ร่วมไว้อาลัย เนลสัน แมนเดลา Amandla!
ไว้อาลัย เนลสัน แมนเดลา Amandla!
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
แมนเดลา นำการจับอาวุธต่อสู้กับรัฐเผด็จการของคนผิวขาว และต้องทนทุกข์ทรมานในคุกเป็นเวลา 27 ปี ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอัฟริกาใต้ที่มาจากการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย โดยที่คนผิวดำทุกคนได้สิทธิ์เลือกผู้นำของตนเองเป็นครั้งแรกในปี 1994
แมนเดลา เป็นหัวหน้าพรรค African National Congress (ANC) หรือ “พรรคสภาแห่งชาติอัฟริกา” และในปี 1955 พรรค ANC ได้ประกาศ “ธรรมนูญแห่งเสรีภาพ” (Freedom Charter) เพื่อเป็นแนวทางในการต่อสู้ นอกจากธรรมนูญนี้จะระบุว่าพลเมืองทุกคนทุกสีผิวจะต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันแล้ว ยังระบุว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ในการได้รับการศึกษาฟรีถึงขั้นมัธยม มีสิทธิ์ที่จะมีงานทำและได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เกษตรกรต้องมีที่ดินทำกินโดยจะมีการแบ่งที่ดินใหม่อย่างเป็นธรรม เพื่อไม่ให้คนรวยผูกขาดที่ดินของประเทศ มีการระบุว่าทรัพยากรต่างๆ และบริษัทใหญ่จะต้องนำมาเป็นของส่วนรวม และทุกคนจะต้องมีสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ
แต่เกือบ 60 ปีหลังจากการประกาศ “ธรรมนูญแห่งเสรีภาพ” และ 20 ปีหลังจากที่ แมนเดลา ขึ้นมาเป็นประธานาธบดี สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้ตรงกับความหวังที่เคยมีในธรรมนูญดังกล่าว องค์กรสหประชาชาติรายงานว่าเด็ก 1.4 ล้านคนอาศัยในกระท่อมที่ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม และ 1.7 เด็กล้านคนต้องอาศัยในบ้านที่ต่ำกว่าคุณภาพเพราะไม่มีที่นอน อุปกรณ์อาบน้ำ หรือเครื่องมือทำอาหาร
นอกจากนี้ธนาคารโลกคาดว่าดัชชนีจินี (Gini Coefficient) ของอัฟริกาใต้สูงถึง 0.7 ดัชชนีนี้วัดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนภายในประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกจะเห็นว่าอัฟริกาใต้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก (เปรียบเทียบกับไทย 0.4, อินเดีย 0.37, สหรัฐ 0.47, ญี่ปุ่นและอังกฤษ 0.32 และฟินแลนด์ 0.27)
ในปี 2009 เมื่อผมมีโอกาสไปเมืองโจฮันเนสเบอร์ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหมืองทองคำ ผมเห็นบ้านหรูของคนผิวขาวและคนรวยผิวดำที่ล้อมรอบด้วยลวดหนาม ตามรั้วมีป้ายเตือนขโมยว่ามียามติดอาวุธ ในขณะเดียวกันผมเห็นบ้านเล็กๆ จำนวนมาก เสมือนกล่องปูนซิเมน ของคนผิวดำ และที่แย่กว่าคือสลัมที่ไม่มีน้ำสะอาดหรือห้องน้ำ
อัฟริกาใต้ถูกคนผิวขาวจากยุโรปบุกรุกและยึดครองมาตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม แต่พอถึงยุค 1880 มีการค้นพบเพชรกับทองคำ บริษัทใหญ่จึงต้องการแรงงานผิวดำราคาถูกเป็นจำนวนมาก สภาพการทำงานของคนงานเหล่านี้ในเหมือนแร่ป่าเถื่อนที่สุด พร้อมกันนั้นมีการใช้ความรุนแรงเพื่อขับไล่คนผิวดำในหมู่บ้านชนบทออกจากที่ดิน และนี่คือที่มาของการก่อตั้งขบวนการแรงงานคนผิวดำในอัฟริกาใต้ ซึ่งเป็นขบวนการทางสังคมที่มีพลัง ต่อมาในปี 1948 มีการออกกฏหมายเพื่อสร้างระบบ “อาพาร์ไทยท์” เป็นทางการ คนผิวดำถูกบังคับให้อาศัยในสลัมเพื่อมาทำงานให้คนผิวขาวและบริษัทยักษ์ใหญ่ และห้ามใช้บริการต่างๆ ที่คนผิวขาวใช้ สรุปแล้วระบบ “อาพาร์ไทยท์” ที่แบ่งแยกและกดขี่คนตามสีผิว เป็นส่วนหนึ่งและแยกไม่ออกจากระบบทุนนิยมของอัฟริกาใต้ บริษัทเพชร De Beers บริษัทเหมืองทองคำใหญ่ๆ เช่น Anglo-American รวมถึงบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ของประเทศตะวันตก เช่น ICI, GEC, Shell, Pilkington, British Petroleum, Blue Circle and Cadbury Schweppes สามารถกอบโกยกำไรมหาศาลจากระบบนี้
ในขณะที่ผู้นำระดับโลกทุกวันนี้แห่กันไปชมและไว้อาลัย แมนเดลา เราไม่ควรลืมว่าตลอดเวลาที่ แมนเดลา ติดคุก ผู้นำประเทศตะวันตกเกลียดชังและด่าเขาว่าเป็นพวก “ก่อการร้าย”
ในปี 1990 แมนเดลา ถูกปล่อยตัว และระบบ “อาพาร์ไทยท์” เริ่มล่มสลาย เหตุผลหลักมาจากการต่อสู้และการนัดหยุดงานเป็นระยะๆ ของขบวนการแรงงานตั้งแต่ปี 1974 และการต่อสู้ของชุมชนผิวดำ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน เช่นในเมือง Soweto ในปี 1976 เพราะการลุกฮือเป็นประจำแบบนี้ทำให้นายทุนใหญ่และชนชั้นปกครองมองว่าต้องรื้อถอนระบบแบ่งแยกด้วยสีผิว เพื่อปกป้องฐานะและกำไรของเขาในระบบทุนนิยม
ปัญหาของแนวทางในการต่อสู้ของพรรค ANC และพรรคแนวร่วมหลักคือ “พรรคคมอมิวนิสต์แห่งอัฟริกาใต้” (SACP) คือมีการเน้นการต่อสู้เพื่อปลดชาติจากการผูกขาดของคนผิวขาว ที่เรียกกันว่าการต่อสู้เพื่อ “ประชาชาติประชาธิปไตย” แทนที่จะมองว่าต้องต่อสู้กับระบบการกดขี่สีผิวพร้อมๆกับสู้กับระบบทุนนิยม (ที่ชาวมาร์คซิสต์เรียกว่า “แนวปฏิวัติถาวร”) พูดง่ายๆ ANC และ SACP มองว่าการมีรัฐบาลของ แมนเดลา จะทำให้ทุนนิยมอัฟริกาใต้ “น่ารักมากขึ้น” รัฐบาล ANC สัญญามาตั้งแต่แรกว่าจะไม่แตะระบบทุนนิยมและกำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่ และบทบาทสำคัญของ SACP คือการคุมขบวนการแรงงานเพื่อไม่ให้ออกมาต่อสู้และ “เรียกร้องอะไรมากเกินไป” จากรัฐบาล ANC มองดูแล้วอดไม่ได้ที่จะนึกถึงรัฐบาลเพื่อไทยและบทบาทแกนนำ นปช.
อย่างไรก็ตามตรรกะของการยอมรับระบบทุนนิยม โดยไม่พยายามปะทะ หรือเปลี่ยนระบบ คือการหันไปยอมรับกลไกตลาดเสรี ในปีที่พรรค ANC ขึ้นมาเป็นรัฐบาลมีการตกลงกับองค์กร IMF เพื่อรับแนวทางตัดสวัสดิการและตัดงบประมาณรัฐ และต่อมามีการลดภาษีให้บริษัทใหญ่ และทั้งๆ ที่รัฐบาลตั้งใจจะสร้างบ้านใหม่ให้คนผิวดำจำนวนมาก ในความเป็นจริงโครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และผลของนโยบายเสรีนิยม คือการที่มีการเพิ่มกำไรและรายได้ให้กับกลุ่มทุนและคนรวยในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนเหมือนเดิม เพียงแต่ข้อแตกต่างจากยุค “อาพาร์ไทยท์” คือในหมู่นักธุรกิจและคนรวย มีคนผิวดำที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเข้าไปร่วมกินด้วย หนึ่งในนั้นที่เป็นเศรษฐีใหญ่คืออดีตผู้นำสหภาพแรงงานเหมืองแร่ Cyril Ramaphosa
Ronnie Kasrils เพื่อนร่วมสมัยแมนเดลา และสมาชิกระดับสูงของพรรค ANC และพรรค SACP เขียนบทความใน นสพ The Guardian เมื่อปลายเดือนมิถุนายนปีนี้ โดยสารภาพว่าพรรคผิดพลาดมหาศาลที่ยอมถูกกดดันจากกลุ่มทุนใหญ่ จนทิ้งอุดมการณ์เดิมไปหมด เขามองว่ารัฐบาลในสมัยนั้นรวมถึงตัวเขาเอง กลัวคำขู่ของนายทุนมากเกินไป
ดูได้ที่(http://www.guardian.co.uk/commentisfre/2013/jun/24/anc-faustian-pact-mandela-fatal-error)
ท่ามกลางสภาพสังคมที่แย่ๆ แบบนี้ ขบวนการชุมชนที่ต่อต้านการแปรรูปสาธารณูปโภคให้เป็นเอกชน
และสหภาพแรงงานต่างๆ ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการต่อสู้กับรัฐบาลและนายทุนอย่างดุเดือด
และมีความพยายามของฝ่ายซ้ายบางกลุ่มที่จะตั้งองค์กรที่อิสระจากพรรค ANC และพรรคคอมมิวนิสต์ ล่าสุดการลุกฮือของคนงานเหมืองแร่ที่ Marikana ซึ่งถูกตำรวจปราบแบบนองเลือด
แสดงให้เห็นว่าคนงานพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่ได้ถูกครอบงำโดยรัฐบาล
นอกจากนี้ภาพตำรวจกราดยิงคนงานที่ไร้อาวุธ อย่างที่รัฐบาลเผด็จการของคนผิวขาวเคยทำ
กระตุ้นให้คนจำนวนมากเริ่มมองว่าการล้ม “อาพาร์ไทยท์” ไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปมากนัก และมวลชนยังมีภาระที่จะต่อสู้ต่อไป
ผมจะไว้อาลัย เนลสัน แมนเดลา ทั้งๆ ที่แนวการต่อสู้ของเขาทำให้ความหวังของ “ธรรมนูญแห่งเสรีภาพ” ยังไม่เกิด เพราะอย่างน้อยเขาเป็นผู้นำที่เสียสละอดทนเพื่อสู้กับระบบ “อาพาร์ไทยท์” และเขาเป็นผู้นำที่ดุจเสมือน “พ่อ” ที่น่าเคารพจริงคนหนึ่งของโลกสำหรับฝ่ายซ้ายรุ่นผม
พวกเราเคยร่วมรณรงค์ต่อต้าน“อาพาร์ไทยท์” ในระดับสากลมาหลายปี และตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่าคุณแม่ก็ไม่ยอมซื้อสินค้าจากอัฟริกาใต้
แต่ผมจะไม่ลืมว่าการล้ม “อาพาร์ไทยท์”
อาศัยการต่อสู้เสียสละของมวลชนคนงานและเด็กนักศึกษาจำนวนมาก และภาระในการต่อสู้ยังไม่จบ
(ที่มา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น