แถลงการณ์แสงสำนึก ฉบับที่ ๒ “โปรดปล่อยประชาชน”
แถลงการณ์แสงสำนึก ฉบับที่ ๒
“โปรดปล่อยประชาชน”
วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖
๑๘ เดือนกับความหวังว่าจะได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนอย่าง แท้จริง ที่อย่างน้อยที่สุด จะสามารถสะสางความไม่เป็นธรรมและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในเบื้องต้น
เราต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๔ นั้นไม่ใช่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการเรียกร้อง ประชาชนจำนวนมากต้องเอาเลือดเนื้อ อิสรภาพ และแม้แต่ชีวิตเข้าแลก
เหตุการณ์ขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนับแต่ช่วงก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงขณะนี้ได้กลายเป็นบทเรียนราคาแพงของสังคมไทย หนทางเดียวที่ความแตกต่างทางความคิดจนไม่อาจประนีประนอมนี้จะอยู่ร่วมกันได้ คือหนทางที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย และความเป็นธรรม
คณะนักเขียนแสงสำนึกปรารถนาให้สังคมไทยเดินพ้นออกไปจากวังวนของความขัดแย้ง ที่ลงเอยด้วยความรุนแรง ซึ่งจะต้องได้มาด้วยการปฏิเสธคำขู่กรรโชกจากผู้ใช้ประโยชน์จากความรุนแรง และแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่ผ่านมา เพื่อกลับมาสู่ครรลองที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย
เราคาดหวังให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนี้ นำพาสังคมไทยไปด้วยความกล้าหาญและสุจริตใจ เพื่อมิให้ความสูญเสียที่ผ่านมากลายเป็นสิ่งที่สูญเปล่า เราเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมที่ไม่ทิ้งหลักการที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพราะเราเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดจะสามารถยุติลงได้ แต่เพราะเราเชื่อว่าสังคมไทยยังต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับความ ขัดแย้งอย่างมีอารยธรรม มีศักยภาพที่จะควบคุมความขัดแย้งมิให้บานปลายไปสู่ความรุนแรงครั้งใหม่ ๆ และที่สำคัญยิ่งกว่า มีศักยภาพที่จะควบคุมสัญชาตญาณดิบ ความไร้มนุษยธรรมและการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่ให้กลายเป็นทางเลือกเพื่อหลีกหนีการเผชิญหน้ากับปัญหาที่แท้จริงอีกต่อไป
ตลอด ๑๘ เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าเหตุการณ์รุนแรงบนท้องถนนจะลดน้อยลงจนคล้ายว่าสังคมไทยมีความหวังที่ จะเดินต่อไปได้โดยราบรื่น ทว่ากลับมีคำพิพากษาจากศาลยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอันอยุติธรรมออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งที่ได้มีข้อเสนอจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างเป็นทางการว่า ให้ระงับคดีความที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไว้ก่อน และให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้
ผู้คนทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากล้วนเห็นว่าการปรองดองในประเทศไทยคงสามารถ เกิดขึ้นได้ยากหากยังคงบังคับใช้และดำเนินคดีความอันเนื่องจากกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อย่างที่เป็นอยู่ต่อไป
แต่ก็ยังคงมีการอ่านคำพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ออกมาอย่างต่อเนื่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรวมทั้งคณะนักเขียนแสงสำนึกเองเกิดความสงสัยว่า สถาบันศาลยุติธรรมของประเทศไทยคงไม่ปรารถนาความปรองดอง และเหตุใดแม้แต่ข้อเสนอจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้รับการยอมรับจากรัฐบาลของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้ง และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้ง จึงไม่สามารถเข้าสู่สำนึกการรับรู้ของศาลไทยเลย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงดูประหนึ่งว่าศาลไทยกำลังตั้งตัวเป็นอำนาจอิสระที่ นอกจากไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่สามารถเป็นสถาบันที่จะคลี่คลายความขัดแย้งแล้ว ยังแสดงพฤติการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดองอีกด้วย
เราตระหนักว่าการนิรโทษกรรมฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง โดยไม่ลืมผู้ต้องขังจากการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน แต่เราก็เชื่อว่ามีแต่ผู้นำที่เป็นผู้นำที่แท้เท่านั้นจึงจะสามารถกระทำ ภารกิจนี้ให้ลุล่วงได้
สิ่งแรกที่รัฐบาลของประชาชนพึงกระทำคือสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับประชาชน ไม่ว่าภารกิจนั้นจะยากลำบากเพียงใด มันคือภารกิจแรกหนึ่งเดียวของรัฐบาลของประชาชนที่แท้
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากว่าเหตุใดประชาชนที่เรียกร้องการเลือกตั้งยัง ต้องอยู่ในคุกเป็นเวลาต่อเนื่องตลอดเวลา ๑๘ เดือน ภายใต้อำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่พวกเขาต้องต่อสู้แลกชีวิตจนได้มา
คณะนักเขียนแสงสำนึกขอประกาศว่าเราสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการ นิรโทษกรรมซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๙ มกราคม นี้ โดยกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และร้องขอให้พรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ประชาชนคนไทยที่ปรารถนาให้สังคมไทยก้าวต่อไปให้ดีกว่าที่ผ่านมา ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของคณะนิติราษฎร์เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม หรือข้อเสนออื่น ๆ เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ด้วยใจเป็นธรรม
เราเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด หากเบื้องต้น ประชาชนทุกฝ่ายไม่เว้นสีเสื้อ ได้รับการนิรโทษกรรม ภูมิต้านการล่มสลายของสังคมไทยจะมีมากขึ้น
เราขอกล่าวย้ำว่า การนิรโทษกรรมที่ไม่นับรวมผู้ต้องขังจากการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การปฏิเสธกรณีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ คือการหลีกหนีความจริง และหลบเลี่ยงการเผชิญปัญหาการเมืองที่แหลมคมที่สุดอย่างไร้ความรับผิดชอบ แม้ว่ารัฐสภาจะยังไม่พร้อมจะพิจารณายกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อย่างน้อยที่สุดเราหวังว่ารัฐบาลและรัฐสภาจากการเลือกตั้งนี้ควรพร้อมที่จะ นิรโทษกรรมผู้ต้องขัง
คณะนักเขียนแสงสำนึก
วาด รวี
วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
ซะการีย์ยา อมตยา
อุทิศ เหมะมูล
กิตติพล สรัคคานนท์
ปรีดี หงษ์สต้น
อติภพ ภัทรเดชไพศาล
สถิติ ทูลขำ
ปราบดา หยุ่น
วิภาส ศรีทอง
ศุภชัย เกศการุณกุล
ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น