หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เป้าหมายที่ดีงามให้ความชอบธรรมแก่วิธีการที่ต่ำช้า (The End justify the means)

เป้าหมายที่ดีงามให้ความชอบธรรมแก่วิธีการที่ต่ำช้า (The End justify the means)

 

 
โดย ทศพล ทรรศนกุลพันธ์


ในการต่อสู้แบบสันติวิธี ผ่านการใช้เหตุผลและความคิด ด้วยวิธีการสื่อสารนั้น ย่อมต้องคำนึงถึงการให้โอกาสถกเถียงกันอย่างเสมอภาค หรือหลักการให้อาวุธอย่างเสมอภาคกัน (Equal of Weapons Theory) ในการต่อสู้ถกเถียงเพื่อให้ได้มาซึ่ง เหตุผล ที่ดีและตอบกับเงื่อนไขทางสังคมที่มี   ดังนั้นในหลายประเด็นที่มีความเห็นไม่ลงรอยกัน แต่ละฝ่ายจึงได้ทุ่มเทความสามารถและทรัพยากรในการสนับสนุนความคิดและเหตุผล ของตนเอง เพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่ตนต้องการกระทำ

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง กลับไม่มีความเท่าเทียมระหว่างรัฐใหญ่รัฐกับรัฐเล็ก ฝ่ายรัฐความมั่นคง กับ องค์กรภาคประชาชน    โดยเฉพาะเมื่อเป็นการขับเคี่ยวกันรัฐกำลังพัฒนาที่มีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ สูง   รัฐและฝ่ายความมั่นคงมีอำนาจในการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อผสมและช่องทางที่ หลากหลาย เช่น ภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ แผ่น และฉายซ้ำตามความต้องการได้ผ่านอินเตอร์เน็ต ช่องทางที่เข้าถึงได้ไม่ยาก และเนื้อหาที่เข้าใจง่าย เร้าให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมอย่างแรงกล้า จนกลบทับความจริงอื่น ได้แพร่ไปยังมวลชนวงกว้างจนทำให้ความน่าเชื่อถือของเหตุผลอยู่นอกการรับรู้ ของอารมณ์ความสึกรุนแรงดังกล่าว

ฝ่ายสิทธิมนุษยชนตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเนื่องจากมีทรัพยากร เครื่องมือผลิตเนื้อหา และช่องทางในการสื่อสาร น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้น เนื้อหาที่ออกมาจึงอยู่ในลักษณะของข้อเท็จจริง เหตุผล ที่จริงจังจนถึงขั้น เครียด และน่าเบื่อไปสำหรับผู้รับสื่อ และไม่อาจแพร่ไปในวงกว้างเพราะต้องใช้พลังงานในการย่อยข้อมูลเป็นอย่างมาก และฝ่ายรณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนจำนวนไม่น้อยก็ติดกับตัวเองโดยคิดว่าจะ ต่อสู้ด้วยเหตุผลโดยพยายามไม่เร้าอารมณ์ความรู้สึก ทั้งที่เรื่องชีวิตมนุษย์นั้นเกี่ยวพันกับจิตวิญญาณ ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจจะรับรู้ เข้าถึง เข้าใจ กลุ่มเสี่ยงที่ถูกละเมิดสิทธิได้ผ่านการบอกเล่า ประสบการณ์จริงที่สั่นสะเทือนความรู้สึก มากกว่าเหตุผลที่เข้าใจแต่ไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อ เปลี่ยนโลก


กระแส หรือ Trend หนังของวงการ Hollywood ในยุคของ Barack Obama นั้นสะท้อนความรักชาติในแนวทางใหม่ Patriotism in new wave  กล่าวคือ แต่เดิมจะเป็น Super Hero หรือวีรบุรุษผู้แข็งแกร่งและเก่งไปซะทุกอย่างแบบเหนือมนุษย์   เป็นคนที่มีชีวิตจิตใจ มีข้อบกพร่องในชีวิต หรือครอบครัว  และไม่ได้เก่งกล้าไปเสียทุกอย่าง   แต่มีความสามารถบางอย่างแล้วทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับงานที่ตนทำ จนสูญเสียชีวิตส่วนตัวไป แต่ก็สามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมายโดยอาจไม่ได้รับความนิยมชมชอบจากสังคมวง กว้าง ดุจดัง “พระมหาชนกที่ว่ายน้ำแบบไม่เห็นฝั่ง” โดยเชื่อว่าสิ่งที่ตนนั้นเป็นประโยชน์แม้ไม่มีใครเห็นค่า เฉกเช่น “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ”นั่นเอง

ตัวอย่างภาพยนตร์ในแนวทางนี้ได้แก่ บทบาทนำของตัวแสดงนำ จากหนัง James Bond ซึ่งมีสายลับ 007 ที่เป็นสายลับ MI6 แห่งสหราชอาณาจักรประเทศพันธมิตรหลักของสหรัฐอเมริกา เจมส์เป็นสายลับที่มีข้อบกพร่อง ผิดพลาด ไม่พร้อม แต่ก็สามารถทุ่มเททำงานในส่วนของตนจนประสบความสำเร็จ และทำงานร่วมกับทีมได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนการทำงานที่ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น   แต่สิ่งที่ซ่อนมาในนัยยะดังกล่าว คือ การกระทำจำนวนมากของสายลับ และองค์กรนั้น เต็มไปด้วยการฝ่าฝืนและละเมิดกฎหมาย แต่อ้างว่ากระทำไปเพื่อ “เป้าหมายที่ดีงาม” นั่นคือทำเพื่อความอยู่รอดของรัฐ

ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกเรื่องมาจากหนังเรื่อง Zero Dark Thirty ซึ่งสร้างจากชีวิตจริงของสายลับ CIA ซึ่งมีบทบาทในการเสาะแสวงหาตัวผู้ก่อการร้ายสำคัญ โอซาม่า บินลาเด็น ที่เป็นภัยคุกคามหลักของสหรัฐอเมริกา   ในช่วงต้นของเรื่องหนังแสดงให้เห็นถึงการใช้วิธีโหดร้ายป่าเถื่อน คุกคาม ทรมาน และทำร้ายชีวิตมนุษย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่นำไปสู่ บิน ลาเด็น ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ   ในทางกลับกันวิธีการที่สำเร็จกลับเป็นการใช้เทคโนโลยีและความสามารถด้าน สารสนเทศและจารกรรมจนนำไปสู่การบ่งชี้ว่า บิน ลาเด็น อยู่ ณ ที่ใด   อย่างไรก็ดี วิธีการที่ใช้แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็มีหลายส่วนที่ละเมิดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เช่น การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยการใช้เทคโนโลยีสอดส่องจารกรรม และการใช้อาวุธเข้าประหัตประหารจน บิน ลาเด็น ตาย ในท้ายที่สุด  แม้จะดูดีกว่าในช่วง จอร์จ บุช ที่ทรมานแต่ล้มเหลว   แต่ก้ได้สะท้อนนัยยะให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของตนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้าย เพื่อเรียกคะแนนนิยมในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายความมั่นคงเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึง “การทำให้เรื่องผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องปกติ” (Normalize the illegal behaves) โดยทำเรื่องที่กฎหมายและหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยต่อต้าน เช่น การทรมาน torture, กระบวนการยุติธรรมที่ดีประกันสิทธิของประชาชน due process และ กฎแห่งการใช้กำลัง (rule of engagement)  ซึ่งมีส่วนสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจในทางลับของฝ่ายมั่นคง แม้จะมีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายด้วย ก็ตาม

ในช่วงที่เริ่มเขียนบทความนี้เมื่อครึ่งปีก่อน ผู้เขียนคิดว่า การใช้เทคโนโลยีในการดัก แชร์ ล้วง และสืบข้อมูล โดยมิชอบจะมีมากขึ้น และเรื่องดังกล่าวก็ถูกยืนยันด้วย เหตุอื้อฉาวที่นายสโนว์เดน อดีตลูกจ้างบริษัทเอกชนที่รับจ้างสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เข้าสอดส่องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในโลกออนไลน์

และมีหลักฐานเพิ่มเติมจากการมอบรางวัลพลเมืองผู้ช่วยเหลือ CIA ให้กับ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ที่ องค์กร CIA ถึงกับกล่าวยกย่องว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน Facebook คือ สิ่งที่ CIA ปรารถนามาตลอดนั่นคือ การมีเครื่องมือที่รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลและวิถีชีวิตของประชาชนที่มีการ ปรับให้ทันสมัยตลอดเวลา (Real-time Updated) โปรแกรมสื่อสารในโลกออนไลน์จึงกลายมาเป็นเครื่องมือการข่าวที่สำคัญของฝ่าย มั่นคง (Social Media as a new spy)  และที่ยังพูดถึงไม่มากนักคือ พลังของเครื่องมือ Search Engine ที่ให้บริการหลากหลายครอบคลุมวิถีชีวิตหลากแง่มุมมากขึ้นของ Google ที่มีทั้งการเก็บข้อมูลว่าเราค้นหาอะไร สนใจอะไร แผนที่และรูปถ่ายสถานที่ต่างๆ การอ่านงานทั้งหลาย เรื่อยไปถึง อีเมลล์ส่วนบุคคล ซึ่งรวบรวมข้อมูลของบุคคลและอาจนำไปใช้อย่างมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้ม ครองข้อมูลส่วนบุคคล

ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องมือด้านการสื่อสารแบบเครือข่ายสังคมยังถูกยกให้เป็นอาวุธสำหรับการ ปฏิวัติที่ทรงพลังมากที่สุดในยุคของประธานาธิบดีโอบาม่า (Social Media as a gift to the whole resistant groups in developing countries) ดังที่ปรากฏในกระแสอาหรับสปริงส์ที่มีการชุมนุมสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวใน โลกออนไลน์ผ่านโปรแกรมเครือข่ายทางสังคมเหล่านี้ (Social Networks)   แต่สิ่งที่พึงระลึกเช่นกัน คือ ข้อมูลเหล่านั้นย่อมอยู่ในการควบคุมของบรรษัทผู้ให้บริการ และอาจถูกแทรกแซงจากรัฐมหาอำนาจในการใช้ข้อมูลในทางปริปักษ์หรือส่งเสริม กลุ่มขบวนการต่างๆ แล้วแต่จุดยืนของมหาอำนาจ เช่น หนุนให้โค่นผู้นำที่ตนไม่ชอบใน ลิเบีย แต่เอาข้อมูลไปหนุนรัฐบาลซีเรีย หรือกองทัพในอียิปต์ เป็นต้น  

จุดเด่นอีกประการ คือ การสื่อสารของผู้ใช้ผ่านเครือข่ายทางสังคมนี้มีลักษณะพิเศษ คือ ทันต่อสถานการณ์ หลากหลาย เสมือนจริงมาก จึงมีลักษณะกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้รับและส่งสารอย่างแรงกล้า เนื่องจากมีลักษณะเป็นเรื่องเล่าด้วยสื่อหลากหลายรูปแบบ อาทิ คลิปเหตุการณ์เคลื่อนไหว ภาพถ่ายจากสนาม เสียง และการพาดหัวอธิบายเรื่องราว หรือการบรรยายประกอบทั้งหลาย   ดังนั้นสื่อเหล่านั้นจึงกระตุกเร้าคนจำนวนมากให้มีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราว ที่บอกเล่า (Dramatization) โดยอาจขาดสติยั้งคิดเรื่องข้อเท็จจริง เหตุผล หลักการ หรือสูญเสียความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ไป   กลายเป็นการกระตุ้นเร้าให้เกิดความรู้สึกรุนแรง (Passion) เรื่อยไปจนเกิดการแสดงออกอย่างรุนแรงและเหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ผู้อื่นแบบ ผู้เผยแผ่ความเกลียดชัง (Hate Spreaders)  

อย่างไรก็ดี อารมณ์และความรู้สึก เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ไม่อาจขจัดหรือทำลาย หรือห้ามมิให้มนุษย์เกิดอารมณ์ได้   ทางออกของ ภาวะ Dramatization แบบไร้สติ จึงมิใช่การปฏิเสธการใช้อารมณ์    แต่ต้องปอกเปลือก Dramatize ของผู้ที่เผยแพร่ความเกลียดชัง และโฆษณาชวนเชื่อของรัฐและฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้เห็น “ความจริงที่ถูกกลบซ่อน” ไว้ ให้เหตุผล ที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขข้อเท็จจริง   และฝึกการนำเสนอบอกเล่าประสบการณ์จริงของเหยื่อให้มวลชนเข้าถึงง่าย และเข้าใจได้ ผ่านการเล่าเรื่องที่กระตุกอารมณ์ความรู้สึกด้วยกระบวนการ Dramatization แทน   ดังที่กลุ่มขบวนการภาคประชาชนรุ่นใหม่พยายามทำผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ และการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ 

นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรจากทุกหน่วยงานองค์กรที่นำ ทรัพยากรส่วนกลางไปใช้ ก็มีความสำคัญยิ่ง การปฏิเสธและปล่อยให้ฝ่ายรัฐและฝ่ายความมั่นคง ยึดครองทรัพยากรในการสื่อสาร ก็เท่ากับปล่อยให้อาวุธอยู่กับคนอื่น ซึ่งเป็นการสูญเสียโอกาสและความเป็นไปได้ที่จำนำเสนอปัญหาของกลุ่มให้มวลชน รับรู้ และเข้าใจเป็นวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างกระแสสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง   การวิพากษ์วิจารณ์ หรือด่าทอ และไม่เข้าแย่งทรัพยากรในการสื่อสาร อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป   และวิธีในการแย่งชิงก็ไม่จำเป็นต้องแตกหักแต่สามารถซึมลึกเข้าไปยึดครองและ เปลี่ยนสัดส่วนเนื้อหาไปเรื่อยๆก็ได้ ตราบใดที่ยังมีความเชื่อมั่นว่ามนุษย์เปลี่ยนความคิด อารมณ์และความรู้สึกได้   แต่ถ้าหากคิดว่าคนอื่นไร้สติปัญญาเสียแต่ต้นและป่วยการที่จะเปลี่ยน ก็เท่ากับปล่อยให้รัฐและฝ่ายความมั่นคงยึดครองจิตใจมวลชนต่อไปอย่างต่อ เนื่องโดยจะมีคนรุ่นถัดๆไปที่คิดไปแนวเดียวกับรัฐและฝ่ายความมั่นคง

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น