หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วิจารณ์แถลงการณ์ของ นปช. 30 พ.ย. 54
นปช. ตั้งใจสลายพลังมวลชนเสื้อแดง


 

๑) อ.ธิดาเน้นเลือกการเมืองแบบ “ลอบบี้” คือต่อสายไปสู่คนมีอำนาจ เพื่อช่วยนักโทษเสื้อแดง ซึ่งเป็นการหันหลังปฏิเสธพลังมวลชนเสื้อแดง ให้เสื้อแดงจำนวนมากหยุดนิ่งรอให้ “ผู้ใหญ่” คุยกัน และในที่สุดจะนำไปสู่การสลายพลังมวลชนท่ามกลางการรุกสู้ของฝ่ายอำมาตย์


     อ.ธิดา อาจเสนอว่านักโทษการเมืองจะถูกย้ายไปสู่ “คุกการเมือง” ซึ่งจะทำให้สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นแน่ แต่ประเด็นใหญ่กว่านั้นคือต้องมีการรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนอย่าง เปิดเผย ผ่านการเคลื่อนไหวของมวลชน ถ้าไม่รณรงค์แบบนั้นหนทางที่จะได้รับการปล่อยตัวมีน้อย โดยเฉพาะกรณี 112 อย่าลืมว่าในระบบประชาธิปไตยจะมีนักโทษการเมืองไม่ได้ ถ้ายอมรับว่ามีได้ ก็เท่ากับยอมรับว่าจะไม่มีประชาธิปไตยในประเทศไทย


๒) อ.ธิดาพูดแต่เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเสื้อแดงทุกคนเห็นด้วย แต่การพูดลอยๆ แบบนี้ เป็นหารหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องกฏหมาย 112 หรือการพูดอะไรเป็นรูปธรรม พร้อมขั้นตอน เรื่องข้อเสนอของกลุ่มนิธิราษฏ์ และการพูดแค่นี้ไม่สร้างบทบาทอะไรสำหรับมวลชนเสื้อแดง สรุปแล้ว นปช. ไม่ยอมพูดอะไรเลยเรื่อง 112 หรือแม้แต่คดีอากง ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สนนท. และกลุ่มประชาธรรมกล้าออกมาพูด คือ นปช.ล้าหลังกว่ากลุ่มเหล่านั้น


๓) จตุพรอาจไม่หวงตำแหน่งสส. นั้นก็ดีเพราะถือว่ามีอุดมการณ์ แต่เรื่องการถอดถอนการเป็นสส.ของจตุพรไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของเขา มันเป็นการถอดถอนสส.ที่ประชาชนเลือกมาโดยเฉพาะที่เป็นแกนนำเสื้อแดง ดังนั้นตามหลักการณ์เรายอมไม่ได้ และการบอกให้เสื้อแดงใจเย็นๆ เสมอ ถือว่าเป็นการสลายอำนาจต่อรองที่เราจะมีกับอำมาตย์ การเคลื่อนไหวไม่ใช่การหลงกลตกหลุมของอำมาตย์แต่อย่างใด แต่อำมาตย์กำลังวัดใจเสื้อแดงต่างหาก ถ้านิ่งเฉยตามคำแนะนำของ นปช. ก็ถือว่ายอมจำนน


๔) การไม่ยอมชูประเด็นการเมืองกว้างๆ เรื่องประชาธิปไตย การไม่วิจารณ์ 112 การไม่พูดถึงนโยบายสำคัญในการฟื้นชีวิตพลเมืองหลังน้ำท่วม การไม่รณรงค์ให้นำอาชญากรในกองทัพและประชาธิปัตย์มาขึ้นศาล ของ นปช. ถือว่าเป็นการลดระดับการเมืองและจิตสำนึกในการต่อสู้ เพื่อให้เสื้อแดงสยบยอมต่ออำมาตย์



ดูแถลงการณ์ นปช. ได้ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น