คำประกาศแห่งโจรสลัด: ข้อเสนอการปฏิรูประบอบลิขสิทธิ์ของ ‘พรรคไพเรต’
ในหมู่ผู้ติดตามการเมืองโลกร่วมสมัยก็คงจะเห็นว่าปัญหาเรื่องระบบ
ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในระดับโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ
พยายามจะขยายมาตรการคุ้มครองลิขสิทธิ์จนมันเริ่มเข้ามาลุกล้ำความเป็นส่วน
ตัวของประชาชนในโลกไซเบอร์ และทำให้เกิดการต่อต้าน
อย่างในกรณีของการต่อต้านร่างกฏหมาย SOPA ในอเมริกาหรือสนธิสัญญา ACTA
ในยุโรป คนรุ่นใหม่จำนวนมากเล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้
และทำให้เกิดขบวนการต่อต้านระบอบลิขสิทธิ์ต่างๆ ขึ้นมาบนโลกมากมาย
อย่างไรก็ดีขบวนการส่วนใหญ่ก็เป็นขบวนการที่มักจะต่อต้านโดยไม่อาศัยกลไกทาง
การเมืองเก่าๆ แบบระบบสภา เช่น
การประท้วงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมตามทั้งตามท้องถนนและในโลกออนไลน์หรือ
กระทั่งการทำสงครามแบบกองโจรกับระบอบลิขสิทธิ์ในโลกออนไลน์โดยการสนับสนุน
การละเมิดลิขสิทธิ์สารพัดรูปแบบ
อย่างไรก็ดีในหมู่ขบวนการต่อต้านระบอบลิขสิทธิ์เหล่านี้
ก็มีขบวนการหนึ่งที่ยืนหยัดต่อสู้ในวิถีทางการเมืองแบบเก่า
ขบวนการนั้นคือพรรคไพเรต (Pirate Party)
ถ้าหากจะกล่าวโดยรวบรัดตัดความแล้ว
พรรคไพเรตคือพรรคการเมืองที่มีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมที่ในปัจจุบันถือว่า
เป็นกิจกรรมละเมิดลิขสิทธิ์ โดยพรรคนี้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสวีเดน
ก่อนจะมีการตั้งพรรคขึ้นอีกในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
ผู้เขียนคงจะไม่สาธยายความเป็นมาเป็นไปของพรรคไพเรตในที่นี้ [1] แต่จะเน้นถึงเชิงนโยบายในการปฏิรูประบบลิขสิทธิ์ของทางพรรคในสภายุโรปซึ่งผู้เขียนพบว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ทุกวันนี้คนจำนวนมากที่ได้ยินชื่อพรรคไพเรตแล้วก็ยังคิดว่านี่เป็นการ
เล่นตลกอะไรบางอย่าง
เนื่องจากพวกเขาคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะตั้งพรรคที่สนับสนุนให้คนทำการ
ละเมิดลิขสิทธิ์ในยุคที่การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์แทบจะเป็นฉันทามติ
แห่งยุคสมัยเช่นนี้
อันที่จริงแล้วตั้งแต่ที่พรรคไพเรตแห่งแรกก่อตั้งมาในวันที่ 1 มกราคม 2549
ทางพรรคก็ไม่ได้มีแนวนโยบายที่ชัดเจนและจับต้องได้นักเกี่ยวกับกฏหมาย
ลิขสิทธิ์เลย จนหลายๆ
คนเข้าใจไปว่าเป้าประสงค์ของพรรคนี้ในภาพรวมคือการกวาดล้างให้กฏหมาย
ลิขสิทธิ์หายไปจากโลกซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ทั้งถึงรากถึงโคนและเพ้อฝันเกินจะ
เชื่อว่าจะสามารถทำได้จริง อย่างไรก็ดีเมื่อเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา
ทางสมาชิกพรรคในสภายุโรปก็ได้ร่วมกับกลุ่ม Green/EFA
ในสภาผลักดันข้อเสนอในการปฏิรูปกฏหมายลิขสิทธิ์ที่มีในโลกออกมา
ข้อเสนอนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนกันยายน 2554
มันปรากฏในหนังสือเล่มเล็กๆ นามว่า The Case for Copyright Reform
อันเป็นฝีมือการเขียนร่วมกันของ Rick Falkvinge ผู้ก่อตั้งพรรคไพเรตและ
Christian Engstrom สมาชิกสภายุโรปที่เป็นตัวแทนจากพรรคไพเรตสาขาสวีเดน [2]
ในสายตาของผู้เขียน หนังสือเล่มนี้น่าจะเปรียบเทียบได้กับ Communist Manifesto
ของพรรคไพเรตเลยทีเดียว
มันเต็มไปด้วยความเป็นมาเป็นไปในทางประวัติศาสตร์ของแนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์
พร้อมกันนั้น
ก็เต็มไปด้วยการโจมตีระบอบลิขสิทธิ์ยุคปัจจุบันและบรรดาอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์
ต่างๆ ผ่านการยกหลักฐานต่างๆ
มาสนับสนุนทั้งไม่ว่าจะเป็นหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์หรือหลักฐานเชิงสถิติ
ร่วมสมัย
และที่ขาดไม่ได้ก็คือการแสดงจุดยืนทางการเมืองและแนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูป
ระบอบลิขสิทธิ์ที่เป็นแนวทางของพรรคที่เสนอร่วมกับกลุ่มแนวร่วมในสภายุโรป
ในหนังสือจะพบว่าทางพรรค [3]
มีความเห็นชัดเจนว่าการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ในปัจจุบันเป็นภัยคุกคามเสรีภาพของพลเมืองที่ชัดเจนมาก
เพราะอย่างน้อยที่สุด ในทางทฤษฎีแล้ว
การตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ตที่ฝ่ายอุตสาหกรรม
ลิขสิทธิ์เรียกร้องจะทำไม่ได้เลยหากปราศจากระบบที่จะดักจับข้อมูลการสื่อสาร
บนอินเทอร์เน็ตทั้งหมดโดยรัฐ กล่าวอีกแบบคือรัฐต้องสร้างระบบในการ “ดักฟัง”
ทุกๆ กิจกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ขึ้น ที่ปัญหาคือการสร้าง
“เครื่องจักร 1984” เช่นนี้เพื่อจะปกป้องอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ต่างๆ
เอาไว้ไม่ให้พังพินาศเป็นสิ่งที่สังคมเสรีไม่ควรจะกระทำ
หรือกล่าวอีกอย่างคือ เสรีภาพพลเมืองต่างๆ
ไม่ควรจะถูกเอาไปเสี่ยงเพียงเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถดำเนินธุรกิจ
ได้อย่างราบรื่นแต่เพียงเท่านั้น
เพราะสุดท้ายในทางทฤษฎีแล้วเครื่องมือในการสอดส่องอันสมบูรณ์แบบเช่นนี้ไม่
ควรจะถูกสร้างขึ้นเพราะมันจะทำลายสิทธิในการสื่อสารส่วนบุคคลในโลกอินเทอร์
เน็ตไปหมด มันจะทำให้รัฐมีอำนาจล้นพ้นในการกดทับขบวนการต่อต้านรัฐต่างๆ
ทั้งหมดและเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตให้เป็นเครื่องมือในการควบคุมอย่างสมบูรณ์
และนี่ก็เป็นพันธกิจที่สำคัญพื้นฐานที่พรรคไพเรตจะต้องป้องกันไม่ให้เกิด
ขึ้น
แต่พรรคก็ไม่ได้มีแต่นโยบายเชิงรับเท่านั้น
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นทางพรรคก็มีนโยบายเชิงรุกด้วย
และนโยบายเชิงรุกที่ว่าก็คือการปฏิรูปกฎหมายลิขสิทธิ์นั่นเอง
แนวทางเชิงรุกนี่ก็ดูจะยิ่งสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และ
“การสู้ระบอบลิขสิทธิ์กลับ” ที่ดูจะเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อเกือบ 10
ปีที่แล้วที่การปราบปรามเริ่มขึ้นก็ดูจะไม่ใช่สิ่งที่ห่างไกลเกินไปในตอนนี้
เสียด้วย เพราะหลังจากที่ข้อเสนอนี้ออกมาในรอบเกือบหนึ่งปี
ก็เกิดกระแสต่อต้านกฏหมายและสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศที่จะทำให้กฏหมาย
ลิขสิทธิ์เข้มงวดและรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้คนมากขึ้นอย่างในกรณี SOPA
ในอเมริกาและ ACTA ในยุโรป
ซึ่งการต่อต้านเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย
นี่นับเป็นชัยชนะครั้งแรกๆของฝ่ายต่อต้านระบอบลิขสิทธิ์ในอเมริกาและยุโรปใน
รอบหลายต่อหลายปีที่การต่อต้านการขยายตัวของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในมิติ
ต่างๆ ไร้ผล
ปัจจุบันจึงเป็นช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากที่ข้อเสนอเชิงนโนบาย
ของฝ่ายต่อต้านระบอบลิขสิทธิ์จะได้รับการผลักดันออกไปบ้าง
ทั้งนี้ข้อเสนอการปฏิรูประบบลิขสิทธิ์ของทางพรรคไพเรตพอจอสรุปได้เป็น 6
ข้อใหญ่ๆ ดังนี้
- คงสิทธิธรรม (moral right) ที่มีเหนืองานไว้ดังเดิม
- การแลกเปลี่ยนไฟล์ที่ไม่ได้เป็นการทำเพื่อการค้าต้องเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
- สิทธิผูกขาดลิขสิทธิ์ต้องลดลงเหลือ 20 ปีหลังจากมีการเผยแพร่งานสร้างสรรค์
- ต้องลงทะเบียนเพื่อรักษาลิขสิทธิ์ไว้ภายหลังสร้างงานมา 5 ปี
- การใช้ “แซมเปิล” ต้องเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
- ยกเลิกการบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัล (Digital Right Management) อย่างสิ้นเชิง
ข้อเสนอแต่ละข้อล้วนมีคำอธิบายโดยละเอียดในหนังสือ ผู้เขียนจะสรุปคร่าวๆ ดังนี้
ข้อแรก การคงสิทธิธรรมที่มีเหนืองานไว้ดังเดิม
เป็นการแสดงจุดยืนของทางพรรคที่ไม่ได้ปฏิเสธการเป็นเจ้าของงานสร้างสรรค์ดัง
ที่หลายๆ ฝ่ายเข้าใจ ทางพรรคเห็นว่า “เครดิต”
ของผู้สร้างสรรค์งานยังเป็นสิ่งที่สมควรจะคงอยู่เสมอ และการ “ลอกงาน”
(plagiarism)
ก็ยังจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายที่เจ้าของงานสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้อยู่
ข้อสอง การแลกเปลี่ยนไฟล์ที่ไม่ได้เป็นการทำเพื่อการค้าต้องเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
เป็นการยืนยันจุดยืนร่วมกันกับนักกิจกรรมไพเรตทั้งหลายที่เห็นว่าการแลก
เปลี่ยนไฟล์ควรจะถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมดหากการแลกเปลี่ยนนั้นๆ
ไม่ได้เป็นการทำเพื่อการค้า ซึ่งทางพรรคก็ได้เน้นย้ำด้วยว่านิยามของ
“การทำเพื่อการค้า” (commercialization)
ควรจะเป็นนิยามแบบแคบที่ครอบคลุมเพียงกิจกรรมที่เป็นไปในเชิงธุรกิจอย่างชัด
แจ้งเท่านั้นไม่ใช่นิยามแบบกว้างที่ปรากฎในหลายๆ ระบบกฎหมาย [4]
ข้อสาม สิทธิผูกขาดลิขสิทธิ์ต้องลดลงเหลือ 20 ปีหลังจากมีการเผยแพร่งานสร้างสรรค์
ดังที่หลายๆ
ฝ่ายทราบกันว่าระยะในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้รับการขยายอย่างต่อเนื่องมาโดย
ตลอด
ทางพรรคเห็นว่าการขยายตัวดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้าง
สรรค์งานทางศิลปวัฒนธรรมโดยรวมๆ
และมองเห็นว่าการคุ้มครองควรจะถูกจำกัดอยู่เพียงไม่เกิน 20
ปีหลังจากที่มันออกมาสู่สายตาสาธารณชนเท่านั้น
ไม่ใช่คุ้มครองอย่างยาวนานหลังผู้สร้างสรรค์ตายไป 50-70
ปีดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในแทบทุกประเทศ ทั้งนี้ทางพรรคก็มองว่า 20
ปีก็เป็นช่วงเวลาที่มากเกินพอในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของนักลงทุนที่ลงทุน
ลงไปในงานทางศิลปวัฒนธรรมหนึ่งๆ แล้ว ก่อนที่มันจะกลับกลายเป็นปัญญาสาธารณะ
(public domain) หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่สาธารณชนทั้งหมดถือครองร่วมกัน
การคุ้มครองที่มากกว่านั้นแม้อาจให้ประโยชน์กับเจ้าของลิขสิทธิ์งานศิลป
วัฒนธรรมในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อไป
แต่การรักษาผลประโยชน์ดังกล่าวก็คุ้มกับการที่สาธารณชนจะเสียประโยชน์ที่จะ
สามารถเข้าถึงและใช้งานทางศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวได้อย่างอิสระ
ข้อสี่ ต้องลงทะเบียนเพื่อรักษาลิขสิทธิ์ไว้ภายหลังสร้างงานมา 5 ปี
ในมุมของผลิตศิลปวัฒนธรรม
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในแวดวงการผลิตศิลปวัฒนธรรมยุคปัจจุบันคือการต้องระมัด
ระวังไม่ให้งานของตนไปละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่นเนื่องจากการละเมิดโดย
ไม่มีเจตนาและไม่รู้ตัวก็อาจมีความผิดได้
ในแง่นี้ระบบการคุ้มครองผลงานทางศิลปวัฒนธรรมโดยอัตโนมัติไม่ได้เป็นเพียง
แค่เครื่องอำนวยความสะดวกแก่ผู้สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมให้ได้รับความคุ้ม
ครองโดยไม่ต้องลงทะเบียนเท่านั้น
แต่มันยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์งานต่อยอดงานอื่นๆ ด้วย เพราะในหลายๆ
ครั้งการตามหาเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อขออนุญาตก็เป็นไปอย่างยากลำบากหรือเป็น
ไปไม่ได้เช่นในกรณีของงานกำพร้า (orphaned works) ต่างๆ
อันเป็นงานที่ยังได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายแน่ๆ
แต่ตัวผู้สร้างงานกลับไม่ปรากฏ
ในแง่นีทางพรรคจึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยการบังคับให้งานทุกชิ้นต้องทำการลง
ทะเบียนกับหน่วยงานทางลิขสิทธิ์ของรัฐเพื่อจะให้ได้รับการคุ้มครองภายหลัง
การสร้างสรรค์งานขึ้นมาในระยะเวลาหนึ่ง
ทั้งนี้การคุ้มครองโดยอัตโนมัติจะดำรงอยู่เพียง 5 ปีเท่านั้น
หากต้องการการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต่อ
เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องทำการลงทะเบียนเพื่อการคุ้มครองงาน
ซึ่งจะขยายการคุ้มครองไปไม่เกิน 20 ปีและกลายเป็นปัญญาสาธารณะไปหลังจากนั้น
ระบบนี้จะทำให้ผู้ต้องการใช้งานทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อผลิตงานต่อยอด
สามารถทำสืบค้นเพื่อทำการขออนุญาติเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ถูกต้องก่อนใช้งานได้
อย่างสะดวก
และเป็นการแก้ปัญหางานกำพร้าจำนวนมากที่ค้างอยู่ในระบอบลิขสิทธิ์ด้วย
เพราะงานเหล่านี้หากไม่ได้รับการลงทะเบียนก็จะถือว่าเป็นปัญญาสาธารณะภาย
หลังจากที่มันผลิตมา 5 ปีโดยอัตโนมัติ
ซึ่งผู้ใดก็สามารถจะนำไปใช้สร้างสรรค์งานต่อยอดได้โดยอิสระ
ข้อห้า การใช้ “แซมเปิล” ต้องเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
งานสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมในยุคดิจิตัลจำนวนมากมีลักษณะที่ต้องพึ่งพิง
อยู่กับการปะติดปะต่องานสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นเพลงฮิปฮอป คลิปวีดีโอ การตัดต่อภาพเพื่อเล่นมีมหรือทำงานศิลป์
หรือกระทั่งการทำอินโฟกราฟฟิคในบางแบบ
ภาษาทางเทคนิคที่ใช้เรียกของส่วนเล็กๆ ของงานทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ
ที่ถูกนำไปใช้ประกอบเป็นงานอื่นคือ “แซมเปิล”
อย่างไรก็ดีการใช้งานทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นเก่าเพื่อประกอบมาเป็นทางศิลป
วัฒนธรรมชิ้นใหม่นี้แม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและขยายตัวขึ้น
เรื่อยๆ แต่มันก็ไม่มีกฎหมายรองรับความชอบธรรมชัดเจน
ทางพรรคจึงเห็นว่าสมควรจะระบุกฎหมายเพื่อรองรับว่าการใช้ในรูปแบบนี้ให้เด่น
ชัดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม
ทั้งนี้ตัวแบบจารีตทางลิขสิทธิ์ที่ทางพรรคใช้ก็หยิบยืมมาจากแวดวงทางวิชาการ
และแวดวงหนังสือที่การ “อ้างอิง” (quote)
งานทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นตัวอักษรนั้นถือว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ทางพรรคก็เห็นว่าสิทธิอันชอบธรรมในการอ้างอิงนี้น่าจะขยายจากตัวอักษรไปรวม
ถึงสิทธิอันชอบธรรมในการอ้างอิง ตัวโน๊ต เสียง ภาพนิ่ง
และภาพเคลื่อนไหวในงานด้วย และแน่นอนว่านี่หมายถึงการ “อ้างอิง”
ที่จะต้องบอกที่มาหรือ “ให้เครดิต” เท่านั้น
ไม่รวมถึงการใช้ข้ออ้างนี้เพื่อการ “ลอกงาน”
เพราะนั่นเป็นการนำงานทางศิลปวัฒนธรรมของผู้อื่นมาแอบอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้า
ของ
ข้อสุดท้าย ยกเลิกการบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัลอย่างสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ข้อกฎหมายที่รองรับการบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัลของระบบกฎหมาย
ลิขสิทธิ์จำนวนมากมีผลในทางปฏิบัติคือการให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถกำหนด
“เงื่อนไขการใช้” งานอันมีลิขสิทธิ์กับผู้บริโภคได้ดังใจปรารถนาและทำการ
“ล็อค”
ข้อมูลอิเล็กทรอนิกบางส่วนของสินค้าไว้ไม่ให้ผู้ใช้สามารถนำมันมาปรับ
เปลี่ยนดังที่ตนต้องการได้ เช่น
การห้ามการแปลงไฟล์อิเล็กทรอนิกจากรูปแบบหนึ่งไปอีกรูปแบบหนึ่งเช่นการ
“ริป” แผ่นซีดีที่ต้องแปลงไฟล์จาก WAV ไปเป็นไฟล์สกุลอื่นๆ
ที่มีขนาดเล็กกว่าเช่น mp3 การจำกัดเวลาและจำนวนครั้งในการใช้ไฟล์หนึ่งๆ
ไปจนถึงการล็อคไฟล์อิเล็กทรอนิกไม่ให้มีการทำสำเนาซึ่งส่วนใหญ่มักจะรวมไป
ถึงการห้ามแบ็คอัพข้อมูลโดยอัตโนมัติด้วย
ทางพรรคเห็นว่าแนวทางกฎหมายดังกล่าวมีความขัดแย้งกับการคุ้มครองสิทธิผู้
บริโภคในกรณีของสินค้าทั่วไปที่ถือว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่จะทำเช่นไรก็ได้
กับสินค้าที่ตนซื้อหามาโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างเสรี
และเห็นควรให้มีการยกเลิกเสีย
ทั้งนี้การยกเลิกการบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัลก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะ
สามารถนำไฟล์ดิจิตัลมาทำสำเนาขายแข่งกับเจ้าของลิขสิทธิ์ได้
เพราะกิจกรรมดังกล่าวก็ยังมีความผิดในฐานการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าอยู่
ซึ่งทางพรรคก็ยังเห็นว่าเป็นความผิดที่ควรจะคงไว้ในกฎหมาย
แต่ต้องนิยามเงื่อนไขของกิจกรรม “เพื่อการค้า”
ให้แคบและชัดเจนพอดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
จากข้อเสนอทั้งหมด
จะเห็นได้ว่าทางพรรคมีความใส่ใจกับผลประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์ทางศิลป
วัฒนธรรมมาก
อาจมากกว่าบรรดาผู้กล่าวอ้างว่าตนใส่ใจผลประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์บางส่วน
ด้วยซ้ำ
ทางพรรคตระหนักดีว่างานสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจาก
สุญญากาศ
และผู้สร้างทางศิลปวัฒนธรรมเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นทั้งผู้บริโภคและ
ผู้ใช้งานสร้างสรรค์ชิ้นอื่นๆ
มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างงานสร้างสรรค์ต่อยอดขึ้นไป
พร้อมกันนั้นทางพรรคก็ไม่ได้มองว่าชีวิตของนักสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมจะสุข
สบายขึ้น
เพราะในภาพรวมชีวิตของนักสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สุขสบาย
อะไรอยู่แล้ว
ระบบการผลิตงานสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ไม่ได้การันตีความสำเร็จหรือความ
สุขสบายของนักสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม
แต่มันจะสร้างโอกาสในการสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมที่มากขึ้นผ่านการเข้าถึง
ทรัพยากรที่จะใช้สร้างสรรค์งานและช่องทางการเผยแพร่ผลงานที่มากขึ้น
ซึ่งหัวใจของระบบใหม่นี้ก็คือการเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงทางศิลปวัฒนธรรม
เสมอ
ไม่ใช่การใช้มาตรการทางกฎหมายและเศรษฐกิจการเมืองเพื่อแช่แข็งระบอบการผลิต
ศิลปวัฒนธรรมให้เป็นดังเดิมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น