หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน

ต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน


    
  
   
โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์

          
ตอนนี้มันชัดเจนว่าแนวประนีประนอมของพรรคเพื่อไทย และ แนว นปช. ที่เดินตามเพื่อไทย ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ถ้าเราเข้าใจลักษณะของ “รัฐ” ในระบบการเมืองของโลก ตามที่ มาร์คซ์ เองเกิลส์ และเลนิน เคยอธิบาย เราจะเข้าใจว่าการเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภาประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการคุมอำนาจรัฐเลย เพราะรัฐประกอบไปด้วย ทหาร ศาล ตำรวจ และคุก และรัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองทุกซีกทุกก๊ก เพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ มันไม่เคยเป็นกลางและไม่เคยเป็นประชาธิปไตย แม้แต่ในประชาธิปไตยตะวันตกก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่าในประเทศดังกล่าวพลังของคนทำงานและประชาชนโดยทั่วไป คอยห้ามไม่ให้รัฐล้ำเส้นมากเกินไปเท่านั้น แต่ทุกอย่างไม่แน่นอนมั่นคง พื้นที่ประชาธิปไตยไม่ได้แช่แข็ง มันขยายและมันหดได้

วันนี้เราเห็นอำนาจรัฐ ผ่านตลก.(ร้าย)รัฐธรรมนูญ โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สาม ก่อนหน้านั้นเราเห็นทหารทำรัฐประหาร และเห็นทหารเข่นฆ่าคนเสื้อแดงที่ท้าทายเผด็จการและอำนาจรัฐ โดยเรียกร้องประชาธิปไตย เครื่องไม้เครื่องมือในการใช้อำนาจรัฐมีอีกมากมาย เช่นกระบวนการที่คนใหญ่คนโตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือการใช้วุฒิสภาหรือหัวหน้าสถาบันวิชาการ ในการเชียร์พวกที่มุ่งหวังลดพื้นที่ประชาธิปไตย ส่วนม็อบสุเทพก็เป็นเพียงอันธพาลชนชั้นกลาง เป็นคนส่วนน้อย และผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เขาพยายามสร้างภาพว่าเป็นมวลมหาประชาชน แต่การที่เขาทำอะไรก็ได้บนท้องถนน แสดงว่าส่วนต่างๆ ของรัฐสนับสนุนเขา ถือว่าม็อบสุเทพเป็นเครื่องมือที่ให้ “เอกชน” ทำแทน

ทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง และเขาเคยเป็นก๊กหนึ่งของรัฐไทย เพราะรัฐไม่ได้มีลักษณะรวมศูนย์เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน มันเป็น “คณะกรรมการเพื่อร่วมบริหารผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน” อย่างที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เคยเขียนไว้ และมันมีความขัดแย้งภายในด้วย นี่คือสาเหตุที่ทักษิณและนักการเมืองเพื่อไทยไม่ต้องการนำการต่อสู้ที่แตกหักกับกลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมของรัฐ

แต่ถ้าไทยจะเป็นประชาธิปไตย เราต้องเปลี่ยนการเมืองและสังคมแบบถอนรากถอนโคน ถ้าแค่เล่น “ปฏิกูลการเมืองก่อนเลือกตั้ง” มันไม่มีวันที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้เลย

สิ่งที่ต้องถูกเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนมีมากมาย แต่เรื่องหลักๆ เฉพาะหน้าคือ

1. ต้องสร้างพลังของคนธรรมดา เพื่อห้ามการทำลาย หรือจำกัด เสรีภาพประชาธิปไตย และเพื่อให้มีการเคารพพลเมือง ทุกคนต้องมีหนึ่งเสียงเท่ากัน พลังนี้คนอื่นสร้างให้ไม่ได้ ต้องสร้างจากรากหญ้าข้างล่าง

2. ต้องยกเลิกกฏหมาย 112, พรบ.คอมพิวเตอร์ และกฏหมายหมิ่นศาลในรูปแบบปัจจุบัน เพื่อเปิดให้พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกระบวนการประชาธิปไตยสากล ซึ่งแปลว่าต้องปล่อยนักโทษทางความคิดเช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข และคนอื่น

3. ต้องยกเลิกองค์กรที่อ้างความอิสระ และยกเลิกศาลตุลาการในรูปแบบที่เป็นอยู่ เพราะองค์กรที่อ้างความอิสระทั้งหลายไม่เคยเป็นกลาง และยิ่งกว่านั้นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งโดยทหารหรือฝ่ายเผด็จการอื่นๆ เช่นตลก.(ร้าย)รัฐธรรมนูญ มักใช้อำนาจเผด็จการเหนือผู้แทนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชน ที่สำคัญคือแนวคิดเรื่อง “องค์กรอิสระ” เป็นแนวคิดที่มองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะในการลงคะแนนเสียง จึงต้องให้ “ผู้รู้” คอยควบคุมตรวจสอบ ในอนาคตเราจะต้องคานอำนาจหรือตรวจสอบรัฐบาลและรัฐสภาด้วยองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

4. ต้องลดบทบาททางการเมืองและสังคมของทหารลงไป เพื่อไม่ให้ทำรัฐประหารหรือแทรกแซงการเมือง ซึ่งแปลว่าต้องลดงบประมาณ ปลดนายพลจำนวนมาก และนำทหารออกจากสื่อมวลชนและรัฐวิสาหกิจ

5. ต้องสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ด้วยการนำ “ฆาตกรรัฐ” มาขึ้นศาล ไม่ว่าจะเป็นทหารระดับสูง หรือนักการเมืองอย่าง อภิสิทธ์ สุเทพ หรือ ทักษิณ และต้องมีการยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย

6. ต้องเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวยอย่างถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านการสร้างรัฐสวัสดิการ

ถ้าจะทำสำเร็จต้องทำพร้อมกัน และทำด้วยความมั่นใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องอาศัยพลังที่อยู่นอกกรอบรัฐในการกระทำ คือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยนั้นเอง ซึ่งตอนนี้มีอยู่แล้วในรูปแบบเสื้อแดง อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวต้องอาศัยแนวความคิดทางการเมือง ซึ่งในขบวนการเสื้อแดงมีหลายแนว ในเมื่อแนวหลักของ นปช. กับเพื่อไทย ใช้ไม่ได้ และไม่มุ่งหวังสร้างประชาธิปไตยจริง กลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน ต้องพยายามรวมตัวกันเป็นองค์กร เพื่อช่วงชิงการนำ และเพื่อลงมือสร้างสายสัมพันธ์กับขบวนการสหภาพแรงงานที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย เพราะในสังคมทุนนิยม กรรมาชีพมีพลังถ้ารู้จักใช้

(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2014/05/blog-post_8.html           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น