หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สภาประชาชนที่แท้จริง คือสภาคนทำงานในระบบสังคมนิยม ไม่ใช่เผด็จการของสุเทพและของพวกที่อ้างว่าเป็นตัวแทน “ประชาสังคม”

สภาประชาชนที่แท้จริง คือสภาคนทำงานในระบบสังคมนิยม ไม่ใช่เผด็จการของสุเทพและของพวกที่อ้างว่าเป็นตัวแทน “ประชาสังคม


โดย กองบรรณาธิการ นสพ. เลี้ยวซ้าย 

ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเสรี จะมีประชาธิปไตยไม่ได้ การเลือกตั้งเสรีหมายถึงการเลือกตั้งที่ไม่มีอุปสรรค์หรือข้อจำกัดสำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และผู้ไปลงคะแนนเสียง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางกฎหมาย เงิน หรือความพร้อม ดังนั้นข้อเสนอเหลวใหลของสุเทพและคนอื่นเรื่อง “สภาประชาชน” ที่ไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ กอดคอกับทหาร และกีดกันคนจนออกไป สอบตกในเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่แรก

แต่ถ้าเราจะพัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเลือกตั้งให้ดีกว่านี้ คือดีกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบของรัฐสภาทุนนิยม เรามีตัวอย่างจากคอมมูนปารีสปี 1871 และการปฏิวัติรัสเซียในช่วงระหว่าง 1917-1923 ก่อนที่เผด็จการสตาลินจะขึ้นมาบนซากศพการปฏิวัติสังคมนิยม

ลักษณะการออกแบบเขตเลือกตั้ง และวิธีเลือกตั้งก็มีผลต่อประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก การเลือกตั้งที่มีประชาธิปไตยมากที่สุด เป็นระบบที่เคยพบในสภาคนงานที่เรียกว่าสภา “โซเวียด” หลังการปฏิวัติ 1917 ในรัสเซีย เพราะระบบนี้อาศัยการลงคะแนนหรือลงมติหลังจากที่มีการถกเถียงกันอย่างเสรีต่อหน้าผู้ลงคะแนนเสียง ซึ่งแปลว่าผู้ออกเสียงสามารถพิจารณาข้อถกเถียงของหลายๆ ฝ่าย นอกจากนี้ผู้ออกเสียงจะสามารถประเมินกระแสความคิดของคนอื่นที่จะลงคะแนนร่วมกันได้อีกด้วย และที่สำคัญคือ ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากสภาคนงานในสถานที่ทำงาน จะถูกตรวจสอบตลอดเวลา และถ้าทำอะไรที่ไม่ถูกใจผู้เลือก จะถูกถอดถอนทันทีและมีการเลือกตั้งใหม่ นี่ลักษณะของประชาธิปไตยทางตรงในระบบสังคมนิยม

นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัย คาร์ล มาร์คซ์ จนถึงทุกวันนี้ เป็นกลุ่มคนที่ปกป้องประชาธิปไตยทุนนิยมจากการคุกคามของเผด็จการอย่างคงเส้นคงวามากกว่าสำนักคิดอื่นๆ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ หรือวิกฤตการเมืองในกรีซและอียิปต์เป็นต้น

นักมาร์คซิสต์อย่างโรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยพิจารณาว่านักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ต้องการล้มระบบทุนนิยมและพัฒนาสังคมไปสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบของสังคมนิยม  ควรมีท่าทีอย่างไรต่อประชาธิปไตยครึ่งใบของทุนนิยม

ในหนังสือ “ปฏิวัติหรือปฏิรูป” โร ซา ลัคแซมเบอร์ค อธิบายว่าการต่อสู้ประจำวันเพื่อการปฏิรูปในกรอบสังคมปัจจุบันของทุนนิยม รวมถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นโอกาสเดียวของชาวสังคมนิยมที่จะลงมือร่วมสู้ในสงครามชนชั้นของกรรมาชีพ เพื่อบรรลุจุดเป้าหมายสุดท้าย คือการยึดอำนาจทางการเมืองและการทำลายระบบการจ้างงานของเผด็จการนายทุน สำหรับชนชั้นกรรมาชีพระบบประชาธิปไตยทุนนิยมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะรูปแบบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระบบนี้เช่นการบริหารตนเองและสิทธิใน การลงคะแนนเสียงชนชั้นกรรมาชีพสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการแปรรูปสังคมทุน นิยมได้ การใช้สิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตยในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นทางเดียว ที่จะทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเกิดจิตสำนึกในผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองและภาระทาง ประวัติศาสตร์ของชนชั้นตนเอง แต่ประชาธิปไตยไม่ได้มีความสำคัญเพราะจะทำให้การปฏิวัติยึดอำนาจโดยชนชั้น กรรมาชีพไม่จำเป็นอีกต่อไป ตรงกันข้ามมันทำให้การยึดอำนาจดังกล่าวมีความจำเป็นชัดเจนขึ้น และมีความเป็นไปได้มากขึ้นอีกด้วย 

สำหรับนักมาร์คซิสต์ ประชาธิปไตยทุนนิยมหรือสิทธิเสรีภาพต่างๆไม่ได้ประทานลงมาจากเบื้องบนหรือถูกออกแบบโดยอภิสิทธิ์ชนแต่อย่างใด  แต่มาจากการต่อสู้ของมวลชนต่างหาก และการต่อสู้ดังกล่าวอาจ “เปิดเผย” เช่นบนท้องถนนหรือ “ซ่อนเร้น” เช่น การต่อสู้เล็กๆน้อยๆประจำวันในสถานที่ทำงานเป็นต้น  ด้วยเหตุนี้การก่อตั้งสหภาพแรงงาน  การออกแถลงการณ์หรือการประท้วงต่อต้านเผด็จการ และการคัดค้านม็อบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสุเทพ ล้วนแต่เป็นวิธีหลักในการสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียง “อุบัติเหตุ” หรือ “ความวุ่นวาย” หรือสิ่งที่ “ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย” ดังที่กระแสหลักชอบเสนอ  และเราจะเห็นว่าสำนักมาร์คซิสต์มีให้ความสำคัญกับการรวมตัวกันและการกระทำของพลเมืองในการเปลี่ยนสังคม โดยเน้นชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรยากจน  แทนที่จะเน้นชนชั้นกลาง  แต่นักวิชาการกระแสหลักมองข้ามบทบาทของชนชั้นกรรมาชีพและคนจนในการสร้างประชาธิปไตยเสมอ  

นักมาร์คซิสต์มองว่าการต่อสู้ของมวลชนในฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1986 ในอินโดนีเซียในปี ค.ศ. 1998 หรือในไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๕, ๒๕๑๖ และ ๒๕๓๕ เป็นสิ่งที่เปิดพื้นที่ประชาธิปไตย และแม้แต่นักวิชาการที่ไม่ใช่มาร์คซิสต์บางคน เช่น Barrington Moore ยังยอมรับว่าประชาธิปไตยทุนนิยมในตะวันตกเป็นผลมาจากการต่อสู้และการปฏิวัติในอดีต 

นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษชื่อ E.P.Thompson ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยอังกฤษ เดิมถูกจำกัดไว้ในหมู่คนชั้นสูงและคนมีเงินเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ม็อบสุเทพต้องการในไทยทุกวันนี้ แต่การต่อสู้ของขบวนการแรงงานอังกฤษเช่นกลุ่ม Chartists เป็นสิ่งที่เปิดพื้นที่ให้พลเมืองทุกระดับมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง 

(อ่านต่อ)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/12/blog-pos   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น