หน้าเว็บ

วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

สถานะของ "รัฐบาลรักษาการณ์" (Caretaker Government) ปัจจุบัน สิ้นสภาพตาม มาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่?

สถานะของ "รัฐบาลรักษาการณ์" (Caretaker Government) ปัจจุบัน สิ้นสภาพตาม มาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่?
 




มีการพูดถึงสถานะของ "รัฐบาลรักษาการณ์" (Caretaker Government) ปัจจุบันว่าสิ้นสภาพไปผ่านการอ้างอิงตาม ม.๑๒๗ ของรัฐธรรมนูญ ผมขออนุญาตอธิบายเรื่องนี้นะครับว่าการจะอ่านและพิจารณาตีความรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องอยู่บน "หลักเอกภาพของรัฐธรรมนูญ" (Unity of the Constitution) ที่ว่าด้วยเรื่องกลไกของระบบรัฐธรรมนูญที่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ โดยการอ่านและตีความต้องอ้างอิงจากถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญประกอบกันไปทั้งหมด ดังนั้น การพิจารณาเรื่องรัฐบาลรักษาการณ์ต้องพิจารณาเป็นระบบตามลำดับดังนี้

๑. การพิจารณาตามถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ : ต้องเข้าไปพิจารณาดูว่ามีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ที่กล่าวถึงรัฐบาลรักษาการณ์ทั้งนี้เนื่องจากจะได้นำไปสู่การพิจารณาถึงสถานะและการใช้อำนาจหน้าที่ของเขาต่อไป ซึ่งปรากฏว่าอยู่ใน ม.๑๘๑

๒. การพิจารณาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ : เมื่อมีการลาออกของคณะรัฐมนตรีก็ดี มีการประกาศยุบสภาก็ดี ม.๑๘๑ ให้มีรัฐบาลรักษาการณ์ขึ้นก็เพื่อทำหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดสภาวะสุญญากาศในการบริหารประเทศ

๓. การพิจารณาตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ : ตามหลักการแล้วเห็นว่าเมื่อปรากฏว่าฝ่ายบริหารของรัฐนั้นสิ้นสภาพไปแล้ว จึงต้องการให้มี "กลไกในการเปลี่ยนผ่านประเทศ" กล่าวคือ การบริหารประเทศนั้นจะไม่สะดุดหยุดอยู่เนื่องจากจะกระทบต่อสาธารณะ หรือสังคมส่วนรวมได้ จึงกำหนดให้มี "ฝ่ายบริหารชั่วคราว" ซึ่งก็คือฝ่ายบริหารเดิมที่สิ้นสภาพไปมาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศไม่ให้หยุดชะงักตาม "หลักความต่อเนื่องไม่ขาดสายของการบริหารประเทศ" (Continuity of Executive Power) จนกว่าจะได้ฝ่ายบริหารชุดใหม่มา "รับไม้ต่อ" เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศตามปกติต่อไป

การที่เราไปพิจารณา ม.๑๒๗ (ซึ่งปกติจะใช้บังคับเมื่อมีการเลือกตั้งเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว) เลยโดยไม่พิจารณาถึงบริบทและเจตจำนงค์ต่างๆ ของการบังคับใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองข้าม ม.๑๘๑ ไปทั้งๆ ที่เป็นบทบัญญัติเฉพาะว่าด้วยสถานะของรัฐบาลรักษาการณ์ ซึงมีความเชื่อมโยงและลำดับในการพิจารณาตีความก่อนหลังอยู่ จึงอาจทำให้เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานะของรัฐบาลรักษาการณ์ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แท้จริงได้นั่นเอง

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น