านกฎหมาย และเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตฯ แต่สำหรับตุลาการทหาร คือ
นายทหารยศสัญญาบัตรขึ้นไปที่ได้รับแต่งตั้ง
โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านกฎหมายก็ได้
3. ไม่มีหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร
เนื่องจากผู้บังคับบัญชา หรือ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการทหารสำหรับศาล
ทหารชั้นต้น ซึ่งขัดกับหลักความเป็นกลาง และ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา
แม้ ในทางปฏิบัติ
ศาลทหารจะพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามกระบวนการอันควรแห่ง
กฎหมาย แต่การที่ประชาชนในฐานะผู้เสียหายจากการกระทำของทหาร
ต้องไปที่ศาลทหาร ไม่สามารถแต่งตั้งทนายหรือฟ้องคดีเองได้
ต้องมอบคดีให้แก่อัยการทหาร (ซึ่งอาจรู้จักมักจี่กับจำเลย)
และคนที่พิจารณาพิพากษาก็เป็นทหารอีก
จะให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับความเท่าเทียม หรือ
เข้าถึงความยุติธรรมอย่างแท้จริงคงเป็นไปได้ยาก
เห็นว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
และผู้เสียหายเป็นพลเรือนธรรมดา
การดำเนินคดีควรไปว่ากล่าวกันที่ศาลยุติธรรม
และศาลทหารคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความผิดของทหารโดย
แท้ เช่น ความผิดทางด้านวินัย หรือ การปฏิบัติหน้าที่ สิทธิของประชาชนที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมควรได้รับความเคารพ ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะเป็นใครก็ตาม!
(ที่มา)
http://www.ilaw.or.th/node/2826
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น