อย่าบิดเบือนเรื่องคนนอกสามารถเป็น ”นายกฯ พระราชทาน”
โดย วสันต์ ลิมป์เฉลิม
ดูเผินๆ ทำให้คิดว่า ข้อเสนอให้มีนายกฯ พระราชทานต่างจากที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้วเมื่อปี 2549 ( เวลานั้นอ้างมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ซึ่งตรงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 7 รัฐธรรมนูญปัจจุบัน) ซึ่งในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระราชดำรัสชี้แจงแล้วว่า ทรงกระทำมิได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ และได้ทรงชี้ให้ดูข้อเท็จจริงกรณีนั้นให้ถูกต้อง
เนื่องจากข้ออ้าง การขอนายกฯ พระราชทานอยู่บนฐานของเหตุการณ์ปี 2516 ที่ผ่านมานานถึง 40 ปีมาแล้ว เพื่อความกระจ่าง ในที่นี้ จึงขอเสนอให้พิจารณาทบทวน ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งเกี่ยวกับกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศเมื่อ ช่วง 14 ตุลาคม 2516 สมัยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ในช่วงขณะนั้น ประเทศไทยใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 อันเป็นผลจากการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ซึ่งยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ทำให้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ได้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด
เนื่อง จากธรรมนูญการปกครองดังกล่าวเป็นผลจากการทำรัฐประหาร หัวหน้าคณะปฏิวัติคือจอมพลถนอม เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการรัฐประหาร และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองดังกล่าวเอง ตัวธรรมนูญการปกครองจึงไม่ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้ อย่างไรก็ดี ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ดังกล่าวก็ได้ระบุในมาตรา 22 (จากทั้งหมดมีเพียง 23 มาตรา) ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่ง ธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย...” อันเป็นใจความลักษณะเดียวกันกับมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นั่นเอง โดยในยุคนั้นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ยังคงอ้างคำว่า “ประชาธิปไตย” อยู่ในธรรมนูญ ฯ มาตรา 22 ทั้งมีสภาในเชิงรูปแบบ โดยมาจากการแต่งตั้ง
เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และจอมพลถนอม ได้กราบบังคมทูลฯ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเดินทางออกนอกประเทศ เมื่อธรรมนูญการปกครองไม่ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้ เวลานั้น นาย ทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พลตรี ศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ติดราชการไปประชุมสหภาพรัฐสภายังต่างประเทศ) ได้เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คำถามที่พึงพิจารณาในที่นี้คือ การ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็น “คนนอก” หรือเป็น “นายกฯ พระราชทาน” ตามความหมายที่มีการอ้างนั้น สามารถนำมาปรับเข้ากับกรณีปัจจุบันได้หรือไม่ หรือสามารถอ้างเงื่อนไขมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำนองเดียวกันกับการอ้างมาตรา 22 ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ได้หรือไม่
หาก ไม่กลับไปดูบริบทข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน อาจจะเห็นคล้อยตามนายสุเทพและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบใจความมาตรา 7 (รัฐธรรมนูญ ปี 2550) และมาตรา 22 (ธรรมนูญฯ ปี 2515) ตรงกัน
ความจริงง่ายๆ ตรงๆ ที่ต้องย้ำคือ ธรรมนูญฯ ปี 2515 ไม่ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้ชัดเจน
จริง อยู่ สามารถอ้างได้ว่า การเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นไปตามมาตรา 22 ของธรรมนูญฯ ปี 2515 โดยจากหลักที่ว่า ในการปกครองประชาธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงกระทำอะไรตามพระทัยอย่างในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากจะต้องมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ หรือนัยหนึ่ง จากหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำผิดได้ (The King can do no wrong.) และจากหลักหรือธรรมเนียมในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาซึ่งตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของรัฐสภา เมื่อธรรมนูญปี 2515 ไม่ได้บัญญัติที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้ (แต่ใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ในมาตรา 22) เมื่อเกิดภาวะที่จอมพลถนอมลาออก รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเวลานั้น (เนื่องจากประธานสภาฯไปต่างประเทศ) จึงสามารถเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยรับความเห็นชอบจากสภา ผู้แทนราษฎร โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายก รัฐมนตรี (มาตรา 171, 172 ) ด้วยเหตุนี้ ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จึงต่างจากธรรมนูญการปกครองปี 2515 จึงไม่อาจอ้างมาตรา 7 ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้เลย
สำหรับ การอ้างมาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยนั้น หลักการในระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นตัวแทนแห่งรัฐหรือประชาชนทั้งมวลของชาติ อำนาจอธิปไตยมิได้เป็นของพระมหากษัตริย์ดั่งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การระบุว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยนั้น ไมได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนแล้ว คำว่าทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หมายถึง ในการกระทำในนามตัวแทนแห่งรัฐนั้น ต้องมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
“มวลมหาประชาชน” ในขณะนี้ จึงควรพิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้น อย่าได้อาศัยเพียงศรัทธา ความเชื่อโดยไม่พิจารณา ตรวจสอบ
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/12/50236
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น