135 คณาจารย์ ชี้ 4 ข้อ ปัญหาท่าทีที่ประชุมอธิการบดี
5 ธ.ค.2556 คณาจารย์ 135 คน ร่วมลงนามใน
‘จดหมายเปิดผนึกจากคณาจารย์กลุ่มหนึ่งต่อท่าทีของที่ประชุมอธิการบดีใน
สถานการณ์วิกฤติการเมือง’
ไม่เห็นด้วยต่อการแสดงท่าทีของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
ในสถานการณ์วิกฤติการเมืองปัจจุบัน
โดยระบุไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาคมทางวิชาการของประเทศ
และไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว
จดหมายเปิดผนิดดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้
จดหมายเปิดผนึกจากคณาจารย์กลุ่มหนึ่งต่อท่าทีของที่ประชุมอธิการบดีในสถานการณ์วิกฤติการเมือง
เรียนที่ประชุมอธิการบดี
ข้าพเจ้าผู้มีรายนามดังต่อไปนี้ มีความเห็นว่าท่าทีของที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.)
ในสถานการณ์วิกฤติการเมืองในห้วงเวลานี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของ
ประชาคมทางวิชาการของประเทศ และไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว
ด้วยเหตุผลสี่ประการ
1. ในการประชุมและการแถลงท่าทีของ ทปอ.ต่อสถานการณ์ทางการเมือง
ทปอ.ได้จัดการประชุมกันเอง
โดยไม่ได้จัดรับฟังความเห็นและข้อถกเถียงจากประชาคมมหาวิทยาลัยของตนเองเลย
การบริหารของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนั้นมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ซับซ้อน
และคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะหลักการมีส่วนร่วมและพร้อมรับผิดชอบ
(accountability) มิได้ปล่อยให้อธิการบดีเอาความเป็นสถาบัน
และภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยออกไปใช้ในทางการเมืองโดยไม่ฟังเสียงประชาคม
ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และ นิสิตนักศึกษา
2. การนำเสนอความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองของ ทปอ.ในระยะที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการนำเสนอทางออกต่อวิกฤติทางการเมืองโดยการนำเสนอเรื่องของรัฐบาล
รักษาการที่เป็นกลาง
มีแนวโน้มที่จะขัดต่อหลักการและเจตจำนงของรัฐธรรมนูญเนื่องจากขาดการยึดโยง
กับหลักการประชาธิปไตย ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง
ไม่ว่าจะเป็นหลักของความเป็นตัวแทนจากการเลือกตั้งและเสียงข้างมาก
อีกทั้งยังขัดต่อหลักนิติธรรมเองในแง่ของความถูกต้องทางกฎหมายและตามขั้นตอน
ของกฎหมาย
การนำเสนอความเห็นจากที่ประชุมอธิการบดีไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายาม
อย่างถึงที่สุดที่จะผดุงไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตยที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
อย่างชัดแจ้ง
กลับเปิดทางให้เกิดการตีความที่คลุมเครือและสุ่มเสี่ยงทีจะเกี่ยวพันกับ
เงื่อนไขนอกวิถีทางของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
3. ข้อเสนอของ ทปอ.ที่ผ่านมา
ส่งผลต่อประโยชน์และความได้เปรียบทางการเมืองของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มอย่าง
ชัดเจน ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้คือ
นอกจากนำเอามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันสาธารณะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัด
แย้งทางการเมืองแล้ว ทปอ. ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างไม่มีกฎหมายรองรับ
ยังไม่ได้ปกป้องการทำหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย
นั่นคือการให้บริการการเรียนการสอนต่อนิสิตนักศึกษาของตน
เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงขั้นที่มีแนวโน้มหรือมีการใช้ความ
รุนแรงบนท้องถนน ผู้บริหารสถาบันการศึกษาและที่ประชุม
ทปอ.ควรแถลงเรียกร้องให้กลุ่มต่างๆ
จำกัดพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยของประชาคม
มหาวิทยาลัย เพื่อให้ทำการเรียนการสอนดำเนินได้อย่างปกติ
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรยืนหยัดต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว
และเตือนสติขั้วขัดแย้งทางการเมืองให้ตระหนักถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบ
ร้อยของสังคมเป็นสำคัญ
การประกาศงดการเรียนการสอนเพื่อความปลอดภัยต่อประชาคมมหาวิทยาลัยนั้นเป็น
สิ่งที่ควรกระทำ
แต่ก็ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาว่าการประกาศงดการเรียนการสอนในบางกรณี
นั้นอาจกลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม
ได้เช่นกัน
4. ทปอ.
ต้องเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองและช่วยนำพาสังคม
ข้ามพ้นจากวิกฤติทางการเมืองในระยะยาว
ซึ่งหมายความว่ามหาวิทยาลัยจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของความคิดเห็นและ
เสรีภาพทางวิชาการของประชาคมของตน และของสังคมโดยรวม
การที่ทปอ.นำมหาวิทยาลัยไปผูกอยู่กับจุดยืนทางการเมืองของผู้บริหาร
มหาวิทยาลัยบางคน จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศที่เชิดชูเสรีภาพและความหลากหลายทาง
ความคิด และความอดทนอดกลั้นของประชาคมมหาวิทยาลัยและผู้คนในสังคม
อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำพาสังคมข้ามพ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองเฉพาะ
หน้า และจะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันสาธารณะที่รับผิดชอบต่อสังคมในระยะยาว
รายชื่อคณาจารย์
(อ่านต่อ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น