อัพเดทสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองในสหภาพยุโรป (1)
มาร์คซ์
อธิบายว่าระบบการแข่งขันในระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การลงทุนและผลิตล้นเกินและ
ก่อให้เกิดแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤติ
นายทุนเลือกแนวทางที่จะรักษาอัตรากำไรไว้
โดยการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่กินบริษัทที่อ่อนแอกว่าแล้วตัดระดับการผลิตและ
การจ้างงาน และอีกหนทางหนึ่งคือการตัดค่าแรงอย่างโหด
โดย นุ่มนวล ยัพราช
โดย นุ่มนวล ยัพราช
เบื้องหลังวิกฤติเศรษฐกิจ
วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรปปัจจุบันเป็นผลพวงโดยตรงจากวิกฤตทางการ เงินโลกในปี 2007 ที่มีจุดกำเนิดมาจากวิกฤติบ้านและอสังหาริมทรัพย์ (subprime mortgages) ในสหรัฐอเมริกา ที่มีการปั่นหุ้น สร้างฟองสบู่ และ ค้ากำไรทางการเงินของพวกกลุ่มทุนธนาคาร สำหรับตัวอย่างคล้ายๆ กันที่พอนึกภาพได้ง่ายๆ ในไทยก็คือ วิกฤติต้มยำกุ้งในช่วงปี พ.ศ.2540
สหภาพยุโรป (European Union = EU) เป็นการวมตัวกันขึ้นมาของกลุ่มประเทศในยุโรปเพื่อเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทั้ง ทางการค้า และทางการเมืองในเวทีระดับโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเพิ่มอำนาจการแข่งกับมหาอำนาจอื่นๆ เช่น สหรัฐ จีน รัสเซีย หรือ ต่อมากลุ่มประเทศ BRIC (Brazil, Russia, India and china) ที่เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก อย่างไรก็ตามกลุ่มประเทศ บริค (BRIC) ตลาดส่งออกโดยส่วนใหญ่จะอยู่ สหรัฐอเมริกาและสหาภาพยุโรปเป็นหลัก
ฉะนั้นวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วจะมีผลกระทบต่อประเทศเหล่านี้ ซึ่งตอนนี้อัตราเศรษฐกิจก็เริ่มชะลอตัวลงจากตัวเลขสองหลักเหลือแค่หลักเดียว และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อยๆ จุดเด่นของประเทศบริคคือต้นทุนการผลิตต่ำและมีการกดค่าแรงอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งทำให้ตลาดภายในมีปัญหาเพราะคนไม่มีกำลังซื้อ หรือคนที่มีกำลังซื้อก็จะเป็นคนส่วนน้อย
วกกลับเข้ามาที่วิกฤติของสหภาพยุโรป
จุดเด่นที่สุดของสหภาพยุโรปคือ เป็นการสร้างสหภาพบนพื้นฐานผลประโยชน์นายทุนเป็นหลัก มีการเคลื่อนไหวของทุนอย่างเสรี ลดพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกสำหรับการค้าขายและธุรกิจ เพื่อสร้างตลาดเดียว และใช้สกุลเงินเดียวกัน เพื่อความสะดวกสำหรับกลุ่มทุนต่างๆ มากไปกว่านั้น สหภาพยุโรปต้องการสถาปนาสกุลเงินยูโร(€) ขึ้นมาเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศเหมือนดอลล่าสหรัฐ สหภาพยุโรปได้ใช้แนวทางเสรีนิยมอย่างสุดขั้ว เพราะในธรรมนูญของสหภาพเขียนไว้เพื่อให้ผลประโยชน์กับกลุ่มทุนทางการเงินและ กลุ่มทุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะ
มีการกดดันให้ประเทศต่างๆ มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อย่างเป็นระบบ ลดการควบคุมโดยรัฐ โดยการอ้างว่ามันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน และมีกฎบังคับไม่ให้รัฐกู้เงินจนขาดดุลเกิน 3% ของผลิตผลมวลรวม (GDP) พูดง่ายๆ สหภาพยุโรปจะหันไปใช้รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบอเมริกา คือรัฐเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของคนธรรมดาน้อยที่สุด ยุโรปเคยมีชื่อเสียงว่า รัฐจะมีบทบาทสูงมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยคุณภาพชีวิตของคนจนที่อยู่ในยุโรปจะดีกว่าคนอเมริกัน
สมาชิกของ EU มีอยู่ทั้งสิ้น 27 ประเทศ แต่กลางปี 2013 จะเพิ่มเป็น 28 ประเทศ สมาชิกใหม่รายที่ 28 คือ โครเอเชีย ซึ่งลักษณะสมาชิกสามารถแบ่งได้เป็นสองชนิด คือ พวกที่กำลังพัฒนา(ซึ่งสามารถเรียกได้หลายชื่อ เช่น พวกทางใต้, periphery counties = ค่อนข้างยากจน ) สมาชิกใหม่ๆ จะมาจากยุโรปตะวันออกอดีตประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์แนวสตาลิน และ พวกที่พัฒนาแล้ว (ประเทศร่ำรวย พวกทางเหนือ , core counties)
ปัจจุบัน EU ถูกควบคุมโดย “troika” (แปลว่า 3 องค์กร) ซึ่งประกอบไปด้วย คณะบริหาร European Union, ธนาคารกลาง European Central Bank (ECB) และ ไอเอ็มเอฟ International Monetary Fund (IMF) พวกข้าราชการและนายธนาคารเหล่านี้จะมีบทบาทในการกดดันให้ประเทศที่กำลัง พัฒนาใน EU ตัดสวัสดิการและแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบหรือที่เรียกว่า “โปรแกรมปฏิรูปจาก troika” เพื่อหาเงินไปใช้หนี้ที่ธนาคารต่างๆ ก่อขึ้นแต่แรกในวิกฤติทางการเงิน ประเทศที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของ “troika” คือ ธนาคารของประเทศใหญ่ๆ อย่างเยอรมัน ฝรั่งเศษ เบลเยี่ยม หรือ ของกลุ่มประเทศ core
สื่อกระแสหลักตั้งต้นอธิบายว่าวิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นจากประเทศกรีซ คำอธิบายที่ปฏิกิริยาที่สุดคือ “ชาวกรีกเป็นคนขี้เกียจ ทำงานหนักไม่พอและใช้ชีวิตแบบฟุ่ยเฟือย ไม่จ่ายภาษี” เป็นต้น คำอธิบายของฝ่ายขวาดังกล่าวได้เพิ่มความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ และหลีกเลี่ยงที่จะแตะตัวปัญหาแท้คือปัญหาทางโครงสร้างของระบบทุนนิยม
แล้วคำอธิบายสำหรับชาวมาร์คซิสต์คืออะไร
ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่มีปัญหาในตัวของมันเองคือเศรษฐกิจมันจะไม่ขยายตัว ตลอดเวลา มันจะมีวิกฤติอยู่เป็นระยะ เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะมีช่วงที่เศรษฐกิจบูมเต็มที่ในยุค 1960 แต่พอเข้าสู่ยุค 1970 (พ.ศ.2513) เศรษฐกิจเริ่มมีวิกฤติ จากนั้นเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่สภาวะที่เกิดฟองสบู่แล้วก็แตกเป็นวงจรอุบาทว์
มาร์คซ์ อธิบายว่าระบบการแข่งขันในระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การลงทุนและผลิตล้นเกินและ ก่อให้เกิดแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤติ นายทุนเลือกแนวทางที่จะรักษาอัตรากำไรไว้ โดยการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่กินบริษัทที่อ่อนแอกว่าแล้วตัดระดับการผลิตและ การจ้างงาน และอีกหนทางหนึ่งคือการตัดค่าแรงอย่างโหด ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา (รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถอ่านได้ในเลี้ยวซ้ายฉบับอื่นๆ ซึ่งมีการอธิบายไว้อย่างเป็นระบบ)
ทีนี้ถ้าค่าแรงน้อยพลังการบริโภคก็จะอ่อนแอ แล้วจะทำอย่างไร? เพราะจะทำให้วิกฤติหนักขึ้นและคนตกงานมากขึ้น แนวเสรีนิยมเลือกที่จะไม่เพิ่มค่าแรงให้สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วน ใหญ่ และไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มกำลังซื้อ แต่บ่อยครั้งจะเลือกส่งเสริมให้คนบริโภคผ่านการเป็นหนี้แทน
สหรัฐอเมริกา คือ ตัวอย่างอันยอดเยี่ยมในกรณีนี้ รัฐบาลสหรัฐในอดีตไม่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากว่า 30 ปี และเลือกที่จะปล่อยเงินกู้ราคาถูกเข้าสู่ระบบแทนที่จะเพิ่มค่าแรงเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพของกำลังจ่าย เช่น การเปิดโอกาสให้คนจนอเมริกามีสิทธิกู้เงินราคาถูกเพื่อมาซื้อบ้าน จากนั้นเกิดการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ เกิดฟองสบู่ และจากนั้นฟองสบู่ก็แตกเพราะคนจนใช้หนี้ไม่ได้ เรื่องมันไปกันใหญ่เมื่อนายทุนธนาคารพยายามสร้างกำไรในการเก็งกำไรจากหนี้ เสีย จนทุนธนาคารขนาดใหญ่ของอเมริกาล้มในปี 2008 (Lehman Brothers)[1]
ธนาคารขนาดใหญ่ของยุโรปโดยเฉพาะจากเยอรมันและฝรั่งเศษได้รับผลกระทบ อย่างมหาศาลเพราะไปซื้อหนี้เน่าจากอเมริกา โดยมีความหวังว่าจะสร้างกำไรได้ ธนาคารเหล่านั้นเกือบจะล้มซึ่งทำให้รัฐบาลต่างๆ ในยุโรปต้องเข้าไปอุ้มและเอาใจเพื่อนนายทุนด้วยกันโดยปัดหนี้เสียเหล่านั้น ให้กลายเป็นหนี้สาธารณะ
หลังจากนั้นอ้างว่าต้องตัดบริการสาธารณะชนิดต่างๆ ลงอย่างเป็นระบบ รวมถึงเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย เพื่อเอาเงินไปจ่ายหนี้ให้กับนายธนาคาร เพื่อดึงยอดหนี้ลงมา ในวิกฤติทางการเงินปัจจุบัน คนใช้หนี้กลายเป็นคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้สร้างปัญหาแต่อย่างใด ในขณะที่ตัวปัญหาแท้คือพวกนายธนาคาร หรือ พวกนักเก็งกำไร (hedge funds) ซึ่งสื่อกระแสหลักที่ยุโรปจะเรียกตลาดหุ้นของนายทุนว่า “เดอะ มาเก็ท” เหมือน กับว่ามีตัวตนอิสระจากมนุษย์และผลประโยชน์ชนชั้น พวกนักเก็งกำไร ไม่เคยถูกลงโทษ และพวกนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักการเมืองกระแสหลักในยุโรป
หนี้สาธารณะมหาศาลของกลุ่มประเทศในสหาภาพยุโรป ทางใต้ เช่น กรีส สเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือโปรตุเกส มาจากการที่หลายฝ่ายต้องการหาเงินมาพัฒนาประเทศเพราะถูกกดดันให้เร่งพัฒนา เศรษฐกิจให้ได้มาตรฐานของกลุ่ม EU ทั้งรัฐและเอกชนกู้เงินจากธนาคารในเยอรมันและฝรั่งเศส
แต่พอระบบธนาคารพังและรัฐต่างๆ เข้าไปอุ้มจนเกิดหนี้สาธารณะ พวกปล่อยกู้เอกชนที่คุมตลาด จะมองว่ารัฐขาดประสิทธิภาพที่จะจ่ายหนี้ เลยมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีผลพวงคือหนี้สาธารณะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก ในอดีตลักษณะการขยายตัวของเศรษฐในกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นการขยายตัวที่ สร้างฟองสบู่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
การที่ประเทศยากจนใน EU ใช้เงินสกุลยูโร ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศเหนือ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศษ เพราะไม่สามารถลดค่าเงินเพื่อลดราคาสินค้าและเพิ่มการส่งออกได้ ฉะนั้นความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศใน EU จะมีลักษณะความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคกัน ประเทศที่ยากจนมีการพึ่งพาประเทศที่ร่ำรวยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของเงินทุน
ยิ่งประเทศยากจนขาดดุลและเป็นหนี้มากเท่าไหร่ ประเทศเยอรมันและฝรั่งเศษก็กังวลเรื่องความมั่นคงของธนาคารของตนเองและ เศรษฐกิจของตนเองด้วย เลยมีการพยายามสร้างอำนาจเหนือรัฐบาลและนโยบายเศรษฐกิจของประเทศยากจนมาก ขึ้นเรื่อยๆ แต่คนธรรมดาในกรีซหรือสเปนไม่ได้ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามมีการทำลายชีวิตคนธรรมดาด้วยการตัดเงินเดือน สวัสดิการ และระดับการทำงาน
นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมที่กรีซ โปรตุเกส และ สเปน มีการต่อสู้กับการตัดงบประมาณอย่างดุเดือด ข้อถกเถียงที่ตามมาในขณะนี้คือ กลุ่มประเทศยากจนถ้าใช้หนี้ไม่ได้จะทำอย่างไร?
ข้อเสนอจาก troika คือ ให้ลบหนี้ทิ้งส่วนหนึ่งและให้คงจำนวนหนี้ที่ดูเหมือนว่ากรีซจะใช้คืนได้ แต่ในความเป็นจริง มันกลายเป็นเรื่องที่ไร้ความหมายเพราะการปั่นราคาหุ้นและการซื้อขายบอนด์ ล่วงหน้าทำให้ปริมาณหนี้เพิ่มขึ้นอย่างเดียว ยิ่งกว่านั้นทุกเม็ดเงินที่กรีซกู้มาใหม่ จะเข้ากระเป๋าธนาคารเยอรมันและฝรั่งเศสทันที โดยที่ประชาชนไม่ได้รับอะไรเลยเพื่อเพิ่มสภาพชีวิตประจำวัน
เนื่องด้วยความอยุติธรรมที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ มันก็มาสู่คำถามว่าอยู่ไปก็ฉิบหาย ออกไปจากสกุลเงินยูโรจะไม่ดีกว่าหรือ? ถ้าจะออกจะออกอย่างไร? แนวที่หนึ่งของกระแสหลักและนายทุน เสนอให้รับใบสั่งจาก Troika แล้ว “อดทน” แต่แนวที่สองของฝ่ายซ้ายเสนอให้ออกไปโดยอาศัยกระแสกดดันจากมวลชนข้างล่างงด จ่ายหนี้ ชักดาบและใช้เงินที่มีอยู่เพื่อจ่ายค่าจ้างและบริการประชาชน แทนที่จะยกให้ธนาคาร เราเรียกว่า “การล้มละลายจากข้างล่าง” (กรณีใกล้เคียงที่ประสบความสำเร็จ คือ กรณีของประเทศอาเจนตินาในปี 2001 ชักดาบต่อ IMF)
กลุ่มประเทศ EU กาลครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเสียงเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย แต่ในภาวะวิกฤติที่กลุ่มนายธนาคารมีอิทธิพลเหนือนักการเมือง เราเห็นการทำลายประชาธิปไตยชนิดที่ยอมรับไม่ได้ คือ การถอดถอนนายกที่มาจากการเลือกตั้งในประเทศ กรีซ กับ อิตาลี และการแต่งตั้งนักเทคโนแครตนายธนาคารขึ้นมาบริหารประเทศแทน ซึ่งนักเทคโนแครตเหล่านั้นต้องการทำลายมาตราฐานการจ้างงานและตัดสวัสดิการ ทุกชนิดเพื่อหาเงินใช้หนี้ให้ธนาคาร
ประเด็นดังกลาวนำมาสู่ข้อถกเถียงเรื่องการขาดดุลทางประชาธิปไตย สื่อกระแสหลักยักษ์ใหญ่เช่น Financial Times เรียก ประเทศกรีซว่าเป็นอาณานิคมแรกของสหภาพยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มว่าประเทศอื่นๆ ที่กำลังมีปัญหา เช่น สเปน ไอร์แลนด์ โปรตุเกส จะมีชะตากรรมเหมือนกรีซ วิกฤตทางเศรษฐกิจก็จะนำมาสู่วิกฤติทางเมืองในที่สุด (ฉบับหน้าจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับวิกฤติทางเมืองในยุโรป) บทความชิ้นนี้ อาศัย 3 บทความหลักคือ
Kotz, D.M. 2009. The Financial and Economic Crisis of 2008: A Systemic Crisis of Neoliberal Capitalism. Review of Radical Political Economics
C. Lapavistas, A Kaltenbrunner, D. Lindo, J. Michell, J.P. Painceira, E. Pires, J. Powell, A. Stenfors, N. Teles,(2010) Eurozone Crisis: Beggar Thyself and Thy Neighbour, RME occasional report March 2010, Research on Money and Finance
C. Lapavistas and team, 2011, Breaking up? A route out of the Eurozone crisis, Occasional Report 3, Research on Money and Finance
เชิงอรรถ
[1]มันมีประเด็นถกเถียงต่อเนื่องในเรื่องนี้คือ ประเด็น การเติบโตทางธุรกรรมทางการเงิน (Financialisation) ที่กลายเป็นแหล่งของการสร้างกำไรระยะสั้น ในขณะที่ภาคการผลิตจริงสร้างกำไรได้น้อยและช้า ฉะนั้นทุนใหญ่จะหันมาลงทุนค้าทางด้านการเงิน เพื่อหากำไรระยะสั้น ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจเทียมที่ไร้ฐานการผลิตรองรับ ขาดความสมดุล ในช่วงวิกฤติ 1930 มีการค้าทางการเงินในลักษณะที่คล้ายๆ กัน จนเกิดวิกฤติทำให้คุณค่าของเงินมีปัญหา จนต้องหาทองคำมาเป็นหลักประกัน ....ผู้เขียนจะไม่ลงรายละเอียดมาก เพราะจะทำให้บทความยาวและซับซ้อนจนเกินความจำเป็น
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/06/1.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น