หน้าเว็บ

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การปรองดองของยิ่งลักษณ์ได้แต่ปกป้องอำนาจอำมาตย์

การปรองดองของยิ่งลักษณ์ได้แต่ปกป้องอำนาจอำมาตย์








โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

สองปีหลังจากที่ทหารฆ่าประชาชนเสื้อแดงที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ และ 9 เดือน หลังชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย เราเห็นได้ชัดว่าเพื่อไทย นายกยิ่งลักษณ์ และอดีตนายกทักษิณ ปรองดองกับทหารมือเปื้อนเลือดบนซากศพคนเสื้อแดง พร้อมกับหันหลังให้กับนักโทษการเมือง ไม่ว่าใครจะแก้ตัวต่างๆ นาๆ ให้รัฐบาล แต่ผมขอยืนยันตรงนี้


ทั้งๆ ที่เสื้อแดงจำนวนมากเลือกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่รัฐบาลตอบแทนด้วยความกระตือรือร้นในแสดงความเป็นมิตรกับอาชญากรอย่าง ประยุทธ์ และอนุพงษ์ และแทนที่จะนำฆาตกรมาขึ้นศาล มีการเลื่อนขั้นและเอาใจทหารมือเปื้อนเลือดแทน นักการเมืองอย่างอภิสิทธิ์และสุเทพก็ลอยนวลเช่นกัน แต่ในกรณีหลังมีการเล่นละครในสภาเพื่อสร้างภาพว่าอยู่คนละข้าง ในความเป็นจริงทั้งสองพรรคการเมืองนี้ไม่ได้อยู่ข้างประชาชน แต่อยู่ข้างอำมาตย์


การที่รัฐบาลเพื่อไทย นำโดยรัฐมนตรีที่มีภาพอื้อฉาวอย่างเฉลิม หรือขี้ข้าเสื้อเหลืองอย่างอนุดิษฐ์ เน้นการเร่งใช้กฏหมายเผด็จการ 112 มาก ขึ้นตั้งแต่ชนะการเลือกตั้ง อาจเป็นความพยายามของพรรคเพื่อไทยและทักษิณที่จะพิสูจน์ “ความจงรักภักดี” แต่ที่สำคัญกว่านั้น เป็นการพิสูจน์ว่าเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ และทักษิณ พร้อมจะคลานและถ่อมตัวต่อกองทัพ และพร้อมจะให้กองทัพมีอำนาจพิเศษนอกรัฐธรรมนูญในการกำหนดสังคมการเมืองไทย เพราะกฏหมาย 112 มีความสำคัญที่สุดในการปกป้องทหาร เพื่อให้ทหารสามารถอ้างความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ในทุกอย่างที่ทหารทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหาร หรือฆ่าประชาชน


กฏหมายเผด็จการ 112 ถูกใช้ในการทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และทำลายประชาธิปไตยมานาน ทุกวันนี้นักโทษ 112 จำนวน มากติดคุกอยู่ในสภาพย่ำแย่ คนอย่างคุณสมยศไม่ได้รับการประกันทั้งๆ ที่ยังไม่มีการตัดสินคดี และคนอย่างอ.สุรชัยหรืออากง ถูกกดดันด้วยอายุและสุขภาพ ให้ “สารภาพผิด” เพื่อหวังได้รับอภัยโทษในอนาคต แต่รัฐบาลตั้งหน้าตั้งตาปฏิเสธที่จะแก้กฏหมายชั่วอันนี้

นักการเมืองเพื่อไทยอาจอ้าง “ภัยจากรัฐประหาร” เพื่อให้ความชอบธรรมกับการปรองดองแบบยอมจำนน แต่ในทางปฏิบัตินโยบายการปรองดองของรัฐบาลมีผลในการปกป้องอำนาจทหารที่จะทำ รัฐประหารอีกในอนาคต ซึ่งคล้ายๆ กับสถานการณ์ในพม่าทุกวันนี้


นอกจากปัญหา 112 และ การไม่ยอมนำฆาตกรมาขึ้นศาลแล้ว ยังไม่มีมาตรการอะไรที่มีความหมายในการปล่อยนักโทษการเมืองเสื้อแดงนอกจาก การตั้งคุกพิเศษ อีกสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยไม่ยอมนำทหารและคนอย่างอภิสิทธิ์มาขึ้นศาล ก็อาจเพราะกลัวว่า อาจจะมีคนที่รักความเป็นธรรม เรียกร้องให้นำทักษิณและทหารมาขึ้นศาลในฐานะที่ฆ่าประชาชนมือเปล่าที่ตากใบ ด้วย


ทักษิณคงอยากจะปรองดองแบบจับมือกับอำมาตย์ เพื่อหวังกลับประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ ในขณะเดียวกันมีการยกฟ้อง จักรภพ เพ็ญแข ในคดี 112 ซึ่ง อาจเป็นการ “เอาใจ” ทักษิณเพราะคุณจักรภพเคยใกล้ชิดกับทักษิณ แต่นั้นไม่ได้พิสูจน์ว่าคุณจักรภพต้องการปรองดองแบบนี้กับอำมาตย์ เราคงต้องถามเจ้าตัวเอง


การโยนเงินให้ผู้ที่ได้ผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่การปรองดองหรือการเยียวยาที่แท้จริง มันเหมือนการโยนเงินให้ครอบครัวคนจนโดยเศรษฐี หลังจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะชีวิตวีรชนประชาธิปไตย ตั้งค่าเป็นเงินทองไม่ได้ และยิ่งกว่านั้นเงินนี้มาจากภาษีประชาชนคนจนเอง ไม่ได้เป็นการจ่ายค่าชดเชยโดยทหารฆาตกรจากกระเป๋าตนเองแต่อย่างใด การโยนเงินให้ครอบครัวพลเรือนที่ถูกทหารฆ่าในภาคใต้ก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ ปัญหาสงครามกลางเมืองในภาคใต้แต่อย่างใดอีกด้วย เราจะปล่อยให้พวกนั้นซื้อความสงบด้วยเงินของเราเองแบบนี้หรือ?


แกนนำ นปช. อาจพูดจานามธรรมเรื่องการไม่ทอดทิ้งวีรชนและการช่วยนักโทษ และอาจมีการเสนอปฏิรูปรัฐธรรมนูญเล็กๆ น้อยๆ แต่ในรูปธรรมบทบาทหลักของ นปช. คือการสลายขบวนการและระงับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ และไม่มีการรณรงค์ให้แก้หรือยกเลิก 112 โดย นปช. แต่อย่างใด


ในขณะที่เพื่อไทย ทหาร และวัง ปรองดองกันเพื่อรักษาสถานภาพของอำมาตย์ และขณะที่คณะกรรมการปรองดองของรัฐสภามีประธานที่เคยทำรัฐประหารเพื่อล้มล้าง ระบบประชาธิปไตย แสงสว่างแห่งความหวังอยู่ที่คณะนิติราษฏร์ที่ต้องการลบผลพวงรัฐประหาร และอยู่ที่ขบวนการเพื่อปฏิรูป 112 คน ก้าวหน้าทุกคนควรช่วยกันสร้างขบวนการมวลชนเพื่อผลักดันสิ่งเหล่านี้ เพราะถ้าเราไม่เคลื่อนไหว การปรองดองก็จะเป็นแค่การปกป้องอำมาตย์บนซากศพวีรชน

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น