หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557

จาก ๖ ตุลา ถึงเผด็จการยุคนี้

จาก ๖ ตุลา ถึงเผด็จการยุคนี้


000033 
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราเปรียบเทียบเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ กับ วิกฤตประชาธิปไตยภายใต้เผด็จการทหารยุคนี้ เราจะเห็นชัดว่า “เรื่องประชาธิปไตย” กับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้

การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนฝ่ายซ้ายที่ธรรมศาสตร์ ในปี ๒๕๑๙ เป็นผลพวงของการลุกฮือล้มเผด็จการในวันที่ ๑๔ ตุลา สามปีก่อนหน้านั้น และรากฐานการลุกฮือของนักศึกษา กรรมาชีพ และเกษตรกรสมัยนั้น มาจากความเหลื่อมล้ำทางอำนาจการเมืองกับฐานะทางเศรษฐกิจ และสภาพสังคมที่ถูกแช่แข็งไว้ภายใต้เผด็จการ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส คือไม่มีการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย ไม่มีการปรับค่าจ้าง ไม่มีการพัฒนาสภาพการจ้างงาน และไม่มีการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชนบท ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจก็ขยายตัว แต่ในขณะเดียวกันมีคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัว และไม่ยอมรับสภาพเช่นนี้อีกต่อไป มีคลื่นการนัดหยุดงานของกรรมาชีพเกิดขึ้น นักศึกษาตื่นตัวมากขึ้น และเกษตรกรเริ่มออกมาประท้วง  นั้นคือสาเหตุที่มวลชนเหล่านี้ชื่นชมแนวสังคมนิยมในหลากหลายรูปแบบ เพราะสังคมนิยมคือแนวคิดที่ต้องการล้มเผด็จการขุนศึกและนายทุน และแก้ไขปัหญาความเหลื่อมล้ำพร้อมๆ กัน

ที่สำคัญคือมีการจัดตั้งคนชั้นล่างในรูปแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคมและยึดอำนาจรัฐ นี่คือสิ่งที่ชนชั้นปกครองไทยรับไม่ได้ และเป็นสาเหตุที่เขาเข่นฆ่าประชาชนและก่อรัฐประหาร

วิกฤตปัจจุบันมีจุดร่วมตรงที่ ข้อเสนอของทักษิณและพรรคไทยรักไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาสังคมให้ทันสมัย พร้อมกับมีการดึงประชาชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนา และประชาชนก็อาศัยระบบการเลือกตั้งเพื่อแสดงความชื่นชมกับนโยบายรูปธรรมของ ไทยรักไทย การที่ไทยรักไทยครองใจประชาชนผ่านนโยบาย มีผลทำให้ชนชั้นปกครองไทยซีกอนุรักษ์นิยม รับไม่ได้กับประชาธิปไตยและการพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อม เขาหวงสภาพเดิมที่เขาเป็นอภิสิทธิ์ชน

แต่ไทยรักไทยไม่ใช่พรรคฝ่ายซ้ายและไม่ใช่พรรคของคนชั้นล่างแบบ พคท. นี่คือความแตกต่างที่สำคัญ ในยุคไทยรักไทยคนรุ่นตุลาหมดความศรัทธาในแนวสังคมนิยมและพคท.ไปนานแล้ว เพราะ พคท.เป็นฝ่ายแพ้ และมีจุดอ่อนเพราะมีแนวโน้มเป็นเผด็จการ การใช้แนวจับอาวุธแทนการจัดตั้งกรรมาชีพในเมือง ก็เป็นจุดอ่อนที่สำคัญอีกอันหนึ่ง แต่พวกคนเดือนตุลาที่หมดศรัทธา ทิ้งจุดเด่นสำคัญของ พคท. ไป คือความสำคัญในการจัดตั้งมวลชนทางการเมือง ให้เป็นพรรคการเมืองของคนชั้นล่าง หลายคนก็เลยไปหลงรักทักษิณและพรรคนายทุนของเขาแทน แต่ที่แย่กว่านั้นก็คืออดีตคนเดือนตุลาที่กลายเป็นสลิ่มและรับใช้ทหารทุก วันนี้

คนรุ่นตุลาที่หมดความศรัทธาในแนวสังคมนิยม ไม่เคยเข้าใจสังคมนิยมแบบ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เขารับมาแต่แนวเผด็จการชาตินิยมของสตาลินกับเหมา เกือบทุกคนจึงก้มหัวให้นายทุนและระบบทุนนิยม ทั้งๆ ที่มันเป็นระบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล มันเป็นเรื่องตลกที่คนอย่างทักษิณเข้าใจทุนนิยมมากกว่าอดีต พคท. เกือบทุกคน และทักษิณพร้อมจะใช้ทุนนิยมแบบที่ใช้งบประมาณรัฐในการพัฒนาชีวิตคนจน แทนทุนนิยมตลาดเสรี 100% แต่ทักษิณก็ไปไม่ไกล เพราะต่อต้านระบบรัฐสวัสดิการ

ถ้าเราพูดถึงความรุนแรงของชนชั้นปกครองไทย ความโหดร้ายทารุณของตำรวจ ตชด. ในวันที่ ๖ ตุลาที่ธรรมศาสตร์ และของทหารภายใต้ประยุทธ์ที่ราชประสงค์ ก็พอๆ กัน คือใช้อาวุธสงครามฆ่าประชาชนมือเปล่า เป้าหมายคือการทำลายขบวนการประชาชน

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเมื่อเราเปรียบเทียบ ๖ ตุลา กับตอนนี้คือ บทบาทของชนชั้นกลาง เพราะที่สนามหลวงในวันที่ ๖ ตุลา มีม็อบอันธพาลชนชั้นกลางฉลองการเข่นฆ่านักศึกษาอย่างป่าเถื่อนที่สุด ม็อบดังกล่าวมีสองกลุ่มหลักคือ ลูกเสือชาวบ้าน กับพวกนวพล นอกจากนี้มีม็อบคนตกงานหรือนักศึกษาอาชีวะ ที่เป็นกระทิงแดง

และเราก็ทราบดีว่าในวิกฤตปัจจุบัน พวกพันธมิตรปิดสนามบิน และพวกสลิ่มประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้ง ก็เป็นคนชั้นกลาง

สรุปแล้วคนชั้นกลางไม่ใช่พลังก้าวหน้า และไม่ใช่ที่พึ่งของนักประชาธิปไตยแต่อย่างใด
ผลพวงของ ๖ ตุลา และการเอาชนะ พคท. ทำให้ไทยมีประชาธิปไตยครึ่งใบที่เน้นระบบอุปถัมภ์ แทนนโยบายทางการเมือง สถานการณ์นี้เริ่มถูกแก้ไขเมื่อมีการรณรงค์ให้ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และการเสนอนโยบายของไทยรักไทย หลังวิกฤตเศรษฐกิจ และหลังการล้มเผด็จการในปี ๒๕๓๕ แต่ในไม่ช้าสังคมไทยก็ถูกหมุนกลับไปสู่ยุคมืดอีก

สาเหตุสำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยในยุคนี้อ่อนแอเกินไป คือคนที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” ในขบวนการเอ็นจีโอ ซึ่งหลายคนเป็นอดีตคนเดือนตุลา หันหลังให้กับการจัดตั้งทางการเมือง หันหลังให้กับความคิดทางการเมืองภาพกว้าง ปฏิเสธทฤษฏี ปฏิเสธการยึดอำนาจรัฐ และหันไปตั้งความหวังกับทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย ในที่สุดก็ถูกลากไปกับกระแสสลิ่ม

นอกจากนี้คนเสื้อแดง ที่เป็นนักประชาธิปไตยรุ่นใหม่ ก็ “ลืม” บทเรียนในการจัดตั้งพรรคของ พคท. และไม่ได้ศึกษาแนวชนชั้น หรือแนวสังคมนิยม จึงอ่อนแอในการนำตนเองอย่างอิสระจาก ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือนักการเมืองพรรคเพื่อไทย

ด้วยเหตุนี้เราไม่ควรแปลกใจที่ปีนี้ พวกปฏิกิริยาที่บริหารธรรมศาสตร์ และพวกทหารมือเปื้อนเลือดที่ปกครองประเทศ ต้องการห้ามไม่ให้เราจัดงาน ๖ ตุลา

เขาต้องการฝังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน

(ที่มา)
http://turnleftthai.wordpress.com/2014/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น