หน้าเว็บ

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

พิธีไหว้ครูอัปยศ

พิธีไหว้ครูอัปยศ

 

 
"นี่มันอะไรกัน ใน พ.ศ. นี้ บรรดาสามัญชน (พวกไพร่ๆ - คำสมัยก่อน) อย่างครูบาอาจารย์ นอกจากจะไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของลูกศิษย์แล้ว ยังผลิตซ้ำโครงสร้างแห่งความรุนแรง (การกดขี่) ที่หนักข้อกว่าแค่การหมอบคลาน โดยบังอาจให้ลูกศิษย์ “กราบเท้า” เยี่ยงนี้ แล้วไซร้..."
 
ในนามประเพณีอันดีงาม ความรักและความกตัญญูที่ลูกศิษย์มีต่อผู้มีพระคุณอย่างครูบาอาจารย์ที่ท่าน “ประทาน” ความรู้มาให้ ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติที่ไม่ต้องการตั้งคำถามอะไรอีกแล้ว เมื่อมันแสดงออกผ่าน “พิธีกรรม” การไหว้ครูของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยให้นักศึกษาหมอบกราบ คลานเข่า  


สัปดาห์ก่อนผู้เขียนช็อคมาก เมื่อบังเอิญไปเห็นภาพพิธีกรรมการไหว้ครู 240 ภาพ ที่ถูกโพสต์ในเฟสบุ๊คของคณะสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เพื่อประชาสัมพันธ์พิธีกรรมแห่งความภาคภูมิใจของคณะแห่งนี้ หลายภาพเป็นภาพที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลายร้อยคนกำลังเรียงแถวมา “กราบเท้า” คณาจารย์ผู้นั่งอยู่บนเก้าอี้ จนหน้าแทบจะซบเท้าอาจารย์ อันหมายถึงการสยบยอมหมอบราบคาบแก้วแล้วทุกอย่าง ห๋า!...มันเป็นไปได้อย่างไรในยุคนี้ พ.ศ. นี้ ซึ่งเป็นยุคที่เราพูดถึงเรื่องการศึกษาที่ทำให้คนคิดเป็น มีเสรีภาพและความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สิ่งที่เราเรียกว่าประเพณีอันดีงาม แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า คำว่า “อันดีงาม”  นั้น ดีงาม “ของใคร”  และ “เพื่อใคร” ของและเพื่อลูกศิษย์ผู้ต้องก้มกราบตีน หรือของอาจารย์ผู้มีอำนาจเหนือกว่า??? และถ้าจะตอบว่าเพื่อ “สังคม” จะได้ปกติสุข คำถามคือว่า  ปกติสุข แปลว่าอะไร แล้วใครปกติ ใครสุข???
 

สำหรับอาจารย์ การจะทำให้การ “สั่งและสอน” บรรลุผลอย่างไม่หืดขึ้นคอ (เพราะอาจจะเจอนักศึกษาคิดเชิงวิพากษ์และตั้งคำถามยากๆ) ไม่ต้องใช้หลักธรรมาภิบาลในการให้คะแนนให้เกรด และดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ดูสูงส่ง คือต้องจับวิชาการในความหมายต่างๆ ที่พวกเขาควบคุมและเตรียมการ (สอน) ไว้แล้ว “กรอก” เข้าหัวนักศึกษานั้น จากนั้นก็วัดผลไปว่านักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในวิชาการนั้นเพียงใด มันจึงไม่ต้องการเสรีภาพในการคิดเชิงวิพากษ์และการตั้งคำถามกับวิชาการว่า ความรู้ที่ผลิตมานั้น ผลิตมาเพื่อใคร ชนชั้นใด ภายใต้อุดมการณ์แบบใด ใครได้ประโยชน์จากวิชาการวิชานั้นๆ (ชนชั้นนำ นักธุรกิจ หรือประชาชน คนจน แรงงานต่างด้าว ฯลฯ) รวมทั้งไม่เข้าใจ และรู้ไม่เท่าทันกับเนื้อหาที่ถูกกรอกใส่ ไม่เข้าใจปัญหาสังคมที่ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโครงสร้างความสัมพันธ์เชิง อำนาจและวาทกรรมต่างๆ ที่ครอบงำ สร้างภาพตัวแทน สร้างความเป็นอื่น เพื่อเบียดขับ เอาเปรียบ และกดขี่ คนจำนวนหนึ่งออกไปหรือเข้าไม่ถึงสิทธิและเงื่อนไขในการดำรงชีพทีดี (เช่น ทำไมคนเราจึงรู้สึกว่ากดขี่แรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องธรรมดา ทำไมคนจนขยันทำนาปีละ 3 ครั้งยังจนอยู่ แล้วชาวเขาที่ไม่มีสิทธิทำกินในที่ดิน ไม่มีบัตรประชาชน เขาดำรงชีพอยู่ได้อย่างไร บลา บลา บลา) ซึ่งชนชั้นอาจารย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตวาทกรรมและได้ประโยชน์จาก โครงสร้างนั้นๆ

การทำให้นิสิตไม่ต้องตั้งคำถามกับปัญหาสังคม คือการพยายาม “ปกปิด” ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (ซึ่งมีทุกหย่อมหญ้าในสังคม รวมทั้งทุกตารางนิ้วในมหาวิทยาลัย) แล้วกลบเกลื่อนให้มัน “เนียน” ไปในนามของ “ประเพณีอันดีงาม” ให้ดูเหมือน “เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา” ที่ว่าวิชาการในมหาลัยและอาจารย์มหาลัยนั้น ถูกต้อง เชื่อถือได้ สูงส่ง ดูเหนือกว่าธรรมดา และ ศักดิ์สิทธิ์  พูดได้ว่าเพื่อการกลบเกลื่อน นอกจากอาจารย์จะใช้อำนาจจากกฎระเบียบ (เช่น การให้เกรด) และเชิงชนชั้น แล้ว ครูบาอาจารย์ต้องมีอำนาจเชิงสัญลักษณ์ด้วย
 
พิธีกรรมไหว้ครูที่เห็นๆ กันในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้  จึงต้องถูก “ประดิษฐ์” ขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างอำนาจเชิงสัญลักษณ์ ในยุคสมัยที่ครูหาใช่เทพเทวดาที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังในอดีต  (เช่นการไหว้ครูดนตรี) และก็ไม่ใช่พวกพระที่สั่งสอนในนามพระพุทธเจ้า พวกพราหมณ์ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพ แต่อย่างใดไม่ ทว่ามีฐานะเป็นแค่มนุษย์ขี้เหม็น ที่ไม่ได้สูงส่งวิเศษวิโสกว่าลูกศิษย์แต่อย่างใด ประเพณีไหว้ครูในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ใหม่เมื่อประมาณปี 2500 ก็เพื่อรองรับสถานภาพอาจารย์ในยุคสมัยใหม่  จึงหาใช่ประเพณีที่มีมาแต่โบราณแต่อย่างใดไม่
 
เรื่องนี้สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เคยเขียนในเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขาเมื่อปีที่แล้วว่า 
“ไหว้ครูเป็นพิธีกรรมที่บรรดาครูปัจจุบัน(ซึ่งเป็น มนุษย์) กับเหล่าลูกศิษย์ ทั้งที่กำลังเรียนอยู่และที่จบไปแล้ว ร่วมกันแสดงคารวะกราบไหว้บูชาครูผี ซึ่งเป็นครูในอดีตที่ตายไปแล้ว อาจอยู่ในฐานะของเจ้า, เทพ, เทวดา เช่น พระอีศวร ฯลฯ ก็ได้ โดยยกย่องครูอาวุโสคนหนึ่ง ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารระหว่างครูผีกับผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหมด (ขอย้ำว่าไหว้ครูสมัยก่อนไม่ใช่ลูกศิษย์ไหว้ครูปัจจุบันเหมือนเดี๋ยวนี้)  ครูผี ในที่นี้ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายนานแล้วว่าเป็นสัญลักษณ์ของหลักการทางนามธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเชื่อถือกันสืบมานานนักหนาว่าสิงอยู่ในเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ผีครก, ผีสาก, ผีนางด้ง, ฯลฯ รวมทั้งเครื่องมือร้องรำทำเพลง เช่น เทริด, หน้ากาก (พราน), ตะโพน, ฆ้องวง, ฯลฯ  พิธีเลี้ยงผีของคนในชุมชนชาวบ้าน แล้วผีลงหรือผีเข้า ก็เป็นอย่างเดียวกับเข้าทรง, ลงทรง ในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์และดนตรี เมื่อรับแบบแผนพราหมณ์สมัยหลัง ก็ยกย่องพิธีพราหมณ์เข้ามาประสมประสานให้ศักดิ์สิทธิ์ ดังเห็นในพิธีไหว้ครู, ครอบครูดนตรีและนาฏศิลป์ ซึ่งมีเข้าทรงด้วย สังคมไทยในอดีตไม่เคยมีประเพณีประจำปีให้ลูกศิษย์ลูกหาพากันกราบก้มประนมกร ไหว้ครูปัจจุบัน เพราะคนแต่ก่อนเห็นว่าครูปัจจุบันเป็นมนุษย์ขี้เหม็น ยังมีโลภ-โกรธ-หลง-โกง-กิน ไม่น่าเคารพก็มาก ไม่รู้ว่าคนที่ลูกศิษย์กำลังกราบไหว้อยู่นั้น แท้จริงในกมลสันดานเป็นอย่างไร มีเบื้องหลังมืดดำอย่างไรก็ไม่รู้ ไหว้ครู ทุกวันนี้เป็นประเพณีประดิษฐ์สร้างใหม่(ก่อน/หลัง พ.ศ. 2500) โดยกระทรวงศึกษาธิการให้ลูกศิษย์(ซึ่งอายุน้อย)เป็นรุ่นลูกหลานไหว้ครู ปัจจุบัน ด้วยการคุกเข่าแล้วคลานเข่าถือดอกไม้ธูปเทียนคลานเข้าไปไหว้ครู เหมือนเข้าเฝ้าเจ้านายในรั้ววัง และเหมือนกราบไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือพระสงฆ์ผู้ทรงศีล แต่ในใจลูกศิษย์คิดยังไง? ครูไม่มีวันรู้”
การไหว้ครูแบบหมอบกราบและกราบไปตรงๆที่ใบหน้าศิษย์แทบจะแนบเท้าอาจารย์ นั้น เป็นพิธีกรรมของการควบคุมความคิดและพฤติกรรมของผู้ก้มกราบ(นักศึกษา) อย่างรุนแรง และเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่ชนชั้นนำได้กระทำลงไป เพื่อทำให้นักศึกษาไม่ต้องตระหนักว่ามีโซ่ตรวนที่ตรึงเขาเอาไว้ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องตั้งคำถามกับความรู้ที่อาจารย์สอน ว่าเป็นความรู้ของ/โดย/เพื่อใคร แล้วใครต้องเจ็บปวดกับ “อำนาจของความรู้” เหล่านั้นบ้าง พวกเขาจึงไม่เข้าใจปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากโครงสร้าง วัฒนธรรม และวาทกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และที่สำคัญ เราก็เลยไม่เคยเห็นเคารพกันและกันในฐานะอาจารย์และศิษย์ในระบอบประชาธิปไตย ที่ตระหนักถึงเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในหลายๆ ตารางนิ้วของมหาวิทยาลัย
แค่การหมอบคลานที่ขุนนาง/สามัญชนเข้าเฝ้าเจ้า รัชกาลที่ 5 ท่านก็ยังทรงเห็นว่าเป็นการ “กดขี่ แก่กันแข็งแรงนัก ....เป็นต้นแห่งการที่เป็นการกดขี่แก่กันทั้งปวง” ทรงโปรดให้ยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลาน เมื่อปี 2416 หรือเกือบ 100 ปีก่อน ในยุคที่เรายังไม่มีประชาธิปไตย ประชาชนยังไม่รู้จักคำว่าสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคด้วยซ้ำไป 

แต่นี่มันอะไรกัน ใน พ.ศ. นี้ บรรดาสามัญชน (พวกไพร่ๆ - คำสมัยก่อน) อย่างครูบาอาจารย์ นอกจากจะไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของลูกศิษย์แล้ว ยังผลิตซ้ำโครงสร้างแห่งความรุนแรง (การกดขี่) ที่หนักข้อกว่าแค่การหมอบคลาน โดยบังอาจให้ลูกศิษย์ “กราบเท้า” เยี่ยงนี้ แล้วไซร้...


บรรทัดต่อไป เขียนต่อไม่ได้แล้ว มันสุดจะบรรยาย....เพราะมันเหลืออย่างเดียว คือ คำด่า
 
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/09/48652

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น