หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

ร้องแรงงานหยุดหนุน ‘เพื่อไทย’ หลังปัดตก กม.ประกันสังคมของภาคประชาชน

ร้องแรงงานหยุดหนุน ‘เพื่อไทย’ หลังปัดตก กม.ประกันสังคมของภาคประชาชน

 

 
‘วิไลวรรณ แซ่เตีย’ ร้องแรงงานพิจารณาผู้แทนรอบใหม่ ไม่เลือกคนที่ไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน จวก ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ ปฏิเสธกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน เป็นระบอบเผด็จการเสียงข้างมาก กระตุ้นภาคประชาชนร่วมแถลงข่าวกำหนดท่าที 26 มี.ค.นี้


วันนี้ (21 มี.ค.56) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ฉบับภาคประชาชน เผยว่า รู้สึกผิดหวังและเสียใจที่สภาผู้แทนราษฎรปฏิเสธร่างกฎหมายของประชาชนซึ่งใช้ เวลาดำเนินการถึง 3 ปี และคิดว่ามติครั้งนี้เป็นมติประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลที่นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงคะแนนให้แม้แต่คะแนนเดียว

การแสดงความเห็นดังกล่าว สืบเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 มี.ค.56 ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... จำนวน 4 ฉบับ ต่อจากเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย ฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฉบับของนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ฉบับของ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน และฉบับของนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รับหลักการในวาระที่หนึ่งจำนวน 2 ฉบับคือ ฉบับของ ครม.และฉบับของนายเรวัต ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ มีมติไม่รับหลักการใน 2 ฉบับคือ ฉบับของนายนคร และฉบับของภาคประชาชน

“ไม่น่าเชื่อเลยนะ ว่าจะปฏิเสธชั้นการพิจารณาในสภาฯ แล้วถามว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญให้ช่องทางไว้แบบนี้ แต่สภาผู้แทนราษฎรที่มีเสียงส่วนใหญ่ปฏิเสธกฎหมายภาคประชาชน ไม่เคารพสิทธิภาคประชาชนแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วเราจะไปพึ่งใครได้ เพราะรัฐบาลยังปฏิเสธ” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้เนื้อหาร่างกฎหมายฉบับประชาชนฉบับอื่นๆ จะแตกต่างจากรัฐบาล ก็ยังมีการรับหลักการและนำไปถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการฯ แต่ทำไมรัฐบาลเพื่อไทยกลับปฏิเสธร่างกฎหมายฉบับของประชาชน ทั้งที่ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศนโยบายที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมและลดความ เหลื่อมล้ำ ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและสภาฯ ชุดนี้ไม่ยอมรับสิทธิและกฎหมายของภาคประชาชน และไม่มีความจริงใจต่อการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน

อีกทั้งยังเชื่อว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการกองทุน ประกันสังคมที่มีปัญหาการทุจริต ให้เกิดการปฏิรูปหรือจัดให้มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส และต้องการหมกปัญหาไว้ต่อไป


น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนประกันสังคมมีปัญหามากมาย เช่น การใช้งบประมาณไปกับการดูงานต่างประเทศและเพื่อการประชาสัมพันธ์จำนวนมาก อีกทั้งยังมีข้อสงสัยต่อการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน และกรณีปัญหาโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์หลายพันล้านบาท ขณะที่คณะกรรมการประกันสังคมยังคงเป็นชุดเดิม จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปตามกฎหมายเพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ปรับโครงสร้างของสำนักงานประกันสังคม

พร้อมเรียกร้องไปยังผู้ใช้แรงงานและผู้ประกันตนทั้งประเทศกว่า 9 ล้านคนว่า การพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้งในคราวต่อไปไม่ว่าในส่วนท้องถิ่นหรือระดับ ประเทศ ให้เลือกบุคคลที่มีความรู้มาทำหน้าที่แทนประชาชน ไม่เลือกผู้แทนที่ไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน ปฏิเสธกฎหมายของภาคประชาชน และพิจารณาว่าพรรคเพื่อไทยสมควรได้มาเป็นผู้แทนของผู้ใช้แรงงานอีกหรือไม่

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวขอประณามการกระทำของพรรคเพื่อไทย และขอปฏิเสธจะไม่ร่วมเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายในส่วนภาคประชาชนตามที่มีการเสนอชื่อ เพราะร่างที่ผ่านไม่ตรงกับความมุ่งหมายที่ต้องการให้สำนักงานประกันสังคม เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้ อีกทั้งการที่มีตนเองเข้าไปเพียง 1 คนไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ แต่จะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล

ทั้งนี้ ประชุมสภาฯ ได้ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ... ในวาระที่ 2 โดยนำร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 มาพิจารณาเนื้อหาและนำเสนอในวาระที่ 3 ต่อสภาฯ ซึ่ง กมธ.วิสามัญฯ มีทั้งหมด 31 คน ประกอบด้วยตัวแทนกระทรวงแรงงาน 5 คน พรรคเพื่อไทย 13 คน พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังชล รวมกัน 1 คน และภาคประชาชน 1 คน ซึ่งนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีการเสนอ น.ส.วิไลวรรณ เป็น กมธ.วิสามัญฯ ในส่วนนี้ด้วย
    
สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไป น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนและแรงงานกลุ่มต่างๆ ได้มีการนัดหมายกันในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเพื่อร่วมพูดคุยกำหนดท่าทีและแนวทางต่อกรณีที่เกิด ขึ้นนี้ จากนั้นจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน นอกจากนั้นเธอยังได้เรียกร้องให้เครือข่ายประชาชนออกมาร่วมแถลงข่าวต่อ สถานการณ์ที่ไม่ควรนิ่งดูดายกับการเมืองที่ไม่ยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของ ประชาชน
 
“ถ้า กลไกรัฐสภาปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานในการเสนอกฎหมายของภาคประชาชน นั่นหมายถึงว่า มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยนะ มันกลายเป็นระบอบเผด็จการของคนเสียงข้างมาก ในการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานอย่างสิ้นเชิง” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว
 
ส่วนความแตกต่างของร่างกฎหมายดังกล่าว น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาลและฉบับของนายเรวัต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนนั้นต้องการขยายความคุ้มครองไปยังทุกภาคส่วน ทั้งลูกจ้างชั่วคราวในส่วนราชการ ลูกจ้างทำงานบ้าน และผู้รับงานไปทำที่บ้าน และให้มีคณะกรรมการประกันสังคมที่บริหารงานได้อย่างอิสระ ภายใต้กระทรวงแรงงานในการกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

ให้คณะกรรมการประกันสังคมโดยเฉพาะเลขาและประธานนั้นเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถที่มาจากการสรรหา ส่วนคณะกรรมการฯ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างจะต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกกองทุนประกัน สังคม ส่วนคณะกรรมการการลงทุนและคณะกรรมการตรวจสอบควรต้องมาจากการสรรหา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโดยตำแหน่งจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังคงเดิม
และมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม โดยขยายช่วงเวลาการสงเคราะห์บุตรจาก 6 ปี เป็น 20 ปี แรงงานที่เข้าเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่วันแรกหากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับ การรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายประกันสังคม โดยไม่ต้องจ่ายเงินสำรองไปก่อน และสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรคเช่นเดียวกับบัตรทอง รวมไปถึงการปรับอัตราคำนวณสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนทุกกรณีในลักษณะขั้น บันได โดยอิงตามระยะเวลาการส่งเงินสมทบ

อีกทั้งให้มีการเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการ การลงทุนของกองทุนประกันสังคม เพื่อให้ตัวแทนของผู้ประกันตนได้มีสิทธิรับรู้

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/03/45885

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น