หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครูปแบบเก่าที่ใช้ระบบอุปถัมภ์

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครูปแบบเก่าที่ใช้ระบบอุปถัมภ์ 

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์


เป็น เรื่องตลกร้ายที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย ว่าบิดเบือนประชาธิปไตยและซื้อเสียงเพื่อครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา เพราะถ้าดูตัวเลขการลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาพรรคนี้ไม่เคยได้มากกว่า 1/3 ของคะแนนทั้งหมดทั่วประเทศ และสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าการตั้งพรรคไทยรักไทย 


แน่นอนไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าในระบบการเลือกตั้งของไทยไม่มีการแจกเงิน โดยทุกพรรค แต่ผลการวิจัยภาคสนามของอาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ และของอาจารย์ แอนดรู วอล์คา จากออสเตรเลีย ทำให้เราเข้าใจว่าในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังการสร้างพรรคไทยรักไทย ประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคผ่านการพิจารณานโยบาย มากกว่าที่จะเลือกตามความเชื่อว่าต้อง “ระลึกถึงบุญคุณ” ของผู้แจกเงิน


ในระบบการเมืองแบบเก่า ก่อนไทยรักไทย มักจะมี “ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น” ซึ่งครองเสียงในจังหวัดหนึ่ง และชนะการเลือกตั้งเสมอ ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเหล่านี้ อาศัยระบบ “อุปถัมภ์ทางการเมือง” เพื่อให้ประโยชน์กับประชาชนผู้ที่สนับสนุนเขา ซึ่งการเลือกนักการเมืองในรูปแบบนี้อาจกล่าวหลวมๆ ได้ว่าเป็นการเลือกผ่านการพิจารณานโยบายและผลประโยชน์เฉพาะหน้าก็ได้ แต่มันผสมกับการ ระลึกถึงบุญคุณ ของผู้มีอิทธิพลด้วย


ตัวอย่างของ “ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น” ได้แก่ บรรหาร ศิลปอาชา, เสนาะ เทียนทอง, เฉลิม อยู่บำรุง และสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นต้น แต่มีอีกหลายคนที่ไม่ได้เอ่ยถึง


ลักษณะสำคัญของการเมืองแบบ “ระบบอุปถัมภ์” ที่ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นใช้เสมอ คือการดึงงบประมาณมาให้ประโยชน์กับพรรคพวกของตนเอง เพื่อสร้างฐานสนับสนุน แต่ประเด็นสำคัญสองประเด็นเป็นเรื่องที่เราควรพิจารณาคือ ในประการแรก ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นไม่สามารถสร้างฐานเสียงทั่วประเทศได้ เพราะการอุปถัมภ์พรรคพวกทั่วประเทศเป็นไปไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิดว่าการที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วน ใหญ่ทั่วประเทศ เป็น “การอุปถัมภ์” แต่มันไม่ใช่ มันเป็นการเสนอนโยบายระดับชาติในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ต่างหาก ซึ่งพบในตะวันตก นโยบายระดับชาติเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วประเทศได้ ไม่ว่าจะเลือกพรรครัฐบาลหรือไม่ มันต่างจากการอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ เช่นการให้ตำแหน่งงาน หรือการให้สัมปทานกับเพื่อนๆ หรือลูกน้อง เป็นต้น


ในประการที่สอง ระบบการเมืองแบบอุปถัมภ์ เป็นระบบที่ไม่มีการเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด และมักขาดลัทธิทางการเมืองประกอบด้วย


ในกรณีพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทย อิทธิพลของการเมืองอุปถัมภ์ถูกลดความสำคัญลงเป็นอย่างมาก เพราะมีการเสนอนโยบายระดับชาติที่เป็นรูปธรรม เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการสร้างงานในชนบท และนโยบายดังกล่าวมีฐานทฤษฏีรองรับอีกด้วย คือความคิดเรื่องเศรษฐกิจคู่ขนาน หรือการใช้กลไกตลาดเสรีในระดับสากล บวกกับการใช้งบประมาณรัฐในระดับรากหญ้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ


แต่ในกรณีพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ คะแนนเสียงของพรรคมาจากระบบอุปถัมภ์ของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ อิทธิพลของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยที่ตระกูลเทือกสุบรรณพยายามคุมอำนาจในท้องถิ่นมานาน และคนในครอบครัวเป็น สส. หลายคนด้วย ในขณะเดียวกัน สุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่สามารถและไม่เคยเสนอนโยบายที่ครองใจประชาชนนอกพื้นที่ได้เลย เขาเป็นตัวอย่างของนักการเมืองแบบเก่า หรือนักการเมือง “ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น” ที่ชัดเจนมาก และพรรคประชาธิปัตย์ระดับชาติ ก็ได้แต่วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของไทยรักไทย หรือเพื่อไทย เพื่อแช่แข็งประเทศเท่านั้น


ความเหนือชั้นของไทยรักไทย หรือเพื่อไทย ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่เขาทำมันดีเลิศ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไทยรักไทย สอบตกในภาคใต้และสงครามยาเสพติด และในเรื่อง 112 และการนิรโทษกรรมฆาตกร รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็สอบตกเช่นกัน


พรรคประชาธิปัตย์เป็นเสมือนนกสองหัว เพราะในภาคใต้อาศัยระบบการเมืองอุปถัมภ์ล้วนๆ แต่ในกรุงเทพฯ ได้คะแนนเสียงจากคนชั้นกลางอนุรักษ์นิยม โดยที่คนชั้นกลางเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในระบบอุปถัมภ์ของพรรค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งๆ ที่จบนอกมาและพูดภาษาอังกฤษเก่ง แต่เขาก็เป็นนักการเมืองหัวเก่าที่พึ่งพิงทหารเผด็จการและชนชั้นปกครองเก่า เท่านั้น และที่สำคัญคือเขาคัดค้านนโยบายที่พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์คนรวย


การที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองแบบเก่า ที่อาศัยระบบอุปถัมภ์ในภาคใต้ และฐานเสียงของชนชั้นกลางบางส่วนในกรุงเทพฯ เป็นสาเหตุที่พรรคนี้ไม่สามารถครองใจคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้ นี่คือสาเหตุที่เขาเกลียดชังระบบ “หนึ่งคน หนึ่งเสียง”

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น