ระบอบ “ขาใหญ่”
โดย อนุสรณ์ อุณโณ
นักมานุษยวิทยาชื่อ Hansen และ Stepputat
เสนอว่าขณะที่ประเพณีการศึกษาสถาบันกษัตริย์ในทางมานุษยวิทยาไม่สามารถช่วย
ให้เข้าใจความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างพระราชอาชญา (Royal
Sovereignty) กับรูปแบบการปกครองสมัยใหม่ได้ การ
“บั่นเศียรพระราชาในทางสังคมศาสตร์” ของ Foucault
ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเหตุใดกฎหมายที่วางอยู่บนความคิดเรื่องรัฐในฐานะ
ศูนย์กลางของสังคมจึงยังคงแพร่หลายหากว่าอำนาจกระจัดกระจายอย่างที่
Foucault กล่าวไว้จริง พวกเขาเห็นว่าแนวคิดอำนาจสูงสุด (Sovereign Power)
ของ Agamben สามารถช่วยให้ฝ่าสภาวะชะงักงันทางทฤษฎีดังกล่าวได้
เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายความสนใจจากการพิจารณาอำนาจสูงสุดในฐานะแหล่งสถิตย์
ของอำนาจมาเป็นรูปแบบของสิทธิอำนาจที่ก่อตัวขึ้นบนความรุนแรง นอกจากนี้
พวกเขาเสนอแนวคิดอำนาจสูงสุดในทางปฏิบัติ (De Facto Sovereignty)
หรือความสามารถในการสังหาร ลงทัณฑ์ และจัดระเบียบวินัยโดยไม่ต้องรับผิด
ซึ่งมีหลากชนิดและมักแข่งขันช่วงชิงกันในอาณาบริเวณจำพวกเขตอาณานิคม
สังคมหลังอาณานิคม และประเทศที่อยู่ในสภาวะสงคราม
อันเป็นอาณาบริเวณที่รัฐไม่ได้เป็นแหล่งสถิตย์ของอำนาจเหนือชีวิตแต่ผู้
เดียวอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นหนึ่งในบรรดาเจ้าเหนือชีวิต (Sovereign)
ที่ประกอบด้วยกลุ่มอาชญากรรม ขบวนการทางการเมือง เจ้าพ่อ หรือบรรดา
“ขาใหญ่”
ที่ต่างพยายามบังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ของตนลงในพื้นที่และบนชีวิตของผู้คน
ผ่านการใช้ความรุนแรง
แม้สังคมไทยไม่ได้เติบโตมาอย่างสังคมตะวันตกและประเทศไทยก็ไม่เคยตก
เป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการเหมือนเช่นประเทศแถบละตินอเมริกา เอเชียใต้
และแอฟริกา อันเป็นที่มาของบรรดาแนวคิดข้างต้น
แต่ด้วยเงื่อนไขจำเพาะบางประการสังคมไทยไม่เพียงแต่อุดมไปด้วย “ขาใหญ่”
หากแต่ “ขาใหญ่” ยังเป็นช่องทางที่คนในสังคม นิยมพึ่งพาอาศัย
ไม่ว่าจะเป็นการส่งส่วยให้นักเลงหรือ “คนมีสี” สำหรับการประกอบธุรกิจ
การจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เจ้าหน้าที่เวลาติดต่อราชการ
การให้ของกำนัลผู้หลักผู้ใหญ่ในการฝากฝังบุตรหลานเข้าทำงาน
หรือแม้กระทั่งการบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สำเร็จสมหวัง
เพราะทั้งหมดนี้คือการอาศัยอำนาจของ “ขาใหญ่”
ในการทำให้ระเบียบกฎเกณฑ์ปกติไม่ถูกบังคับใช้กับเรา เป็นการอาศัยอำนาจของ
“ขาใหญ่”
ในการช่วยให้เราบรรลุสิ่งที่เราต้องการในสภาวการณ์ที่เราคิดว่ากติกาหรือ
วิธีการปกติไม่สามารถช่วยให้เราบรรลุได้
ฉะนั้น การเรียกร้องให้แก้ปัญหาทางการเมืองด้วย “วิธีพิเศษ”
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมไทยเพราะเป็นการอาศัยอำนาจของ “ขาใหญ่”
ในการช่วยให้บรรลุสิ่งที่ต้องการในสภาวการณ์ที่ไม่สามารถอาศัยกติกาหรือว่า
วิธีการปกติได้ การเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารก็ดี
การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ก็ดี
รวมถึงข้อเสนอเรื่องสภาประชาชนก็ดี ล้วนอยู่ในครรลองของระบอบ “ขาใหญ่”
ทั้งสิ้น แต่ปัญหาข้อฉกรรจ์ของระบอบ “ขาใหญ่” ก็คือว่า
แม้มันจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะตัวหรือแม้กระทั่งอย่างหลอกๆ
แต่การวินิจฉัยและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับจริยธรรมของ “ขาใหญ่”
เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตรวจสอบหรือคัดคานได้
จึงไม่มีหลักประกันว่าจริยธรรมของ “ขาใหญ่” จะเที่ยงธรรมแค่ไหน
และจะแก้ปัญหากันอย่างไรหากจริยธรรมของ “ขาใหญ่” เกิดไม่คงเส้นคงวาขึ้นมา
อันนี้ยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดา “ขาใหญ่”
ต่างก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนในปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ทั้งสิ้น
ประสบการณ์จากประเทศแถบละตินอเมริกา เอเชียใต้
และแอฟริกาชี้ให้เห็นว่าระบอบ “ขาใหญ่”
ไม่สามารถพาประเทศและสังคมให้รอดได้ในระยะยาวเพราะเปิดโอกาสให้กับการฉ้อฉล
การกดขี่ขูดรีด การปล้นสะดม การใช้อำนาจบาตรใหญ่
และการใช้ความรุนแรงโดยไม่มีใครสามารถห้ามปรามหรือเอาผิดได้ ขบวน
การชาตินิยมฮินดูสังหารชาวมุสลิมอย่างโหดเหี้ยมในนามชุมชนทางศีลธรรมโดยไม่
มีใครต้องรับผิด ผู้พิพากษาประจำ “ศาลประชาชน”
ในแอฟริกาใต้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองที่รัดกุมพอ
ขณะที่หลายประเทศในละตินอเมริกาผู้คนต้องอยู่กันอย่างหวาดผวาว่าจะโดนหางเลข
จากกลุ่มและขบวนการต่างๆ เมื่อใด
ระบอบ “ขาใหญ่”
จึงไม่น่าจะเป็นทางเลือกหรือว่าทางออกให้กับปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญ
แต่ถ้าใครอยากเห็นแผ่นดินลุกเป็นไฟและสร้างบาปกรรมไว้ให้ลูกหลานก็เชิญตาม
สบายครับ
(ที่มา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น