หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อัพเดทสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรป ตอนที่ 2

อัพเดทสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรป ตอนที่ 2 


 

โดย นุ่มนวล ยัพราช


อัพเดทสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองในสหภาพยุโรป (1)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/06/1.html 
 

ท่ามกลางสภาวะที่วิกฤติเศรษฐกิจที่เรื้อรังมามากกว่า 5 ปี พวกนักการเมืองและนักคิดกระแสหลักเสรีนิยมได้ทำลายกลไกและโครงสร้างของ สถาบันหลักๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกนายธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการย้ายหนี้เอกชนมาเป็นหนี้ของรัฐ จากนั้นก็ตัดสวัสดิการของรัฐเพื่อหาเงินไปอุ้มธนาคารซึ่งเป็นการบังคับให้คน จนอุ้มคนรวย จากนั้นมีการเสนอให้ปฏิรูปมาตรฐานการจ้างงาน(แนวเสรีนิยมจัด) ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ในรูปธรรม แช่แข็งค่าแรงและบังคับลดค่าแรง

มันเป็นการเสนอให้ตัดสิทธิแรงงานชนิดต่างๆ และเพิ่มอำนาจให้นายจ้างไล่คนงานออกได้ตามอำเภอใจ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องให้เหตุผลว่าคนงานทำผิดอะไร รวมถึงมีการบังคับให้คนงานจ่ายเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้น ขยายอายุการทำงานไปจนถึง 68-70 ปี(ตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นเพราะอ้างว่าคนมีอายุเฉลี่ยยาวขึ้น) ซึ่งเงินเหล่านั้นจะไม่ได้กลับคืนมาสู่คนงานแต่อย่างไร แต่มันจะไหลไปเข้าคลังและคลังก็จะนำเงินเหล่านั้นไปอุ้มพวกนายธนาคาร


มาตรการเหล่านี้จะไม่ทำให้สหภาพยุโรปฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจแต่อย่างไร ในทางกลับกันมันจะทำให้วิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะตัดค่าแรงทำให้กำลังซื้อหมดไป หนำซ้ำการตัดสวัสดิการทำคนงานคนธรรมดาหมดความมั่นคงไม่มีที่พึ่งพิงยามยาก บ่อยครั้งจะระเบิดออกมาในรูปของการจลาจล อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการขึ้นมาของฝ่ายขวาจัดที่ปลุกกระแสชาตินิยม สร้างความเกลียดชังแรงงานข้ามชาติที่มาจากยุโรปตะวันออก และที่มาจากนอก EU (สหภาพยุโรป) แน่นอนมันเป็นโอกาสทองสำหรับฝ่ายซ้ายด้วยเช่นกัน เดี๋ยวจะกล่าวในรายละเอียดในย่อหน้าข้างหน้า

ผลพวงที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ คือ ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างน่ากลัว

เดอะอีโคนีมิคช่วงต้นปีนี้ รายงานว่ากลุ่มคนที่เงินมากที่สุดของอเมริกาและยุโรปไม่ยอมใช้จ่ายเงินในการ ลงทุนท่ามกลางวิกฤติทำให้เงินจำนวนมากไม่ไหลวนในเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลของยุโรปหวังพึ่งนายทุนเอกชนในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สื่อบางส่วนเริ่มเสนอว่ากลไกตลาดมันใช้ไม่ได้ผล

ปฏิกิริยาจากนักการเมือง สื่อ พวกนักนโยบายหรือพวกนักเศรษฐศาสตร์ จะสื่อออกมาสองแบบ แบบแรกคือพวกเสรีนิยมฝ่ายขวา เน้นการลดบทบาทรัฐโดยการปล่อยให้กลไกตลาดจัดการกับทุกๆ เรื่อง พวกนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้น นอกจากพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ถึงนโยบายการตัดสวัสดิการโดยภาครัฐ(austerity) แปรรูปรัฐวิสาหกิจเต็มที่ ควบคู่ไปกับการใช้อุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวา เช่น การสร้างนิยายเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซ ว่าเป็นเพราะความเกลียดคร้าน ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ไม่มีวินัยทางการเมือง เป็นต้น ในขณะที่ถ้าเราไปดูตัวเลขชั่วโมงการทำงานในยุโรป จะเห็นว่า คนงานกรีกมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเป็นลำดับต้นๆ 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่เยอรมันนีมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่ากรีซ  หรือ โจมตีคนจนที่พึ่งสวัสดิการว่าเป็นคนขี้เกียจ ไม่ชอบทำงานและเอาเปรียบคนอื่น


เมื่อประชาชนแสดงออกว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางการตัดสวัสดิการ พวกเสรีนิยมถึงกับทำลายรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง สื่อและนักวิชาการเสรีนิยมขวาจัดออกมาขานรับทันที โดยอธิบายบางครั้งประชาธิปไตยไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ คือ กรณีที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในกรีซและอิตาลีถูกล้มและมีการแต่งตั้ง พวกนักแทรคโนแคตที่มาจากสถาบันทางการเงินแทน มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือดจากซีกซ้ายเกี่ยวกับการทำลายหลักการ ประชาธิปไตย หรือ ที่เรียกกันว่า การขาดดุลทางประชาธิปไตย(Democratic deficit) แต่อย่างไรก็ตามนักเทคโนแครตก็ได้พิสูจน์แล้วไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา เศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นกรณีกรีซหรืออิตาลี


ยุโรปเคยมีเสียงของการเป็นเสาหลักของระบบ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเป็นต้นแบบของการปฏิรูปการเมืองที่กระจายอำนาจและความเสมอภาคที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกฝันถึง แต่ปัจจุบันเรื่องเหล่านี้ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานหลายๆ อย่างมีมาตรฐานเลวลงอย่างรอบด้าน คนรวยและนักการเมืองทำลายระบบโดยการหลีกเลี่ยงภาษีกันแบบหน้าด้านๆ

นโยบายที่ผลักภาระให้คนจนและการเน้นนโยบายอุ้มนายธนาคาร ทำให้ชนชั้นปกครองแนวเสรีนิยมล้มละลายทั้งในทางศีลธรรม ความโปร่งใส และความคิด ประชาชนหมดความศรัทธาอย่างสิ้นเชิง เช่น ผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศส พรรคสังคมนิยมได้เสียงข้างมากอย่างขาดลอย กรีซ รวมถึงการเลือกตั้งในระดับมลรัฐในเดือนพฤษภาคมที่เยอรมันนีพรรค Christian Democratic Union of Germany (CDU) ของนาง Angela Dorothea Merkel ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังของประเทศเยอรมันแพ้การเลือกตั้งให้กับ Social Democrat Party (SPD: พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซ้ายกลางๆ แต่ช่วงหลังๆ หันมาใช้แนวเสรีนิยมเลยแพ้การเลือกตั้ง) ในรัฐ North Rhine-Westphalia ซึ่งเป็นฐานเสียงที่สำคัญของ CDU

แนวที่สองจะเป็นแนวที่เน้นบทบาทรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ ที่เรียกว่าแนวเคนส์ แนวนี้เสนอแนวทางในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจโดยที่รัฐต้องลงทุนเพิ่มใน เศรษฐกิจทั้งในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ลดความเหลื่อมล้ำโดยการปฏิรูปภาษีและพัฒนาระบบสวัสดิการ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนั้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าแนวกลไกตลาดในการเพิ่มกำลัง ซื้อและการจ้างงาน ธนาคารจะต้องถูกควบคุมแทนที่จะปล่อยให้นายธนาคารเอกชนเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน


อย่างไรก็ตามธรรมนูญสหภาพยุโรปนั้นเขียนตามกรอบของแนวเสรีนิยมอย่างสุด ขั้ว(ซึ่งได้ลงรายละเอียดไปแล้วในตอนที่ 1) ตอนนี้แนวนี้เสนอให้มีการปฏิรูปและเปลี่ยนทิศทางการกำหนดนโยบายในสหภาพยุโรป โดยการหันมาใช้แนวทางเคนส์มากขึ้น ซึ่งทิศทางนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าประชาชนในหลายประเทศร่วมมือกันสู้


การขึ้นมาของฝ่ายซ้าย และ ฝ่ายขวาจัด

ปัญหาใหญ่มากของเกือบทุกประเทศในสหภาพยุโรปคือ อัตราการว่างงาน ในประเทศที่กำลังมีวิกฤติเศรษฐกิจหนักๆเช่น กรีซ สเปน อิตาลี โปรตุเกส ไอร์แลนท์ อัตราการว่างงานสูงมาก โดยเฉพาะในสองประเทศแรกที่สัดส่วนการว่างงานของเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 30 สูงมากกว่า 50% และอัตราการว่างงานในวัยทำงานสูงกว่า 20% ในส่วนอื่นๆ ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก็มีอัตราการว่างงานสูงมากเช่นเดียวกัน เช่น ยุโรปตะวันออก ซึ่งประชาชนในประเทศเหล่านี้จะมีการอพยพไปหางานทำในประเทศที่มีความเข้มแข็ง ทางเศรษฐกิจมากกว่า เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สแกนดิเนเวีย หรือที่เรียกว่ากลุ่มประเทศทางเหนือ


แรงงานเหล่านี้ยินดีทำงานในมาตรฐานที่ต่ำกว่าและค่าแรงถูกกว่า ซึ่งรัฐบาลประเทศทางเหนือจะต้องเข้ามาจัดการควบคุม แต่รัฐบาลฝ่ายขวาเลือกไม่ทำซึ่งมันมีผลสองด้านคือ


หนึ่งแรงงานจากยุโรปตะวันออกพวกนี้ถูกเอารัดเอา เปรียบมาก และสองซึ่งเป็นผลพวงโดยไม่ตั้งใจ แรงงานที่มาจากยุโรปตะวันออกได้ดึงมาตราฐานการจ้างที่ดีให้แย่ลงสร้างความ ไม่พอใจให้กับกรรมกาชีพเจ้าบ้านเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องมันไปจบลงที่ฝ่ายขวาจัดและฝ่ายอนุรักษ์นิยมปลุกระดมแนวชาตินิยม โดยอ้างว่าปัญหาการว่างงานนั้นมีสาเหตุมาจากแรงงานจากยุโรปตะวันออก ในขณะแรงงานจากยุโรปตะวันออกที่ไร้จิตสำนึกทางการเมืองก็โจมตีกรรมาชีพใน ประเทศเหนือว่าเลือกงาน หรือทำงานหนักไม่พอ เป็นต้น ในโซนของยุโรปตะวันออกเองกลุ่มฟาสซิสต์ได้ขยายตัวอย่างเปิดเผยและรัฐบาล เหล่านั้นไม่ได้แก้ปัญหานี้แต่อย่างใด

กลุ่มฟาสซิสต์เกิดขึ้นในหลายประเทศ ในกรณีของ ฮอลแลนท์ กรีซ และฝรั่งเศษ พรรคนาซีชนะการเลือกตั้งและมี สส.ในรัฐสภาด้วย พรรคนาซีเหล่านี้มีชื่อแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งพรรคเหล่านี้ส่งเสริมการใช้ความรุนแรง และปลุกระดมให้มีการเกลียดชังทางเชื้อชาติ ในกรณีของฝรั่งเศส French National(พรรคนาซี)ตั้งเป้าไปที่กลุ่มมุสลิม และเสนอให้มีการปิดพรมแดนเพื่อไม่ให้แรงงานจากยุโรปตะวันออกเข้ามามากเกินไป ในกรีซสมาชิกพรรคนาซี(Golden Dawn)ซึ่งสมาชิก 1 ใน 2 เป็นตำรวจ


ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งรอบที่สองในวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา สมาชิก Golden Dawn ได้ตบหน้าแคนดิเดตผู้หญิงจากพรรคฝ่ายซ้ายสองคนออกโทรทัศน์ จากนั้นได้ฟ้องร้องสมาชิกพรรคฝ่ายซ้ายว่าเป็นฝ่ายผิดเพราะไปกระตุ้นให้ตนเอง ใช้ความรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวกรีก ซึ่งหลังเหตุการณ์มีการเดินขบวนประท้วงพวกฟาสซิสต์ในหลายเมือง ซึ่งการเดินขบวนในครั้งนี้ฝ่ายซ้ายมีบทบาทมากในการจัดตั้ง


เรื่องที่เป็นบวกมากที่เกิดขึ้นในกรีซและฝรั่งเศสคือ ผลการเลือกตั้งโดยเฉพาะในประเทศกรีซ ที่แนวร่วมฝ่ายซ้าย(Syriza) ได้คะแนนมาเป็นที่สองและพรรคอนุรักษ์นิยม(New Democracy) มีคะแนนนำอย่างเฉียดฉิวเท่านั้น ทั้งที่ นักการเมือง พวกที่มีตำแหน่งสูงๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IMF ธนาคารกลางยุโรป สื่อกระแสหลักในยุโรป ได้ดาหน้าออกมาโจมตีฝ่ายซ้ายในกรีซ หรือ แบล็คเมล์ น่าจะเป็นคำเรียกที่เหมาะสมกว่า เพราะมีการข่มขู่ว่าถ้าเลือก Syriza กรีซจะต้องออกจากสหภาพยุโรปและจะไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ แต่ Syriza ก็ได้คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม เพราะเป็นพรรคเดียวที่ประกาศจุดยืนว่าจะต่อต้านแนวเสรีนิยมที่มาจาก Troika ว่าเป็นนโยบายที่ไม่มีความเป็นธรรมและเรียกร้องให้มีการเปิดการเจรจารอบใหม่ (รายละเอียดดูได้ในตอนที่ 1)


มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนกรีกนั้นแย่มาก มีการลดค่าแรงลงกว่า 50% ขยายอายุการทำงาน ลดเงินบำเหน็จบำนาญ สถานที่ทำงานบางแห่งคนงานไม่ได้รับเงินเดือนมาบางที่ 1 ปี บางที่ 6 เดือน โรงพยาบาลหลายแห่งปิด โรงเรียนต้องแจกแผ่นดิสให้กับนักเรียนเพราะไม่มีเงินพิมพ์หรือซื้อหนังสือ จำนวนคนจรจัดหรือคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นในเมืองหลวง คนธรรมดาไม่มีปัญญาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ในขณะที่คนรวยยังอยู่สุขสบาย นี่เป็นคำอธิบายว่าทำไมการต่อสู้ที่กรีกถึงมีความดุเดือดมาก


อย่างไรก็ตามทั้ง Syriza และ พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส อาจจะทรยศประชาชนได้ง่ายๆ ซึ่งมันหมายความว่าฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาทั้งในกรีซ(Antarsy) ฝรั่งเศส(Radical Left) จะต้องกดดันจากข้างนอกรัฐสภาเพื่อกำหนดกรอบเดินที่ก้าวหน้าต่อไป
 
สเปนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการต่อสู้กับนโยบายจาก Troika อย่างดุเดือด ซึ่งหลายฝ่ายทำนายว่าจะเดินตามกรอบของชาวกรีกทุกก้าว ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตที่จะต้องถูกทำลาย และรัฐบาลจะบังคับใช้นโยบายการตัดสวัสดิการอย่างสุดขั้วต่อไป วิกฤตินั้นไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดง่ายๆ จากสเปน ก็จะไปต่อที่อิตาลี จากอิตาลีก็จะไปต่อที่โปรตุเกส ไอร์แลนท์ ตอนนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมันและฝรั่งเศสเริ่มส่อเค้าไม่ดี วิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองของสหภาพยุโรปได้เข้าสู่เฟรสใหม่เรียบร้อยแล้ว 
 
(ที่มา) 
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/08/2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น