หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

นโยบายประชานิยมข้ามไม่พ้นความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

นโยบายประชานิยมข้ามไม่พ้นความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ


 
หากรัฐบาลจริงใจที่จะแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง ไม่ใช่เพียงผิวๆ ควรตั้งต้นด้วยการหยิบยกปัญหาการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง การพัฒนาที่ไม่สมดุล ก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และมุ่งหน้าสู่การกระจายความมั่งคั่งด้วยการใช้ระบบภาษีเข้ามาช่วยในการ สร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ประชาชน

โดย พจนา วลัย

ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นผลมาจากการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง กระจุกอยู่ที่เมืองใหญ่บางแห่ง  ทำให้คนร่ำรวยไม่กี่กลุ่ม และทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนถึง 14 เท่าซึ่งมากกว่าอดีต แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ(จีดีพี) จะเติบโตเพราะมีการผลิตจำนวนมาก แต่แลกมาด้วยการดำเนินชีวิตด้วยค่าแรงขั้นต่ำรายวันของผู้ใช้แรงงาน ที่ทำให้ฐานเงินเดือนต่ำ ต้องขยายเวลาทำงาน ทำงานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน อยู่กับครอบครัว พัฒนาศักยภาพ และขาดหลักประกันที่มั่นคง ซึ่งหมายความว่ารายได้และสวัสดิการหรือเศรษฐกิจจุลภาคไม่เติบโตสอดคล้องกับ จีดีพี  ทั้งยังไร้เสถียรภาพเพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็จะถูกเขี่ยให้ออกไปจากโรงงาน ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็จะถูกลดทอนสวัสดิการ โอทีและถูกเลิกจ้าง ซ้ำเติมด้วยการกระทำของรัฐที่ผลักไสให้ไปใช้ชีวิตพอเพียงที่บ้านนอก ผลักภาระให้แก่ครอบครัวในชนบท แทนที่จะจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนของเงินเดือนให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน เพิ่มสวัสดิการแก่คนในท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคม

หลังจากที่นโยบายประชานิยม 30 บาทรักษาทุกโรคประสบความสำเร็จในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของ คนจนจำนวนหนึ่งในท้องถิ่น  นโยบายในทำนองเดียวกันนี้ คือ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรีจบใหม่ 15,000 ราคาข้าวเกวียนละ 15,000-20,000 ของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเดือน กรกฎาคม 2554  ซึ่งจะต้องประกาศใช้กับประชาชนทุกเชื้อชาติที่ทำงานให้แก่ประเทศนี้

การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเป็นมาตรการขั้นต้นสำหรับเพิ่มมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่  ทว่ายังตามไม่ทันกับค่าครองชีพที่สูง เช่น คนงานบางส่วนกินค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลาถึง 5 ปี บางส่วนถูกปรับขึ้นไม่เกิน 10 บาท หรืออีกกรณี คนงานสมุทรปราการอายุงานถึง 10 ปีทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ได้ค่าจ้างรวมวันละ 350 บาทเท่านั้น  ซึ่งยังไม่พอกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทัดเทียมกับชนชั้นกลาง และกับการเลี้ยงดูครอบครัว

ผู้เขียนเห็นด้วยว่านโยบายประชานิยมจำเป็นในช่วงหนึ่งเพราะช่วยลดภาระ แก้ไขปัญหาความยากจนแก่คนชั้นล่างได้ ตามหลักการดังนี้

1. เพิ่มรายได้ตามหลักการการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ชาวนารายย่อย รายกลางที่มีอาชีพรับจ้างเสริม แม้จะเพิ่มต้นทุนด้านแรงงานในการผลิตข้าว แต่มีการชดเชยด้วยการเพิ่มราคาข้าวเป็นเกวียนละ 15,000-20,000 บาท

2. ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่สูงขึ้น คนทำงานมีตัวเลือกในชีวิตมากขึ้น เช่น ลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาเพื่อพักผ่อน ฟื้นฟูร่างกาย

3. เพิ่มอำนาจการซื้อตามหลักการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตลาดภายในประเทศ ตลาดที่เป็นคนส่วนใหญ่ ได้แก่ ลูกจ้างพนักงาน และชาวนา

อย่างไรก็ตาม นโยบายประชานิยมช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนชนเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ในระยะยาวไม่เพียงพอ เพราะ

1. ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณของรัฐ ที่จะนำมาใช้สร้างหลักประกันชีวิตครอบคลุมทุกด้าน จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อไม่นานมานี้ พูดถึงเรื่องการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าหรือการเก็บภาษีมูลค่า เพิ่มในอัตราที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งแนวโน้มจะมีการผลักดันโดยกระทรวงการคลังให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใน อนาคต  นั่นหมายความว่า ในที่สุดรัฐเลือกที่จะผลักภาระให้แก่ประชาชนคนส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานในการ ดูแลสวัสดิการความมั่นคงของตัวเองแบบตัวใครตัวมัน และประชานิยมก็จะกลายเป็นการช่วยเหลือเชิงสังคมสงเคราะห์ต่อไป

2. มีปัญหาในทางปฏิบัติที่รัฐขาดมาตรการการบังคับใช้ให้เป็นไปตามหลักการ เช่น หลังจากประกาศนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว นายจ้างหลายแห่งมักเล่นตุกติก หรือปรับเทคนิคการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุดยิ่งขึ้นไป หาวิธีการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างชดเชย  ดังตัวอย่างคนงานผลิตเสื้อผ้าอุปกรณ์การแพทย์ของโรงงานแห่งหนึ่งร้องเรียน ปัญหานายจ้างลดสวัสดิการบางส่วนไปรวมกับค่าจ้างที่ปรับขึ้น ซึ่งจะต้องปรับขึ้นแก่คนงานใหม่และเก่าในสัดส่วนที่เท่ากัน  หรือกรณีคนงานหญิงผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่กำลังทำงานหนักมากขึ้น โดยควบคุมเครื่องจักรมากขึ้นจาก 4 เป็น 7 ตัวต่อคน จนทำให้คนงานหลายคนลาออกไป เพราะทนไม่ไหว ทำให้ขณะนี้คนงานเผชิญปัญหาความเครียดและสุขภาพร่างกายที่แย่ลง เป็นต้น

3. ประชานิยมเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของคนทำงานเพียงประเด็นเดียวในช่วงเวลา หนึ่ง ซึ่งเราเคยผ่านประสบการณ์มาแล้วสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่ปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนกลับทวีความสำคัญในช่วง วิกฤตการเมืองจากการทำรัฐประหาร ปี 2549  และปัญหานี้สำคัญพอๆ กับกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะนั่นคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีนัยถึงความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจใน การกำหนดอนาคตของประชาชนเอง

หากรัฐบาลจริงใจที่จะแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง ไม่ใช่เพียงผิวๆ ควรตั้งต้นด้วยการหยิบยกปัญหาการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง การพัฒนาที่ไม่สมดุล ก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และมุ่งหน้าสู่การกระจายความมั่งคั่งด้วยการใช้ระบบภาษีเข้ามาช่วยในการ สร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ประชาชนคนส่วนใหญ่ และการกระจายอำนาจ สร้างพื้นที่ประชาธิปไตยให้กว้างขวาง ขจัดกฎหมายที่เผด็จการ ซึ่งจะทำให้การเมืองของประชาชนเข้มแข็งขึ้น. 
 
(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/01/blog-post.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น