หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เสวนาหนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร: สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

เสวนาหนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร: สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย



 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร้องคสช.ยกเลิกการใช้กฏอัยการศึกทั่ว ประเทศ, ยกเลิกการประกาศห้ามชุมนุมและการดำเนินคดีในศาลทหาร ด้านน.พ.นิรันดร์ จากกสม. ติงใช้กฎอัยการศึกเป็น ‘ยาแรง’ ไม่อาจนำสังคมสู่การปรองดองได้ 
23 มิ.ย. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล และสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว 'หนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร : สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย' (One Month after the Coup d'etat: The State of Human Rights in Thailand

งานแถลงข่าวครั้งนี้มี Mr.Sam Zarifi ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และน.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมแถลง ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย

น.พ.นิรันดร์ เปิดเผยว่า ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กสม. ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้มีประกาศยุบ กสม. จึงยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยมี พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 รองรับ และมีพันธะกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กสม. มีมติให้เรื่องร้องเรียนภายหลังการรัฐประหารอยู่ในความดูแลของคณะอนุกรรมการ ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ทั้งนี้ เรื่องร้องเรียนที่อยู่ในความดูแลของคณะอนุกรรมการ แบ่งได้เป็น 4 เรื่อง คือ 

1. กลุ่มบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีเนื่องจากขัดคำสั่ง คสช. และส่วนหนึ่งไม่มารายงานตัว ซึ่ง คสช. มีอำนาจควบคุมตัวโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาเป็นเวลา 7 วัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ในกรณีที่มีปัญหา คือญาติไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัวและไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม และบางคนถูกควบคุมตัวมากกว่า 7 วัน เช่น กรณี น.ส.กริชสุดา คุณะเสน ที่ถูกจับที่ จ.ชลบุรี

2. กลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างกับ คสช. เช่น กรณีชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช และความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112  ซึ่งไม่ใช่ความผิดหลังวันที่ 22 พ.ค. แต่ถูกค้นข้อมูลจากโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และมีการกล่าวหาย้อนหลัง

3. กลุ่มสื่อมวลชนและนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นแตกต่าง เช่น อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ 

4. กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาในคดีต่าง ๆ หลังวันที่ 22 พ.ค. ภายใต้กฎอัยการศึกจะต้องขึ้นศาลทหาร แม้จะอนุญาตให้มีทนายความได้ แต่กระบวนการตัดสินมีศาลเดียว ไม่สามารถอุธรณ์ได้

จากการติดตามของ กสม. ประเด็นที่ผู้ถูกควบคุมตัวมีความกังวล ได้แก่ ต้องการได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว ความไม่สบายใจต่อข้อกล่าวหามาตรา 112 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร การพิจารณาคดีภายใต้ศาลทหาร การถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน และการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายภาพระหว่างที่ญาติเข้าเยี่ยม ซึ่ง กสม. ได้รวบรวมข้อเท็จจริงเหล่านี้สรุปเป็นปัญหาและข้อเสนอแนะไปยังหัวหน้า คสช.

ด้าน น.ส.เยาวลักษณ์ กล่าวว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มทนายความ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมทางสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายของ คสช. และรวบรวมข้อมูลผู้ถูกรายงายตัว ผู้ถูกจับกุม และผู้ถูกคุมขัง

การให้ความช่วยเหลือของศูนย์ทนายฯ เป็นลักษณะการเปิดฮอตไลน์ ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย หรือติดตามญาติที่ถูกจับกุม และมีทนายความรวมถึงอาสาสมัครประจำศูนย์ และประจำที่สถานีตำรวจต่าง ๆ เพื่อติดตามผู้ถูกจับกุมและช่วยประสานงานให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย

หลังจากรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ ได้พิจารณาคำสั่งต่าง ๆ ของ คสช. พบว่ามี 5 ฉบับที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่

1. การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ 

2. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/57 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน และกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนให้จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

3. คำสั่ง คสช. หลายฉบับเรียกบุคคลให้มารายงานตัว หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

4. กลุ่มประกาศที่กระทบต่อเสรีภาพสื่อมวลชน

และ 5. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57 ให้ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

จากสติถิที่ศูนย์ทนายฯ เก็บรวมรวมระหว่างวันที่ 22 พ.ค. - 20 มิ.ย. 2557 พบว่า คสช.ประกาศเรียกบุคคลให้มารายงานตัวทั้งหมด 454 คน มีผู้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวในต่างจังหวัดโดยไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ 57 คน 

ทั้งนี้ สถิติที่รวบรวมได้ แสดงให้เห็นว่า คสช. จับกุมตัวบุคคล 178 คน แบ่งเป็นการจับกุมผู้ที่ไม่มีหมายเรียกใด ๆ มาก่อน 113 คน จับกุมจากการแสดงออกทางการเมืองในที่สาธารณะ 55 คน และจับกุมผู้ถูกเรียกแต่ไม่ไปรายงานตัว 10 คน

พฤติการณ์ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ทนายฯ มีความกังวลใจ คือ ผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติหรือผู้ติดตาม ทำให้ไม่ทราบถึงสถานที่ควบคุมตัว ระหว่างการเดินทางผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกปิดตา หรือคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติกสีดำ บางรายมีการขับรถตู้วนไปมาเพื่อไม่ให้ทราบเส้นทางไปยังสถานที่ควบคุมตัว คือ ค่ายทหาร บ้านพักทหาร หรือห้องปิดมิตชิดไม่ทราบลักษณะภายนอก 

นอกจจากนี้ ระหว่างถูกควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน จะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาสอบถาม พูดคุยกับผู้ถูกควบคุมตัว เพื่อปรับทัศนคติให้เข้าใจถึงสาเหตุของการทำรัฐประหารของ คสช. แต่เจ้าหน้าที่ทหารจะมีแฟ้มประวัติของผู้ถูกควบคุมตัว เพื่อสร้างเงื่อนไขก่อนปล่อยตัว ไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวเคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่เดินทางออกนอกประเทศ

กรณีการปล่อยตัวของผู้ถูกเรียกรายงานตัวมีหลายรูปแบบเช่นกัน คือ 1. ปล่อยตัว ณ ที่รายงานตัว ส่วนใหญ่คือที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ 2. ส่งผู้ถูกรายตัวที่บ้านพัก ส่วนใหญ่มักเป็นเวลากลางคืน 3. กรณีพิเศษ คือ ปล่อยตัวที่สถานีรถไฟในเวลากลางคืน ซึ่งตามปกติในการปล่อยตัวควรมีบุคคลที่สามร่วมรับรู้ เพื่อลดโอกาสในการสูญหายด้วย รวมถึงยังมีกรณีที่เรียกไปรายงานตัวแล้วไม่ปล่อยตัว เพื่อดำเนินคดีต่อ ส่วนใหญ่เป็นคดีความมาตรา 112

อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ที่น่าห่วงอีกกรณี คือ การจับกุมผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสงบและสันติ โดยระยะแรกใช้เจ้าหน้าที่ทหารทำการจับกุม เช่น ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ต่อมาเปลี่ยนไปใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวแทน เป็นการจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

ผู้ถูกจับกุมในกลุ่มดังกล่าว หากเป็นเพศหญิงจะถูกคุมตัวที่กองปราบปราม 3-5 วัน ถ้าเป็นเพศชายจะถูกคุมตัว 7 วัน และหากถูกดำเนินคดีในศาลทหารจะต้องถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษก่อน ซึ่งจะมีกระบวนการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ต้องถูกเปลื้องผ้าทั้งหมด และถูกตรวจอย่างละเอียด

ในกรณีนี้ เราถือว่าเขาไม่ใช่นักโทษ แต่เป็นเพียงผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง จึงไม่ควรได้รับการกระทำดังกล่าวข้างต้น

จากสถานการณ์ที่กล่าวมา ศูนย์ทนายฯ จึงมีข้อเสนอแนะ 7 ข้อ ต่อ คสช. ดังนี้

1. เสนอให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก โดยยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ

2. เสนอให้ยกเลิกมาตรการปิดกั้นและควบคุมสื่อทุกชนิด

3. เสนอให้ยุติการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยสงบ รวมถึงยกเลิกประกาศห้ามชุมนุม

4. เสนอให้ยกเลิกการบังคับบุคคลให้มารายงานตัว และยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขเมื่อปล่อยบุคคลที่ไปรายงานตัวหรือถูกกักตัว

5. ควรใช้มาตรการในการจับกุมและควบคุมตัวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น รวมถึงควรกำหนดหลักเกณฑ์การจับกุมและควบคุมตัวที่ชัดเจนและเป็นไปตามหลัก สิทธิมนุษยชน

6. เสนอให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ตามประกาศเรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจดำเนินคดีของศาลทหาร

7. ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของ คสช. และถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ถือเป็นนักโทษทางการเมือง ควรคุมขังในสถานที่เหมาะสม และแยกออกจากผู้ต้องขังความผิดอื่น ๆ

เมื่อถึงช่วงที่เปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถาม น.พ.นิรันดร์ ได้กล่าวเสริมว่า กสม. ได้ท้วงติงในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะในสิ่งที่ คสช. ควรปฏิบัติ  เพื่อ คสช. มีส่วนร่วมในการทำให้ประเทศไทยสามารถกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างรวด เร็วที่สุด มั่นคงที่สุด ดีกว่าที่จะใช้กฎอัยการศึกในการขยายความขัดแย้ง ขยายการต่อต้าน ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมไทยมากขึ้น

"ผมได้บอกพล.ท.กัมปนาท (พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป) ว่าประเทศไทยเปรียบเหมือนเป็นคนป่วยที่เป็นมะเร็งเนื้อร้าย การใช้กฎอัยการศึกอย่างเดียวเป็นยาแรง และผมก็เป็นหมอด้วยในความเป็นจริง คนไข้บางคนถ้าใช้ยาคีโมที่แรงเกินไป บางทีก็เสียชีวิตก่อนได้รับการรักษา

ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยในช่วง 10 ปี ไม่ใช่แค่ความรุนแรงทางการเมือง และการเข่นฆ่าโดยกองกำลังติดอาวุธ แต่ปัญหาที่สำคัญคือเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่าง ความแตกต่างในด้านอุดมการณ์ประชาธิปไตย ระหว่างประชาธิปไตยโดยรูปแบบกับประชาธิปไตยโดยเนื้อหา ดังนั้น ถ้าใช้กฎอัยการศึกเพียงอย่างเดียว คงไม่เหลือคนไทยในประเทศไทยอีกเลย" 

"การปรองดองสมานฉันท์ไม่ใช่การลืม แต่ต้องบริหารความแตกต่างทางความคิด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในสังคมไทยที่มีการจัดการไม่ถูกต้อง" กรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าว

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น