หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทำไมอดีตสหายทปท.ปกป้องศาลรธน.?

ทำไมอดีตสหายทปท.ปกป้องศาลรธน.?

 
 โดย เกษียร เตชะพีระ

ทำไมอดีตสหายทปท.ปกป้องศาลรธน.?: ๑) ขอบเขตเนื้อหาการศึกษาทางการเมืองที่เป็นจริงในป่าของนักรบทปท.

สหายเข้าป่าใหม่ทุกคน ไม่ว่ามาจากภูมิหลังชนชั้นใด นักศึกษาจากเมือง หรือชาวนาชนบทด้อยโอกาสการศึกษา จะเข้าเรียนโรงเรี ยนการ เมืองการทหาร ซึ่งนอกจากฝึกเทคนิคการรบพื้นฐาน (วินัยและท่ารบพื้นฐาน ยิง คลาน หมอบ การใช้อาวุธปืน ระเบิด ฯลฯ) แล้ว ก็คือเรียน "ปฏิวัติ ๗ บท" ซึ่งก็คือข้อเสนอวิเคราะห์สังคมของพคท. และยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีปฏิวัติ เป็นความเข้าใจภาพรวมทางการเมืองกว้าง ๆ สำหรับเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างมีเป้าหมาย

การศึกษาหลังจากนั้นมีลักษณะค่อนข้างเป็นวาระโอกาสครั้งคราว และไม่ค่อยเป็นระบบ (แม้จะพยายาม) เพราะเงื่อนไขการทำงาน การเคลื่อนไหวและการรบแบบจรยุทธ์ในเขตป่าเขา เอกสารที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเข็มมุ่ง ภาระหน้าที่และเทคนิควิธีการทำงานเฉพาะในเขตงานของตน ค่อนข้าง practical & local & specific ไม่ใช่อะไรที่ conceptual, theoretical & general

หนังสือที่มีให้อ่านก็เป็นพวกคติพจน์, สรรนิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง (ไม่มากเล่ม ไม่มากคนที่อ่าน), และเรื่องเล่าเรื่องดีคนดีของนักปฏิวัติจีน เช่น หนังสือชุด "คนใหม่แห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ที่หล่อเลี้ยงด้วยความคิดเหมาเจ๋อตง", หลิวหูหลาน เป็นต้น มีวารสารประจำถิ่นเล่าข่าวคราวสถานการณ์บ้านเมืองตามแนวทางของพรรคที่ออก อากาศทางสปท.เป็นหลัก และเรื่องสั้น บทกวี บ้าง, บางแห่งอาจมีห้องสมุดหนังสือซ้ายจากในเมืองก่อน ๖ ตุลาฯ ๑๙ แต่ก็มีปัญหาด้านการกระจายให้ยืมที่ลำบากห่างไกล

หากสหายได้รับเข้าเป็นสมาชิก ย. (สันนิบาตเยาวชนประชาธิปไตยประชาชนแห่งประเทศไทย องค์กรเยาวชนแขนขวาของพรรค) หรือ ส. (พคท.) ก็จะได้รับการศึกษาจากเอกสารภายในที่เข้มข้นขึ้น แต่จากประสบการณ์ของผม เอกสารเหล่านี้มีเพดานไม่สูง เป็นคู่มืออบรมทำความเข้าใจลักษณะ แนวทาง อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่แปลเป็นไทย แล้วเอามาให้เราอ่าน โดยอนุโลมว่าพรรคไทยก็คล้ายกัน จนผมเคยตั้งข้อสังเกตเชิงวิจารณ์กับจัดตั้งผู้รับผิดชอบวงศึกษาว่าน่าจะเอา เอกสารของพรรคไทยเราเองมาอ่านศึกษา แทนที่จะเอาของพรรคจีนมา

การพูดคุยกับสหายต่างเขตงานต่างภาคและการอ่านบันทึกจากในป่าจำนวนหนึ่งของผม ได้ภาพประทับใจออกมาคล้ายกัน ไม่ต่างจากนี้ (แม้แต่ในสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยที่คุนหมิง ยูนนาน เมื่อผู้ปฏิบัติงานเป็นคนอ่านข่าว/จัดรายการของสถานี เสนอขอศึกษาเรื่อง "ทุน" ของมาร์กซ ทางจัดตั้งยังบอกว่ายากไป ไม่จำเป็นเลย) ซึ่งแปลว่าเนื้อหาการศึกษาของทปท.เตรียมให้คุณเป็นทหารจรยุทธ์ในเขตงานเพื่อ ทำงานมวลชนและทำการรบเฉพาะถิ่นด้วยความเข้าใจในเป้าหมายและลักษณะพื้นฐานของ การปฏิวัติ ไม่ได้เตรียมให้คุณเป็นนักวิเคราะห์เข้าใจสถานการณ์และสภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองที่สลับซับซ้อนและเคลื่อนไหวพลวัตไม่หยุดนิ่งแต่อย่างใด
 


ทำไมอดีตสหายทปท.ปกป้องศาลรธน.?: ๒) การจำกัดข่าวสารที่ได้รับในป่าทั้งโดยภาววิสัยและวินัยกองทัพของนักรบทปท.

สหายทปท.ระดับผู้บังคับหน่วยงานมวลชนแนวหน้าคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตนิสิตจุฬาฯหนีเข้าป่าตอน ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ และเมื่อเจอกันโดยบังเอิญบนรถเมล์สาย ๕๓ ครั้งล่าสุดหลายปีก่อน เขาทำงานอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ เคยเล่าให้ผมฟังครั้งพบกันในป่าว่า

มีครั้งหนึ่งเขาเคยไปรับข้าวของจากมวลชนมา เมื่อกลับถึงทับ เห็นกระดาษหนังสือพิมพ์รายวันที่มวลชนใช้ห่อข้าวของเหล่านั้น ก็เลยแกะเอาออกมานั่งอ่านอยู่ ปรากฏว่าหัวหน้าหน่วยซึ่งเป็นสหายชาวนาเดินผ่านมาพบเข้า ได้ใช้มือตะปบหนังสือพิมพ์หลุดไปจากมือเขา แล้วบอกว่าอ่านไม่ได้ ผิดวินัย ผู้อ่านข่าวสารจากภายนอกต้องได้รับมอบหมายจากจัดตั้งเท่านั้น

เขาถามผมด้วยความสะทกสะท้อนและขัดเคืองใจว่าถ้าหากแค่อ่านข่าว นสพ.ก็จะถูกฝ่ายรัฐบาลปฏิกิริยาครอบงำความคิดจิตใจและจุดยืนปฏิวัติเสื่อมแล้ว พวกเราซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ในเมือง อ่านนสพ.เหล่านี้มาทั้งชีวิต กลายเป็นนักปฏิวัติมาได้อย่างไร? และถ้าเราอ่านนสพ.แล้วยังมีความคิดจิตใจปฏิวัติได้ ทำไมจึงไม่ให้เราอ่านในป่า?

(เรื่องนี้รวมไปถึงการมีวิทยุติดตัว ด้วย จะเปิดฟังได้เฉพาะสถานีปฏิวัติ เช่น สปท., วิทยุปักกิ่ง นอกเหนือจากนี้ เช่น บีบีซี, วีโอเอพากย์ไทย, ข่าวสมหญิง ยิ่งยศ ฯลฯ เฉพาะระดับหัวหน้าหน่วยหรือจัดตั้งเท่านั้นที่จะฟังได้ ผมเองได้ฟังเพราะทำงานหน่วยข่าว มีหน้าที่พิเศษในการมอนิเตอร์ข่าวในและต่างปท.ทั่วไป กระนั้นเวลาสหายสังเกตว่าผมไม่ฟังแต่ข่าว หากยังทะลึ่งฟังรายการสารคดี เรื่องสั้น ฯลฯ ของ BBC, VOA ในพากย์ภาษาอังกฤษด้วย ก็จะถูกตักเตือนห้ามปรามในวงวิจารณ์ อย่างน้อยก็ด้วยเหตุผลว่าเพื่อประหยัดถ่านไฟฉายซึ่งหามาได้ยากในป่า ฯลฯ)

ในสภาพระบอบควบคุมข่าวสารเช่นนี้ ย่อมไม่มีทางเข้าถึงข้อมูลวัตถุดิบ แหล่งคิดเปรียบเทียบเชิงวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์ปัจจุบันสด ๆ ใหม่ ๆ ให้สหายทปท.ทั่วไปได้เสพรับขบคิดเลยระหว่างทำงานปฏิวัติสู้รบในเขตป่าเขา สิ่งพิมพ์ประเภทนสพ.นิตยสารข่าวต่าง ๆ จำกัดวงคนอ่านเฉพาะจัดตั้งฝ่ายนำ, หน่วยข่าวที่ได้รับมอบหมาย เท่านั้น แม้แต่ผมเอง นาน ๆ ครั้งจึงจะได้อ่าน เพราะได้มายากและเข้าถึงยาก (จำได้ว่าพี่ธเนศ อาภรณ์สุวรรณซึ่งเข้าป่าทางใต้เล่าว่า เขาได้อ่าน Far Eastern Economic Review ก็เพราะอาศัยหยิบยืมจากสหายคอมมิวนิสต์มลายามา ขณะที่ทางพรรคไทยไม่มีให้)

ความคับแคบและระแวงระวังทางความคิดทฤษฎีข้อมูลของพคท.มีในระดับที่ว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อผมฟังการอ่านช้าให้จดแถลงการณ์ครบรอบการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจากสถานีวิทยุพากย์ภาษาอังกฤษ The Voice of the Malayan Revolution ของเขาได้ และถอดความเรียบเรียงเป็นภาษาไทยเพื่อเสนอเผยแพร่ผ่านทางนิตยสารธงชัยของทางภาคอีสานใต้ ในฐานะที่พคม.ก็เป็นพรรคพี่น้องของพคท.และเป็นเหมาอิสต์ด้วยกัน ปรากฏว่าทางจัดตั้งฝ่ายนำด้านทฤษฎีและโฆษณายังปฏิเสธไม่ให้ทำเล

ดังนั้นภาพความเข้าใจว่านักรบทปท.เข้มข้นทางความคิดวิเคราะห์เชิงทฤษฎีข่าวสารข้อมูลแบบมาร์กซิสต์-เหมาอิสต์ ไม่น่าจะพลิกเปลี่ยนความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองได้ขนาดนี้นั้น อาจตั้งอยู่บนภาพอุดมคติที่เหนือจริงเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น