หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

3 ปี 10 เมษา 7 ปีตุลาการภิวัตน์

3 ปี 10 เมษา 7 ปีตุลาการภิวัตน์


ใบตองแห้ง Baitonghaeng 
ใบตองแห้ง

 
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไปพูดที่ธรรมศาสตร์ ว่าประชาธิปไตยยอมรับเสียงข้างมากแต่ต้องเป็นไปตามกติกา ต้องให้คนกลางคือตุลาการตัดสินความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นต่างฝ่ายต่างทำตามอำเภอใจ บ้านเมืองไม่สงบ
 
จริงหรือครับ บ้านเมืองไม่สงบเพราะไม่เชื่อฟังตุลาการ หรือบ้านเมืองไม่สงบเพราะตุลาการกันแน่
 
ตุลาการเป็นคนกลางจริงหรือ และใครเล่าที่ไม่เคารพกติกา
 
“ตุลาการภิวัตน์” แนวคิดใช้อำนาจตุลาการแก้ปัญหาการเมือง เกิดขึ้น 7 ปีแล้ว มีส่วนรับผิดชอบวิกฤติร่วมกับรัฐประหาร หรืออาจมากกว่ารัฐประหารเสียอีก ในการสร้างความคับแค้น จนมวลชนเสื้อแดงลุกฮือ และถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553
 
แม้วันนี้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เป็นรัฐบาล แนวคิดใช้อำนาจตุลาการแก้ปัญหาการเมืองก็ยังดำรงอยู่ โดยยังไม่รู้ว่าจะสร้างความเสียหายอีกแค่ไหน
 
แนวคิดใช้อำนาจตุลาการแก้ปัญหา อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า คนไทยเคารพ เชื่อฟัง และเกรงกลัวศาล ศาลตัดสินอย่างไรเป็นอันเด็ดขาด ไม่มีใครกล้าโต้เถียง ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ เพราะกลัวจะหมิ่นศาล ละเมิดอำนาจศาล แล้วศาลท่านจะเอาเข้าคุก
 
นอกจากนี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าผู้พิพากษาตุลาการเป็น “คนดี” สัตย์ซื่อ สมถะ ครึ่งคนครึ่งพระ ไม่ข้องแวะสิ่งสกปรกโสมม ไม่กินสินบาทคาดสินบน ไม่รับถุงขนม เป็นผู้อยู่เหนือมนุษย์ น้องๆ รุกขเทวดา
 
ศาลจึงเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย มีทั้งความเป็นอำนาจตุลาการ และเป็นศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่อยู่ในตัว

 
แต่อำนาจศาลอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อใช้มาปิดกั้นประชาธิปไตย ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ และใช้อย่างเลือกข้าง “2 มาตรฐาน” ทำให้เสียงข้างมากผู้ชนะกลายเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้เสียงข้างน้อยกลายเป็นฝ่ายชนะ ศาลก็ศาลเถอะ มวลชนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจึงลุกฮือ ถึงส่วนหนึ่งเป็นคนไร้การศึกษา แท็กซี่ สามล้อ แมงไซค์ ซาเล้ง แต่ก็เป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน
 
ผมไม่เคยปกป้องม็อบเสื้อแดง ยอมรับว่ามวลชนมีอารมณ์ มีแนวโน้มก่อความรุนแรง แต่นั่นคือการแสดงออกของผู้คนที่เหลืออดกับความอยุติธรรม สิ้นหวังการต่อสู้ในระบบ นิติรัฐล่มสลาย ผู้ชนะตามกติกาประชาธิปไตยถูกปล้นอำนาจ มิหนำซ้ำ เป็นการปล้นตามกฎหมาย
 
คนที่ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน กลับเป็นฝ่ายชนะ ไชโยโห่ร้อง แล้วคนอีกฝ่ายจะยอมได้อย่างไร จะให้เขาตกเป็นเบี้ยล่างตลอดไปหรือ กระแสสังคม ทั้งคนชั้นกลางชาวกรุง ชนชั้นนำ ที่ลำเอียงปกป้องม็อบพันธมิตรหน้าสภาเมื่อ 7 ต.ค.2551 ได้ทำให้มวลชนอีกข้างใส่เสื้อแดงมารวมตัวกันล้นหลาม และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน (ตามที่ท่านวสันต์ว่า บ้านเมืองไปไม่ได้) มันก็ถึงจุดที่อยู่ร่วมประเทศไม่ได้ มีแต่ต้องใช้กำลังหักหาญเท่านั้น
 
ลำพังรัฐประหารไม่ทำให้เกิดความรุนแรงได้เพียงนี้ รัฐประหารมาแล้วก็ไป แต่ตุลาการภิวัตน์ยึดอำนาจได้ยาวนานกว่า
 
 
เด็กอมมือก็เห็น
 
ตุลาการภิวัตน์นำมาใช้แก้ปัญหาการเมืองครั้งแรกหลังเลือกตั้ง 2 เมษา 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ “ขวาหัน” สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยหาเหตุจากที่ กกต.เปลี่ยนวิธีจัดคูหาเลือกตั้งให้ผู้ใช้สิทธิหันก้นออกหน้าหน่วย ทั้งที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงเจตจำนงของประชาชนจนทำให้การเลือก ตั้งเสียไป (ก่อนหน้านั้น กกต.ก็จัดเลือกตั้งท้องถิ่นโดยหันคูหาออก ไม่ยักเป็นโมฆะ)
 
แต่ครั้งนั้นเนื่องจากคนส่วนใหญ่ในสังคมยังหวังว่าเมื่อโมฆะแล้วจะได้เลือก ตั้งใหม่ พรรคฝ่ายค้านก็ยอมลงเลือกตั้งแล้ว จึงไม่ค่อยมีใครวิพากษ์วิจารณ์
 
จากนั้น สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปฟ้องเอาผิด 3 กกต.ที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน โดยระหว่างที่ศาลอาญาพิจารณาคดี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด ก็ประชุมร่วมกัน แล้วจรัญ ภักดีธนากุล เลขานุการประธานศาลฎีกา รับบทโฆษกออกมาเรียกร้องให้ กกต.ลาออก ทำนองว่าไม่ลาออกเจอดีแน่
 
ท้ายที่สุด ศาลอาญาก็มีคำพิพากษาว่า กกต.ทั้ง 3 มีความผิด โดยไม่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ อ้างว่าจำเลยจะใช้ตำแหน่งหน้าที่ทำให้พยานหลักฐานเสียหาย ทั้ง 3 ต้องลาออก จึงได้ประกัน
 
ใครก็กล่าวหาศาลไม่ได้ เพราะศาลท่านมีอิสระในการวินิจฉัยคดี อย่าไปเข้าใจผิดว่าประธานศาลฎีกาสั่งได้ ส่วนที่วิจารณ์ได้ก็คือเหตุผลของศาลในการไม่ให้ประกันตัวนั้น ไม่น่าจะเพียงพอ
 
และวิจารณ์อดีตประธานศาลฎีกา กับจรัญ ภักดีธนากุลได้ ศาลอาญากำลังพิจารณาคดีอยู่ ท่านกลับมาไล่บี้ให้จำเลยลาออก เหมาะหรือไม่ เป็นผู้ใหญ่แล้วน่าจะรู้
 
เอาน่ะ ถึงอย่างไรผู้คนก็ยังหวังว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ วุฒิสภาคัดเลือก กกต.ที่มาจากศาลทั้งหมด 5 คน จะเลือกตั้งกันอยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุด ก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยา 2549 จนได้
 
หลังรัฐประหารปุ๊บ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ เกษียณจากประธานศาลฎีกา ไปเป็นรัฐมนตรียุติธรรม จรัญเป็นปลัดกระทรวง สุนัย มโนมัยอุดม เป็นอธิบดี DSI
 
ตอนนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดยังขึ้นกับกระทรวงยุติธรรมนะครับ แปลว่าบุคคลจากสถาบันตุลาการเข้ามาดูแลทั้งอำนาจสอบสวนพิเศษ อำนาจสั่งฟ้อง และอำนาจตัดสินคดี คล้ายๆ กับการตั้ง คตส.ซึ่งเอาคนจากศาลลงมาสอบสวนแล้วชงขึ้นศาล โดยใน คตส.11 คนมีตุลาการถึง 4 คนได้แก่ นาม ยิ้มแย้ม, อุดม เฟื่องฟุ้ง, จิรนิติ หะวานนท์ และอำนวย ธันธรา
 
ขณะที่ ปปช.9 คน ก็มาจากศาล 3 คนคือ วิชา มหาคุณ, วิชัย วิวิตเสวี และสมลักษณ์ จัดกระบวนพล
 
ส่วนปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ปปช.นี่บางคนเข้าใจผิดว่ามาจากศาลแต่ไม่ใช่ มาจากเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ (กปร.) ต่างหาก
 
รัฐประหารทุกครั้งสั่งยุบพรรคการเมือง ฉีกรัฐธรรมนูญพร้อม พ.ร.บ.พรรคการเมือง แต่รัฐประหาร 19 กันยา 2549 เล่นตลก เพราะไม่สั่งยุบพรรคการเมือง ไม่ฉีก พ.ร.บ.พรรคการเมือง กลับไปออกประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 แก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพิ่มโทษกรรมการบริหารพรรค จากเดิมที่ถูกยุบพรรคแล้วห้ามไปเป็นกรรมการบริหารพรรคอื่น 5 ปี กลายเป็นถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เฉยเลย
 
จากนั้นก็ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาคำร้องยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ตุลาการ 9 คน จากศาลฎีกา 6 จากศาลปกครองสูงสุด 3 มีมติไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยุบพรรคไทยรักไทย โทษฐานจ้างวานพรรคเล็กในการเลือกตั้ง 2 เมษา แล้วก็มีมติ 6-3 ใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษ ใช้ประกาศ คปค.ที่เพิ่งออกมาหมาดๆ ตัดสิทธิ 111 กรรมการบริหารพรรค ทั้งที่หลักกฎหมายที่ร่ำเรียนกันมา บัญญัติชัดเจนว่า ห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล
 
ประวัติศาสตร์รัฐประหารไทยไม่เคยใช้กฎหมายจัดการกันอย่างนี้ มองย้อนหลังไป ใครเชื่อบ้างว่านี่คือสติปัญญา “บิ๊กบัง” ทหารไม่มีปัญญาวางหมากกลทางกฎหมายขนาดนี้หรอก มันต้องพวกเนติบริกรระดับกูรู กับพวกบนโรงบนศาลมาเอง
 
ผู้พิพากษายังแห่มาเป็น สนช. สสร. โดยเฉพาะในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี “หน้าแหลมฟันดำ” เป็นประธาน มีจรัญ ภักดีธนากุล กับวิชา มหาคุณ เป็นรองประธาน มีนุรักษ์ มาประณีต เป็นกรรมาธิการ
 
ฉายหนังควบทั้ง 3 ท่านนะครับ จรัญเป็นปลัดยุติธรรม วิชาเป็น ปปช.นุรักษ์เป็นคุลาการคดียุบพรรค แล้วหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จรัญกับนุรักษ์ก็มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
 
รัฐธรรมนูญวางกลไกให้ สว.กึ่งหนึ่งมาจากการลากตั้ง โดยกรรมการสรรหาได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กกต.ประธาน ปปช.ประธาน คตง.ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
 
แล้วก็ไปวางกลไกกับดักในการสรรหาองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญมาจากศาลฎีกา 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน รัฐศาสตร์ 2 คน ซึ่ง 4 คนหลังมาจากการสรรหา ที่กรรมการสรรหาได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้แทนประธานองค์กรอิสระ ประธานสภา ผู้นำฝ่ายค้าน แล้วส่งชื่อให้วุฒิสภาลงมติ
 
ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ กรรมการสรรหายังมีอำนาจยืนยันด้วยมติเอกฉันท์ บังคับให้ประธานวุฒิสภานำชื่อทูลเกล้าฯ
 
วางไว้หลายชั้นเหลือเกินนะครับ สว.กึ่งหนึ่งก็มาจากลากตั้งอยู่แล้ว ยังกลัว สว.หือ ต้องให้อำนาจกรรมการสรรหาเป็นเด็ดขาด ระบบอย่างนี้ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนเขาใช้กัน
 
ไปถึง กกต.ก็ใช้ระบบสรรหาคล้ายกัน แต่กรรมการสรรหามี 7 คน ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน กรรมการจากศาลฎีกา กรรมการจากศาลปกครองสูงสุด สรรหา กกต.3 คน แล้วศาลฎีกาสรรหามาอีก 2 คน ถ้าวุฒิสภาไม่รับ แล้วคณะกรรมการสรรหามีมติเอกฉันท์ หรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติ 2 ใน 3 วุฒิสภาก็ต้องรับไปทูลเกล้าฯ
 
นี่กำลังจะสรรหา กกต.กันใหม่แล้ว เห็นหรือยังว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ กกต.ก็จะถูกยึดไปอีก 7 ปี
 
วางกลไกกันแบบนี้ ตุลาการหรือคนที่ตุลาการสนับสนุน จึงเข้ามายึดเก้าอี้องค์กรอิสระกันเพียบ กลายเป็นช่องทางขยับขยายได้เก้าอี้ของพวกตุลาการที่จะไม่ได้ขึ้นไปถึง ตำแหน่งประธานหรือรองประธานศาลฎีกา มาเป็นองค์กรอิสระ ก็มีเงินเดือนตำแหน่งเทียบเท่ารองประธานศาลฎีกา
 
ยกตัวอย่างจรัญ ภักดีธนากุล เมื่อปี 2549 จรัญเป็นแค่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 1 ตุลา ได้เป็นหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ยังขึ้นไม่ถึงศาลฎีกาด้วยซ้ำ ชาตินี้ไม่มีวันได้เป็นประธานหรือรองประธานศาลฎีกา แต่ข้ามมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เทียบเท่ารองประธานศาลฎีกานะครับ
 
 
 
สิ่งศักดิ์สิทธิ์หลอกคนไม่ได้
 
หลังรัฐประหารที่ผู้รักประชาธิปไตยออกมาต่อต้าน และความนิยมในตัวทักษิณยังสูง พวกที่เกลียดชังทักษิณก็ยังหมายมั่นปั้นมือว่า เมื่อมีคำพิพากษาในคดี คตส.จะสยบกระแสต่อต้านได้ เพราะคนไทยเคารพคำสั่งศาล เชื่อถือศาล ความนิยมในตัวทักษิณจะเสื่อมไป
 
กระทั่งพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง พวกเขาก็ยังคิดเช่นนี้อยู่
 
แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะความเชื่อถือในสถาบันตุลาการที่เคยถูกมองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงด้วยการกระทำของฝ่ายตุลาการเอง สมมติคดีที่ดินรัชดาและคดียึดทรัพย์ เกิดขึ้นโดยไม่มีรัฐประหาร ไม่มีการยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน คำพิพากษาแม้มีปัญหา แต่ก็อาจได้รับความเชื่อถือบ้าง
 
ถ้า คตส.สามารถโยงใยว่าทักษิณฉ้อโกงอะไร แบบ อ.แก้วสรรโยงเงิน 82 ล้านเข้ากระเป๋าคนนั้นคนนี้ในคดีบ้านเอื้ออาทร (ซึ่งจนป่านนี้ก็ไม่เห็นเอาผิดใครได้) ความนิยมต่อทักษิณก็ต้องเสื่อม แต่นี่คำพิพากษากลับออกมาว่า “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” คือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทุจริต สั่งให้เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติหรือกองทุนฟื้นฟูช่วยเหลือการประมูล (สั่งได้ไง หม่อมอุ๋ยเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ) การประมูลเป็นไปอย่างเปิดเผย ได้ราคาสูงกว่าราคาประเมิน แต่กลับบอกว่าผิดมาตรา 100 เพราะผิดข้อห้าม แค่ผิดข้อห้ามก็มีโทษจำคุก 2 ปี
 
หนำซ้ำยังชนะกันแค่ 5-4 โดยเสียงข้างน้อยมีเหตุผลกว่าด้วย
 
ไอ้ที่คิดว่าคนจะเชื่อฟัง ไม่กล้าวิจารณ์ต่อต้านศาลอันศักดิ์สิทธิ์ ก็กลายเป็นราดน้ำมันลงบนกองเพลิง
 
แบบเดียวกับคดียึดทรัพย์เพราะ “ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร” ซึ่งใช้การตีความมาตรา 4 กฎหมาย ปปช.ว่าได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร ถือว่าร่ำรวยผิดปกติ ยึดทรัพย์ได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าทุจริต
 
คำว่าไม่สมควรไม่ต้องพิสูจน์ เพราะ “ไม่สมควร” เป็นความเห็น คำพิพากษาที่พรรณนาเสียยืดยาวจึงเป็นการอธิบายความเห็นของผู้พิพากษาว่า การทำสัญญาการแก้ไขสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับชินคอร์ปนั้น “ไม่สมควร” อย่างไร จึงไม่ต่างอะไรกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน แต่นี่คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยศาล แล้วเอาความเห็นของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ มาเป็นคำตัดสิน
 
ทั้งสองคดีเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ถูกเล่นงานด้วยตุลาการภิวัตน์ ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว แถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหารกลางดึก ทั้งที่ไม่อยู่ในอำนาจ เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดคดี JTEPPA เป็นบรรทัดฐานอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุด องค์คณะไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น ก็มีคำสั่งเปลี่ยนองค์คณะ จนอดีตประธานศาลปกครองสูงสุดถูกร้องต่อ ปปช. แต่ ปปช.ก็ไม่ทำอะไรจนบัดนี้
 
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจ แต่กลับวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วม “อาจ” ทำให้เสียดินแดน แปลว่าศาลก็ไม่แน่ใจ แต่กลับตีความว่าต้องเข้ามาตรา 190 มีด้วยหรือ ศาลไม่แน่ใจ แต่ลงโทษจำเลยเป็นฝ่ายผิด
 
ศาลรัฐธรรมนูญยัง “สุกเอาเผากิน” เปิดพจนานุกรมวินิจฉัยให้สมัคร สุนทรเวช ตกเก้าอี้เพราะทำกับข้าวออกทีวี จากนั้นเมื่อเห็นว่า “บ้านเมืองไปไม่ได้” ก็วินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ตามมติ กกต.เนื่องจากยุทธ ตู้เย็น โดนใบแดง ฐานจ่ายเงินกำนัน ตามที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม หัวหน้าสำนักงาน คมช.วางแผนให้กำนันไป “ล่อขาย”
 
แต่พอ กกต.มีมติ 4-1 ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์บ้าง ศาลรัฐธรรมนูญท่านบอกว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ลงความเห็น นายทะเบียนพรรคการเมืองคือประธาน กกต.ที่หัวโด่อยู่คนเดียวไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคประชาธิปัตย์
 
ม็อบเสื้อแดงลุกฮือหลังยุบพรรคพลังประชาชนในปี 52 และลุกฮือหลังคดียึดทรัพย์ปี 53 พวกสลิ่มเย้ยหยันคนจนคนชนบท แท็กซี่ สามล้อ ว่ามาตายเพื่อทักษิณ แต่ความยุติธรรมอยู่ในหัวใจคนทุกชนชั้น และการถูกกระทำมาตลอด 4 ปีได้ทำให้ทักษิณกับเสื้อแดงตกอยู่ในหัวอกเดียวกัน เป็นผู้ได้รับความอยุติธรรมจากอำนาจรัฐประหารและตุลาการภิวัตน์ร่วมกัน ถึงแม้จะอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างราวฟ้ากับเหว
 
ความอยุติธรรมเป็นพลังที่ทำให้เสื้อแดงพร้อมต่อสู้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน ไม่มีวันถอย ต้องโค่นกันไปข้าง นั่นจึงเป็นที่มาให้ฝ่ายอำมาตย์ต้องใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม และใช้ความอยุติธรรมมากดขี่บีฑาอย่างเลวร้ายภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
 
คุณูปการประชาธิปไตย
 
หลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ตุลาการภิวัตน์ไม่อาจฝืนกระแส ที่ต้องการให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งบริหารประเทศ ไม่อาจใช้อำนาจยุบพรรค โค่นรัฐบาล เปลี่ยนรัฐบาล เพราะสังคมไทยเข็ดความรุนแรงแล้ว กลัวว่านั่นจะทำให้ความรุนแรงกลับมาอีก
 
แต่ตุลาการภิวัตน์ก็ยังปกป้องรัฐธรรมนูญที่ตนเองวางกับดักไว้ ร่วมกับพลังมวลชนสติแตก เสื้อเหลือง สลิ่ม และแมลงสาบจากการเลือกตั้ง ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง และอีกด้านหนึ่งก็ใช้อำนาจอย่างไร้ความปรานีในกรณีมาตรา 112 โดยหวังว่าจะเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์
 
การปกป้องทั้งสองอย่าง จะเป็นผลดีหรือผลเสีย ก็จะได้เห็นกันต่อไป
 
คนที่เชื่อว่าตัวเองเป็น “คนดี” อย่างวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์, จรัญ ภักดีธนากุล อาจเชื่อว่าต้องยื้ออำนาจไว้ต่อไป รอวันที่พรรคเพื่อไทยเสื่อมความนิยม มวลชนเห็นธาตุแท้นักการเมืองฉ้อฉลหาผลประโยชน์ เอาตัวรอด ฯลฯ แล้วจะกลับไปยกย่องชื่นชม “คนดี” อย่างพวกท่าน
 
ฝันไปเถอะครับ แม้มวลชนจะยกระดับขึ้น “ก้าวข้ามทักษิณ” ก้าวข้ามพรรคเพื่อไทย ในซักวัน แต่ก็ไม่มีใครหวนกลับไปเชิดชูซูฮกอำนาจที่ไม่มาจากการเลือกตั้งแล้วยังมา แทรกแซงอำนาจประชาชน แบบเดียวกับซักวันไม่เลือกพรรคเพื่อไทยแต่ก็ไม่มีวันกลับไปเลือกพรรคประชาธิ ปัตย์
 
สังคมไทยและประชาชนจะพัฒนาต่อไปในวิถีประชาธิปไตย ที่รู้จักใช้ความคิดและเหตุผลตรวจสอบทุกอำนาจ เลิกหวังพึ่ง “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” เลิกเชื่ออย่างงมงายว่าต้องให้ผู้มีบารมีมาแทรกแซงอำนาจจากการเลือกตั้ง เลิกหวาดกลัวยำเกรงอำนาจตุลาการ เลิกเชื่อว่าศาลคือเจ้าพ่อเจ้าแม่ รุกขเทวดา แต่เป็นมนุษย์ธรรมดา ที่มีโลภะ โทสะ โมหะ เหมือนเราทั้งหลาย เป็นคนที่ยังกินปี้ขี้นอน ไม่ใช่เทพเจ้าที่ไหน
 
นั่นแหละคือจิตสำนึกประชาธิปไตย
 
คุณูปการด้านกลับของตุลาการภิวัตน์ ที่เข้ามาแทรกแซงตัดสินปัญหาการเมือง คือสังคมจะได้ลากอำนาจตุลาการ ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ก่อน 2475 ลงจากหิ้งมาสู่การตรวจสอบ มาเป็นอำนาจหนึ่งภายใต้อำนาจอธิปไตยของปวงชน
 
มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณเป็นคนดีหรือไม่ดี แต่การใช้อำนาจต้องมีเหตุผล ที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตรวจสอบได้ เหมือนข้าราชการหรือนักการเมืองทั่วไป อย่ามาขู่ว่าวิจารณ์มากไปเดี๋ยวเอาเข้าคุก
 
โผล่หัวออกมาแล้วกลับไปมือเปล่าไม่ได้แล้วครับ จะถอยกลับไปอยู่บนหิ้ง ให้ชาวบ้านกราบไหว้เหมือนเดิม ไม่มีทาง สถาบันตุลาการต้องจ่ายค่าตอบแทน ที่บอกว่าเอาประธานศาลฎีกามาผ่านการรับรองของสภา ยังน้อยไป มันต้องรื้อใหญ่ ปฏิรูปใหญ่ ให้ศาลลงมาสู่ดิน มาอยู่ใต้มนุษย์
 
ต้องไปให้ถึงจุดนั้น ไม่อย่างนั้น ผู้คนที่ต่อสู้มาก็ตายฟรี ติดคุกฟรี
                                                                                 
(ที่มา)
http://www.voicetv.co.th/blog/1509.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น