หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จุดจบของรัฐบาลที่นิรโทษกรรมตัวเอง

จุดจบของรัฐบาลที่นิรโทษกรรมตัวเอง


จุดจบของรัฐบาลที่นิรโทษกรรมตัวเอง

รัฐบาลไทยกำลังผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง หลายฝ่ายก็แสดงความกังวลว่าการนิรโทษแบบนี้ นอกจากจะริดรอนสิทธิในการรู้ความจริง และนักการเมืองไม่ต้องรับผิดแล้ว มันยังสร้างวัฒนธรรมการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดด้วย  วัฒนธรรมทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดอันตรายอย่างไร?


เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ประธานาธิบดีโจเซฟ คาบิลา ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ออกกฎหมายนิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งในสงครามกลางเมืองบริเวณตะวันออกของประเทศ ที่ทำผิดตั้งแต่ปี 2546 ถึงเดือนพฤษภาคม 2552  แต่กฎหมายฉบับนี้ก็สร้างบรรยากาศวัฒนธรรมการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดขึ้น เพียง 7 เดือนหลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มาคัมโบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ราย  องค์กรฮิวแมนไรทซ์วอทช์เชื่อว่ากลุ่มที่ก่อเหตุคือกลุ่ม "Lord's Resistance Army(LRA)"

ในเอลซัลวาดอร์ มีสงครามกลางเมืองยืดเยื้อกว่า 12 ปีระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับฝ่ายรัฐบาล จนทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 70,000-80,000 ราย และสูญหายอีกประมาณ 8,000 คน  หลังจากทั้งสองฝ่ายเจรจาสงบศึกกันก็มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งขึ้นใน ปี 2536 แต่หลังจากออกกฎหมายมาได้ ผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนก็ระบุว่า อัตราการเกิดความรุนแรงทางการเมืองก็กลับมาเพิ่มสูงขึ้น และการอุ้มฆ่ากลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง  กลุ่ม "แม่ของเหยื่อที่ถูกจองจำและถูกอุ้ม" ร่วมมือกับนักสิทธิมนุษยชนรณรงค์ให้เอลซัลวาดอร์ ลบล้างการนิรโทษกรรม และสหประชาชาติก็สนับสนุนการลบล้างนี้ด้วย


ในเลบานอน กฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาในปี 2534 ทำให้กองทัพเลบานอน ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งและผู้ก่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี สามารถฟื้นสถานะตัวเองขึ้นมาเป็นองค์กรไม่สังกัดฝ่ายใดที่เข้มแข็งที่สุดได้ และกลับมามีบทบาททางการเมืองมากอีกครั้ง  ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดก็ทำให้กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ใน เลบานอนยังก่อเหตุรุนแรงอยู่เรื่อยมา


ในประเทศไทย มีเหตุการณ์สังหารหมู่จากความขัดแย้งทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง เช่น การสังหารหมู่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516  การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519  เหตุการณ์สังหารหมู่พฤษภาทมิฬ 2535  แต่ทุกครั้งก็มีการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ทำให้ไม่เคยมีการระบุตัวผู้ก่อการสังหารและผู้สั่งการ และไม่เคยมีใครต้องรับผิด 

การนิรโทษกรรมเหมาเข่งของพรรคเพื่อไทยครั้งล่าสุด จะยิ่งบ่มเพาะวัฒนธรรมการทำผิดแล้ว ไม่ต้องรับผิดในการเมืองไทย  เราคงไม่ต้องแปลกใจ หากไม่กี่ปีข้างหน้า จะเกิดการสังหารหมู่กลางเมืองขึ้นอีก  และก็ไม่ต้องแปลกใจที่นายทหารที่สั่งฆ่าประชาชนจะยังคงเชิดหน้าอยู่ในสังคม และจัดงานเลี้ยงวันเกิดแล้วมีนายทหารไปไหว้อวยพรทุกปี  เพราะทุกคนรู้ดีว่า สิ่งหนึ่งที่ไทยมีเหมือนกับเลบานอน เอลซัลวาดอร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก คือวัฒนธรรม "ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด"


(ที่มา)
http://news.voicetv.co.th/global/86688.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น