โดย ใบตองแห้ง
คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อเช้าวันอังคารว่า วันนี้น่าจะยังไม่มีข่าวดีจากป.ป.ช. ยังต้องร้องเพลงรออีกสัปดาห์
พุธพรุ่งนี้ข่าวดีจากศาลรัฐธรรมนูญน่าจะพอให้ชุ่มชื้นหัวใจได้บ้าง
แม้จะยังไม่ใช่ประเด็นชี้เป็นชี้ตายก็ตาม
ทายแม่นยังกะตาเห็น
ศาลรัฐธรรมนูญคว่ำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน
ตรงคำทำนายเผง
ม็อบนกหวีดต้านโกง ที่เชื่อว่า 2 ล้านล้านจะโกงกิน 40%
แปดแสนล้าน คงไชโยโห่ร้อง แต่บอกก่อน ศาลไม่ได้ตัดสินคว่ำเพราะโกง แต่คว่ำเพราะเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน (ควรราดยางถนนลูกรังให้หมดก่อน
?)
คำวินิจฉัยของ 2 ศาลมี 2 ประเด็นที่จะเป็นบรรทัดฐาน
ที่จะเป็นปัญหาชั่วกัลปาวสาน ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลฝ่ายค้าน
ประเด็นแรกคือ
กระบวนการโหวตร่างกฎหมาย ศาลชี้ว่าไม่ชอบ เพราะมี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน
ตอกย้ำคำวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภามาจากเลือกตั้ง ซึ่งศาลชี้ว่าผิดมาตรา 68 เพราะมี
ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์ร้องว่ามี
ส.ส. 1 คนเสียบบัตรแทนเพื่อนระหว่างลงมติวาระ 2 มาตรา 20 ศาลเชื่อว่าผิดจริง แต่จะผิดอย่างไรก็ตาม
คำถามคือ ส.ส.แค่ 1 คนทำผิด มีผลลบล้างมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผ่านร่าง
พ.ร.บ.ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 287 ต่อ 105 เสียง
อย่างนั้นเลยหรือ
การกระทำที่ไม่สุจริตของ ส.ส.1 คน
ลบล้างการกระทำโดยสุจริตของ ส.ส.อีก 286 คน เลยหรือ การกระทำที่ไม่สุจริตของ ส.ส. 1 คน
ลบล้างกฎหมายทั้งฉบับที่จะมีผล สร้างอนาคตไทย เลยหรือ
แต่ศาลตัดสินแล้วก็เป็นบรรทัดฐาน ฉะนั้น พี่น้องเอ๊ย
ต่อไปนี้เลือกตั้ง อบต.เทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน ถ้าใครใช้บัตรปลอมหรือเอาบัตรมาลงคะแนนแทนกัน แค่คนเดียว
เป็นโมฆะทันที ทั้งหมด
คำวินิจฉัยประเด็นที่สอง
เนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ ศาลชี้ว่าขัดมาตรา 169 วรรคแรก และมาตรา 170 สรุปง่ายๆ คือศาลเห็นว่าเงินกู้ 2
ล้านล้านเป็น เงินแผ่นดิน จึงต้องทำตามมาตรา 169
ที่บัญญัติว่า
การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย
กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน...
คำว่า เงินแผ่นดิน ฟังแล้วอาจงง แต่สรุปสั้นๆ รัฐบาลแย้งว่านี่เป็น เงินนอกงบประมาณ ร่าง
พ.ร.บ.ก็เขียนไว้ชัดๆ ว่า เงินนอกงบประมาณ เหมือนรัฐบาลประชาธิปัตย์เคยออก พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งกู้ 4
แสนล้าน
ตอนนั้น พรรคเพื่อไทยก็ร้องคัดค้านตามมาตรา 169
โดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็อ้างคณะกรรมการกฤษฎีกาโต้แย้งว่าเป็นเงินนอกงบประมาณ ไม่ใช่เงินแผ่นดิน
แต่ศาลไม่ได้วินิจฉัยมาตรา 169 ศาลเพียงวินิจฉัยว่าสามารถออก
พ.ร.ก.ได้เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วน
ครั้งนี้เมื่อศาลวินิจฉัยว่า 2
ล้านล้านเป็น เงินแผ่นดิน จึงมีคำถามว่า ต่อไปรัฐบาลใดก็ตามสามารถกู้ เงินนอกงบประมาณ ได้หรือไม่
ปรีชา สุวรรณทัต นักกฎหมายอดีตประชาธิปัตย์ ยังตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าถ้าศาลตัดสินเป็น เงินแผ่นดิน
แม้แต่เงินกู้ 4 แสนล้านของรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็จะมีปัญหา
กระนั้น
คำวินิจฉัยของศาลเหมือนอุดช่องไว้แล้ว
อุดช่องที่จะย้อนถามว่าทำไมรัฐบาลอภิสิทธิ์กู้ได้ โดยศาลบอกว่า เงินแผ่นดิน
ยังไงๆ ก็ต้องทำตามมาตรา 169 เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน
(ศาลขีดเส้นใต้ไว้)
แล้วศาลท่านก็บอกว่า แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า
การดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามที่ร่างพระราชบัญญัตินี้มุ่งประสงค์
ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
ท่านขีดเส้นใต้ไว้ด้วย
ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน น้ำตื้นๆ
อย่างนี้เอง
ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า... ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
มีปัญหาแล้วครับ ข้อเท็จจริงนี้ท่านได้แต่ใดมา
ผมไม่บังอาจสวนว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ก็ขอแย้งว่า ตุลาการ 9 คน
ไม่ใช่ผู้ที่จะตัดสินเศรษฐกิจไทยว่า เงินกู้ 2 ล้านล้าน
มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่
ตุลาการ 9 คนอาจเชี่ยวชาญกฎหมาย
แต่ไม่ใช่ผู้ที่จะพิพากษาอนาคตประเทศว่า การก่อสร้างรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ
ท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์ ฯลฯ
มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่
นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาล ฝ่ายค้าน รัฐสภา
นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่นักธุรกิจก็อาจรู้ดีกว่าผู้พิพากษา พูดง่ายๆ
ว่าเป็นเรื่องที่สาธารณชนจะตัดสิน และแนวโน้มที่เป็นอยู่ คือสาธารณชน ภาครัฐ ภาคเอกชน คนธรรมดา
ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าจำเป็น เร่งด่วน เพียงต้องป้องกันทุจริต และศึกษารายละเอียด
ศาลกำลังก้าวออกมาตัดสินประเด็นที่ไม่ใช่กฎหมาย
ศาลตัดสินในประเด็นที่สาธารณชนควรเป็นผู้ตัดสิน ศาลกำลังล่วงล้ำ อำนาจตัดสินใจ
ของสาธารณชนนะครับ
(ที่มา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น