หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

2 ปี "พฤษภาเลือด"ความตายกว่า 90 ศพ"ยังมืดมน ไม่มีคำตอบว่าใคร"สั่งฆ่าประชาชน"?

2 ปี "พฤษภาเลือด"ความตายกว่า 90 ศพ"ยังมืดมน ไม่มีคำตอบว่าใคร"สั่งฆ่าประชาชน"?


 






















19 พฤษภาคม 2555 ครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์

"พฤษภาเลือด" ที่่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 93 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย ซึ่งจนถึงวันนี้ เวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้ว คดีความเกี่ยวกับคนตายกลางเมืองก็ยังไม่มีความคืบหน้า แม้จะเริ่มมีกระบวนการเยียวยาบ้างแล้ว และเตรียมเข้าสู่โหมดการปรองดองเพื่อความสุขสงบของชาติ แต่สิ่งที่ญาติของผู้เสียชีวิตอยากเห็นมากที่สุดคือ "ความจริง" ต้องปรากฏ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับคนตาย


2 ปีที่ผ่านมา น่าสนใจว่าท่ามกลาง "ความเงียบ" ของคดีความที่เหมือนจะไม่ค่อยคืบหน้า เกิดอะไรขึ้นบ้างกับครอบครัวของผู้สูญเสีย? เขาหรือเธอใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร? การปรองดองที่คนในชาติอยากเห็นในมุมมองของผู้สูญเสียจะเกิดขึ้นได้หรือไม่? 


วัดจากความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตเหล่านี้...
"เป็นเวลาที่ว้าเหว่มากๆ..." เสียงเรียบเย็นของ นันที วรรณจักร วัย 53 ปี หญิงชาวกาฬสินธุ์ผู้สูญเสียลูกชายคนโต ชัยยันต์ วรรณจักร หรือ ต้น เด็กหนุ่มวัย 21 ปี ลูกอีสานที่ตัดสินใจจากบ้านเกิดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หลังจากเรียนจบชั้น ม.ปลาย

ชัยยันต์ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสามเหลี่ยม ดินแดง ในวันที่ 14 พฤษภาคม ขณะขี่จักรยานยนต์เพื่อเดินทางกลับที่พักย่านถนนเพชรบุรี ซอย 5 และเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

"จากที่เคยปรึกษาหารือกับลูก จากที่เคย โทร.หากันทุกๆ วัน เคยมีลูกให้พูดคุย ตอนนี้ไม่ได้พูด ไม่ได้คุยกันแล้ว รู้สึกว่าน้องเขาจากเราเร็วเกินไป" นันทีกล่าว ก่อนจะบอกอีกว่า ก่อนที่ลูกชายจะเสียชีวิต เคยทำงานที่ร้านอาหารในอิมพีเรียล สุขุมวิท 24 ส่งเงินให้ทุกเดือน เดือนละ 5,000 บาท หลังจากที่เสียชีวิตไป ครอบครัวก็ลำบากมากขึ้น

การจากไปของเสาหลัก ทำให้คนที่อยู่ข้างหลังลำบากขึ้นเป็นทวีคูณ แม้จะได้รับเงินเยียวยามาบ้างแล้ว แต่คงไม่คุ้มค่ากับชีวิตที่สูญเสีย

ปัจจุบันนันทีเป็นผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก ศูนย์เด็กเล็กศรีพัฒนา อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ อาศัยอยู่กับสามีและลูกชายคนเล็ก

เรื่องคดีความและการเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐบาล นันทีบอกว่า เคยไปขึ้นศาลเพียงครั้งเดียว และเมื่อออกจากศาลก็มีคนมาขอข้อมูลเพื่อจะทำเรื่องปรองดอง จากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าอีกเลย ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ จะไปให้ปากคำเพิ่มเติม และร่วมงานรำลึก 2 ปี 19 พฤษภาคมที่ราชประสงค์ด้วย

แม่ผู้ตายบอกว่า เงินเยียวยาได้รับแล้วจำนวน 5 แสนบาท จากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สำหรับ 7.5 ล้านบาท ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้การช่วยเหลือยังไม่ได้ คาดว่าคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

จากหัวอกของผู้เป็นแม่อย่างนันที กลั่นออกมาเป็นคำตอบที่เชื่อว่าญาติผู้สูญเสียทุกคนก็คงคิดเช่นเดียวกัน...


"ถ้าเลือกได้ก็ขอเลือกชีวิตลูกคืน เพราะว่าเป็นคนที่เรารัก รักมากกว่าชีวิตตัวเอง เป็นเลือดเนื้อของเรา เงินที่ได้มาไม่สามารถทดแทนได้ หลังจากนี้ก็จะใช้ชีวิตต่อไป ปลอบใจกันไป คิดถึงก็พูดถึงกัน ก็ปลอบใจกัน
 

"แต่ที่สำคัญที่สุด คืออยากจะให้ทางราชการติดตามเรื่องน้องต้นที่ถูกยิง อยากให้จับคนผิดมาลงโทษให้ได้" นันทีกล่าว
ครอบครัว "ศรีเทพ" เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รัก ลูกชายคนเดียวของบ้าน สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ "น้องเฌอ" วัย 17 ปี ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553

"เหมือนมีคนในบ้านหายไปคนหนึ่ง คนที่อยู่ด้วยกันมาตลอด จากที่เคยอยู่กัน 3 คน ก็เหลือแค่ 2 คน คือผมและภรรยา มีกิจกรรมที่ทำด้วยกันก็ไม่ได้ทำด้วยกันแล้ว" พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือที่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เรียก "พ่อน้องเฌอ" กล่าว

พ่อน้องเฌอบอกว่า น้องเฌอเป็นคนสนุกสนานร่าเริง ชอบทำกิจกรรม เป็นคนตื่นตัวตลอดเวลา เป็นเด็กทั่วๆ ไปที่อยู่ในช่วงในการเรียนรู้ ซึ่งน้องเฌอยังไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งการชุมนุมของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง น้องเฌอเป็นคนที่สนใจในความเปลี่ยนไปของบ้านเมือง

เมื่อถามถึงชีวิต 2 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง?
อดีตเอ็นจีโอนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่วันนี้ผันตัวมาเป็นโชเฟอร์ขับรถแท็กซี่บอกว่า ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไป แต่ก็มีเรื่องอะไรที่ให้ทำมากขึ้น คือทั้งเรื่องคดีความของน้องเฌอ และเรื่องการชุมนุมความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม มีเพื่อนเยอะขึ้น มีกิจกรรมที่จะต้องไปร่วมเยอะขึ้น

พันธ์ศักดิ์ว่า ขณะนี้มีปัญหาตรงที่กระบวนการยุติธรรมของบ้านเรา ที่จนป่านนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า และเหมือนกับว่าจะกลับไปสู่ความเงียบ ความมืดมน ไปทั้งหมด แล้วจะมีการซ้ำรอยเดิมๆ ต่อไป สิ่งที่ต้องการเพื่อทดแทนสิ่งที่สูญเสียไปคือความยุติธรรม มีการไต่สวน มีการพิสูจน์ทราบ เหตุใดถึงมีคนยิงน้องเฌอเสียชีวิตบนถนนกลางเมืองหลวงได้ง่ายๆ โดยไม่มีคนรับผิดชอบ กระบวนการยุติธรรมถ้าไม่ทำงานอาจจะทำให้เกิดเรื่องแบบนี้กับคนอื่นอีก

"น่าเป็นห่วงว่า ในอนาคตที่ขณะนี้ผมก็ไม่มีลูกหลานแล้ว ก็ห่วงแต่ลูกหลานคนอื่นจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร คิดว่าความยุติธรรมมันไม่ทำงาน แล้วถ้าคนอื่นโดนบ้างจะเป็นอย่างไร

"เป็นเรื่องน่าห่วง ถ้าเราปล่อยให้สังคมเราเป็นอย่างนี้ อนาคตต่อไปข้างหน้าเราจะอยู่กันอย่างไร คนที่ละเมิดกฎหมาย คนที่ทำผิดกฎหมาย สามารถลอยนวลได้แบบนี้เลยหรอ แล้วสังคมจะเดินไปแบบไหน อันนี้น่าตกใจมากกว่า" พ่อน้องเฌอกล่าว

ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ยังหวังอยู่ลึกๆ ว่า การต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานแห่งสิทธิเสรีภาพไม่ให้เกิด เหตุการณ์เช่นนี้กับคนอื่นๆ อีก

"เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องทวงถามความยุติธรรมให้เขา ซึ่งจะนำไปสู่คนอื่นๆ ด้วยในอนาคต ให้เห็นว่าจะมาทำกันอย่างนี้กับคนอื่นมันไม่ได้แล้ว อย่างเช่นการสลายการชุมนุมมันไม่ควรใช้ทหารอีกต่อไปแล้ว ต้องเดินหน้าพิสูจน์ทราบหาความยุติธรรมคืนให้เขา อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ด้วย อย่างน้อยความยุติธรรมก็ยังทำงาน ถ้าระบบทำงานต่อไปทุกคนจะได้มั่นใจได้ ไม่ต้องนั่งกลัวว่า แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมืองจะถูกยิงหัวกบาลหรือเปล่า คนผิดจะต้องถูกนำมาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นระดับปฏิบัติการ และระดับบังคับบัญชา" พันธ์ศักดิ์ย้ำอย่างหนักแน่นในตอนท้าย
 

2 ปีที่ผ่านมา "ความตายกว่า 90 ศพ" ยังคงมืดมน ไม่มีคำตอบว่าใครเป็นคน "สั่งฆ่าประชาชน"


สิ่งที่ญาติผู้เสียชีวิตหลายๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกัน ก่อนที่จะมีกระบวนการ "ปรองดอง" ที่คนในชาติอยากเห็น คือการสืบเสาะหาความจริงเกี่ยวกับความตายกลางเมืองที่เกิดขึ้น
เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต

 

(ที่มา)

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1337402089&grpid=01&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น