หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ศัพท์ภาษาอังกฤษน่ารู้เกี่ยวกับคำว่าเผด็จการ

ศัพท์ภาษาอังกฤษน่ารู้เกี่ยวกับคำว่าเผด็จการ




 
โดย อรรถสิทธิ์  เมืองอินทร์

 
ขออนุญาตเดาใจว่า พลเอกประยุทธ์    จันทร์โอชาคงไม่ชอบคำว่า “เผด็จการ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำไม่ค่อยสุภาพในศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกับคำว่า"ปฏิวัติ" หรือ "รัฐประหาร"  เป็นแน่ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 น่าจะพอใจกับคำเรียกอื่นแทนอัตลักษณ์ของตัวท่านอย่างเช่น "นักปกครองผู้เด็ดขาด" หรือ "ผู้รับใช้บ้านเมืองที่ร้องขอ (บังคับ)ให้ประชาชนยอมสละเสรีภาพเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ (ซึ่งจะมีเมื่อไรก็ไม่ทราบ) "  หรืออะไรก็ได้ที่ไม่มีคำว่าเผด็จการเจือปนอยู่เป็นอันขาด ดังจะดูได้จากพฤติกรรมหนึ่งที่ท่านทำในสิ่งที่เผด็จการไม่ค่อยทำได้แก่การ กล่าวคำโทษและการไหว้นักข่าว

ต่อไปนี้เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับคำว่าเผด็จการหรือคนๆ เดียวที่มีอำนาจสูงสุด ไร้การถ่วงดุล การโต้แย้งหรือการตรวจสอบและมักมีการปกครองที่เลวร้ายโหดเหี้ยม คำเหล่านั้นแม้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปแต่ก็ความหมายก็มีความใกล้เคียง หรือทับซ้อนกัน บทความนี้ยังต้องการเชิญชวนให้ผู้อ่านตัดสินว่าพลเอกประยุทธ์นั้นเหมาะสม หรือเข้าข่ายคำไหนที่สุดมากที่สุด (หากมองว่าการไหว้หรือการขอโทษเป็นการแสดงทางการเมืองอย่างหนึ่ง)

1.Dictator
Dictator เป็นคำภาษาอังกฤษของเผด็จการที่ได้รับคำนิยม มากที่สุด มาจากคำกิริยาที่ว่า dictate  มีความหมายคือบีบบังคับหรือกดดันให้คนอื่นกระทำตามที่ตัวเองต้องการ   คำว่า dictator ในสมัยยุคสาธารณรัฐโรมันกลับเป็นคำที่ยกย่อง บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น dictator คือคนที่นักปกครองสูงสุดหรือกงศุลได้เลือกให้มีอำนาจโดยเด็ดขาดผ่านการ รับรองของสภาแต่เพียงชั่วคราวเพื่อนำพาอาณาจักรให้รอดพ้นจากภัยอันใหญ่หลวง เช่นสงครามและมักจะมีวาระการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน แต่ในยุคใหม่ dictator เป็นคำที่ไม่สู้ดีนักอันมีสาเหตุมาจากผู้นำเผด็จการในลัทธิฟาสซิสต์ของ เยอรมัน อิตาลีและญี่ปุ่นที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
   
นอกจากนี้คำว่า Dictator มักถูกโยงเข้ากับทหาร เพราะตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ประเทศในโลกที่ 3 จำนวนมาก ทหารได้ทำรัฐประหารและเข้ามาเป็นผู้ปกครองเสียเองดังคำศัพท์ว่า Military dictatorship  หรือรัฐบาลเผด็จการทหาร  (หากเราเติมคำว่า ship ต่อท้ายก็จะหมายถึงการปกครองแบบเผด็จการ)  สำหรับในด้านวัฒนธรรมได้แก่ภาพยนตร์ของชาร์ลี  แชปลินที่สร้างขึ้นมาล้อเลียนฮิตเลอร์ในปี 1940 เรื่อง The Great Dictator  หรือภาพยนตร์เรื่อง Banana  ของวูดดี อัลเลนที่ล้อเลียนเผด็จการในอเมริกาใต้ในปี 1971  ซึ่งสะท้อนว่ามุมมองของชาติตะวันตกต่อเผด็จการเหล่านั้นในด้านลบ

อนึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยก็เป็นเผด็จการได้ดังเช่น Elective Dictatorship หรือ Parliamentary Dictatorship อันหมายถึง รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาจนสามารถผูกขาดการออกกฏหมายหรือทำการใดๆ  ก็ได้ตามอำเภอใจของหัวหน้ารัฐบาล คำนี้เป็นสมญานามที่กลุ่มเสื้อเหลืองหรือกปปส.ใช้ในการโจมตีทักษิณอย่างต่อ เนื่อง ซึ่งก็น่าดีใจว่าเมืองไทยในปัจจุบันไม่มีเผด็จการเช่นนี้อีกต่อไป เพราะมี Military dictatorship   แทน


ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าศัพท์อีกคำที่ ฯพณฯ อดีตผู้บัญชาการทหารบกน่าจะยิ้มได้หากฝรั่งเรียกท่านว่า  Benevolent dictator หรือผู้ใช้อำนาจเด็ดขาด (อย่าใช้คำว่าเผด็จการนะ) ที่เปี่ยมด้วยความเมตตาหรือความปรารถนาในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ อย่างเช่น     ลี กวนยิวหรือ โจเซฟ ติโต แต่จะให้ดีต้องถามประชาชนผ่านการทำโพลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใสกว่าปัจจุบัน นี้สักร้อยเท่าว่าท่านสมควรจะได้สมญานี้หรือไม่

2.Tyrant
หมายถึงทรราช เรามักใช้คำนี้กับผู้ปกครองในอดีตเช่นจักรพรรดิหรือกษัตริย์ที่มีพฤติกรรม โหดร้ายมากกว่าเผด็จการแม้ว่าจะมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน (สำหรับการปกครองหรือรัฐบาลเช่นนี้ เราจะใช้คำว่า tyranny)  กระนั้นก็มีคนหันมาใช้กับเผด็จการในยุคใหม่อยู่บ่อยครั้งดังเช่นเรียกจอมพล ถนอม กิติขจร จอมพลประพาส จารุสเถียรและพันเอกณรงค์  กิติขจรในยุคเรืองอำนาจ ว่าสามทรราช หรือตอนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมีอำนาจ ก็มีผู้ใช้คำนี้เพื่อโจมตีเขาในเชิงขบขันดังเช่นทรราชหน้าเหลี่ยม ทั้งที่มองความจริงแล้วทักษิณทำได้ก็เพียงผลักดันให้ประเทศกลับไปสู่การเป็น ประชาธิปไตยเทียม (Illiberal democracy)  เพราะอำนาจของเขามีอยู่อย่างจำกัดมากจากการถ่วงดุลโดยฝ่ายอำมาตย์หรือกลุ่ม ผลประโยชน์เก่า

สำหรับการปกครองเช่นนี้นักปรัชญาอาริสโตเติลถือว่าเป็นรูปแบบที่เลวร้าย ที่สุดซึ่งอยู่ขั้วตรงกันข้ามกับ Kingship หรือราชานักปราชญ์ผู้ปกครองที่เน้นประโยชน์แก่ปวงชน

3. Despot
คำนี้ก็หมายถึงทรราชเช่นกัน  ซึ่งถูกใช้ในด้านดีหากผู้ปกครองสูงสุดผู้นั้นอิงแอบการปกครองของตนที่เน้น หลักการมากกว่าเรื่องของอารมณ์หรือผลประโยชน์ส่วนตน อย่างเช่น Enlightened Despotism  อันมีคำแปลภาษาไทยคือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมหรือกษัตริย์ผู้มีอำนาจเด็ดขาดแต่ใช้ อำนาจในการปฏิรูปหรือสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในด้านต่างๆ อย่างมากมายโดยตั้งอยู่บนปรัชญาในยุคแสงสว่าง (Enlightenment Age) ดังเช่นพระเจ้า  ฟริดริกที่ 2 แห่งแคว้นปรัสเซีย และพระนางแคทอรินที่ 2 แห่งรัสเซีย

4.Absolutism
หมายถึงการปกครองแบบสมบูรณญาสิทธิราช  (Absolute Monarchy) หรือกษัตริย์ทรงเป็นเผด็จการและมีอำนาจเหนือรัฐอย่างสมบูรณ์ เปี่ยมด้วยความศรัทธาและความภักดีจากประชาชน อันแตกต่างจากระบอบกษัตริย์นิยมทั่วไปในยุคของศักดินาที่พระราชอำนาจยังถูก คานโดยเชื้อพระวงศ์หรือขุนนาง  ส่วนประชาชนก็ยังภักดีต่อเจ้าขุนมูลนายอยู่มาก
อนึ่งกษัตริย์ที่มีลักษณะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมก็ถูกเรียกว่า Enlightened Absolutism

5.Authoritarianism
มีคำแปลที่ชัดเจนคือ "เผด็จการอำนาจนิยม" อันหมายถึงการปกครองที่ผู้ปกครองมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (1)

     

1.จำกัดความหลากหลายทางการเมืองเช่นจำกัดบทบาทของสถาบันและกลุ่มทางการเมือง เช่นสมาชิกรัฐสภา พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

2.พื้นฐานในการสร้างความชอบธรรมตั้งอยู่บนเรื่องอารมณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างภาพของการปกครองของตนว่าเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็นในการต่อสู้ปัญหา ทางสังคมที่สำคัญเช่นความด้อยพัฒนาหรือผู้ก่อความไม่สงบ

3.ไม่ยอมให้มวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองนอกจากการ ปฏิบัติตามและยังจำกัดบทบาทของมวลชนโดยใช้วิธีกดขี่ผู้มีความเห็นตรงกันข้าม กับรัฐบาลและการสั่งห้ามไม่ให้มีกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาล 
           
4.อำนาจของฝ่ายบริหารมีความคลุมเครือสามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ (ดังเช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ยุคจอมพลสฤษดิ์และมาตรา 44 ในยุคปัจจุบัน)

6.Creeping Authoritarianism
แปลเป็นภาษาไทยของผู้เขียนเองคือเผด็จการแบบคืบคลาน หมายถึงนักปกครองที่มาจากวิถีทางแบบประชาธิปไตยเช่นเป็นนายกรัฐมนตรีหรือ ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ก็ได้ใช้อำนาจและความนิยมของประชาชนในการค่อยๆ บั่นทอนสถาบันและกลไกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยให้ตัวเองสามารถมีอำนาจและมี วาระการดำรงตำแหน่งอย่างยาวนานตัวอย่างเช่นประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ประธานาธิบดีเรเซ็ป ทายยิป แอร์โดกันแห่งตุรกีซึ่งเคยผูกขาดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่าทศวรรษ

7.Totalitarianism
คำนี้มีคำแปลที่ชัดเจนคือ "เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ" ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่เผด็จการยิ่งกว่าเผด็จการอำนาจนิยม เพราะเผด็จการอำนาจนิยมนั้นอาจจะผูกขาดเฉพาะเรื่องสำคัญๆ ในการบริหารรัฐกิจแต่ก็เปิดอิสระหรือพื้นที่สำหรับประชาชนอยู่บ้าง ในขณะเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนั้นมุ่งเน้นในการเข้าไปควบคุมวีถีชีวิตของ ประชาชนในทุกด้านไม่ว่าด้านร่างกายการแต่งตัว รสนิยมหรือแม้แต่เรื่องความคิด ดังเช่นยุคของสตาลิน เหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมและเกาหลีเหนือในยุคปัจจุบัน อนึ่งเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จอาจจะไม่ได้มีผู้มีอำนาจผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว คือเป็นหมู่คณะ (Collective leadership) ดังเช่นพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตยุคหลัง     สตาลินหรือกลุ่มเขมรแดงเมื่อทศวรรษที่ 70

เป็นที่น่าสนใจว่าเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนั้นมักเริ่มต้นมาจากเผด็จการ อำนาจนิยมเสียก่อนและจึงค่อยคืบคลานเพิ่มความเข้มข้นไปเรื่อย โดยอาศัยกลยุทธ์เช่น

Cult of personality หมายถึงลัทธิบูชาบุคคลหรือให้ประชาชนจงรักภักดีต่อผู้นำคนใดคนหนึ่งอย่างสุดจิตสุดใจผ่านการโฆษณาชวนเชื่อซ้ำไปซ้ำมา

Indoctrination หมายถึงการปลูกฝังลัทธิหรือ อุดมการณ์ให้ประชาชนยึดมั่นหรือปฏิบัติตาม ชนิดที่ไม่ว่าสามารถต่อต้านหรือแม้แต่ตั้งคำถามได้ อุดมการณ์นี้มักถูกผูกเข้ากับตัวบุคคลในข้อแรก

Mass mobilization  หมายถึงการระดมมวลชนเพื่อให้หันมาสนับสนุนหรือเทิดทูน  อุดมการณ์ชุดหนึ่งๆ และยังหันมาจับตามองกันเองเพื่อค้นหาคนที่ไม่เชื่อฟังต่อรัฐ

Repressive law   หมายถึงกฎหมายที่เข้มงวด มุ่งกดขี่ประชาชน ปราศจากความยุติธรรม

Judicial corruption หมายถึงสถาบันทางกฎหมายที่ตราชั่งเอียงไปเอียงมา ปราศจากการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมและอิสระเพราะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร

Secret police หมายถึงตำรวจลับซึ่งแทรกตัวเข้าไปในทุกอณูของสังคม ในเยอรมันตะวันออก หน่วยตำรวจสตาซีได้บีบบังคับให้ประชาชนมีการสอดแนมและแอบล้วงความลับกันเอง แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์หรือสนิทแนบแน่นกันอย่างไรก็ตามก่อนจะรายงานให้ทาง การทราบ

Secret prison หมายถึงคุกลับที่เน้นการทำให้นักโทษตายทั้งเป็นมากกว่าเป็นการสั่งสอนให้ เกิดสำนึกด้วยวัตถุประสงค์คือทำให้ประชาชนซึ่งรู้คำเล่าลือไม่กล้าเป็น ปรปักษ์ต่อรัฐ

Strict censorship หมายถึงการเซนเซอร์หรือการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกอย่างเข้มงวดแม้แต่ด้านศิลปะ การแสดงออกเรื่องทางเพศ

 Fear-inspiring หมายถึงการปลุกปั่นให้มวลชน เกิดความกลัวเช่นใช้กฎหมายแบบเข้มงวดจนเกิดจริงและไม่ตั้งอยู่บนเหตุผลแม้ แต่น้อย จนประชาชนเกิด Self-censorship หรือการงดการแสดงออกทางการเมืองเพื่อไม่ให้มีปัญหากับรัฐ

8.Autocracy
เป็นคำแปลของเผด็จการแบบรวมๆ  คือสามารถใช้แทนเกือบทุกคำข้างบนสำหรับผู้มีอำนาจปกครองแบบเด็ดขาด กระนั้นเองก็มีผู้สร้างคำว่า Liberal autocracy หรือการปกครองแบบเผด็จการแต่เน้นหลักการณ์แบบเสรีนิยมดังเช่นการที่อังกฤษ ปฏิบัติต่อเกาะฮ่องกงในช่วงเป็นอาณานิคม คือชาวฮ่องกงไม่สามารถเลือกผู้ว่าการเกาะเองได้ แต่อังกฤษก็ได้ปลูกฝังให้คนฮ่องกงมีความศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยและระบบ นิติรัฐ (2) อันเป็นสาเหตุให้ฮ่องกงไม่ค่อยมีความสงบทางการเมืองเลย ภายหลังจากที่อังกฤษส่งมอบเกาะให้กับจีนเมื่อปี 1997 เพราะคนฮ่องกงนั้นขาดความศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อนำไปเทียบกับ รัฐบาลอังกฤษ

ส่วนไทยนั้น หากพิจารณาจากสื่อมวลชนที่เอียงข้างเข้าฝ่ายทหารจะพบว่ามีการเขียนสรรเสริญ ยกย่องรัฐบาลว่ามีลักษณะการปกครองแบบนี้เช่นเดียวกับ Benevolent dictatorship ส่วนจะจริงหรือไม่นั้น คงต้องไปสำรวจความคิดเห็นของนักการทูตและตัวแทนของต่างประเทศที่องค์การสห ประชาชาติว่าเป็นอย่างไรต่อการกล่าวคำปราศรัย (หรือพูดให้ถูกกว่านั้นคือก้มหน้าอ่าน) ของพลเอกธนะศักดิ์  ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่พร่ำแต่คุณค่าและความยิ่งใหญ่ของ ประชาธิปไตยอันปราศจากการเลือกตั้ง พวกเขาจะรู้สึกซาบซึ้งใจจนน้ำตาไหลหรือว่านึกหัวเราะอยู่ในใจเหมือนได้ชม เดี่ยว 11 ของโน้ส อุดมแต้พาณิช อันนี้เป็นเรื่องที่น่าทำวิจัยเป็นยิ่งนัก

อ้างอิง
(1)     http://en.wikipedia.org/wiki/Authoritarianism  (มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบ้างเล็กน้อย)
(2)    http://en.wikipedia.org/wiki/Liberal_autocracy

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2014/10/55820 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น