หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

ฮูโก ชาเวส

ฮูโก ชาเวส


http://4.bp.blogspot.com/-jfDjcw4HOfY/UTcAtJBvGKI/AAAAAAAAB4g/LrYE7AJ059E/s1600/chaez.jpg 
หลังจากที่ ชาเวส จากโลกนี้ไป เครื่องชี้วัดว่าเขาเปลี่ยนสังคมเวนเนสเวลาได้อย่างจริงจังหรือไม่ คือความสามารถของมวลชนและพรรคสังคมนิยมที่จะนำการเมืองต่อไป และสร้างสังคมใหม่ โดยไม่พึ่งพาวีรบุรุษคนเดียว

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ฮูโก ชาเวส ซึ่งพึ่งเสียชีวิตไป ประกาศตัวเป็น “นักสังคมนิยม” แต่เราต้องประเมินว่าเขาสร้างพรรค และสามารถปลุกระดมให้ประชาชนยึดอำนาจ เพื่อปกครองตนเองและเป็นใหญ่ในแผ่นดินแค่ไหน อย่างไรก็ตามเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นผู้นำที่ให้ความหวังมากมายกับคนจนใน ลาตินอเมริกาและที่อื่น

ต้นกำเนิดของรัฐบาล ฮูโก ชาเวส

เวเนสเวลา เป็นประเทศในลาตินอเมริกาที่ร่ำรวยเพราะมีน้ำมัน แต่ในอดีตผลประโยชน์ตกอยู่กับอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนไม่กี่คน โดยมีการเอาใจกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจน้ำมัน ซึ่งได้ส่วนแบ่งบ้าง รัฐวิสาหกิจน้ำมันนี้เดิมเสมือน “รัฐอิสระ” ที่ให้ประโยชน์กับคนส่วนน้อย โดยเกือบจะไม่จ่ายเงินเข้าคลังของรัฐเลย นอกจากนี้มีการ “จัดการ” ระบบเลือกตั้งให้พรรคของพวกอภิสิทธิ์ชนชนะเสมอ และสื่อทั้งหมดอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนผู้มีอำนาจอีกด้วย ผลคือประชาชนที่เหลือยากจนและอาศัยอยู่ในสลัม

พอถึงปี ค.ศ.1989 ประชาชนทนไม่ไหว มีการลุกฮือครั้งใหญ่ในเมืองหลวง คาราคัส เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งเหตุการณ์นี้เรียกว่า “การลุกฮือ คาราคาโซ (Caracazo)” ปรากฏว่ารัฐบาลอำมาตย์ฆ่าประชาชนตาย 2000 คนเพื่อปราบปรามอย่างเลือดเย็น

ฮูโก ชาเวส เป็นสมาชิกกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ไม่พอใจกับระบบการปกครองของอำมาตย์ พวกเขาต้องการพัฒนาสังคมและการนำรายได้จากน้ำมันมาสร้างความเป็นธรรม เขามองด้วยว่าจักรวรรดินิยมสหรัฐมีอิทธิพลในประเทศเขามากเกินไป ในปี1992 ชาเวส จึงพยายามทำรัฐประหารล้มรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ เลยติดคุกสองปี แต่ประชาชนที่เจ็บปวดจากการปราบปรามของรัฐบาลในปี 1989 หันมาสนใจชาเวส
   
ในปี1998 ชาเวสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และชนะด้วย 58% ของคะแนนทั้งหมด หนึ่งปีหลังจากนั้น เขาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีกลไกตรวจสอบนักการเมือง มีการเพิ่มงบประมาณรัฐให้โรงเรียนและลดบทบาทสถาบันศาสนาคริสต์ที่เคยสนับ สนุนอำมาตย์ สตรีมีสิทธิเลือกทำแท้ง มีมาตราเพื่อปฏิรูปสื่อและปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำมัน ปรากฏว่า 71%ของประชาชนสนับสนุนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้

   
ต่อมาในปี 2000 ชาเวส ชนะการเลือกตั้งอีกรอบด้วยคะแนน 59% คราวนี้มีการออกกฎหมายเพื่อบังคับเพิ่มเงินที่บริษัทน้ำมันต้องจ่ายให้รัฐ และมีการนำเงินนี้มาเพิ่มงบประมาณการศึกษาและสาธารณสุขสำหรับประชาชนมีการ ปฏิรูปที่ดินด้วย
   
อย่างไรก็ตาม ในปี 2002 ทหารฝ่ายขวาทำรัฐประหาร โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและ ชาเวสถูกจับเข้าคุก ไม่มีใครในกองทัพช่วยแม้แต่เพื่อนเก่าก็ไม่ทำอะไร แต่เมื่อประชาชนคนจนออกมาต่อต้านเผด็จการบนท้องถนนเป็นแสน รัฐประหารฝ่ายขวาก็ล้มเหลวและ ชาเวส ถูกปล่อยตัว จึงกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง เราจะเห็นได้ชัดว่าพลังมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาด
   
ในปี 2004 ชาเวสจัดให้มีประชามติเพื่อดูว่าประชาชนอยากให้เขาดำรงตำแหน่งต่อจนครบวาระ หรือไม่ ตามกติกาใหม่ที่เขาเคยเสนอเพื่อให้ประธานาธิบดีต้องฟังเสียงประชาชน ชาเวสชนะด้วยเสียง 58.3% และในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2006 ก็ชนะอีกด้วยเสียง 62% ล่าสุดชาเวสชนะการเลือกตั้งในปี 2012 ด้วยคะแนน 55%

ปัญหาของรัฐ

ปัญหาใหญ่สำหรับชาเวส และประชาชนเวเนสเวลา คือถึงแม้ว่าชาเวส จะได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นคนจน และมวลชนพร้อมจะออกมาปกป้องเขา แต่โครงสร้างรัฐอำมาตย์เก่ายังอยู่ และพยายามทุกวิธีที่จะคัดค้านนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้นายทุนฝ่ายค้านก็คุมสื่อส่วนใหญ่ นอกจากสื่อของรัฐบาลเอง และมีการประโคมข่าวเท็จด่ารัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
   
ในระดับหนึ่ง ชาเวส พยายามสร้างรัฐใหม่คู่ขนานกับรัฐเก่า เช่น มีการสร้างสภาชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนรากหญ้า มีธนาคารชุมชนเพื่อเน้นการลงทุนสำหรับคนจนมีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่ สนับสนุนอำมาตย์ และในบางสถานที่มีการทดลองให้กรรมกรคุมการผลิตเอง ทั้งหมดนี้เพื่อจะลดการพึ่งพาอาศัยข้าราชการและกลุ่มอำนาจเก่า แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้รื้อถอนรัฐเก่าอย่างเป็นระบบเลย
   
ยิ่งกว่านั้น ชาเวส มองว่าเผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ของ คิวบา เป็นแม่แบบในการสร้างสังคมใหม่ ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่า ชาเวส จะเน้นการนำพรรคพวกของเขาเข้าไปเป็นข้าราชการในโครงสร้างรัฐเก่า แทนที่จะเน้นพลังมวลชนในการรื้อถอนทำลายรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ และข้าราชการหลายคนของชาเวส กลายเป็นคนโกงกินที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ ช่วงนี้ชาเวสสร้างพรรคสังคมนิยมของตนเองขึ้นมา และกลายเป็นพรรคมวลชน แต่คำถามสำคัญคือ ชาเวส สร้างพรรคนี้เพื่อผลักดันการปฏิวัติมวลชน หรือเพื่อควบคุมมวลชนกันแน่?
   
การทำการปฏิวัติสังคมแค่ครึ่งทาง โดยไม่ทำลายรัฐเก่า และไม่ยึดปัจจัยการผลิตทั้งหมดจากนายทุนเพื่อให้ประชาชนบริหารเอง มีปัญหามากและอันตราย  เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจเต็มที่ ในการบริหารประเทศ และไม่สามารถพัฒนาสภาพชีวิตของคนจนได้ตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้การแปรรูปสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้มีการบริหารเองโดยคนงาน ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ผ่านการออกกฏหมายอย่างเดียว ต้องมีการปลุกระดมมวลชนให้กระตือรือร้น และต้องมีการยึดสถานที่ทำงานโดยมวลชนกรรมาชีพเอง ผลของการทำการปฏิวัติครึ่งทางคือ เริ่มมีคนจนที่ผิดหวังกับผลงานของ ชาเวส และในเดือนธันวาคม 2007 ชาเวสแพ้ประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ก้าวหน้ามากขึ้น อันนี้น่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัย
   
ชาเวส ประกาศว่าตนเองเป็นผู้นำที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ในการต่อต้านจักรวรรดินิยม เขาไปจับมือกับเผด็จการใน คิวบา และ อิหร่าน ซึ่งเกลียดสหรัฐ และเคยชม กาดาฟี่ ในลิบเบียอีกด้วย แต่ถ้าจะมีการปลดแอกประชาชนภายใน เวนเนสเวลา ก็ต้องสนับสนุนประชาชนที่กำลังสู้กับเผด็จการทั่วโลก
   
ฝ่ายซ้ายหลายกลุ่มใน เวเนสเวลา เช่นกลุ่ม “ต่อสู้ชนชั้น” และกลุ่ม PorNuestrasLuchas (กลุ่ม “โดยการต่อสู้ของเราเอง”) เสนอว่าต้องมีการปลุกระดมมวลชนชั้นล่าง กรรมกร เกษตรกร และคนพื้นเมือง เพื่อปฏิวัติอย่างถาวร และเขามองว่าต้องปฏิวัติภายในกระแสที่สนับสนุน ชาเวส
   
หลังจากที่ ชาเวส จากโลกนี้ไป เครื่องชี้วัดว่าเขาเปลี่ยนสังคมเวนเนสเวลาได้อย่างจริงจังหรือไม่ คือความสามารถของมวลชนและพรรคสังคมนิยมที่จะนำการเมืองต่อไป และสร้างสังคมใหม่ โดยไม่พึ่งพาวีรบุรุษคนเดียว
 

(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/03/blog-post_6.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น