หน้าเว็บ

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ไม่ให้ประกัน 'สมยศ' รอบ13 นักกิจกรรม 398 ชื่อส่ง จม.ถึงนายกฯ ประธานศาลฎีกา

ไม่ให้ประกัน 'สมยศ' รอบ13 นักกิจกรรม 398 ชื่อส่ง จม.ถึงนายกฯ ประธานศาลฎีกา 

 




4 ก.พ.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศแจ้งว่าในวันนี้ได้เดินทางเข้าไปยังศาลอาญาเพื่อรับคำสั่งศาล อุทธรณ์เรื่องการขอประกันตัว หลังจากที่ได้ยื่นคำร้องไปทันทีหลังคำพิพากษาเมื่อวันที่  23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้องตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.แล้ว ระบุเหตุผลว่า "พิเคราะห์ตามข้อหาและรูปการณ์แห่งคดี กับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้น ได้พิจารณามาแล้ว นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยถึงกระทงละ 5 ปี รวมสองกระทง 10 ปี หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้จำเลยและผู้ร้องขอประกันตาม เป็นหนังสือโดยเร็ว" ทั้งนี้ การยื่นขอประกันตัวครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 13 แล้ว


วันเดียวกัน นักกิจกรรมทางสังคมและประชาชนทั่วไปรวม 398 คน ส่งสำเนาจดหมายเปิดผนึกถึง 1. ประธานรัฐสภา 2. นายกรัฐมนตรี 3. ประธานศาลฎีกา สำเนาถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากออก "แถลงการณ์นักกิจกรรมสังคมและประชาชนทั่วไปกรณีการตัดสินจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข" ซึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊กในวันที่ 24 มกราคม จนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2556 จนมีผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมด 398 คน โดยจุดมุ่งหมายของการส่งจดหมายนี้คณะผู้ริเริ่มแถลงการณ์ระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานทั้งหมดจะรับฟังเสียงของประชาชนและพิจารณา ดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม มิให้มีการนำตัวบทกฎหมายมาเป็นเครื่องมือมาจัดการคุมขังผู้ที่มีความเห็น ต่างทางการเมือง และร่วมผลักดันให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง


สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ 

แถลงการณ์นักกิจกรรมสังคมและประชาชนทั่วไป
กรณีการตัดสินจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2556

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556 ศาลอาญามีการพิพากษาตัดสินให้จำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์วอยซ์ออฟทักษิณ เป็นเวลา 10 ปี ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นความผิดในฐานะบรรณาธิการ ที่ต้องรับผิดชอบการเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว

นักกิจกรรมทางสังคมซึ่งทำงานในองค์กรสาธารณะประโยชน์ และประชาชนทั่วไปตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้เห็นว่า เป็นบทลงโทษที่รุนแรงจนไม่อาจยอมรับได้ สำหรับสังคมที่แสดงตัวว่าเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนเช่นประเทศไทย

จึงมีความเห็นต่อกรณีนายสมยศ ดังต่อไปนี้

1. นายสมยศ และนักโทษทางการเมือง และผู้ที่ถูกตั้งข้อหา หรืออยู่ระหว่างดำเนินคดีทางการเมืองทุกคนต้องได้รับการประกันตัวในระหว่าง การสู้คดี เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ

2. การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ไม่ว่าในกรณีใดก็ตามพึงได้รับการคุ้มครอง

3. การเคารพสิทธิในการแสดงความเห็น และอดกลั้นต่อความเห็นต่างเป็นคุณสมบัติของสังคมอารยะ ที่เราต่างต้องเรียนรู้ อดทน และข้ามผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช้เครื่องมือตัวบทกฎหมายมาจัดการคุมขังผู้คนที่เห็นต่างจากตน

4. การตัดสินลงโทษสมยศ โดยมีโทษจำคุกถึง 10 ปี เป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป การกระทำผิดโดยข้อหาดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ควรได้รับการตัดสินให้จำคุก และได้รับโทษเยี่ยงอาชญากร
   
(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น