หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เก็บตกสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1914

เก็บตกสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1914


PhotographingTheFirstWorldWar_FrankHurley_05article-2226235-01A9D2BF000004B0-479_964x704 
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

วันที่ 28 กรกฏาคมปีนี้ เป็นวันครบรอบ 100  ปีแห่งการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามนี้เป็นสงคราม “ทุนนิยมสมัยใหม่” ที่ใช้อาวุธอุตสาหกรรมและทำลายชีวิตทหารนุ่มถึง 10 ล้านคน มันเป็นสงครามทางชนชั้น เพราะชนชั้นปกครองในประเทศมหาอำนาจของยุโรป ผลักให้ชนชั้นกรรมาชีพประเทศต่างๆ ไปฆ่ากันเอง และมันเป็นสงคราม “ทุนนิยมสมัยใหม่” ในอีกด้านหนึ่งที่สำคัญด้วย คือเกิดจากการปะทะกันระหว่างประเทศต่างๆ ภายใต้ระบบที่เราเรียกว่า “จักรวรรดินิยม”

ต้นกำเนิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
การที่ระบบจักรวรรดินิยมโลกนำไปสู่การยึดครองพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และในที่สุดนำไปสู่สงครามระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยมเอง เริ่มชัดเจนตั้งแต่ 1904 เมื่อรัสเซียพยายามขยายอาณาจักรไปทางตะวันออกเข้าสู่จีน และเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นที่กำลังขยายไปทางตะวันตกเข้าสู่เกาหลี นอกจากนี้มีการปะทะกันระหว่างเยอรมันกับฝรั่งเศสในอัฟริกาเหนือ เพื่อหาอาณานิคม

แต่ภูมิภาคอันตรายที่สุดคือแถบยุโรปตะวันออกหรือ “บอลคาน” เพราะมหาอำนาจใหญ่ๆ เข้ามาแย่งกันอุปถัมภ์รัฐเล็กๆ เช่น เซอร์เบีย กรีซ มอนตาเนโกร บัลแกเรีย ฯลฯ ซึ่งกำลังทำสงครามแย่งชิงซากเก่าของอาณาจักร “ออตตามันเตริก” สถานการณ์อันตรายแบบนี้ มัดความขัดแย้งในพื้นที่เข้ากับความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจใหญ่ จนเป็นชะนวนที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

บ่อยครั้งนักวิชาการที่ไม่วิเคราะห์อะไรลึกๆ จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จุดไฟของสงคราม เช่นการลอบยิงเจ้าชายเฟอร์ดิแนนของออสเตรีย แต่รากฐานต้นกำเนิดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มาจากการแย่งชิงพื้นที่ อิทธิพล และ อำนาจ ระหว่างมหาอำนาจทุนนิยม จนทุกฝ่ายยอมอะไรไม่ได้ ในเรื่องนี้นักมาร์คซิสต์รัสเซียชื่อ เลนิน เข้าใจดี

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1914-1918
ในเดือนสิงหาคม 1914 หลังจากที่สงครามเกิดขึ้น คนจำนวนมากในยุโรปคลั่งชาติและหลงคิดว่าฝ่ายของตนเองจะชนะในไม่กี่เดือน ในเมืองต่างๆ ประชาชนออกมาชุมนุมสนับสนุนสงครามด้วยความสนุกสนาน เหมือนกับจะแห่กันไปงานวัด หรือไปดูมวย


ในแง่สำคัญ บรรยากาศการเฉลิมฉลองสงคราม ไม่ได้เป็นการคลั่งชาติไปทั้งหมด ทั้งๆ ที่พวกคลั่งชาติมีจริง ลีออน ตรอทสกี นักปฏิวัติรัสเซีย อธิบายว่าบรรยากาศนี้มาจากการที่ชีวิตคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น เต็มไปด้วยการทำงานซ้ำซากน่าเบื่อ โดยไร้ความหวัง สงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นโอกาสที่จะผจญภัยครั้งใหญ่ คนจำนวนมากเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคงไม่ทำให้ชีวิตแย่ลง เพราะมันแย่กว่านี้ไม่ได้ …. แต่ในไม่ช้าเขาจะเรียนรู้ความจริง

ในแง่ส่วนตัว คุณตาของผม เออเนสต์ วิแซน สมิท ก็เป็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่แห่ไปรบด้วยความรักชาติ และทั้งๆ ที่เขาเห็นสภาพความโหดร้ายทารุณของสงคราม ซึ่งบัณทึกไว้ในสมุดบัณทึกที่อยู่ในมือของผม แต่เขายังไม่หายรักชาติตามกระแสการเมืองอนุรักษ์นิยมของเขา อย่างไรก็ตามคุณยายผมกลับเกลียดสงครามอย่างถึงที่สุด และประกาศจุดยืนสันติวิธีตั้งแต่ช่วงนั้น

คุณตาผมอาจไม่ค่อยมีจิตสำนึกทางการเมืองที่ลึกซึ้งเท่าไร แต่นักสังคมนิยมทั่วยุโรปหลายคนต่อต้านสงครามตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่ผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในยุโรป เคยมีจุดยืนคัดค้านสงคราม การที่เขามองว่าเป้าหมายคือการ “ได้อำนาจรัฐ” ผ่านการชนะการเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยม มันทำให้เขามองว่า “รัฐ” เป็นรัฐของประชาชนทุกคน และทุกคนต้องจงรักภักดีต่อรัฐของตนเอง ในที่สุดเกือบทุกพรรคหันมาสนับสนุนการทำสงครามที่ฆ่ากันเอง นักสังคมนิยมบางคนสามารถเคลื่อนไหวคัดค้านสงครามในกลุ่มผู้ใช้แรงงานของ อังกฤษ เยอรมัน และรัสเซีย แต่ผู้นำอย่าง เคาท์สกี ในเยอรมัน หรือ เคียร์ ฮาร์ดี ในอังกฤษ เงียบเฉยทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม

มีแต่นักสังคมนิยมปฏิวัติมาร์คซิสต์เท่านั้น ที่ต่อต้านสงครามจากวันแรกถึงวันสุดท้าย ตัวอย่างที่ดีคือ เลนิน, ตรอทสกี, โรซา ลัคแซมเบอร์ค, คาร์ล ลีบนิค, เจมส์ คอนโนลี่ และ จอห์น แมคคลีน เป็นต้น

สงครามนี้กลายเป็นสงครามยืดเยื้อที่ป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์ มนุษย์ยุคนั้น มีการใช้อาวุธและระเบิดที่สร้างในโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และทหารเป็นแสนๆ เผชิญหน้ากันในสนามเพลาะ ในการรบกันที่ “เวอร์ดัน” ทหารสองล้านคนเผชิญหน้ากันและตายไปครึ่งหนึ่งภายในห้าเดือน ในการรบกันที่ลุ่มแม่น้ำ “ซอม” ในปี 1916 คาดว่าตายไปอีกหนึ่งล้าน โดยที่ทหารอังกฤษตายสองหมื่นคนในวันแรกของการรบ

สงครามนี้มีผลกระทบกับสังคมในประเทศต่างๆ อย่างมาก ทุกแห่งขาดแรงงาน ทั้งในภาคเกษตรและในโรงงาน เพราะมีการเกณฑ์ผู้ชายไปรบจำนวนมาก มีการดึงผู้หญิงเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในระยะยาวทำให้สตรีมีความมั่นใจที่จะเรียกร้องสิทธิสตรีมากขึ้นเพราะทำ งานพึ่งตนเองได้ เริ่มมีการขาดอาหารและสินค้าพื้นฐาน และราคาข้าวของก็พุ่งขึ้นสูง ในไม่ช้าคุณภาพชีวิตของกรรมกร เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยแย่ลงอย่างน่าใจหาย ในเยอรมันค่าแรงดิ่งลง 50% แต่ผู้นำสหภาพแรงงานในประเทศต่างๆ พยายามยับยั้งการนัดหยุดงาน เพื่อสนับสนุนสงคราม

สำหรับเกษตรกรคนจนจากหมู่บ้านห่างไกลในชนบททั่วยุโรป การที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารและประสบการณ์ของสงคราม เปิดหูเปิดตาถึงสภาพสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะความคิดทางการเมืองเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือ “สังคมนิยม”

พอถึงปลายปี 1915 ต้นปี 1916 เริ่มมีการต่อสู้และการกบฏของคนชั้นล่าง สตรีในเมืองอุตสาหกรรม กลาสโก ทางเหนือของอังกฤษ ไม่ยอมจ่ายค่าเช่า และสตรีในหลายเมืองของเยอรมันประท้วงการขาดแคลนอาหาร ในโรงงานอุตสาหกรรมของอังกฤษ เยอรมัน ฮังการี่ และออสเตรีย ช่างฝีมือชายในโรงเหล็ก ที่ไม่ได้ถูกเกณฑ์เป็นทหาร เพราะเขาเป็นคนงาน “จำเป็น” ในอุตสาหกรรมอาวุธ เริ่มนัดหยุดงาน โดยที่ผู้นำหลายคนเป็นนักสังคมนิยม ในขณะเดียวกันเริ่มมีนักเขียนและศีลปินคนชั้นกลางที่ออกมาวิจารณ์สงคราม

ในสนามรบ คนที่แห่กันไปรบในยุคแรกๆ เริ่มรู้ว่าสงครามมันป่าเถื่อนและโหดร้ายแค่ไหน ความตื่นเต้นแปรไปเป็นความเย็นชาที่ยอมรับสถานการณ์ แต่พอเวลาผ่านไป และทหารราบธรรมดามีประสบการณ์ของสงคราม และเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของเขา แตกต่างจากพวกนายพลชั้นสูงที่เสพสุข ก็เริ่มมีการกบฏในกองทัพ

ตั้งแต่วันคริสต์มาสปี 1914 ทหารธรรมดาจากทั้งสองฝ่าย ประกาศหยุดยิงและออกมาคุยกัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจในระดับสูงอย่างมาก พอถึงคริสต์มาสปี 1916 นายพลอังกฤษสั่งให้ผู้บังคับบัญชาในสนามรบยิงทหารเยอรมันที่ออกมาจากหลุม เพลาะ เพื่อไม่ให้คุยกับทหารอังกฤษ แต่ในเดือนเมษายนปี 1917 ทหารฝรั่งเศส 68 กองพล ครึ่งหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส กบฏและไม่ยอมออกรบหลังจากที่สหายเขาตายไป 250,000 คนจากการรุกสู้ มีการชักธงแดงขึ้นและร้องเพลงอินเตอร์นาชอนแนล์ แต่รัฐบาลฝรั่งเศสปราบทหารกบฏอย่างรุนแรง โดยประหารชีวิตทหารไป 49 นาย ในปีเดียวกันมีการกบฏของทหารอิตาลี่ 50,000 คน และทหารอังกฤษ 100,000 คน ในกรณีหลังนายพลอังกฤษจัดการกับการกบฏด้วยการยอมรับข้อเรียกร้องบางอย่าง ตามด้วยการประหารชีวิตผู้นำการกบฏ และมีการปกปิดเหตุการณ์นี้ในสื่อมวลชน

การปฏิวัติรัสเซีย 1917
ไม่มีใครสามารถทำนายล่วงหน้าว่าจะเกิดการปฏิวัติในรัสเซียในเดือน กุมภาพันธ์ 1917 แม้แต่ เลนิน ก็พูดเสมอว่ารุ่นเขา “คงไม่เห็นการปฏิวัติ” แต่การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงของสงครามโดยตรง เช่นสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง และการที่ทหารราบธรรมดาถูกส่งไปตายเหมือนผักเหมือนปลา และบ่อยครั้งขาดอาวุธหรือแม้แต่รองเท้า การปฏิวัติรอบแรกในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการล้มระบบเผด็จการกษัตริย์ซาร์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์ยากของประชาชน

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปในรัสเซียในเดือนตุลาคม 1917 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่แล้วมาในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือในการลุกฮือที่ฝรั่งเศสปี 1848 และ 1871 คนงานกับคนจนในปารีสเป็นพลังสำคัญ แต่ถูกแย่งอำนาจไปโดยชนชั้นนายทุนหรือถูกปราบปรามอย่างหนัก ในรัสเซียครั้งนี้ สภาของชนชั้นกรรมาชีพ ทหาร และเกษตรกรรายย่อย สามารถยึดอำนาจรัฐในประเทศที่มีประชากร 160 ล้านคน ภายใต้การนำของพรรคสังคมนิยมบอล์เชวิคของ เลนิน มันเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถสร้างระบบสังคมนิยมโลกได้

เยอรมันลุกเป็นไฟ ตามด้วยการกบฏในประเทศอื่น
กระแสปฏิวัติในยุโรประเบิดขึ้นแค่หนึ่งปีหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย ในปี 1918     เมื่อกองทัพเรือเยอรมันถูกสั่งให้บุกอังกฤษ ทหารเรือกบฏไม่ยอมไปตายฟรี มีการเดินขบวนของทหารเรือติดอาวุธร่วมกับคนงานท่าเรือที่เมือง เคียล์ หลังจากนั้นมีการตั้งกรรมการทหาร ในเมือง บเรเมน, แฮนโนเวอร์, โคโลน, ไลป์ซิก, ดเรสเดน และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ทหารกับคนงานยึดเมือง ใน มิวนิค มีการประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียดของแคว้น บาวาเรีย ซึ่งอยู่ได้หลายเดือน ส่วนในเมืองหลวง เบอร์ลิน ทหารติดอาวุธร่วมกับกรรมาชีพถือธงแดงในการเดินขบวน และนักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล ลีบนิค ก็ปรากฏตัวที่ระเบียงพระราชวังและประกาศว่ามีการก่อตั้ง “สาธารณรัฐสังคมนิยม” และเริ่มกระบวนการ “ปฏิวัติโลก” ซึ่งทำให้กษัตริย์ไคเซอร์ต้องหนีออกนอกประเทศทันที

ต่อมามีการตั้งคณะสภากรรมาชีพและทหาร ซึ่งแต่งตั้งรัฐบาลปฏิวัติอันประกอบไปด้วยสองพรรคสังคมนิยม แต่พรรคเหล่านั้นนำโดยคนที่ไม่ใช่นักปฏิวัติ พรรค SPD เดิมสนับสนุนสงคราม เพราะเป็นพรรคปฏิรูปที่ต้องการปกป้องรัฐเก่ามาตลอด ส่วนพรรค USP ประกอบไปด้วยผู้นำที่คัดค้านสงครามและเอียงซ้ายมากกว่าพวก SPD แต่ก็ยังสองจิตสองใจเรื่องการปฏิวัติ คือแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการปฏิวัติกับการปฏิรูประบบเดิม มีแต่ “กลุ่มสันนิบาตสปาร์ตาคัส” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เท่านั้นที่ชัดเจนว่าต้องปฏิวัติสังคมนิยม แต่กลุ่มนี้พึ่งแยกตัวออกจากพวกพรรคปฏิรูปก่อนหน้านี้ไม่นาน เลยขาดมวลชนและประสบการณ์

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมันจากพรรค SPD จับมือทันทีกับพวกนายพลเก่าเพื่อ “สร้างความสงบเรียบร้อย” และการสร้างความสงบเรียบร้อยสำหรับระบบทุนนิยม แปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ด้วยการฆ่าทิ้ง

ในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรค SPD ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยม บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญญลักษณ์นาซี

ปัญหาของนักสังคมนิยมปฏิวัติเยอรมันคล้ายกับปัญหาในส่วนอื่นของยุโรป เพราะพรรคสังคมนิยมทั้งหลาย ไม่เคยต้องเผชิญหน้ากับการลุกฮือของมวลชนที่ตั้งคำถามรูปธรรมในโลกจริงว่าจะ ปฏิวัติหรือปฏิรูป ในช่วงนี้นักปฏิวัติในรัสเซียพยายามสร้างองค์กรสากล เพื่อตั้งพรรคปฏิวัติที่แยกตัวออกจากพรรคปฏิรูปในทุกประเทศของยุโรปและที่ อื่น แต่มันใช้เวลาและสายเกินไปที่จะช่วยพยุงหรือหนุนการปฏิวัติในรัสเซียได้

ในเดือนเมษายน 1919 กรรมาชีพและคนตกงานพยายามยึดรัฐสภาในประเทศออสเตรีย และในฮังการี่มีการยึดอำนาจโดยฝ่ายสังคมนิยมและประกาศตั้ง “รัฐโซเวียด” แต่ในทั้งสองกรณีการลุกฮือถูกหักหลังโดยพรรคสังคมนิยมปฏิรูปที่พูดซ้ายแต่ ปฏิบัติตรงข้าม

ในกองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐ มีการกบฏต่อผู้บังคับบัญชา และในอังกฤษ สหรัฐ คานาดา เกิดกระแสนัดหยุดงานอย่างดุเดือด แม้แต่ตำรวจในบางพื้นที่ของอังกฤษก็ยังหยุดงานในสเปน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ มีการนัดหยุดงานและยึดเมืองต่างๆ แต่ถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน

ในอิตาลี่ ระหว่างปี 1919 กับ 1920 มีการนัดหยุดงานทั่วไปและตั้งคณะกรรมการโรงงานโดยกรรมาชีพ เพื่อคุมโรงงาน กระแสนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักมาร์คซิสต์อย่าง อันโตนิโอ กรัมชี่ และหนังสือพิมพ์ “ระเบียบใหม่” ของเขา แต่การต่อสู้ของกรรมาชีพ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายไปสู่การปฏิวัติ ถูกหักหลังโดยพรรคสังคมนิยมที่ปลีกตัวออกไม่สนับสนุน และโดยผู้นำสหภาพแรงงานระดับสูง ที่มองว่าต้องสู้แต่ในเรื่อง “ปากท้อง” เท่านั้นความล้มเหลวของการปฏิวัติลุกฮือในอิตาลี่สร้างความหดหู่ พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรีพรรคเสรีนิยมตัดสินใจสนับสนุนให้ มุสโสลีนี สร้างขบวนการฟาสซิสต์ขึ้นมาด้วยทุนจากรัฐและนายทุนใหญ่ เพื่อคานฝ่ายซ้ายและนักปฏิวัติ พอถึงปลายปี 1922 มุสโสลีนี  สามารถยึดอำนาจและสร้างรัฐเผด็จการฟาสซิสต์ได้สำเร็จ

การกบฏในอาณานิคม
ประชาชนในอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ไม่เคยยินยอมพอใจกับการถูกปกครอง อินเดียเป็นอาณานิคมที่สำคัญที่สุดของอังกฤษ ขบวนการกู้ชาติเริ่มก่อตัวในรูปแบบ “พรรคคองเกรสของชาติอินเดีย” หรือที่เรียกสั้นๆว่า “คองเกรส” ซึ่งมีแกนนำเป็นชนชั้นกลางกับนายทุนพื้นเมือง ในยุคนั้นชนชั้นสูงพื้นเมืองแยกเป็นสองส่วนระหว่างพวกที่ต้องการร่วมมือกับ อังกฤษ และพวกที่ต้องการเอกราช
มหาตมะคานธี เป็นทนายความชนชั้นกลางที่กลับมาจากอัฟริกาใต้ในปี 1915 และทั้งๆ ที่ มหาตมะคานธี ขึ้นชื่อภายหลังว่าต่อต้านการใช้ความรุนแรง ตอนนั้นเขาสนับสนุนการทำสงครามของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และใกล้ชิดกับนายทุนพื้นเมืองอินเดียที่ต้องการให้ พรรคคองเกรส ปกป้องตลาดภายในอินเดียที่จะเป็นอิสระในอนาคต เพื่อประโยชน์ของนายทุน

ระหว่าง 1918-1920 มีคลื่นการนัดหยุดงานของกรรมาชีพ โดยเฉพาะคนงานสิ่งทอในเมือง มุมบาย และมีการประท้วงความอดอยากในเมืองหลักๆ ของอินเดีย รัฐบาลอังกฤษโต้ตอบและปราบปรามการเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างรุนแรง ซึ่งเพิ่มความโกรธแค้นของมวลชน ในปี 1920 มีการนัดหยุดงาน 200 ครั้งโดยคนงานทั้งหมด 1.5 ล้านคน

ไอร์แลนด์ เป็นอาณานิคมที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ ในปี 1916 มีการลุกฮือจับอาวุธกบฏต่ออังกฤษในเมือง ดับลิน การกบฏครั้งนี้ประกอบไปด้วยสององค์กรหลักคือ “ขบวนการสาธารณรัฐ” ของคนชั้นกลางนำโดย พาดเดรก เพียร์ส และ “กองทัพพลเมืองไอร์แลนด์” ซึ่งเป็นกองกำลังกรรมาชีพเพื่อปกป้องการนัดหยุดงาน กองกำลังนี้นำโดยนักสังคมนิยมไอร์แลนด์ชื่อ เจมส์ คอนโนลี่ และถึงแม้ว่าการกบฏนี้ล้มเลวเพราะมีความผิดพลาดในการวางแผน และผู้นำจำนวนมากถูกประหารชีวิต แต่มันกลายเป็นประกายไฟที่จุดการต่อสู้รอบใหม่ในไอร์แลนด์ และจุดการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมทั่วโลก

ที่ อียิปต์ ในปี 1919 มีการทำแนวร่วมระหว่างพวกกู้ชาติชนชั้นกลางและขบวนการแรงงาน เพื่อต่อสู้กับอังกฤษ และเมื่ออังกฤษเสนอการปฏิรูปเล็กๆ น้อย “พรรควาฟด์” ของพวกชนชั้นกลาง ก็ประนีประนอมกับอังกฤษและหักหลังขบวนการแรงงาน ต่อมาพอ “พรรควาฟด์” ห่างเหินจากมวลชนแรงงาน อังกฤษก็จัดการปราบปรามจนพรรคหมดสภาพ

ในปี 1911 ที่จีน มีการกบฏของทหารต่อราชวงศ์ชิง (แมนชู) และมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐภายใต้ประธานาธิบดี ซุนยัดเซน แต่รัฐบาลล้มภายในหนึ่งเดือนและนายพลในกลุ่มอำนาจเก่าขึ้นมาเป็นเผด็จการแทน ประเทศจีนถูกแยกเป็นเขตต่างๆ ภายใต้ขุนศึกหรืออำนาจต่างชาติ ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 มีข่าวจากการประชุมแวร์ไซในฝรั่งเศส ว่าฝ่ายที่ชนะสงครามโลกได้ประกาศยกพื้นที่จีนที่เคยปกครองโดยเยอรมันให้ ญี่ปุ่น คำประกาศนี้ถือว่าเป็นการหักหลังชาวจีน     นักศึกษาเป็นผู้จุดประกายการปฏิวัติ โดยมีปัญญาชนเข้าร่วม และคนจำนวนมากได้รับอิทธิพลจาก “พรรคก๊กมินตั๋ง” ของ ซุนยัดเซน ในขณะเดียวกันการปฏิวัติรัสเซียส่ร้างอิทธิพลให้มวลชนอีกส่วนหนึ่งหันมาสนใจ ความคิดสังคมนิยมมาร์ซิสต์ซึ่งสอดคล้องกับการรุกสู้ของชนชั้นกรรมาชีพจีน มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์

ในปี 1922 คนเดินเรือ 2,000 คนที่ฮ่องกงเริ่มนัดหยุดงาน และลามไปสู่การนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานฮ่องกง 120,000 คน และทั้งๆ ที่ผิดกฏหมาย การนัดหยุดงานครั้งนี้ได้รับชัยชนะ ต่อมาในปี 1924 ซุนยัดเซน ตั้งรัฐบาลกู้ชาติที่เมือง กวางตุ้ง ซึ่งอาศัยการร่วมมือกันกับกองกำลังคนงานของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 1925 มีการนัดหยุดงานทั่วไปที่เมือง เซี่ยงไห้ และฮ่องกง โดยมีข้อเรียกร้องชาตินิยมและข้อเรียกร้องปากท้อง ใน เซี่ยงไห้ กรรมกรกลายเป็นอำนาจหลักในการบริหารเมืองชั่วคราว

ในปี 1926 กองกำลังของ ก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ ยกทัพจาก กวางตุ้ง ไปทางเหนือเพื่อยึด ฮูเบ และฮูนัน โดยผู้นำกองทัพคือนายพล เชียงไกเชค ในเดือนมีนาคมกองทัพของ เชียงไกเชค มาถึง เซี่ยงไห้ และภายในเมืองมีการลุกฮือของกรรมาชีพและนัดหยุดงานทั่วไป เชียงไกเชคและพรรคก๊กมินตัง ซึ่งเป็นพวกชนชั้นนายทุนพื้นเมือง พร้อมจะใช้ขบวนการแรงงานและพวกคอมมิวนิสต์ในการยึดเมือง แต่พอกรรมาชีพมอบอำนาจให้ เชียงไกเชค เรียบร้อยแล้ว มีการปล่อยอันธพาลฝ่ายขวาไปฆ่าคอมมิวนิสต์และนักสหภาพแรงงานอย่างป่าเถื่อน จนไม่เหลือซาก

สรุป
สงครามที่เราเห็นในโลกสมัยใหม่ ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้ง “ธรรมชาติ” ของมนุษย์ แต่เกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ ที่อาศัยรัฐของเขา ในการทำสงครามทั่วโลก ถ้าจะยุติสงครามอย่างจริงจัง เราต้องล้มระบบทุนนิยม และสร้างระบบใหม่แห่งความสมานฉันท์ระหว่างกรรมาชีพทุกชนชาติ อย่างไรก็ตามการปฏิวัติล้มทุนนิยมย่อมไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะมีโอกาสทองของวิกฤตการเมืองหรือการลุกฮือของมวลชนมากแค่ไหน ถ้าเราไม่ลงมือสร้างพรรคปฏิวัติของกรรมาชีพ และถ้าเราไม่ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับแนวคิดชาตินิยมที่พาคนจำนวนมากไปจงรัก ภักดีกับชนชั้นนายทุนในแต่ละประเทศ

(ที่มา)
http://turnleftthai.wordpress.com/2014/07/24/ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น