หน้าเว็บ

วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อย่าให้ ”สงครามกลางเมือง” กลายเป็นคำขู่ให้เรายอมจำนน

อย่าให้ ”สงครามกลางเมือง” กลายเป็นคำขู่ให้เรายอมจำนน 


 
โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์


ช่วง นี้นักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ที่มองตัวเองว่าเป็นหลักผู้ใหญ่หรือคนดีในสังคม ต่างประโคมภัยของ “สงครามกลางเมือง” แล้วนำความชอบธรรมจอมปลอมใส่ตัวเอง เพื่อเสนอให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและประนีประนอม บางคนเสนอว่าควรมี “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” บางคนเสนอให้มี “รัฐบาลผสม” ที่ประกอบไปด้วยฝ่ายสุเทพและเพื่อไทย บางคนบอกว่าต้องมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้สถานการณ์สงบลง และทุกคนพูดว่าต้องมี “การปฏิรูปการเมือง” โดยไม่พูดถึงการปฏิรูปที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะมุ่งไปที่การกำจัดตระกูลเดียวในการเมืองไทย แต่เขาเป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยาเรื่อยมา

ถ้า จะหา “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” มาบริหารประเทศ คงต้องไปหาลาโง่จากคอกสัตว์มาดำรงตำแหน่ง เพราะ “คนกลาง” คงต้องเป็นคนที่ไม่เข้าข้างประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ไม่เลือกฝ่ายเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือทหาร และไม่มีความคิดทางการเมืองเลย หรือถ้าไม่นำลาโง่มานั่งเก้าอี้นายก ก็คงต้องเอาคนจอมโกหกที่บอกว่าตนเอง “เป็นกลาง” แต่เอียงเข้าข้างฝ่ายเผด็จการจนเกือบตกเก้าอี้ ตัวอย่างที่ดีคือพวกตุลาการ

คน ที่เสนอรัฐบาลผสม ยกตัวอย่างประเทศเยอรมัน ที่มีรัฐบาลผสมระหว่างพรรคนายทุนกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่ผู้เสนอละเว้นที่จะบอกว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่ไม่มีพรรคไหนได้ เสียงข้างมากในสภา ซึ่งไม่ตรงกับกรณีไทยแต่อย่างใด รัฐบาลผสมในเยอรมันนำความหายนะมาสู่การเมืองของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ด้วย เพราะพรรคนี้ถูกลากไปสนับสนุนนโยบายฝ่ายขวา และเสี่ยงกับการเสียคะแนนเสียงในอนาคต จริงๆ ตัวอย่างจากเยอรมันที่มาจากข้ออ้างในการ “แก้วิกฤต” มีดีกว่านั้นคือ ในปี 1933 ประธานาธิบดี ฮินเดนเบอร์ค แต่งตั้งผู้นำจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงส่วนน้อย ให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นประชาธิปไตยเยอรมันก็ดับหายไปเพราะนายกรัฐมนตรีคนนั้นชื่อ ฮิตเลลอร์

ส่วน การเสนอว่านายกรัฐมนตรีไทยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง “เพื่อแก้วิกฤต” เป็นข้ออ้างของการเข้ามาของเผด็จการทหารและเผด็จการฟาสซิสต์ทั่วโลก 

เวลาพวกนัก วิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้หลักผู้ใหญ่คนดีในสังคม เสนอให้ปฏิรูปการเมือง เราต้องอ่านตัวหนังสือตัวเล็กๆ ที่ตามมา ที่เขาไม่อยากให้เราพิจารณา เพราะจะมีแต่มาตรการเพื่อลดเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ และเพิ่มสิทธิพิเศษของพวกมันเองและชนชั้นกลางฟาสซิสต์ เพื่อกำจัดอิทธิพลของทักษิณเท่านั้น ไม่มีอะไรอีก ไม่มีการเสนอการเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ไม่มีการเสนอให้ยกเลิก 112 ไม่มีการเสนอให้ปล่อยนักโทษการเมือง ไม่มีการเสนอให้ปลดตุลาการลำเอียงและยกเลิกองค์กรที่ “อิสระ” จากประชาธิปไตย ไม่มีข้อเสนออะไรทั้งสิ้นให้ลดบทบาททหารในการเมืองและสังคม และไม่มีข้อเสนอเพื่อสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยนำทหารและนักการเมืองที่ฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล

สรุปแล้วพวกนี้ล้วนแต่เป็นคนโกหกตอแหล ที่สร้างภาพว่า “เป็นห่วงประเทศไทย” แต่ความจริงมันตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง


ประเด็นที่เราต้องนำมาอุดปากพวกนี้คือ ถ้าเกิดสงครามกลางเมืองในไทย พวกเขานั้นเอง พวกนัก วิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ที่หลักผู้ใหญ่คนดีในสังคม รวมถึงชนชั้นกลางรักเผด็จการ เป็นผู้สร้างเงื่อนไข ปลุกระดม ถือหาง และก่อกองไฟสนับสนุนให้เกิดสงครามกลางเมืองแต่แรก
เพราะอะไร?

เมื่อ มีการก่อตัวของกลุ่มพันธมิตรฟาสซิสต์ ก่อนรัฐประหารปี ๒๕๔๙ พวกเขาไปร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีพันธมิตรฯ และมักจะสร้างความชอบธรรมกับตนเองโดยการวิจารณ์ “การซื้อเสียงของทักษิณ” และการด่านโยบาย “ประชานิยม” ที่ช่วยคนจนว่าเป็นเรื่องที่จะทำให้ “บ้านเมืองพัง” และที่แย่ที่สุดคือเขาเหล่านั้นพูดเป็นประจำว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศที่เลือก ไทยรักไทย เป็นคนที่ขาดการศึกษา “เข้าไม่ถึงข้อมูล” และโง่ ประชาชนจึงไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สำหรับพวกเอ็นจีโอที่มีความคิดแบบนี้ มันตลกร้ายยิ่งนัก เพราะพวกนี้เคยท่องคำขวัญ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” แต่ตอนนั้นหันขวาท่องคำขวัญขอรัฐบาลพระราชทานแทน

เรา ไม่ควรลืมว่าพวกนี้เกือบทั้งหมด เคยหลงใหลเชียร์ทักษิณ ในขณะที่ชาวสังคมนิยมเตือนตลอดว่าพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคของนายทุนใหญ่เพื่อ ประโยชน์นายทุน

ถ้า พูดถึง เอ็นจีโอ อีเรื่องที่ต้องเข้าใจคือ แกนนำส่วนใหญ่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สาย “สตาลินเหมา” ที่ไม่เคยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

 ใน ขณะที่พวกนั้นยกเรื่องการซื้อเสียงมาพูด ไม่มีใครยอมรับว่านโยบายรูปธรรมของไทยรักไทยมีผลในการลดการซื้อเสียง ซึ่งต่างจากพรรคที่ไม่มีนโยบายเลย เช่นประชาธิปัตย์ ในขณะที่เขาวิจารณ์นโยบายที่ช่วยคนจน ไม่มีใครพูดถึงการใช้เงินรัฐมหาศาลที่มาจากภาษีประชาชน เพื่ออุดหนุนทหาร ในขณะที่เขาพูดถึงการโกงกิน ก็พูดด้านเดียวเสมอ เงียบเฉยกับการคอร์รับชั่นของนักการเมืองทุกฝ่าย และของทหาร

พวกนั้นมีการโกหกว่ารัฐบาลไทยรักไทยใช้ “นโยบายเศรษฐกิจทักษิณ” (Taksinomics) ทั้งๆ ที่ไทยรักไทยใช้นโยบายคู่ขนาน คือแนวกลไกตลาดเสรี บวกกับเศรษฐกิจแนว “เคนส์” รากหญ้า การพูดแบบนี้ก็เพื่อสร้างภาพว่าไทยรักไทยเป็น “กรณีเลวร้ายพิเศษ”

พวก นั้นมีการโกหกว่าการที่พรรคหนึ่งมีเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องปกติในประชาธิปไตยสากล เป็น “เผด็จการรัฐสภา” เพื่อปูทางไปสู่รัฐประหาร เหมือนกับว่ามันไม่ใช่เผด็จการ หรือเป็นการ “กำจัดเผด็จการ”

ตลอด เวลาที่มีการวิจารณ์ทักษิณในหมู่เสื้อเหลือง ไม่มีใครวิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้ายของทักษิณในสงครามยาเสพ ติด และที่ตากใบ พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้หลักผู้ใหญ่คนดี ไม่ได้สนใจสิทธิมนุษยชน และไม่มีวันสนับสนุนเสรีภาพของชาวมาเลย์มุสลิมเลย

เมื่อมีการก่อรัฐประหาร ๑๙ กันยา ซึ่งเป็นอาชญากรรมทางการเมืองอันเลวร้าย พวก นักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้หลักผู้ใหญ่คนดีเหล่านี้ก็ออกมาสนับสนุน บางคนเต้นไปเต้นมาด้วยความดีใจ บางคนเข้าไปร่วมในรัฐบาลเผด็จการ หรือร่วมในสภาที่ทหารแต่งตั้ง บางคนสงวนท่าทีโดยการบอกว่ากึ่งสนับสนุนรัฐประหาร และส่วนใหญ่ก็ไปร่วมมือในการร่างรัฐธรรมนูญทหาร ซึ่งร่างขึ้นหลังจากที่เผด็จการฉีกรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ทิ้ง

ในปลายปี ๒๕๕๑ เมื่อมีการปิดสนามบินและใช้ตุลาการอนุรักษ์นิยม เพื่อล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่ชนะการเลือกตั้ง พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้หลักผู้ใหญ่คนดี ก็ไปร่วมกับพันธมิตรฯ หรือไม่ก็เงียบเฉย ปล่อยให้อันธพาลครองเมืองแล้วลอยนวล

เมื่อมีการแต่งตั้งรัฐบาลเผด็จการของประชาธิปัตย์ในค่ายทหาร พวกเขาก็เงียบหรือให้การสนับสนุนโดยโกหกว่า “เป็นไปตามกระบวนการกฏหมาย”

เมื่อมีการเรียกร้องโดยคนเสื้อแดง ให้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดี มองว่ามันเป็นการประท้วงที่ใช้ความรุนแรงและขาดความชอบธรรม

 ดังนั้นเมื่อทหารและพรรคประชาธิปัตย์เข่นฆ่าคนเสื้อแดงที่ปราศจากอาวุธ พวก นักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่ตอแหล ก็ออกมาเตือนว่าคนเสื้อแดงควรหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง แต่เงียบเฉยกับความรุนแรงของทหารและรัฐบาลทหารประชาธิปัตย์ ไม่มีใครสักคนเสนอว่าต้องนำฆาตกรมาขึ้นศาล ไม่มีใครสักคนเสนอว่ารัฐบาลควรตัดสินใจสนับสนุนให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ เข้ามาใช้อำนาจในไทยกับอาชญากรรัฐ

เมื่อ มีการใช้กฏหมาย112 เพื่อกลั่นแกล้ง และจำคุกคนที่คัดค้านเผด็จการ พวกนี้ก็เงียบเฉย ไม่เคยมองว่าเป็นปัญหา มีแต่นักวิชาการก้าวหน้า เช่นคณะนิติราษฏร์ที่พูดถึงเรื่องนี้ และเมื่อคณะนิติราษฏร์มีข้อเสนอให้ล้มล้างผลพวงจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีตอแหล ก็ไม่เอาด้วย

เมื่อ ตุลาการรัฐธรรมนูญปกป้องระบบการแต่งตั้ง สว. และใช้อำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยคิดว่าตนมีสิทธิ์ออกนโยบายเศรษฐกิจ มีน้อยคนนักในกลุ่ม พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีตอแหล ที่ออกมาวิจารณ์และเสนอให้ยุบตุลาการรัฐธรรมนูญ

เมื่อม็อบสุเทพใช้ความรุนแรงเพื่อล้มการเลือกตั้งและข่มขู่ประชาชนที่อยากใช้สิทธิ์ พวก นักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีตอแหล บางคนออกมาพูดว่า “ไม่ชอบ” แต่ในขณะเดียวกัน ไม่เคยออกมาประกาศว่าม็อบสุเทพทำผิดและควรถูกลงโทษ ไม่เคยยืนขึ้นเหมือนคนเสื้อขาว และประกาศว่าต้องมีการเคารพเสียงของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีแต่การถือหางให้กับแนวคิดของม็อบสุเทพ

เมื่อ กกต. ขยันในการพยายามล้มการเลือกตั้ง ทำงานคู่ขนานกับม็อบสุเทพ พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีตอแหล เงียบเฉย แต่หลังจากนั้นมีการเตือนภัยว่ากำลังจะเกิด สงครามกลางเมืองแล้วเสนอให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและประนีประนอม มีการเสนอว่าควรมี นายกรัฐมนตรีคนกลางมีการเสนอให้มี รัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยฝ่ายสุเทพและเพื่อไทย มีการเสนอว่าต้องมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้สถานการณ์สงบลง

สรุปแล้วพวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีนี้ เป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยาเรื่อยมา เขาช่วยสร้างเงื่อนไขของสงครามกลางเมือง เสร็จแล้วหันมาบอกเราว่า “ไม่มีทางเลือก” และเรา“ต้อง”ยอมรับการประนีประนอมกับฝ่ายที่อยากทำลายประชาธิปไตย ซึ่งในรูปธรรมหมายถึงการลดพื้นที่ประชาธิปไตย

 ถือว่าเป็นการ “แบลคเมล” ประชาชนอย่างไม่รู้จักอาย ถึงเวลาที่พวก นักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดี ต้องหัดรับผิดชอบกับความหายนะที่เขานำมาสู่พื้นที่ประชาธิปไตยไทย แต่ผมจะไม่ตั้งความหวังอะไรกับพวกนี้

(ทีมา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น