ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และคนไม่จบ ป.4 ก็เป็นได้ เพราะ ‘คนเราเท่ากัน’
คงมีแต่คนล้าหลังที่คิดขัดขวางการเติบโตของ ‘ประชาธิปไตย’ ในสังคมไทยเท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมญ 50 ฉบับที่มาจากผลพวงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 291 เกิดขึ้น ก็เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยการระดมความคิดเห็นจากประชาชน เหมือนเช่น รัฐธรรมนูญ 40 และให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการได้มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คงได้ข้อสรุปกันแล้วว่า ต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งมีบางความคิดว่า ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และบางความคิดก็ว่าควรมาจากการเลือกสรร ‘กันเอง’ หรือ ‘ภายใน’ ของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในฐานะ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ด้วย จำนวนถึง 22 คน
ผู้เขียนคิดว่า บทเรียนจากประวัติศาสตร์ในการผลิตรัฐธรรมนูญในสังคมไทยหลายฉบับที่ผ่านมา มักให้ความสำคัญกับ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ที่เป็นนักนิติศาสตร์ นักกฎหมายมหาชน
แต่รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่มาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน และได้ให้อำนาจกับอำนาจนอกระบบประชาธิปไตยครองความเป็นอำนาจนำ ครองความเป็นใหญ่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ก็ปฏิเสธมิได้ว่า ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ เป็นผู้มีส่วนร่างด้วย และ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ จำนวนมากก็มักไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย
ขณะที่ถ้าเปิดทางให้มีการเลือกสรร ‘กันเอง’ หรือ ‘ภายใน’ ของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในฐานะ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ไม่ว่าผ่านทางสภาอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือกระบวนการเลือกสรรของสถาบันการศึกษา แล้วเสนอชื่อมาตามกลไกและให้รัฐสภาเลือกอีกครั้ง อาจจะได้รับรายชื่อของ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ที่ไม่นิยมระบอบประชาธิปไตยเสียเป็นส่วนใหญ่
ปฏิเสธมิได้ว่า ภายใต้การครอบงำของอำนาจนำ สภาอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือกระบวนการเลือกสรรของสถาบันการศึกษานั้น ล้วนมิใช่ ‘นักประชาธิปไตย’ และคงได้ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ หน้าเดิมๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว รวมทั้งฉบับรัฐประหาร 50
ผู้เขียนจึงคิดว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มิควรปล่อยให้’ผู้เชี่ยวชาญ’ เป็น ‘อภิสิทธิ์ชน’ เหมือนที่ผ่านมา เพราะ ‘คนเราเท่ากัน’
‘ผู้เชี่ยวชาญ’ อาจทำหน้าที่ให้ ‘บริกร’ กับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจตั้งเป็นผู้มีหน้าที่ หรือกรรมาธิการ เพื่อทำให้เป็น ‘รัฐธรรมนูญ’ ตามความต้องการของประชาชน ภายหลังกระบวนระดมความคิดเห็นจากประชาชนของ สสร. แต่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เหมือน สสร.
ถ้า ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ต้องการทำหน้าเช่น สสร. ก็ควรลงสมัครเลือกตั้ง สสร.และให้ประชาชนเลือก
(คลิกอ่าน)
http://www.prachatai.com/journal/2012/03/39771
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น