หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

"สุจิตต์-ปราบดา" นำคณะนักเขียนแสงสำนึกออกจม.เปิดผนึกเรียกร้องแก้ไขม.112 ตามร่าง "นิติราษฎร์"

"สุจิตต์-ปราบดา" นำคณะนักเขียนแสงสำนึกออกจม.เปิดผนึกเรียกร้องแก้ไขม.112 ตามร่าง "นิติราษฎร์"






จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนและประชาชนชาว ไทยทั่วประเทศเรื่อง เชิญร่วมลงนามผลักดันการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์ เข้าสู่รัฐสภา


ใน เดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2554 นักเขียนไทยทั่วประเทศจำนวน 365 คน ได้ลงนามแสดงความเห็นร่วมกันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112หรือ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" สมควรได้รับการทบทวนแก้ไขให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานว่าด้วย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนภายใต้ระบอบปกครองประชาธิปไตย และเพื่อป้องกันมิให้สถาบันกษัตริย์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อันเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรงในสังคมไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้


นอกจากเสียงเรียกร้องของนักเขียนต่างแขนงเกือบสี่ร้อยคนทั่วประเทศ ยังมีประชาชนอีกหลายกลุ่มหลายฝ่าย รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี นักวิชาการ และปัญญาชนผู้มีอิทธิพลทางความคิดและเป็นที่นับถือของสังคมในระดับกว้าง กระทั่งกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์และบทบาททางการเมืองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ออกมาแสดงความเห็นพ้องในเวทีสาธารณะ ว่าการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหา และจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อผลักดันให้สังคมไทยก้าวไปสู่ความเป็นอารยะ มีความเป็นธรรม ความเมตตา ความสงบ และความเจริญ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในสังคมไทยกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังมิได้เปลี่ยนแปรไปในทางที่ดีขึ้น ตรงกันข้าม การใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย ข่มขู่ คุกคาม และคุมขังประชาชน ด้วยการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมและอัตราโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ กลับดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและบ่อยครั้งขึ้นอย่างน่าวิตก ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน

คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายคดีในปี พ.ศ. 2554 ได้กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง การพิพากษาตัดสินผู้ต้องหาถูกตั้งคำถามทั้งโดยประชาชนไทยและโดยสายตาประชาคม โลก สร้างความสั่นคลอนให้กับความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทยและความ เคารพในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในสังคมไทยอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น เรื่อยๆ
 

นอกจากนั้น ยังมีสื่อไร้จรรยาบรรณและผู้ไม่หวังดีต่ออนาคตของชาติจำนวนหนึ่ง พยายามบิดเบือน ใส่ร้าย และโจมตีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าเป็นพฤติกรรม "ล้มสถาบัน" "ล้มเจ้า" "ไม่รักชาติ" กระทั่งกล่าวหาว่าการรณรงค์แก้ไขนับเป็นการละเมิดกฎหมายมาตรา 112 เสียเอง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความสับสน และความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคม

(อ่านต่อ)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1326533939&grpid=&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น