หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปฏิรูปการเมือง???

ปฏิรูปการเมือง???


 
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


ปฏิรูปการเมือง หรือบางครั้งก็เลยไปถึงปฏิรูปประเทศ กำลังกลายเป็นประเด็นสำหรับการ "เลือกข้าง" ทางการเมือง เพราะทุกฝ่ายทุกสีเห็นพ้องกันมานานแล้วว่า ต้องปรับเปลี่ยนกลไกและกติกาทางการเมืองของประเทศ ไม่เฉพาะแต่ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเท่านั้น (เช่น ข้อเสนอ 70:30 หรือวุฒิสมาชิกทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง) แต่รวมความเป็นจริงในทางปฏิบัติด้วย เช่น อำนาจของกองทัพ, การตรวจสอบตุลาการจากภายนอก, การศึกษา และสวัสดิการของรัฐอื่นๆ แม้ว่าบางฝ่ายไม่ได้ใช้คำว่า "ปฏิรูป" เลยก็ตาม

คุณสุเทพจึงไม่ใช่คนแรกที่เรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง เสียงเรียกร้องนี้ดังมานานจนกระทั่งคุณสุเทพมองเห็นว่า มีเสน่ห์ที่จะหาการสนับสนุนทางการเมืองได้ง่ายต่างหาก

จริงที่ว่า ปฏิรูปการเมืองกับปฏิรูปประเทศเป็นสองอย่างที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะในความจริง "การเมือง" ที่หมายถึงรูปแบบภายนอกของการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ มิได้ลอยอยู่ในสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นจากความเป็นจริงที่อยู่เบื้องล่าง ของอำนาจจริง และความสัมพันธ์เชิงอำนาจจริงที่มีอยู่ในสังคม

อำนาจนี้มาจากไหน คำตอบก็คือมาจากเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนของสังคมนั้นเอง ซึ่งอย่างไรเสียก็ต้องเกิดระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจขึ้นในเงื่อนไขนั้นๆ หรือเรียกว่า "การเมือง" ในความหมายที่เป็นจริงกว่าความสัมพันธ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น "เจ้าพ่อ" ย่อมสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นในหลายลักษณะที่ไม่มีกฎหมายใดกำหนดไว้ แต่อำนาจของ "เจ้าพ่อ" นั้นมีจริง และทำงานได้จริงจนกระทบต่อ "การเมือง" ที่เป็นทางการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราไม่อาจจัดการกับ "การเมือง" ที่เป็นทางการ โดยไม่จัดการอะไรเลยกับ "การเมือง" ที่เป็นจริงในชีวิตของผู้คนได้

 
ภาษาทางวิชาการเรียก "การเมือง" ที่เป็นทางการว่าโครงสร้างส่วนบน (superstructure) ตั้งอยู่ได้ก็เพราะมีโครงสร้างส่วนล่างที่เป็นจริงด้านต่างๆ คอยหนุนอยู่ เมื่อส่วนที่เป็นจริงเบื้องล่างเปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้การเมืองที่เป็นโครงสร้างส่วนบนเปลี่ยนไปด้วย ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในการเมืองระดับโครงสร้างส่วนบน สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างส่วนล่างที่ยังไม่ลงตัว

ดังนั้น ปฏิรูปการเมืองที่จะมีผลจริง คือการปฏิรูปความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสถาบัน, องค์กร, บรรษัท, การประกอบการ, กลุ่มทางสังคม ฯลฯ ที่เป็นจริงในชีวิตของผู้คน หรือที่อยู่เบื้องล่างนั่นเอง อย่าว่าแต่ 60 วันที่รอการเลือกตั้งเลย 15 เดือน ก็ทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมันต้องใช้เวลา แต่เพราะกระบวนการปฏิรูปในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่อาจทำได้ด้วยคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวอย่างในสมัย ร.5 หรือคณะราษฎรได้อีกแล้ว การปฏิรูปที่จะเกิดผลได้จริงต้องทำโดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น กระบวนการประชาธิปไตยจะดีและเหมาะกับสังคมไทยหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นกระบวนการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมไทยไปแล้ว

ความคิดเรื่อง ปฏิรูปการเมืองมีมาตั้งแต่ก่อน2540จนเป็นผลให้ตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ แม้ ส.ส.ร.ชุดนั้นเข้าใจอยู่เหมือนกันว่า การปฏิรูปเฉพาะโครงสร้างส่วนบนจะไม่บังเกิดผลได้จริง แต่ก็วางเงื่อนไขให้เกิดการปฏิรูปในโครงสร้างส่วนล่าง ไม่ชัดและไม่หนักแน่นพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้มากนัก รัฐธรรมนูญ 2550 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะมุ่งจะหาทางให้การเมืองในโครงสร้างส่วนบนเป็นไปในทิศทางที่เป็น ประโยชน์ต่อกลุ่มที่ร่วมกันทำรัฐประหารเท่านั้นตัวรัฐธรรมนูญนั้นเองกลับ กลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งจนทุกอย่างชะงักงันสืบมาจนทุกวันนี้ แม้แต่ผู้มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญนั้นเอง ก็ยังต้องการให้งดใช้บางมาตรา หรือละเมิดไปเลย โดยวิธีอ่านกฎหมายแบบ "ดำน้ำลึก"

สำนึกว่าประเทศต้องการปฏิรูป (ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตาม) เป็นที่ยอมรับทั่วไปในสังคม ปัญหาที่ขัดแย้งกันก็คือ กระบวนการที่จะปฏิรูปควรเป็นอย่างไร ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า หากไม่ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ผลของการเลือกตั้งก็จะเหมือนเก่า (เท่ากับยืนยันสิ่งที่ผมกล่าวในตอนต้นแล้วว่า โครงสร้างส่วนล่างต่างหากที่กำหนดโครงสร้างส่วนบน) ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรเลือกตั้งเสียก่อน แล้วจึงมาผลักดันการปฏิรูป

 
ผมจะไม่พูดถึงกลุ่มหลัง แต่อยากพูดถึงกลุ่มแรก โดยไม่สนใจจะกล่าวถึง กปปส. ซึ่งผลักดันให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งด้วยเหตุผลทางการเมืองอย่างแน่นอน ไม่อย่างนั้นจะถืออำนาจอะไรแต่งตั้งสภาประชาชน หรือแม้แต่ฝ่ายบริหารเองเสร็จสรรพเรียบร้อยได้อย่างนั้น

กลุ่มที่ผมสนใจจะพูดถึงคือสองกลุ่มที่ออกมาหนุนให้ปฏิรูปแต่ก็ไม่กล้าแสดงให้ชัดว่าหนุนถึงขนาดต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่


กลุ่มแรกคือสหภาพแรงงานราชการหรือที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มผู้บริหารระดับสูงสุดของระบบราชการได้แก่ ปลัดกระทรวงต่างๆ พวกนี้เรียกประชุมกันแล้วก็ออกแถลงการณ์ซึ่งฟังไม่ชัดสักเรื่องเดียว นอกจากเรื่องความเป็นอิสระของระบบราชการ อย่าให้การเมืองแทรกแซง นี่คือผลประโยชน์ของสหภาพโดยแท้ ไม่เกี่ยวอะไรกับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนทั่วไป

ระบบราชการไม่ว่าในยุคสมัยใด ก็มีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของผู้ถืออำนาจปกครองเสมอ แต่เครื่องมือเหล่านี้เป็นคน จึงมีความต้องการและผลประโยชน์ของตนเองซึ่งอาจไม่ตรงกับของผู้มีอำนาจเสมอไป ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับระบบราชการของเขาจึงมีเสมอมาในทุกระบอบ บางครั้งความขัดแย้งนี้ก็นำไปสู่ความพินาศทั้งของผู้ปกครองและระบบราชการ บางครั้งระบบราชการกลับเป็นฝ่ายควบคุมผู้ปกครองเสียเอง เช่นในสมัย ร.4 และต้น ร.5 ของบางกอก

ระบบราชการสมัยใหม่สร้างความชอบธรรมของตนจากความรู้และความสามารถเฉพาะทาง จนทำให้ดูเหมือนระบบราชการเป็นองค์กรอิสระทางการเมือง ที่ไม่ต้องเป็นเครื่องมือของใครเลย ระบบราชการไทยพอใจจะอยู่ภายใต้เผด็จการกองทัพ เพราะเท่ากับได้ปกครองตนเองเป็นอิสระ แต่การเมืองแบบนั้นหมดยุคสมัยในเมืองไทยไปแล้ว อย่างไรเสียระบบราชการก็ต้องเป็นเครื่องมือของนักการเมือง (ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือม็อบ) หากจะเป็นระบบราชการของระบอบประชาธิปไตย อำนาจอิสระของระบบราชการอยู่ที่การสนับสนุนของประชาชน การปฏิรูปที่ระบบราชการไทยควรร้องหาคือ การทำงานที่ประชาชนสนับสนุน ซึ่งเป็นอำนาจต่อรองที่นักการเมืองไม่กล้าละเมิด ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่นักการเมืองไม่สามารถใช้ระบบราชการเป็นเครื่องมือได้เลย

อย่าลืมนะครับว่านักการเมืองอ้างว่าตัวเป็นเสียงของประชาชนได้ในขณะที่ราชการอ้างอย่างนั้นไม่ได้

อีกกลุ่มหนึ่งที่ผมสนใจอยากกล่าวถึงคือนักธุรกิจอุตสาหกรรม ที่เรียกตนเองว่าเป็น P7

ผมออกจะแปลกใจที่พวกนี้ก็เรียกร้องการปฏิรูปเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าพวกเขามีความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปว่าอย่างไร แต่หากถามคนทั่วไป ส่วนใหญ่คงเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งที่เราต้องปฏิรูปอย่างขาดไม่ได้คือระบบภาษี ลดกรณียกเว้นภาษีแก่ธุรกิจลงเสียบ้าง ส่งเสริมภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมที่จะป้องกันการแย่งชิงสาธารณสมบัติต่างๆ ไปใช้โดยธุรกิจ (นับตั้งแต่ป่า, ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์, ไปจนถึงพื้นที่ถนนซึ่งถูกห้างสรรพสินค้าใช้สำหรับจอดแท็กซี่รับส่งผู้โดยสาร) การทำเกษตรพันธสัญญาที่ต้องมีเงื่อนไขประกันความมั่นคงให้แก่เกษตรกรมากขึ้น, การลดเสียงของภาคธุรกิจในการกำหนดนโยบายสาธารณะลงมาให้สมดุลกับคนส่วนอื่น, การดูแลสวัสดิภาพของแรงงานโดยภาครัฐอย่างเข้มแข็งกว่านี้, การส่งเสริมให้แรงงานมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น (ท่ามกลางแรงงานที่เริ่มจะขาดแคลนมากขึ้น) ฯลฯ

หากนักธุรกิจที่เข้าร่วมประชุมเข้าใจการปฏิรูปภาคธุรกิจเหมือนคนอื่น ก็คงเห็นแล้วว่า การปฏิรูปสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องถกเถียงกันนาน เพื่อทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นแง่มุมของกันและกัน ต่อรองกัน ฯลฯ ซึ่งก็คือกระบวนการประชาธิปไตยนั่นเอง ไม่อาจทำได้ด้วยการให้ผู้ที่กำประโยชน์ไว้เต็มเปี่ยมอย่างนักธุรกิจเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียวว่า จะปฏิรูปอะไรและอย่างไร

ในที่สุดพวกเขาก็หันมาเสนอการต่อต้านคอร์รัปชั่น ประหนึ่งระบบที่เป็นอยู่ภายใต้รัฐบาล พท.มีการคอร์รัปชั่นมากกว่าที่ผ่านมาแล้ว

 
ผมออกจะแปลกใจที่นักธุรกิจพากันต่อต้านคอร์รัปชั่นผมไม่ทราบว่าพวกเขาเข้าใจคำว่าคอร์รัปชั่นอย่างไรแต่ตามความเข้าใจของผม พวกเขามีส่วนร่วม (to be involved in) กับ "คอร์รัปชั่น" ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นและตลอดมา ก่อน 2475 พวกเขา "วิ่งเต้น" เป็นเจ้าภาษีนายอากร ด้วยการแบ่งผลกำไร, ติดสินบน หรือถวายลูกสาว แก่เจ้าและขุนนางที่กุมนโยบายเก็บภาษี ในสมัยจักรวรรดินิยมตะวันตกเรืองอำนาจ เขาโอนไปเป็นคนใต้ร่มธงฝรั่ง เพื่อหลบหลีกการต้องติดสินบนแก่ราชการไทย และอาจละเมิดกฎหมายโดยรัฐบาลไทยไม่กล้าดำเนินคดี ภายใต้เผด็จการทหารหลัง 2475 เขาเชิญเหล่าขุนศึกมานั่งเป็นบอร์ดของบริษัทและธนาคาร เพื่อดึงเงินเก็บจากส่วนราชการ และอำนวยความสะดวกทางธุรกิจให้แก่ตนเอง รวมทั้งสร้างข้อได้เปรียบกับคู่แข่ง เขายัดเยียดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (เช่นเขื่อนแทบทุกลุ่มน้ำ) ให้แก่นักการเมือง เพื่อให้บริษัทได้งานก่อสร้างขนาดใหญ่ เขาวิ่งเต้นจนได้สัมปทานในกิจการหลายอย่าง ซึ่งเท่ากับผูกขาดธุรกิจประเภทนั้นๆ ... บรรยายไปอีกสามหน้าก็ไม่จบ

นโยบายเศรษฐกิจไทยที่เอื้อต่อพวกเขาอย่างมากนับตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา ไม่ได้เกิดจากความไร้เดียงสาของขุนทหารอย่างเดียว แต่มีความสัมพันธ์สลับซับซ้อนที่มีผลประโยชน์ก้อนโตในการแลกเปลี่ยน จนกลายเป็นนโยบายที่มั่นคงสืบมาในทุกรัฐบาลจนถึงทุกวันนี้ บางส่วนก็แทรกเข้าไปในรัฐธรรมนูญด้วย นี่คือคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่พวกเขาทำมาก่อนทักษิณเสียอีก

ด้วยเหตุดังนั้น การต่อต้านคอร์รัปชั่นของพวกเขาจึงเริ่มที่การชี้นิ้วไปยังคนอื่นเสมอ แทนที่จะกำจัดคอร์รัปชั่นในพวกเขากันเองเสียก่อน

ผมจึงไม่รู้จะตอบสนองการต่อต้านคอร์รัปชั่นของนักธุรกิจอย่างไรนอกจากเหม็นขี้ฟัน

 
ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปของสหภาพแรงงานราชการหรือของสหภาพนายทุนแห่งประเทศไทย ล้วนไม่อาจทำได้ด้วยการประชุมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในห้องที่ปิดตาย ยิ่งการประชุมของคนกลางยิ่งน่าขัน เพราะคนที่เป็นกลางจริงเวลานี้คือคนติงต๊องที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวใดๆ เท่านั้น กระบวนการปฏิรูปต้องเป็นกระบวนการเปิดที่ทุกคนเข้ามาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว (รวมทั้งคณะกรรมการของ ส.ส.ส.ด้วย เพราะผมไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้อยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนตัว) แต่ต่อรองกันภายใต้กติกาประชาธิปไตย

เสียงส่วนน้อยอย่างเสียงของอาจารย์ประเวศ วะสี ก็ตาม คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็ตาม ต้องได้รับหลักประกันว่า จะสามารถผลักดันความเห็นของตนให้เป็นญัตติสาธารณะได้อย่างอิสระเสรี คนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังแล้วอาจไม่เห็นด้วยกับท่าน เพราะเขาโง่, ไร้วุฒิบัตร (ซึ่งไม่ได้แปลว่าไร้การศึกษา) และไม่เคยไปเมืองนอกก็ตาม แต่เขามีความเป็นคนไม่ต่างจากท่านนักปราชญ์เหล่านี้ เขาจึงมีสิทธิเท่ากับท่านที่จะเลือกคนที่ไม่เอาท่านเป็นรัฐบาล

แม้กระนั้นท่านนักปราชญ์ที่เป็นเสียงส่วนน้อยก็ไม่ต้องหยุด ยังคงเคลื่อนไหวผลักดันประเด็นของท่านต่อไปได้ แต่ตามกติกา ไม่ใช่เที่ยวยึดโน่นยึดนี่ โดยอ้างตนเองเป็นตัวแทนมวลมหาประชาชน

สรุปให้เหลือสั้นๆ กระบวนการปฏิรูปกับกระบวนการประชาธิปไตย (เช่นเลือกตั้ง) ไม่ใช่สองสิ่งที่ต้องแยกกัน หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แท้จริงแล้วสองกระบวนการนี้เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันด้วยซ้ำ เพราะเรามีรัฐบาลที่ระบบบังคับให้ต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่  (ที่ไม่จำเป็นต้องอ้างตัวว่าเป็นมวลมหาประชาชน) เราทุกคนจึงมีสิทธิเท่ากันที่จะผลักดันการปฏิรูปอะไรและอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น ถ้าเราประสบความสำเร็จที่จะทำให้เป็นญัตติสาธารณะ พรรคการเมือง (ที่ยังตั้งใจจะอยู่ในการเมืองของระบอบประชาธิปไตย) ก็จะรับเข้าเป็นนโยบายพรรค และนำไปต่อสู้ในสภา, ในสังคม, ในสื่อ และในสนามเลือกตั้ง

นี่คือกระบวนการปฏิรูปที่ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่เฉพาะ "คนดี", คนมีวุฒิบัตร, คนมีรายได้มากเท่านั้น

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น