หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

80 ปีกับคำถามซ้ำๆ ซากๆ ของประชาธิปไตยไทย

80 ปีกับคำถามซ้ำๆ ซากๆ ของประชาธิปไตยไทย

 

 

โดยประวิตร โรจนพฤกษ์


ถึงแม้ ‘ประชาธิปไตย’ ไทยจะครบรอบ 80 ปีแล้ว แต่คำถามหรือข้อกังขาบางอย่างซ้ำๆ ซากๆ ก็ยังวนเวียนคงอยู่มิได้หายไปไหน

‘คนไทยส่วนใหญ่พร้อมสำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตยจริงหรือ?’
ผู้ที่มีการศึกษาสูง (ในระบบ) มักอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งยากจนและมีการศึกษาน้อยไม่เข้าใจ ประชาธิปไตย รู้จักแต่ขายเสียงแถมโง่และถูกนักการเมืองชั่วๆ หลอกง่ายและมักเป็นเหยื่อนโยบายประชานิยม บางคนคิดไกลไปถึงขนาดเสนอว่าประชาชนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเท่า นั้นที่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง บางคนถวิลหาการปกครองระบอบเผด็จการทหารหรือแม้กระทั่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์

บุคคลเหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาเหนือกว่าและมีคุณธรรมกว่าคนส่วนใหญ่ใน ประเทศและเข้าใจประชาธิปไตยดีถึงแม้คนส่วนใหญ่ที่คิดแบบนี้มักกลับให้การ สนับสนุนรัฐประหารมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว

ผู้เขียนจะไม่ฟันธงยืนยันว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ หากอยากจะบอกว่าสังคมจะก้าวหน้าเท่าเทียมมีความยุติธรรมและเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้หากคนส่วนใหญ่ในแผ่นดินไม่มีโอกาสลองผิดลองถูกและใช้สิทธิทางการเมือง ที่เราทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมกัน (ซึ่งการลองผิดลองถูกก็ไม่ต่างจากการหัดขับจักรยานซึ่งต้องมีพลาดบ้างล้ม บ้างเป็นธรรมดา)

อย่างน้อยที่สุด ทุกวันนี้ประชาชนแทบทุกคนคงตระหนักแล้วว่าแต่ละคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง เท่าเทียมกัน หากจะเพิกถอนสิทธิประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ สังคมไทยก็คงต้องกลับไปเป็นเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมอาจเกิดสงครามการเมือง

ไม่มีสังคมใดที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้โดยปราศจากการต่อสู้ของคน ส่วนใหญ่ในประเทศ ในแง่นี้ความพยายามที่จะลิดรอนสิทธิทางการเมืองและกดประชาชนให้เงียบหรือ จัดการกับรัฐบาลที่ประชาชนเลือกโดยวิธีการที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็น ประชาธิปไตยจะเป็นตัวเร่งให้ประชาชนลุกออกมาสู้และเรียกร้องสิทธิของพวกเขา เพื่อสิทธิที่จะได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเขาจะเกิดมาจนหรือรวย เป็นคนดีหรือชั่ว หรือเลือกพรรคการเมืองใดก็ตาม

เมื่อเร็วๆ นี้นิด้าโพลเผยว่าคนกรุงฯ ฝันอยากได้ ส.ส.ที่มีคุณธรรม จริยธรรมและมีความรู้มากสุด ซึ่งมันน่าสนใจตรงที่ว่าความคิดเช่นนี้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับคนกรุงฯ เหล่านั้น

ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถการันตีว่าสังคมจะได้นักการเมืองดีมาเป็น รัฐบาลเสมอไป หากระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงการันตีว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันและ สามารถเลือกและเปลี่ยนรัฐบาลที่ตนชอบหรือไม่ชอบได้อย่างสันติวิธี

มันเป็นการดีที่ประชาชนจะเป็นห่วงเรื่องคอร์รัปชั่นหรือนักการเมืองชั่ว แต่ตราบใดที่ทุกบุคคลสาธารณะทุกองค์กรทุกสถาบันไม่สามารถถูกตรวจสอบและ วิพากษ์ได้อย่างเสมอภาค การเรียกร้องแต่ให้มีนักการเมืองดีและขจัดคอร์รัปชั่นแค่ในหมู่นักการเมือง และข้าราชการก็จะกลายเป็นการเรียกร้องให้คงไว้ซึ่งสองมาตรฐานไปโดยปริยาย อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ไม่ว่าผู้อ่านจะถวิลหาระบอบการปกครองแบบใด ตราบใดที่ประชาชนยังไม่มีสิทธิทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันทุกคนอย่างแท้ จริง ตราบใดที่ยังมีการปิดหูปิดตายัดเยียดข้อมูลด้านเดียวบางเรื่องอย่างไม่ รู้จักพอเพียงและจับคนที่ตั้งคำถามเข้าคุก ตราบนั้นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็จักยังคง ดำเนินต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมนุษย์มิได้เกิดมาเพื่อให้มนุษย์ด้วย กันดูถูกเหยียดหยามกดขี่และล้างสมองว่าตนเองด้อยกว่าตลอดชีวิต

(ที่มา)
http://prachatai.com/journal/2012/07/41400

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น