หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชนชั้นปกครองไทยเป็นคณะ ไม่ใช่บุคคลคนเดียว

แดงสังคมนิยม


ชนชั้นปกครองไทยเป็นคณะ ไม่ใช่บุคคลคนเดียว

โดยใจ อึ๊งภากรณ์


เนื่องจากมนุษย์ดำรงอยู่ในสังคมชนชั้นมาตั้งแต่สมัยเกษตร คนธรรมดาจะถูกปกครองโดยกลุ่มคนหรือคณะ ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง แต่ไม่เคยมีกรณีใดในประวัติศาสตร์โลกที่บุคคลคนเดียวถืออำนาจผูกขาดอยู่ใน มือ ถ้าเข้าสู่ระบบทุนนิยมก็ยิ่งแล้วใหญ่ ดังนั้นในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่ผูกขาดอำนาจและสามารถสั่งการทุกอย่างได้ แต่มีหมู่คณะ คือชนชั้นปกครองไทยที่ต้องการให้เราหลงเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น และเสื้อแดงและคนอื่นๆ อีกมากมายก็หลงเชื่อความคิดที่ผิดหลัก ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อันนี้

“ประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ที่ผ่านมาคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทาง ชนชั้น” นี่คือประโยคที่มีชื่อเสียงที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เขียนในหนังสือ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” และถ้าเราไม่เข้าใจความสำคัญของ “ชนชั้น” ในสังคมมนุษย์ เราจะไม่มีวันเข้าใจลักษณะแท้ของสังคมไทยและชนชั้นปกครองไทยได้

เราดำรงอยู่ในสังคมชนชั้น ซึ่งแปลว่ามี “กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ควบคุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ” กลุ่มนี้เรียกว่า “ชนชั้นปกครอง” และเราต้องเข้าใจว่า “ชนชั้น” ไม่ใช่การตราหัวคนนั้นคนนี้ ว่าอยู่ชนชั้นใด มันเป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์” ทางอำนาจเศรษฐกิจการเมือง ที่กลุ่มคนนี้มีกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง พูดง่ายๆ เมื่อมีชนชั้นปกครองก็ต้องมีชนชั้นอื่นที่ถูกปกครอง

ในระบบทุนนิยมชนชั้นปกครองคือชนชั้นนายทุน “ชนชั้นนายทุน” ประกอบไปด้วยนายทุนใหญ่แน่นอน แต่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนอีกมากมายที่แบ่งงานกันทำเพื่อควบคุมระบบเศรษฐกิจทุน นิยม เช่นเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาล ที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เรียกว่า “คณะกรรมการเพื่อบริหารผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นนายทุน” นอกจากนี้มีนายพลระดับสูง ผู้บัญชาการตำรวจ และผู้พิพากษาระดับสูง เพื่อใช้ความรุนแรงในการควบคุมประชาชนในกรณีที่จำเป็น และมีเจ้าของสื่อ กับนักการเมืองอวุโส ฯลฯ เพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนเชื่อฟังชนชั้นปกครองโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง มีลัทธิต่างๆ ของชนชั้นปกครองที่ช่วยตรงนี้ เช่นลัทธิการเคารพธงชาติ ลัทธิศาสนา และลัทธิกษัตริย์ในประเทศที่มีสถาบันนี้

ในหลายๆ ประเทศ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ต้องรวมไปถึงกษัตริย์และราชวงศ์ที่มีหน้าที่ในด้านการเป็นสัญญลักษณ์ของชาติ ที่นายทุนควบคุม และของลัทธินายทุนด้วย คือเป็นสถาบันที่ย้ำว่าการแบ่งระดับชั้นเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่ “มีมานาน” เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมชนชั้นปกครองไทยมองว่ากฏหมาย 112 มีไว้ปกป้อง “ความมั่นคง” ในการปกครองของชนชั้นเขา

ก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติทุนนิยม ซึ่งในไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕ เรามีชนชั้นปกครองในระบบศักดินา ในระบบนี้กษัตริย์อ่อนแอมากพอสมควร เพราะต้องแบ่งอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมกับขุนนาง และพ่อค้า ในระบบฟิวเดิลของยุโรปก็เช่นกัน และไม่ว่าจะมีกษัตริย์หรือจักรพรรดิ์ที่เข้มแข็งแค่ไหน เขาไม่เคยสามารถผูกขาดอำนาจอยู่ในมือได้หมด ต้องพึ่งพ่อค้า นายธนาคาร นายพล ขุนนาง พระทางศาสนา เจ้าของที่ดิน และองค์มนตรี ต่างๆ เสมอ และมักจะมีคู่แข่งที่รอแย่งชิงอำนาจตลอด พูดง่ายๆ ชนชั้นปกครองในอดีตประกอบไปด้วยหมู่คณะที่เป็นคู่แข่งกันและร่วมมือกันใน เวลาเดียวกัน 
 แต่แน่นอนในหมู่คณะนี้จะมีบุคคลบางคนที่มีอำนาจมากและในเวลาหนึ่งสามารถครอบ งำคนอื่นได้ในระยะสั้น แต่การครอบงำไม่ใช่อำนาจเด็ดขาด มันมาจากการสร้างแนวร่วมด้วย ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสิน เราจะเห็นภาพนี้ตลอด แม้สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ระบบทุนนิยม ของรัชกาลที่๕ ก็ต้องสร้างแนวร่วมเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและหมู่คณะ ไม่ใช่นั่งสั่งอยู่คนเดียว นอกจากนี้คู่แข่งที่เป็นหมู่คณะในชนชั้นปกครองเดียวกันก็มี ประวัติศาสตร์ยุโรปก็เช่นกัน แต่นั้นไม่ได้แปลว่ากษัตริย์ในอดีตทั่วโลกจะไม่อวดอ้างว่าตนเป็น “เจ้าเหนือฟ้าเหนือหัว” เสมอ ซึ่งคำอวดกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

กษัตริย์เฮนรี่ที่๘ ของอังกฤษ มีอำนาจรวมศูนย์พอสมควร แต่ต้องแบ่งอำนาจให้หัวหน้าสถาบันศาสนาและรัฐมนตรี จักรพรรดิ์ญี่ปุ่นถูกรื้อฟื้นโดยชนชั้นซัมมูไรในการปฏิวัติเมจี่ ในสงครามโลกครั้งที่สองพวกทหารคลั่งชาติอาจอ้างว่าตนพร้อมจะตายเพื่อจักรพร รดิ์ แต่ชนชั้นปกครองญี่ปุ่นตอนนั้นประกอบไปด้วยนายทุนอุตสาหกรรมและนายทหาร ในระบบเผด็จการนาซี ฮิตเลอร์อาจเป็นผู้นำสูงสุด แต่มีโครงสร้างเครือข่ายพรรคนาซีซึ่งลงมาสู่ทุกระดับของสังคม มีแกนนำพรรคที่มีอำนาจ ยิ่งกว่านั้นพรรคนาซีไม่สามารถขึ้นมามีอำนาจได้ถ้านายทุนใหญ่ของเยอรมันไม่ หนุนหลัง ระบบเผด็จการสตาลินก็เหมือนกัน ปกครองโดยหมู่คณะ ฐานอำนาจคือพวกข้าราชการแดง และเมื่อสตาลินตายระบบนั้นก็ยังดำรงอยู่ต่อไปจนถึงปี 1989 ในกรณีเผด็จการฮิตเลอร์กับสตาลิน การบังคับข่มขู่ต่างๆ และการสั่งการ กระทำอย่างชัดเจน ทุกคนรู้ว่าใครสั่งและแกนนำที่มีอำนาจเป็นใคร ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นจะทำไม่ได้ เพราะประชาชนจะไม่เกรงกลัวหรือเชื่อฟัง และนอกจากนี้สตาลินกับฮิตเลอร์เป็นผู้นำที่มีนิสัยใจคอคึกคักแข็งแกร่ง ไม่ได้เป็นคนขี้อายที่พูดกำกวม และไม่ได้เป็นคนที่ไม่เคยกล้าฟันธงเรื่องจุดยืนในที่สาธารณะ

ในระบบเผด็จการที่ปกครองโดยพวกพระในยุคแรกๆ ของสังคมชนชั้น หลังยุคบุพกาล พวกพระจะคุมระบบเกษตร แต่เนื่องจากมนุษย์ยังนับถือธรรมชาติและไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์พอ พวกพระสามารถอ้างได้ว่าตน “รับคำสั่งมาจากเทวดา” ได้ โดยที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์กัน แต่ระบบแบบนี้หมดจากโลกนานแล้ว

นักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายทุนสมัยนี้มักอ้างเสมอว่าไม่มีชนชั้นใน สังคม แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรากฏว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องรับแบกภาระในขณะที่ชนชั้นนายทุนเสพสุขท่ามกลาง การล้มละลายของระบบธนาคารและการตกงาน และพรรคการเมืองต่างๆ หรือรัฐบาลต่างๆ ที่สนับสนุนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน ก็จะใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่นำไปสู่การโอนมูลค่าไปสู่ชนชั้นนายทุนเสมอ

นักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายทุนสมัยนี้มักอ้างอีก ว่าทุนนิยมนำไปสู่เสรีภาพและกำเนิดของ “เสรีนิยม” แต่มันเป็นเพียงเสรีภาพของนายทุนเท่านั้น อย่างไรก็ตามในระบบทุนนิยมอำนาจทางเศรษฐกิจไม่เคยอยู่ในมือบุคคลคนเดียวได้ แต่จะอยู่ในมือผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มทุนใหญ่ที่แข่งกันเอง ในขณะเดียวกันนายทุนเหล่านี้ต้องพึ่งโครงสร้างรัฐ เพื่อให้มีเสถียรภาพและความมั่นคง ทั้งภายในประเทศและในการเมืองระหว่างประเทศด้วย ดังนั้นในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดีต้องแบ่งอำนาจกับนักการเมือง อื่นๆ กับผู้พิพากษา กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ และโดยเฉพาะกับนายทุนใหญ่

(อ่านต่อ)
http://redthaisocialist.com/2011-01-20-12-39-03/342-2012-05-05-11-35-43.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น